เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2563 นายอาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล ชาวไทยที่เดินทางไปศึกษาต่อและอาศัยอยู่ในเมืองดับลิน ประเทศไอร์แลนด์ ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งพิพากษาเพิกถอน ข้อ 4 และข้อ 5 แห่งประกาศสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เรื่องแนวปฏิบัติสำหรับผู้ดำเนินการเดินอากาศที่ทำการบินมายังประเทศไทย 

ข้อกำหนดดังกล่าวที่ระบุให้ผู้โดยสารสัญชาติไทยที่จะเดินทางมายังประเทศไทย ต้องมีเอกสารตามเงื่อนไข คือ ใบรับรองแพทย์ที่ยืนยันว่ามีสุขภาพเหมาะสมต่อการเดินทางทางอากาศ (fit to fly) และ หนังสือรับรองการเดินทางกลับประเทศไทยที่ต้องทำการขอ ณ สถานเอกอัครราชทูตไทย สถานกงสุลใหญ่ หรือกระทรวงการต่างประเทศ

คำฟ้องระบุว่า ข้อกำหนดดังกล่าวกระทบสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ก่อภาระในการดำเนินการทั้งค่าใช้จ่าย เวลา รวมถึงความเสี่ยงต่อสุขภาพ นอกจากนี้ ข้อกำหนดดังกล่าวยังไม่ชอบด้วยกฎหมายด้วยเหตุผล ดังนี้ 

  1. เป็นการกระทำที่ไม่มีอำนาจตามกฎหมาย
  2. เป็นการขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ อาทิ มาตรา 39 วรรคหนึ่งที่ระบุว่าการห้ามมิให้ผู้มีสัญชาติไทยเข้ามาในราชอาณาจักร ไม่สามารถกระทำได้ เป็นสิทธิเด็ดขาด ไม่มีข้อยกเว้น (ประกอบข้อ 12(4) แห่งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง) มาตรา 38 วรรคหนึ่ง ซึ่งรับรองเสรีภาพในการเดินทาง และมาตรา 25 วรรคหนึ่งอันรับรองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนตราบเท่าที่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย ไม่ได้จำกัดไว้
  3. เป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ โดย
    1. ขัดต่อหลักความได้สัดส่วน เนื่องจากมาตรการดังกล่าวไม่สามารถที่จะระบุได้ว่าผู้โดยสารมีหรือไม่มีเชื้อไวรัสอยู่ในร่างกาย เป็นแค่เพียงเอกสารที่ระบุถึงสภาพความพร้อมในการเดินทางทางอากาศของผู้โดยสาร ขณะที่เข้ารับการตรวจเท่านั้น
    2. ขัดต่อหลักความจำเป็น เนื่องจากมีทางเลือกในการดำเนินมาตรการอื่น อาทิ จัดให้มีมาตรการตรวจสอบสภาวะของเชื้อไวรัสโคโรนาในผู้โดยสารขาเข้า
    3. ขัดต่อหลักความได้สัดส่วนในความหมายอย่างแคบ เนื่องจากไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใดแก่มหาชน และยังส่งผลกระทบต่อผู้ฟ้องคดีและผู้โดยสารจำนวนมากที่อยู่ต่างประเทศ
  4. สร้างขั้นตอนโดยไม่จำเป็นหรือสร้างภาระให้เกิดกับประชาชนเกินสมควร โดยเป็นการผลักภาระในการคุ้มครองสวัสดิภาพของประชาชนให้แก่ผู้โดยสารเกินสมควร 

นอกจากนี้ นายอาทิตย์ยังขอให้ศาลปกครองมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามข้อ 4 และข้อ 5 แห่งประกาศที่พิพาทโดยฉุกเฉิน  ด้วยเหตุผลว่าหากให้มีผลใช้บังคับต่อไปจะทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงที่ยากแก่การเยียวยาแก้ไขในภายหลัง โดยได้รับความเสียหายแก่เวลาและโอกาสต่างๆ ที่ผู้ฟ้องคดีมีอยู่อย่างจำกัดในการเดินทางเพื่อมาดำเนินการจัดหาและแสดงเอกสารต่างๆ ตามประกาศ อีกทั้งก่อภาระอย่างเกินสมควรเพราะบังคับให้ผู้ฟ้องคดีเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ เพิ่มความเสี่ยงที่จะติดเชื้อไวรัสโคโรนา อันเป็นความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อสุขภาพ ในส่วนของผู้โดยสารในประเทศอื่นๆ ที่มีมาตรการห้ามการเดินทางออกนอกเคหะสถานอย่างเคร่งครัด ประกาศนี้อาจส่งผลให้ผู้โดยสารมีความเสี่ยงที่จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายของประเทศนั้นด้วย

นอกจากนี้นายอาทิตย์ยังอ้างว่าการทุเลาการบังคับนั้นจะไม่เป็นอุปสรรคแก่การบริหารงานของรัฐหรือแก่บริการสาธารณะ เนื่องจากผู้ถูกฟ้องคดีย่อมมีทางเลือกในการดำเนินมาตรการอื่นในการจัดให้ตรวจสอบสภาวะของเชื้อไวรัสโคโรนาในผู้โดยสารขาเข้าได้ รวมถึงมีมาตรการอื่นๆ ที่หน่วยงานของรัฐสามารถกระทำได้อยู่แล้ว

ทั้งนี้ เขากล่าวว่า “ไม่ได้คัดค้านนโยบายคัดกรองของรัฐบาล และเห็นความสำคัญของการควบคุมโรคติดต่อที่อาจมากับผู้เดินทาง แต่เราน่าจะมีวิธีการอื่นที่ไม่ใช่เป็นการผลักให้คนไทยที่เดือดร้อนต้องลำบากอยู่ต่างประเทศ ตัวผมเองและผู้เดินทางอื่นๆ ยินดีอย่างยิ่งที่จะจำกัดบริเวณตัวเองในที่พักอาศัยตามกำหนดเวลาเมื่อเดินทางถึงประเทศไทยแล้ว เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค” 

ทั้งนี้ อาทิตย์ยังรณรงค์แคมเปญ “#คนไทยต้องได้กลับบ้าน รัฐบาลต้องยกเลิกประกาศ Fit To Fly #BringThaiHome” ผ่านเว็บไซต์ Change.org/BringThaiHome พร้อมระบุอีเมลติดต่อที่ [email protected]

Tags: , , ,