นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบียพบว่า หนูที่อยู่ในชั้นใต้ดินของอพาร์ตเมนต์ในนิวยอร์ก หรือแม้แต่บนตึกที่หรูหราที่สุด ต่างก็มีแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรค และพบ ‘ซูเปอร์บักส์’ หรือแบคทีเรียที่ดื้อยาปฏิชีวนะและไวรัสที่ไม่เคยพบมาก่อน

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบียและศูนย์ควบคุมโรคติดต่อสหรัฐอเมริกาได้ทำงานร่วมกับบริษัทจัดการแมลงของท้องถิ่น เข้าไปสำรวจอาคาร 7 แห่ง บริเวณแมนฮัตตัน บรอนซ์ และควีนส์ สำรวจห้องเก็บขยะของอพาร์ตเมนต์ในลาคอเนีย แอลเลอตัน และเดอะ อัปเปอร์เวสต์ไซด์ เชลซี และเฟรช มีโดวส์ และสำนวจห้องครัวของอาคารพาณิชย์ แล้วเก็บตัวอย่างหนู 416 ตัว ตลอดระยะเวลา 13 เดือน ระหว่างปี 2014-2015

จากนั้นทีมวิจัยได้ทำการค้นหาจุลินทรีย์โดยเก็บตัวอย่างอุจจาระและเนื้อเยื่อไตของหนูเพื่อหายีนของแบคทีเรีย และตัวอย่างตับเพื่อหายีนของไวรัส การศึกษาตัวอย่างเหล่านี้ทำให้นักวิจัยตรวจพบแบคทีเรียที่รู้จักกันดีอย่างแบคทีเรียชิเกลลา (Shigella – ทำให้เกิดโรคบิด) ซาลโมเนลลา (Salmonella) คลอสตริเดียม ดิฟิซายล์ (Clostridium difficile) และ อี. โคไล. (E. coli.) และยังพบไวรัส 9 สายพันธุ์ที่ไม่เคยพบมาก่อน และไวรัสอื่นๆ ที่ไม่ก่อให้เกิดโรคในมนุษย์

พวกเขายังตรวจพบแบคทีเรียที่แตกต่างกัน 22 ชนิด ซึ่งสามารถเปลี่ยนแบคทีเรียธรรมดาซึ่งก่อให้เกิดโรคที่รักษาได้ กลายเป็นซุปเปอร์บักส์หรือแบคทีเรียที่ดื้อยาปฏิชีวนะ ทำให้รักษาได้ยาก

ราว 37% ของตัวอย่างหนูทั้งหมดเป็นพาหะของแบคทีเรียที่เป็นอันตราย และประมาณ 1ใน 4 ของหนูมียีนแบคทีเรียที่ดื้อยา และเพราะว่าแบคทีเรียสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ แบคทีเรียในหนูจึงสามารถทำให้ซุปเปอร์บักส์เพิ่มจำนวนขึ้นมาอย่างรวดเร็วได้

ไม่แน่ชัดว่า หนูได้รับแบคทีเรียที่ดื้อยาปฏิชีวนะมาจากคนหรือไม่ เช่น กินอาหารเหลือที่มีของเสียของคนที่กินยาปฏิชีวนะเข้าไป หรือเป็นแบคทีเรียที่พัฒนาขึ้นเองในตัวหนูหลังจากที่หนูกินยาปฏิชีวนะซึ่งถูกทิ้งเป็นขยะ

“มันมีศักยภาพที่จะเป็นแหล่งเชิ้อโรคของมนุษย์” นายแพทย์ ดับเบิลยู เอียน ลิปกิน (W. Ian Lipkin) นักระบาดวิทยา มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย นักวิจัยอาวุโสของทีมวิจัยกล่าว  หนูดูแข็งแรงดี เขาสันนิษฐานว่าพวกมันเป็นพาหะนำโรค แต่ไม่ได้รับผลกระทบใดๆ จากไวรัสและแบคทีเรียเหล่านี้

ด้าน ปีเตอร์ แดซแซค (Peter Daszak) ผู้อำนวยการอีโคเฮลธ์ อะลิอันซ์ (EcoHealth Alliance) องค์กรไม่แสวงกำไรที่วิจัยเรื่องโรคอุบัติใหม่ทั่วโลกบอกว่า การตรวจและติดตามเชื้อจุลินทรีย์เหล่านี้สำคัญเพราะช่วยให้เข้าใจว่ามันแพร่เชื้ออย่างไร และถ้าจำเป็น เราจะปกป้องตัวเองอย่างไรจากโรคที่มันนำมา

“ถ้าเราไม่รู้ว่ามันมาจากไหน เราก็วิเคราะห์ไม่ได้ว่าอะไรที่กระตุ้นมัน และจะไม่สามารถควบคุมสิ่งกระตุ้นนั้นได้” แดซแซคซึ่งไม่ได้เป็นหนึ่งในทีมวิจัยกล่าว ตัวอย่างเช่น ไม่มีใครรู้ว่ายีนดื้อยาปฏิชีวนะเกิดขึ้นในโรงพยาบาลได้อย่างไร ทั้งในเมืองและพื้นที่ชนบท

จากการศึกษาครั้งนี้ นักวิจัยไม่พบไวรัสใดๆ ที่จะเป็นอันตรายต่อมนุษย์ อย่างไรก็ตาม พวกเขาพบไวรัสที่เหมือนว่าจะสามารถกระโดดจากหมู สุนัข ไปยังหนูได้ แปลว่าไวรัสเหล่านี้สามารถกลายพันธุ์ไปติดเชื้อในมนุษย์ได้ด้วยเช่นกัน

แต่ลิปกินย้ำว่า นักวิจัยไม่ได้โยงตรงๆ ว่าหนูเป็นสาเหตุให้เกิดโรคระบาดใหญ่ในมนุษย์ ดังนั้นประชาชนไม่ต้องตื่นเต้นถ้าเห็นหนูในบ้าน แต่ควรจะหาทางป้องกันตัวเองมากขึ้น

ยังไม่มีหลักฐานโดยตรงที่แสดงให้เห็นว่าหนูทำให้ชาวนิวยอร์กป่วยหรือส่งผลต่อการดื้อยา แต่นักวิจัยแนะนำว่า ควรจะต้องศึกษาหนูในเมืองต่อไป เพราะว่ามีความเสี่ยงต่อสุขภาพสูง ถ้าหนูในนิวยอร์กเป็นพาหะนำโรคและยีนแบคทีเรีย ก็มีความเป็นไปได้สูงว่าในเมืองทั่วโลกก็น่าจะเป็นแบบเดียวกัน

ลิปกินเริ่มทำวิจัยเกี่ยวกับจุลินทรีย์ที่มีอยู่ในธรรมชาติของนิวยอร์ก หลังจากเหตุก่อการร้าย 9/11 ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ตระหนักว่าไม่มีข้อมูลพื้นฐานในการเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลง ห้องทดลองของเขายังศึกษาหนูในระบบรถไฟใต้ดินในนิวยอร์ก และพบแบคทีเรียที่มีเชื้อโรคหลายชนิดที่เหมือนกัน

แม้ว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะกำจัดหนูในเมือง ลิปกินกล่าวว่า ผลการศึกษานี้แสดงให้เห็นว่าเราควรจะลงมือควบคุมประชากรหนู และการแพร่เชื้อไปยังมนุษย์

 

ที่มา:

Tags: , , , , ,