สืบเนื่องจากเหตุการณ์ที่ผู้บริหารของคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ทำการรื้อถอนงานศิลปะที่กำลังอยู่ในระหว่างการจัดแสดง และนำผลงานของนักศึกษาลงใส่ถุงดำ ด้วยเหตุผลว่า งานที่นักศึกษาจัดแสดงมีเนื้อหาของตัวงานที่ไม่เหมาะสม และได้ละเมิดข้อบังคับเกี่ยวกับการใช้พื้นที่บริเวณหอศิลป์ของมหาวิทยาลัย จนทำให้เกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์ถึงการกระทำของคณะวิจิตรศิลป์ในวงกว้าง และมีความเห็นแตกออกเป็นหลายฝ่าย
แต่ประเด็นที่น่าสนใจคือความเห็นของผู้คนกลุ่มหนึ่งที่ตั้งคำถามว่า ‘งานแบบนี้น่ะหรือคือศิลปะ’ และนั่นย่อมทำให้เกิดคำถามตามมาว่า ‘หากนี่ไม่ใช่ศิลปะ แล้วศิลปะคืออะไร งานแบบไหนเราจึงเรียกมันว่าศิลปะ’ แน่นอนว่าประเด็นเกี่ยวกับเรื่องนี้เป็น ‘คำถามโลกแตก’ (Controversy) พอๆ กับไก่กับไข่อะไรเกิดก่อนกัน และการที่จะตอบคำถามดังกล่าวได้นั้น เราอาจจะต้องไปดูถึงตัวนิยามของคำว่าศิลปะกันใหม่เสียก่อนว่า แท้จริงแล้ว ศิลปะคืออะไร
ยุคแรกสุดของศิลปะที่เคยได้มีการบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ และมีบทบาทต่อสังคมมนุษย์นั้นคงต้องย้อนกลับไปยังยุคหินเก่า (Paleolithic Era) ก่อนช่วงเวลาของประวัติศาสตร์ โดยทำหน้าที่ในการบอกเล่าและบันทึกเรื่องราวผ่านภาพวาด บนกำแพงถ้ำที่อยู่อาศัยของมนุษย์ที่รวมตัวอาศัยกันอยู่อย่างเป็นกลุ่ม แต่เมื่อเข้าสู่ยุคอารยธรรมโบราณอย่างอียิปต์ กรีก โรมัน และเมโสโปเตเมีย มนุษย์มีการเรียนรู้ที่จะประดิษฐ์ ‘ตัวอักษรเขียน’ ขึ้นมาเป็นครั้งแรกของโลก
ทำให้การใช้ภาพวาดในเชิงสื่อสารมีความจำเป็นน้อยลง งานศิลปะจึงกลายเป็นเครื่องมือแสดงฐานะ บอกเล่าถึงความยิ่งใหญ่ของอารยธรรม และถูกใช้ในทางศาสนา ทำให้งานศิลปะในยุคแรกเริ่มเต็มไปด้วยความละเอียดอ่อน ความสวยงามเต็มไปด้วยสุนทรียะ และที่สำคัญคือเชื่อว่างานศิลปะคือความ ‘เนี้ยบ’ ในการทำงานของตัวศิลปินเอง นี่จึงกลายมาเป็นแบบแผนของการทำงานศิลปะในช่วงแรกเริ่ม เพราะผู้คนเชื่อว่างานศิลปะเป็นเรื่องของชนชั้นสูงบางกลุ่ม หรือใช้เกี่ยวกับการบูชาพระผู้เป็นเจ้าในทางศาสนาเพียงเท่านั้น โดยเฉพาะในช่วงยุคกลางหรือยุคมืด (Middle Age/Dark age) ที่ศาสนจักรเรืองอำนาจ งานศิลปะจึงถูกผูกขาดไว้อยู่กับโบสถ์กับวิหารไว้เสียซะส่วนใหญ่
จนกระทั่งเข้าสู่ในยุคงานศิลปะแบบเรเนซองส์ (Renaissance Art) ที่งานศิลปะเริ่มหันมาสะท้อนความเป็นเหตุเป็นผล มนุษย์ ธรรมชาติ และวิทยาศาสตร์มากขึ้น อีกทั้งยังต้องการที่จะฟื้นฟูศิลปวิทยาการของวัฒธรรมกรีกโบราณที่เคยหายไป
หากอ่านมาถึงตรงนี้อาจเกิดคำถามต่อว่า แล้วงานศิลปะต้องมีความสวยงามสุนทรียะ เล่าเรื่องประวัติศาสตร์ชนชั้นสูงหรือบูชาพระเจ้า ที่สำคัญงานต้อง ‘เนี้ยบ’ เราจึงจะยอมรับมันว่า ‘งานศิลปะ’ เช่นนั้นหรือ
แต่นิยามของงานศิลปะก็ได้ถูกเปลี่ยนแปลงไปอีกครั้งในช่วงศตวรรษที่ 19 เมื่อ โคลด โมเนต์ (Claude Monet) ศิลปินผู้ไม่เชื่อว่างานศิลปะจำเป็นที่จะต้องเป็นสิ่งที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ชนชั้นสูงหรือเทพเจ้าเท่านั้น ถ้าเขาอยากจะวาดภาพ ‘บึงบัวในสวนหลังบ้านของเขา’ แล้วบอกว่ามันคือศิลปะแล้วมันจะทำไม
เหตุใดเขาต้องวาดภาพเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ที่เกิดไม่ทัน หรือแม้กระทั่งเทพเจ้าที่ไม่เคยเห็นด้วยล่ะ?
โมเนต์เลือกที่จะวาดภาพที่เกี่ยวกับสิ่งรอบตัวที่เขาเคยเห็นมันด้วยดวงตาทั้งสองของเขาจริงๆ อย่างเช่นภาพบึงบัว (Water lilies) หรือ หญิงสาวท่ามกลางสวนดอกไม้ (Woman with a Parasol) แต่การวาดภาพในลักษณะนั้นจำเป็นจะต้องใช้เวลาที่เร่งรีบและจำกัด ทำให้งานของ โมเนต์มีความหยาบของแปรง ซึ่งดูยังไงก็ไม่ ‘เนี้ยบ’ เอาเสียเลย ซึ่งมันผิดหลักงานศิลปะที่ได้กล่าวไปข้างบนชัดๆ
หลุยส์ เลอรอย (Louis Leroy) นักวิจารณ์งานศิลป์ให้ความเห็นต่องานของโมเนต์ว่า “ของแบบนี้มันไม่ใช่ศิลปะหรอก มันเป็นได้แค่การแสดงความรู้สึก (Impression) ออกมาเท่านั้นแหละ” ซึ่งภายหลัง เหล่าศิลปินที่มีแนวคิดเช่นเดียวกับโมเนต์ได้ตั้งชื่อรูปแบบงานของตนว่างานประเภทอิมเพรสชันนิสม์ (Impressionism) แบบไม่ได้สนใจเสียงนักวิจารณ์สักเท่าไหร่ และวงการศิลปะก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
ในยุคที่ศิลปะเป็นสิ่งที่มีแบบแผน และกรอบที่ค่อนข้างจำกัดตายตัว งานของโมเนต์และเหล่าอิมเพรสชันนิสม์จึงเป็นคลื่นลูกแรกของการปฏิวัติวงการศิลปะ ซึ่งก่อให้เกิดยุคสมัยของงานศิลปะสมัยใหม่ (Modern Art) ที่ทลายกรอบความเนี้ยบ ความสวยงามสุนทรียะ และความสูงส่งของศิลปะลงไป โดยหันมามองสิ่งรอบตัวให้มากกว่าเดิม ไม่ฟุ้งเฟ้อไปอยู่กับกลุ่มคนชนชั้นสูง หรือเทพปกรณัมที่จับต้องไม่ได้ แต่เป็นงานที่ออกมาจากความรู้สึกภายในของศิลปินเอง
การทลายกรอบความคิดในครั้งนั้นทำให้เกิดรูปแบบของงานศิลปะที่ไม่มีรูปแบบ ไม่มีความตายตัว มีอิสระทางความคิดและการสร้างสรรค์มากขึ้น แต่งานช็อกโลกที่คงจะพูดถึงไม่ได้คือ ‘โถฉี่กลับหัว’ (Fountain) ของ มาร์แซล ดูว์ช็อง (Marcel Duchamp) ศิลปินชาวฝรั่งเศสผู้ที่ต้องการจะเสียดสีความกลับกลอกของงานนิทรรศการศิลปะที่เขาเป็นกรรมการอยู่ ผ่านการส่งเจ้าโถฉี่กลับหัวพร้อมลายเซ็นที่เขียนว่า R.Mutt ซึ่งเป็นนามแฝงของเขาไปให้ทางนิทรรศการจัดแสดง เนื่องจากทางงานบอกว่าจะรับงานแบบไหนก็ได้ไม่จำกัดแนวทาง และ ‘ทุกชิ้น’ จะได้ทำการจัดแสดง เพราะต้องการที่จะแสวงหาแนวทางของศิลปะยุคใหม่
แต่กลับกลายเป็นว่ากรรมการคนอื่นๆ กลับไม่ยอมรับงานของเขาเสียได้ ซึ่งดูว์ช็องรับไม่ได้เอาเสียมากๆ และประกาศลาออกจากการเป็นกรรมการ ทำให้งานโถฉี่ Fountain ของดูว์ช็องเป็นที่ได้รับความสนใจกว่างานอื่นๆ ที่ได้จัดแสดงเสียอีก เพราะเป็นการที่ดูว์ช็องตอกหน้าเหล่าศิลปินอย่างรุนแรงว่า “ศิลปะไม่ได้เป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่อะไรเลย มันก็แค่เป็นโถที่คุณฉี่รดมันได้ในทุกวันนั่นแหละ” นอกจากงานชิ้นนี้จะแสดงถึงทรรศนคติที่คับแคบของกรรมการแล้ว หากใครชื่นชมงานของเขานั่นก็หมายความว่าศิลปะไม่ได้ยิ่งใหญ่อย่างที่เคยนิยามไว้ในอดีตจริงๆ
งานศิลปะของดูว์ช็องจึงไม่ใช่ตัวโถฉี่ แต่คือแนวความคิดของเขาต่างหาก งานของเขาจึงกลายเป็นรากฐานของงานศิลปะเชิงแนวคิด (Conceptual Art) ที่ทำลายทุกกรอบของความคิดและการผลิตงานไปอย่างสิ้นเชิง เพราะหากศิลปะคือการแสดงออกเชิงความคิดผ่านผลงาน แสดงว่า ใครๆ ก็เป็นศิลปินได้ และใดๆ ในโลกนี้ล้วนเป็นศิลปะอย่างนั้นหรือ
ซึ่งหากอ้างอิงตามเจตนาของดูว์ช็องที่ต้องการจะวิพากษ์สังคมคำตอบก็คือ ‘ใช่’ สังเกตได้ว่าศิลปะมีความเป็นพลวัตที่ได้รับแรงบันดาลใจจากอดีต เพื่อสร้างสิ่งใหม่ทำลายกฎเกณฑ์เดิมทิ้งไปเสมอ โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือการตั้งคำถามให้กับสังคมเพื่อที่จะสามารถ ขับเคลื่อนสังคมผ่านคำถามนั้นได้ โดยมอบอำนาจให้กับทุกคนที่จะสามารถสร้างงานศิลปะหรือตั้งคำถามได้อย่างถ้วนหน้า ซึ่งเป็นสิ่งที่จะช่วยยกระดับสังคมให้ไปเดินหน้าไปเรื่อยๆ ได้ ‘ในทางทฤษฎี’
แต่สังคมที่พวกเราอยู่นั้น เหล่าศิลปินไม่สามารถที่จะสร้างสรรค์ผลงานโดยใช้แนวคิดดังกล่าวได้อย่างเต็มที่ ตัวอย่างก็ดูได้จากเหตุการณ์บุกยึดผลงานศิลปะของนักศึกษามหาลัยเชียงใหม่นั่นแหละ ว่าในเชิงปฏิบัติแล้ว ไม่ใช่ทุกแนวคิดที่จะได้รับการยอมรับ โดยเฉพาะกับสังคมที่สุดแสนจะ ‘อนุรักษ์นิยม’ (Conservative)
ย้อนกลับมาที่คำถามว่าผลงานของนักศึกษาที่ถูกทิ้งไป เป็นงานศิลปะหรือเปล่า หากดูว์ช็องยังมีชีวิตอยู่และได้มาเห็นก็ตอบได้ทันทีเลยว่า ‘เป็น’ แน่นอนร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ไม่ได้หมายความว่าชาวเน็ตที่มีความเห็นตรงข้ามจะเป็นฝ่ายผิด เพราะหากย้อนไปในยุคเรเนซองส์ หรือแม้กระทั่งยุคอิมเพรสชันนิสม์ งานชิ้นนี้ไม่น่าจะถูกนับว่าเป็นศิลปะเหมือนกัน
แต่ว่าเพียงเพราะเขาไม่ได้สัมผัสถึงสุนทรียะหรือแนวคิดของงานชิ้นดังกล่าว ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาผิด เพราะจากความหมายของศิลปะที่มีการเปลี่ยนแปลงมาตลอดพันๆ ปี แต่สิ่งหนึ่งที่ยังคงไว้อยู่คือ ‘การสื่อสาร’ ดังจุดเริ่มต้นของตัวศิลปะเองที่เคยเกิดขึ้นในยุคหินเก่า หากมีใครเพียงซักคนที่สามารถรับรู้ถึง ‘แนวคิด’ หรือ ‘สิ่งที่จะสื่อ’ ก็นับว่าผลงานชิ้นนั้นได้ทำหน้าที่อย่างสมบูรณ์แบบแล้ว
คำถามที่มีต่อคือ ในโลกความเป็นจริง ศิลปะจะต้องถูกกดทับโดยคนที่ไม่เข้าใจอยู่ตลอดเวลาเช่นนั้นหรือ หากเป็นเช่นนี้ ถึงแม้ตัวผลงานจะทำหน้าที่ของมันโดยสมบูรณ์ แต่การจำกัดกรอบความคิดและเพดานของการสร้างสรรค์งานก็ย้อนแย้งกับสิ่งที่ดูว์ช็องทำไว้ชัดๆ แสดงว่ามันไม่น่าจะมีสังคมแห่งไหนที่ยอมให้ทุกคนสามารถเป็นศิลปิน และผลิตงานออกมาโดยไม่ถูกคำว่าความเหมาะสมขวางกั้น หรือต้องคำนึงถึงว่าทำงานแนวไหนจึงจะขายได้เพียงเท่านั้น
คำตอบคือสถานที่นั้นยังมีอยู่ และเราเรียกมันว่า ‘อินเทอร์เน็ต’ สิ่งที่ใกล้เคียงกับความว่างานศิลปะมากๆ ก็คือสิ่งที่อยู่ในชีวิตประจำวันของทุกคนหรือที่เราเรียกว่า มีม (Meme) หนึ่งในประเภทของงานที่มีความเป็นพลวัตเปลี่ยนแปลงทำลายกฎเกณฑ์ของตัวเองเพื่อสร้างสิ่งใหม่อยู่ตลอดเวลา สิ่งนั้นคือมุกตลกที่เราเห็นกันตามอินเทอร์เน็ตนั่นเอง
โดยมีมเป็นรูปแบบของความคิดทางวัฒนธรรม สัญลักษณ์ หรือแม้กระทั่งการปฏิบัติที่สามารถส่งผ่านจากผู้หนึ่งไปยังผู้หนึ่งได้บนโลกอินเทอร์เน็ต ผ่านการเขียน การพูด ภาพล้อเลียน ที่สามารถสื่อความหมายในเชิงอารมณ์ขันต่อผู้ที่พบเห็นได้ โดยมีม (meme) ถูกตั้งชื่อโดยนักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษ ริชาร์ด ดอว์กินส์ (Richard Dawkins) ที่ได้คิดค้นคำว่า ‘มีม’ ขึ้นมาจากหนังสือ The Selfish Gene ซึ่งเป็นหนังสือที่เกี่ยวกับการแพร่กระจายทางความคิดและปรากฏการณ์วัฒนธรรม
ตลอด 10 กว่าปีที่ผ่านมาของการกำเนิดขึ้นและดำรงอยู่ของมีมในโลกอินเทอร์เน็ต มีมได้มีการทำลายกฎเกณฑ์ของนิยามความเป็นมีมอยู่ตลอดเวลา ในช่วงแรกเริ่มมีมอาจจะเป็นเพียงแค่ ภาพนิ่งของตัวการ์ตูน หรือหน้าของบุคคลสำคัญที่แสดงถึงความรู้สึกของผู้ส่งสาร
แต่ปัจจุบันมีมอาจอยู่ในรูปแบบของรูปที่มีแคปชันที่ตลกขบขัน, ภาพในอิริยาบทต่างๆ ของ คน สัตว์ และสิ่งของ หรือแม้กระทั้งผลงานศิลปะในอดีตอย่างหน้าของโมนาลิซา หรือแม้แต่ภาพวาดพอร์เทรตของแวนโก๊ะก็ยังสามารถที่จะเป็นมีมได้ เรียกได้ว่าอะไรก็ตามสามารถเป็นมีมบนโลกอินเทอร์เน็ตได้อย่างแท้จริง หากมันสามารถที่จะส่งแนวคิดของตัวงานไปยังผู้อื่นได้
มีมได้ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการสื่อสารผ่านภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว เป้าหมายคือให้บนโลกอินเทอร์เน็ตเห็นและเข้าใจความหมาย โดยมีมมักจะรูปแบบการสื่ออารมณ์ขันในหลายรูปแบบ รวมไปถึงการจิกกัดบริบทของสังคมที่อาจจะเป็นตลกร้ายเสียจนน่าย้อนแย้งอีกด้วย หากคุณมีประสบการณ์ร่วมกับเนื้อหาของตัวมีมดังกล่าว
ผู้สร้างมีมนั้นสร้างด้วยเจตนาบริสุทธิ์ในการที่จะสื่อสารแนวคิดที่ตนอยากจะสื่อออกไป ในขณะที่บนโลกอินเทอร์เน็ตก็ไม่ได้เป็นโลกที่ปิดกั้นมีมและการดำรงอยู่ของมัน แต่กลับเป็นพื้นที่ที่พัฒนาความก้าวหน้าและความล้ำในการสร้างมีมมาเรื่อยๆ อย่างไม่มีที่สิ้นสุด ไม่เหมือนกับที่โมเนต์เคยโดนวิพากษ์มาก่อน แค่เพียงนิยามเพียงเท่านี้ หากดูว์ช็องอ่านภาษาไทยได้และยังมีชีวิตอยู่ คงจะยอมรับว่ามีมเป็นงานศิลปะประเภทหนึ่งอย่างแน่นอน เพราะในเชิงนิยาม มีมไม่ต่างอะไรจากโถฉี่ Fountain ของเขาเลย
จากที่เขียนอธิบายมายาวจึงอยากจะฝากคำถามไปถึงผู้อ่านไว้ว่า
“หากศิลปะเป็นอะไรก็ได้ แต่ไม่ใช่อะไรก็ได้ที่เป็นศิลปะ” แล้วมีมเป็นศิลปะจริงไหม และหากไม่ใช่ อะไรเล่าที่เราจะเรียกขานว่า ‘ศิลปะ’