งานวิจัยด้านพฤติกรรมทางเพศกับพันธุกรรมล่าสุดพบว่า พันธุกรรมมีบทบาทต่อพฤติกรรมทางเพศ ไม่ได้มาจากยีนเดียวแต่มาจากหลายๆ ยีน ซึ่งแต่ละยีนส่งผลเพียงเล็กน้อย และยังมีปัจจัยอื่นๆ อีกไม่ว่าจะเป็นปัจจัยทางสังคมและสิ่งแวดล้อม

เมื่อปี 1993 มีงานวิจัยที่ศึกษาจีโนมของมนุษย์ที่ระบุว่า มียีนที่เชื่อมโยงกับการเป็นคนรักเพศเดียวกัน จนทำให้เกิดความคิดเรื่องยีนเกย์แต่งานวิจัยด้านพันธุกรรมมากมายในเวลาต่อมาแสดงให้เห็นว่า คุณลักษณะของมนุษย์มีความซับซ้อนที่เชื่อมโยงกันระหว่างพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม

เช่นเดียวกับผลการศึกษาล่าสุดที่ยืนยันเรื่องความซับซ้อนนี้ งานวิจัยวิเคราะห์ดีเอ็นเอและประสบการณ์ทางเพศของคนเกือบ 500,000 คน ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Science เมื่อวันที่ 29 สิงหาคมพบว่า การเปลี่ยนแปลงลักษณะทางพันธุกรรม (genetic variants) ที่เชื่อมโยงกับพฤติกรรมการรักเพศเดียวกันมีผลน้อยมาก และยืนยันได้ว่า ไม่มีสิ่งที่เรียกว่ายีนเกย์’ 

นักวิจัยให้เหตุผลว่า เนื่องจากงานวิจัยก่อนหน้านี้ใช้ข้อมูลน้อย แต่สรุปกว้างเกินไป นักวิจัยจึงเริ่มสร้างแนวร่วมการทำงานระหว่างประเทศ และเก็บตัวอย่างจากคนเกือบห้าแสนคน ซึ่งมากกว่างานวิจัยเดิม 100 เท่า

การศึกษานี้เป็นงานวิจัยจีโนมศึกษาที่ถือได้ว่าใหญ่ที่สุด เพราะวิเคราะห์ตัวอย่างดีเอ็นเอของคนมากกว่า 470,000 ที่ได้ส่งตัวอย่างดีเอ็นเอและให้ข้อมูลวิถีการดำเนินชีวิตของตัวเองกับ UK Biobank จำนวน 408,995  คนและ 23andMeInc บริษัทตรวจสอบพันธุกรรมในสหรัฐอเมริกา จำนวน 68,527 คน

แอนเดรีย กานนา นักชีววิทยาสถาบันการแพทย์โมเลกุลในฟินแลนด์ หัวหน้าทีมวิจัยกล่าวว่า ได้สแกนจีโนมทั้งหมดของมนุษย์และพบว่า จากทั้งหมด 30,000 ยีน มีเครื่องหมายทางพันธุกรรมเพียง 5 จุดเท่านั้นที่เกี่ยวข้องอย่างสำคัญกับพฤติกรรมรักเพศเดียวกัน แต่นักวิจัยบอกว่ามันยังห่างไกลจากการจะทำนายพฤติกรรมทางเพศ

ข้อสรุปของงานวิจัยนี้คือ ไม่มีสิ่งที่เรียกว่ายีนเกย์ที่กระตุ้นพฤติกรรมทางเพศของคน แต่แรงดึงดูดทางเพศของคนเพศเดียวกันถูกกำกับโดยส่วนผสมที่ซับซ้อนของพันธุกรรมและสภาพแวดล้อม เช่นเดียวกับมิติอื่นๆ ในชีวิตมนุษย์

เบน นีล ผู้อำนวยการด้านพันธุกรรมของศูนย์วิจัยด้านจิตเวช สถาบันบรอด์ของเอ็มไอทีและมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด หนึ่งในผู้ร่วมวิจัยบอกว่า ผลการศึกษาสนับสนุนจุดยืนที่ว่า เราไม่ควรทดลองและพัฒนาวิธีรักษาเกย์ มันไม่เป็นประโยชน์กับใคร

เขายังบอกว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะทำนายพฤติกรรมทางเพศของคนจากจีโนม พันธุกรรมมีผลต่อพฤติกรรมทางเพศน้อยกว่าครึ่งหนึ่ง แต่ก็นับว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญ ข้อค้นพบนี้ยิ่งทำให้เห็นความสำคัญของความหลากหลาย ซึ่งเป็นมุมมองสำคัญต่อพฤติกรรมทางเพศ ปัจจัยอื่นๆ มีทั้งสภาพแวดล้อม การเลี้ยงดู บุคลิกภาพ สำคัญต่อการเลือกคนรัก 

ที่มา:

https://www.reuters.com/article/us-science-sex-idUSKCN1VJ2C3

https://www.economist.com/science-and-technology/2019/08/31/a-scientific-study-has-established-that-there-is-no-gay-gene

https://www.cbsnews.com/news/no-gay-gene-new-study-no-single-gene-drives-sexual-behavior-complex-mix-of-genetic-and-other-influences-2019-08-29/

https://www.nytimes.com/2019/08/29/science/gay-gene-sex.html

ภาพ : gettyimages

Tags: , ,