ช่วงบ่ายของวันนี้ (8 มี.ค.) ที่ประชุม สนช. มีมติเห็นชอบกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญสองฉบับสุดท้าย คือ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (คะแนน 211 ต่อ 0 งดออกเสียง 7) และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. (คะแนน 201 ต่อ 1 งดออกเสียง 13)

ก่อนหน้านี้ หลังจาก สนช. เห็นชอบร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. วาระที่สาม แต่ร่างกฎหมายทั้งสองฉบับยังไม่เป็นที่ถูกใจของคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จึงนำไปสู่การตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญร่วมสามฝ่าย ซึ่งประกอบด้วยประธาน กกต. กรธ. 5 คน และ สนช. 5 คน เพื่อพิจารณาแก้ไขร่างกฎหมายให้เป็นที่ยอมรับของทั้งสามฝ่าย ก่อนส่งผลการพิจารณาให้ที่ประชุม สนช. พิจารณาเห็นชอบอีกครั้งในวันนี้

ประเด็นสำคัญของการพิจารณา มีดังนี้

พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.

  • ให้หมายเลขผู้สมัคร ส.ส. ของแต่ละพรรคในแต่ละเขตเป็นไปตามลำดับการสมัคร หรือหมายความว่าผู้สมัครพรรคเดียวกันในแต่ละเขตจะไม่ใช้หมายเลขเดียวกัน
  • ห้ามการโฆษณาหาเสียงด้วยการจัดให้มีมหรสพหรือการรื่นเริงต่างๆ
  • กำหนดเวลาการออกเสียงลงคะแนนตั้งแต่ 08.00-17.00 น.
  • ให้บุคคลอื่นหรือกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งช่วยลงคะแนนแทนคนพิการหรือผู้สูงอายุได้
  • กำหนดให้ค่าใช้จ่ายในการหาเสียงของพรรคการเมืองแต่ละพรรคที่ กกต. จัดสรรให้ ไม่จำเป็นต้องมีวงเงินเท่ากัน
  • ตัดสิทธิ์ผู้ไม่ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง โดยให้ผู้ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง ข้าราชการรัฐสภา รองผู้บริหารท้องถิ่น ที่ปรึกษา ฯลฯ ต้องพ้นจากตำแหน่งทันทีที่ไม่ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง

อย่างไรก็ตาม มีบางมาตราที่ กรธ. ท้วงติงว่าไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญปี 2560 เช่น การเปลี่ยนการกำหนดงบหาเสียงจากเท่ากันทุกพรรค มาแบ่งเป็นให้ตามขนาดพรรค การตัดสิทธิ์ผู้ที่ไม่ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งในการลงสมัคร กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ส.ส. และ ส.ว. และห้ามดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง ข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมือง ผู้บริหารท้องถิ่น ที่ปรึกษา และเลขานุการท้องถิ่น เป็นเวลาสองปี นับแต่วันที่บุคคลนั้นไม่ไปใช้สิทธิ์ ซึ่งประเด็นนี้มีสมาชิก สนช. ตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ และอาจไม่ตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

 

พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.

  • ในบททั่วไป ให้กลับไปใช้การคัดเลือก ส.ว. ตามกฎหมายที่ กรธ. เสนอ โดยกำหนดให้แบ่งโควตาอาชีพผู้สมัคร ส.ว. เป็น 20 กลุ่ม และให้กลับมาใช้ระบบเลือกไขว้
  • ในบทเฉพาะกาล กำหนดว่าในช่วง 5 ปีแรก ให้กำหนดโควตาอาชีพหรือกลุ่มอาชีพผู้สมัคร ส.ว. มี 10 กลุ่ม และให้องค์กรนิติบุคคลเสนอชื่อผู้สมัคร ส.ว. ได้
  • ให้ กกต. มีอำนาจยื่นศาลฎีกาเพื่อสั่ง ‘เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง’

ทั้งนี้ มีสมาชิก สนช. ติดใจว่าการเขียนในบทเฉพาะกาลให้โควตาอาชีพหรือกลุ่มอาชีพผู้สมัคร ส.ว. มี 10 กลุ่ม และให้องค์กรนิติบุคคลเสนอชื่อผู้สมัคร ส.ว. ได้ อาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ

สำหรับขั้นตอนต่อไป สนช. จะส่งร่างให้นายกรัฐมนตรี และพักไว้ 5 วัน ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ แต่ถ้าสมาชิก สนช. เห็นว่ามีประเด็นใดขัดหรือไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ สามารถเข้าชื่อจำนวนไม่น้อยกว่า 25 คน ส่งเรื่องให้ประธาน สนช. เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ซึ่งจะส่งผลให้นายกรัฐมนตรีต้องชะลอการนำร่างขึ้นทูลเกล้าฯ

 

ที่มา

Tags: , , , , , ,