หลังจากสมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสเดินทางกลับจากไอร์แลนด์เมื่อปลายเดือนสิงหาคม 2561 และให้สัมภาษณ์สื่อในเที่ยวบินขากลับ และได้กล่าวคำขอโทษต่อกรณีล่วงละเมิดทางเพศที่เกิดขึ้นในคริสตจักรตลอดทศวรรษที่ผ่านมา นอกจากนี้ ในระหว่างการให้สัมภาษณ์ นักข่าวคนหนึ่งถามถึงวิธีแก้ปัญหาของพ่อแม่เมื่อพบว่าลูกของตนมีแนวโน้มจะ ‘เบี่ยงเบน’ ทางเพศ โป๊ปฟรังซิสได้แนะนำให้พ่อแม่พาลูกไปปรึกษาจิตแพทย์ พร้อมบอกว่า หากเพิกเฉยต่อเรื่องนี้ ถือเป็นข้อบกพร่องของพ่อเป็นแม่

จากคำตอบนี้ของสมเด็จพระสันตะปาปา นำมาสู่กระแสแฮชแท็ค #NiPapeNiPsychiatre ในทวิตเตอร์ แปลว่า “ไม่ทั้งพระสันตะปาปาและจิตแพทย์” ซึ่งเป็นแฮชแท็กที่กำลังติดเทรนดิ้งในสังคมฝรั่งเศส

จุดเริ่มต้นของ #NiPapeNiPsychiatre และท่าทีของวาติกัน

#NiPapeNiPsychiatre เป็นแฮชแท็กที่เริ่มโดย Alice Coffin (อลีซ กอฟแฟง) นักเคลื่อนไหวทางการเมืองชาวฝรั่งเศสซึ่งสนใจประเด็นสตรีนิยม เธอโพสต์ภาพวัยเด็กของเธอพร้อมข้อความว่า “ฉันคือเด็กที่มีแนวโน้มจะเป็นคนรักเพศเดียวกัน ไม่ได้รู้จักพระสันตะปาปาหรือจิตแพทย์” 

จุดเริ่มต้นนี้กลายเป็นแรงขับให้กลุ่มความหลากหลายทางเพศในฝรั่งเศสออกมาโพสต์รูปพร้อมข้อความและแฮชแท็ก #NiPapeNiPsychiatre เพื่อต่อต้านคำแนะนำของสมเด็จพระสันตะปาปาที่โต้เถียงกันว่ามากับอคติทางเพศ และตั้งคำถามถึงบทบาทหน้าที่ของความเป็นพ่อแม่ว่ามีสิทธิ์มากน้อยแค่ไหนในตัวลูก ซึ่งกลุ่มที่เชื่อมั่นในเรื่องความหลากหลายทางเพศเห็นว่า พ่อแม่ที่ดีควรเปิดโอกาสให้ลูกได้เรียนรู้ตัวตน แทนที่จะปฏิบัติกับลูกราวกับว่าเป็นคนป่วย และควรปล่อยให้ลูกในฐานะปัจเจกบุคคลได้เลือกเพศของจากความรู้สึกและประสบการณ์ของเขาเอง

สิ่งที่น่าสนใจไม่น้อยไปกว่าปฏิกริยาของคนทั่วไป คือท่าทีของวาติกันเองที่ต่อมาก็ถอดบทสัมภาษณ์ในส่วนนี้ของพระสันตะปาปาออกไปจากคำแถลงการณ์ และยังอธิบายด้วยว่า พระสันตะปาปาไม่ได้มีเจตนากล่าวหาว่า การเป็นคนรักเพศเดียวกันเป็นโรคป่วยทางจิตที่ต้องเข้ารับการรักษา

เหนือไปกว่าเรื่องที่วาติกันรู้ตัวดีว่าสิ่งที่พระสันตะปาปาพูดจะส่งผลเสียต่อพลังศรัทธา ก็คือคำถามที่ว่า ศาสนาจะเป็นมิตรกับคนรักเพศเดียวกันได้จริงหรือ ศาสนาจะยังคงธำรงตนเป็นที่พึ่งทางจิตใจของมนุษย์อีกได้ไหม หากกีดกันและตีตราใครต่อใครออกไปจากโลกในอุดมคติของตนเอง

ที่มาของ #NiPapeNiPsychiatre กับการต่อสู้อย่างมีกึ๋น 

เหตุผลที่ #NiPapeNiPsychiatre ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลาย เพราะมันล้อกันกับสโลแกน Ni dieu ni maître แปลว่า “ไม่ทั้งพระเจ้าและเจ้านาย” (ในความหมายของชนชั้นผู้ปกครอง) ของ Auguste Blanqui (ออกุสต์ บลองกี) นักสังคมนิยมและนักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ตั้งคำถามต่อศาสนา สถาบัน และอภิสิทธิ์ชนในสังคมในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ซึ่งต่อมา กลุ่มเฟมินิสต์ก็ยืมมาเติมเป็น Ni patron ni mari แปลว่า “ไม่ทั้งเจ้านาย (ในความหมายของหัวหน้างาน) และสามี”

การเล่นล้อกันกับสโลแกนดังในประวัติศาสตร์ที่คนทั่วไปพอจะเข้าใจความหมายและนัยยะทางการเมือง กลายเป็นการสร้างสปิริตร่วมกันจนเกิดเป็นกระแสขึ้นมา

อย่างไรก็ดี น่าคิดว่า เสียงในโลกโซเชียลจะดังพอที่จะเปลี่ยนโลกแห่งความเป็นจริงได้แค่ไหน

การเรียกร้องในปัจจุบันต่างไปจากอดีต จากเมื่อก่อนที่คนจะออกมาเดินตามท้องถนน เขียนสโลแกนเก๋ๆ ในป้ายประท้วงเพื่อบอกอุดมการณ์ของตัวเอง แต่ปัจจุบัน สิ่งเหล่านี้ผันแปรมาอยู่ในรูปแบบของแฮชแท็กในโลกโซเชียล เช่น #MeToo #TimesUp #JeSuisCharlie  #NiPapeNiPsychiatre ฯลฯ

พื้นที่ที่เคยเชื่อกันว่าเป็นพื้นที่ส่วนตัวในโลกโซเชียล ทุกวันนี้มันเริ่มกลายมาเป็นพื้นที่ทางการเมือง การเรียกร้องความอยุติธรรมจะทำเมื่อไรก็ได้ แค่พิมพ์แล้วโพสต์ 

แต่สิ่งที่น่าจับตามองต่อ คือ พลังของมันพอที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงในบางเรื่อง ในแบบถอนรากถอนโคนได้หรือไม่?

ความเหมือนที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

ความเหมือนในความต่างที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกับกระแส #NiPapeNiPsychiatre คือ โรงเรียนชายล้วนแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ จัดอบรมให้คำแนะนำผู้ปกครองในการปกป้องไม่ให้ลูกตัวเอง ‘เบี่ยงเบน’ ทางเพศ  รวมถึงบทความ “เลี้ยงลูกอย่างไรไม่ให้ผิดเพศ” ของกรมสุขภาพจิตที่ยังคงมีเนื้อหาที่แฝงอคตินี้แสดงอยู่ในหน้าเว็บไซต์ เนื้อความก็ไปในแนวทางเดียวกันกับคำแนะนำของสมเด็จพระสันตะปาปา 

อคติทางเพศนี้ยังคงปรากฏให้อยู่เรื่อยๆ แม้องค์การอนามัยโลก (WHO) จะประกาศมานานแล้วว่า การรักเพศเดียวกันไม่ใช่อาการป่วยทางจิตมาตั้งแต่ปี 1990

แต่สิ่งที่กระแส ไม่ว่าจะออฟไลน์หรือออนไลน์ ของสังคมไทยต่างจากบรรยากาศที่ฝรั่งเศส คือ การถกเถียงเพื่อสร้างความเข้าใจเรื่องเพศวิถีแก่คนในสังคม ‘ในวงกว้าง’ ที่จะนำสังคมไปสู่การถกเถียงในเชิงลึก

แม้ไทยจะได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่ดูเหมือนจะยอมรับความหลากหลายทางเพศ แต่ภายใต้การยอมรับนั้น มากับท่าทีที่ตีตรา ว่าคือการเกิดมา ‘ผิด’ เพศ และเป็นเพราะผลกรรมต่างๆ นานาที่ทำเอาไว้แต่ชาติปางก่อน หรือจากความผิดปกติจากการเลี้ยงดูของครอบครัว 

วิธีคิดแบบนี้ ก็ยังเกิดขึ้นทั่วไป ในสังคมรอบตัวเรานี่เอง?

 

อ้างอิง

Tags: , ,