หลังจาก เทเรซา เมย์ ประกาศลาออกจากนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักรเมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เพราะไม่สามารถจัดการกับเรื่องของเบร็กซิต (Brexit) หรือการแยกตัวของสหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรปได้ ในที่สุด พรรคอนุรักษ์นิยมก็ได้หัวหน้าพรรคคนใหม่ และจะเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ด้วย คือ ‘บอริส จอห์นสัน’ (Boris Johnson) 

ภารกิจที่สำคัญที่สุดของจอห์นสัน ก็คือการพาอังกฤษออกจากสหภาพยุโรปให้ได้ภายใน 31 ตุลาคม 2562 ซึ่งเป็นเส้นตายจากสหภาพยุโรปที่ขยายออกไปไม่ได้อีกแล้ว หรือหากนับกันคร่าวๆ ก็เหลือเวลาอีกเพียง 100 วันเท่านั้น

แล้วจอห์นสันจะต้องเจออะไรบ้างในเส้นทางนี้ ความเป็นไปได้ที่หน้าตาของเบร็กซิตภายใต้การนำของเขาจะออกมาหน้าตาอย่างไร และมีแนวโน้มหรือไม่ที่เราอาจจะไม่ได้เห็นเบร็กซิตเลยด้วยซ้ำ?

ไม่มีใครรู้ดีไปกว่าคนสนับสนุนและผลักดัน: ย้อนดูเส้นทางของจอห์นสันกับเบร็กซิต

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2016 ก่อนการลงประชามติแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป ในเวลานั้นอังกฤษมีนายกรัฐมนตรีคือ เดวิด คาเมรอน (David Cameron) เวลานั้นจอห์นสันยังเป็นเพียงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) สังกัดพรรคอนุรักษ์นิยมเท่านั้น แต่ด้วยบทบาททางการเมืองของเขาที่เคยเป็นทั้งสื่อมวลชน ผู้ว่าการกรุงลอนดอน ต้องถือว่าเขาเป็นคนที่มีชีวิตโลดโผนทางการเมือง และเป็นดาวเด่น (รวมถึงเป้า) ในทางการเมือง และแน่นอนว่า ทุกๆ ครั้งที่เขาพูด มักได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนอยู่เสมอ

จอห์นสันประกาศจุดยืนชัดเจนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2016 ว่าตัวเขาสนับสนุนการแยกตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป เนื่องจากมองว่าสหภาพยุโรปทำให้อังกฤษไม่มีอิสระและเป็นการลดทอนประชาธิปไตยของอังกฤษ โดยเรียกร้องให้ชาวอังกฤษมีความกล้าหาญในการตัดสินใจ 

จุดยืนของเขานับว่าสวนทางทั้งกับผู้เป็นพ่อ และจุดยืนของรัฐบาลในเวลานั้น ที่พยายามเรียกร้องให้สาธารณชนลงมติให้อังกฤษยังคงเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพยุโรปต่อไป นอกจากนี้ยังปฎิเสธว่า ตัวเขาไม่ได้พยายามจะสู้กับคาเมรอนเพื่อพยายามช่วงชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วย

หลังจากผลการลงประชามติออกมาว่าอังกฤษจะออกจากสหภาพยุโรป สิ่งที่ตามมาในเวลาไม่นานคือการประกาศลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยมและนายกรัฐมนตรีของคาเมรอน เปิดทางให้เกิดการสรรหานายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่จะมารับช่วงภารกิจการนำอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป ซึ่งในเวลานั้น ทุกคนต่างคาดว่าจอห์นสันจะมาดำรงตำแหน่งนี้แทน เพราะเขาสนับสนุนการแยกตัวอย่างแข็งขันที่สุดคนหนึ่งในพรรคอนุรักษ์นิยม

แต่เขาปฏิเสธที่จะลงชิงการเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ เพราะรู้สึกว่าไม่เหมาะสมที่จะทำหน้าที่ดังกล่าว ผลจึงทำให้เทเรซา เมย์ ได้ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ แล้วก็ไม่รอช้า เธอแต่งตั้ง จอห์นสัน เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งนัยหนึ่งก็คือการแต่งตั้งเพื่อให้ตัวเขามีส่วนรับผิดชอบในการตัดสินใจสนับสนุนการให้อังกฤษแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปนั่นเอง

แต่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ประเด็นเบร็กซิตไม่ได้แก้กันได้ง่ายๆ ด้วยความราบรื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกรณีของไอร์แลนด์เหนือ ซึ่งเป็นจุดปัญหาสำคัญอย่างมาก เพราะการนำมาสู่เส้นเขตแดนย่อมหมายถึงความเสี่ยงที่จะเกิดความรุนแรงแบบในสมัยที่ยังมีกองกำลังติดอาวุธปลดปล่อยไอร์แลนด์ (Irish Republican Army: IRA) ที่เพิ่งจะยุติไปเมื่อปี 2005 เท่านั้น

เวลาหมุนผันผ่านไปอย่างรวดเร็วและยากลำบาก ข้อเสนอเบร็กซิตของรัฐบาลถูกนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ 7 กรกฎาคม 2018 ซึ่งหลังจากนั้นเพียง 3 วัน จอห์นสัน ประกาศลาออกจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พร้อมตำหนิรัฐบาลอย่างรุนแรงถึงแผนการเบร็กซิต ที่ต่อมา ข้อเสนอแล้วข้อเสนอเล่าจากรัฐบาลของเมย์ถูกปัดตกจากสภาผู้แทนราษฎร รวมถึงสภาเองก็ลงมติแสดงเจตจำนงว่าไม่ต้องการให้เกิดสถานการณ์ออกจากสหภาพยุโรปแบบไม่มีข้อตกลง (No-deal Brexit) ด้วย

เมื่อตกในที่นั่งลำบากเช่นนี้ เมย์จึงประกาศลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยมและนายกรัฐมนตรี เปิดทางให้มีการสรรหาใหม่ คราวนี้ไม่ใช่ใครแต่เป็นจอห์นสันที่ได้ขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยม และโดยปริยายก็คือนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของอังกฤษนั่นเอง พร้อมกับภาระอันหนักอึ้งที่รออยู่ข้างหน้า นั่นก็คือการนำพาอังกฤษออกจากสหภาพยุโรปให้เสร็จสมบูรณ์ก่อนเส้นตายวันที่ 31 ตุลาคม 2019 นั่นเอง

เรียกว่าในทางการเมืองและจังหวะเวลา คงไม่มีใครที่จะเหมาะสมไปกว่านี้อีกแล้ว เพราะนี่คือการผลักดันสิ่งที่เขาสนับสนุนมาตั้งแต่ต้น และอาจเรียกได้ว่า ถือเป็นภารกิจหลักของเขาในเวลานี้

ภารกิจ ความเป็นไปได้ และความท้าทาย: สิ่งที่รอจอห์นสันอยู่เบื้องหน้า

แม้ในทางการเมือง จะไม่มีใครเหมาะสมเท่ากับจอห์นสัน ที่พยายามผลักดันเรื่องเบร็กซิตให้เป็นจริง แต่ในทางกลับกัน ผู้คนกลับไม่ได้นิยมเขามากมายนักโดยเฉพาะสำหรับตลาดการเงินการลงทุน รวมถึงความท้าทายทางเศรษฐกิจอันเกิดจากผลของการประกาศออกจากสหภาพยุโรปโดยตรง

สำนักข่าว Bloomberg ชี้ว่าสถานการณ์ของอังกฤษนั้นไม่ได้ดีเท่าใดนัก ในมิติของตลาดหลักทรัพย์และตลาดเงิน ดัชนีหลักทรัพย์ FTSE (Financial Times Stock Exchange) ของอังกฤษมีความสอดคล้องกับค่าเงินปอนด์ในลักษณะแปรผัน (ถ้าปอนด์อ่อน ตลาดก็ไม่ดีตามไปด้วย) และในช่วงที่ผ่านมา ทั้งดัชนี FTSE 250, FTSE 100 และเงินปอนด์ ต่างตกต่ำกันหมด, หุ้นในภาคการก่อสร้าง การจำหน่ายสินค้า (Retailers) และธนาคารที่เน้นให้บริการในประเทศ ทำผลง่ายได้ย่ำแย่ ที่สำคัญคือนักลงทุนเองก็เลือกจะลดการลงทุนในหลักทรัพย์ของอังกฤษด้วย แม้ว่าตลาดทุนจะตอบรับข่าวการเป็นนายกรัฐมนตรีของเขาเป็นอย่างดีด้วยการที่ดัชนี FTSE 100 ทำสถิติสูงที่สุดในรอบ 11 เดือนก็ตาม (แต่ตลาดเงินไม่ตอบรับข่าวด้วย ด้วยการที่ปอนด์อ่อนค่าลงไปอีก)

นอกจากนั้นแล้ว ตัวเลขและการคาดการณ์จากสถาบันวิจัยเศรษฐกิจและสังคมของอังกฤษ (NIESR) ประเมินว่า เศรษฐกิจในปัจจุบันที่ว่าแย่แล้วนั้น ถ้าเกิดอังกฤษออกจากสหภาพยุโรปโดยไร้ข้อตกลงใดๆ เศรษฐกิจของอังกฤษจะตกต่ำอย่างมาก หรือถ้าออกโดยมีข้อตกลงได้ ในสภาพที่ดีที่สุดเศรษฐกิจจะเติบโตเพียง 1% ในปี 2019 และ 2020 เท่านั้น

งานหินและใหญ่เช่นนี้ ทำให้จอห์นสันจำเป็นจะต้องจัดคณะรัฐมนตรีใหม่ ซึ่งเขาเลือกจะตั้งรัฐมนตรีที่มาจากสายสนับสนุนเบร็กซิตแทบทั้งสิ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งไมเคิล โกฟ (Michael Gove) และ โดมินิก คัมมิ่งส์ (Dominic Cummings) ซึ่งทั้งสามคนถือเป็นแกนหลักในการสนับสนุนเบร็กซิตที่แข็งขันอย่างมากเมื่อปี 2016 เพื่อเสริมความมั่นใจว่า เขาเอาจริงกับเรื่องนี้ พร้อมกับประกาศว่า หากไม่มีทางเลือก ตัวเขาเองสนับสนุนแผนการออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษแบบไม่มีข้อตกลงใดๆ (No-deal Brexit) และระบุว่า ทุกคนในอังกฤษพร้อมหมดแล้วสำหรับเรื่องนี้

แต่ก่อนที่เขาจะเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ไม่นาน สภาขุนนางของอังกฤษ (เทียบเท่าวุฒิสภาของไทย) ลงมติว่า นายกรัฐมนตรีคนต่อไปที่จะเข้ามารับตำแหน่งต่อจากเทเรซา เมย์ ไม่สามารถออกคำสั่งข้ามหรือยุติบทบาทของรัฐสภาได้ ซึ่งแม้มตินี้จะต้องไปผ่านที่สภาผู้แทนราษฎรอีกครั้งตามกฎหมายของอังกฤษ แต่เขาก็มั่นใจมากว่า สภาจะให้การสนับสนุนให้ออกจากสหภาพยุโรปแบบไม่มีข้อตกลงใดๆ แต่ก็แสดงให้เห็นว่าจอห์นสันเจอสถานการณ์ “รับน้อง” ที่ยากและหินยิ่งยวด

สถานการณ์เหล่านี้ยิ่งซับซ้อนเข้าไปอีก เมื่อสหภาพยุโรปมีท่าทีอย่างชัดเจนว่า ข้อเสนอของเทเรซา เมย์ จะเป็นเพียงข้อเสนอเดียวของอังกฤษที่จะพิจารณาเท่านั้น และระบุว่า เรื่องเขตแดนของไอร์แลนด์เหนือและสาธารณรัฐไอร์แลนด์ จำเป็นที่จะต้องกล่าวถึงในข้อตกลงด้วย แม้ตัวเขาพยายามบอกว่ามันไม่จำเป็น และสามารถร่างข้อตกลงใหม่ได้ แต่ก็ต้องเผชิญกับคำถามจากหลายฝ่ายว่า ด้วยระยะเวลาที่เหลืออีกประมาณ 3 เดือนก่อนเส้นตาย สิ่งที่เขาพูดจะทำให้เกิดขึ้นได้จริงหรือไม่

ตัวเลือกของอังกฤษ: เสียน้อยและเสียมาก คือทางเลือกในเวลานี้

ในห้วงเวลานี้ ตัวเลือกที่อังกฤษจะประกาศยกเลิกการออกจากสหภาพยุโรปนั้น เป็นตัวเลือกที่เป็นไปไม่ได้แล้ว แม้ว่าศาลยุติธรรมยุโรป (ECJ: European Court of Justice) จะเปิดช่องให้อังกฤษไว้ก็ตาม นั่นก็เพราะรัฐบาลชุดใหม่ของอังกฤษคือรัฐบาลที่ตั้งธงและภารกิจที่ชัดเจนแล้ว: นำอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป

เมื่อเป็นเช่นนี้ จอห์นสัน จะมีทางเลือกอยู่ประมาณ 4 ทางเลือกดังนี้

1. อังกฤษสามารถตกลงกับสหภาพยุโรปได้ และออกจากสหภาพยุโรปอย่างมีระบบ หนทางในข้อแรกนี้ถือเป็นสิ่งที่หลายฝ่ายคาดหวังมากที่สุด เนื่องจากจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจน้อยที่สุด ตัวเลขของ NIESR ระบุว่า หากอังกฤษออกจากสหภาพยุโรปจริง การเติบโตของอังกฤษจะอยู่ประมาณ 1% สำหรับปี 2019 และ 2020

อย่างไรก็ตาม ต้องไม่ลืมว่าหนทางนี้ อังกฤษจำเป็นจะต้องร่างข้อตกลงฉบับใหม่ให้ทางสหภาพยุโรปขึ้นมา ซึ่งอาจนำมาสู่การเจรจาขอขยายมาตรา 50 ตามสนธิสัญญาสหภาพยุโรป และดูจากท่าทีของยุโรปแล้วก็คงไม่ยอมโดยง่าย เพราะตามข้อกำหนดในมาตรา 50 การขยายระยะเวลาออกไปจะต้องใช้การลงมติแบบเอกฉันท์ (Unanimous Vote) เท่านั้น ซึ่งถ้ามีประเทศใดเลือกจะขวางลำ อังกฤษก็ไม่สามารถขยายระยะเวลาออกไปเกิน 31 ตุลาคม 2019 ได้อีก

 

2. อังกฤษเลือกที่จะออกจากสหภาพยุโรปแบบไม่มีข้อตกลงใดๆ ไม่ว่าจะตกลงได้หรือไม่ (No-deal/Cliff edge Brexit) การออกจากสหภาพยุโรปในรูปแบบที่สองนี้ ถือเป็นรูปแบบที่เสี่ยงอันตรายมากที่สุด แต่จอห์นสันเองก็เปิดช่องว่า ถ้าจำเป็นก็จะออกแบบนี้ บริษัทด้านการเงินอย่างเครดิต สวิส (Credit Suisse) ก็มองว่ามีความเป็นไปได้ ซึ่งจากตัวเลขการคาดการณ์ของ NIESR ก็ระบุว่า ถ้าเกิดเหตุการณ์นี้จริง เศรษฐกิจอังกฤษจะชะงักทันที และจะเริ่มกลับมากระเตื้องขึ้นในปี 2021

ทั้งนี้ เงื่อนไขของตัวเลขดังกล่าว ต้องเป็นการออกจากสหภาพยุโรปโดยไร้ข้อตกลงแบบมีระบบ (Orderly No-deal Brexit) เท่านั้น แต่หากเกิดเงื่อนไขที่จะออกแบบตัดขาดทันที และจะมีผลกระทบทางเศรษฐกิจมากกว่านี้ ส่วนธนาคารกลางของอังกฤษ ชี้ว่า ถ้าออกจากสหภาพยุโรปภายใต้เงื่อนไขนี้ เศรษฐกิจจะตกต่ำ ค่าเงินจะอ่อนค่าลง ราคาบ้านจะตกต่ำอย่างมาก

นอกจากนี้ เขตแดนระหว่างไอร์แลนด์เหนือ และสาธารณรัฐไอร์แลนด์ ก็จะเกิดขึ้นทันทีเช่นกัน ซึ่งก็อาจจะตามมาด้วยความรุนแรงในไม่ช้าด้วย

 

3. อังกฤษร้องขอสหภาพยุโรปให้มีช่วงเวลาปรับตัว หลังจากออกจากสหภาพยุโรป ในหนทางนี้คือการที่อังกฤษร้องขอให้สหภาพยุโรปรักษาสถานภาพการค้าและข้อตกลงต่างๆ ด้านเศรษฐกิจเอาไว้เหมือนเดิม และให้อังกฤษมีเวลาปรับตัว แต่ Bloomberg ชี้ว่าเงื่อนไขนี้เป็นไปได้ยาก เพราะสหภาพยุโรปจะบีบให้อังกฤษต้องเจรจาเรื่องเขตแดนระหว่างไอร์แลนด์เหนือ และสาธารณรัฐไอร์แลนด์อยู่ดี

 

4. รัฐบาลจัดการเลือกตั้งใหม่ เพื่อเสริมอำนาจทางการเมือง หนทางนี้คือการที่จอห์นสันจัดการเลือกตั้งใหม่ โดยใช้เงื่อนไขนี้เจรจาขอขยายระยะเวลามาตรา 50 ของสหภาพยุโรปออกไปกับทางกลุ่มประเทศยุโรปอื่นๆ จากนั้นจัดการเลือกตั้งโดยชูธงวาระการถอนตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรปเป็นหลัก เมื่อได้ชัยชนะทางการเมืองแล้ว จะสามารถผลักดันการออกจากสหภาพยุโรปได้ 

หนทางนี้มีความเป็นไปได้มากพอสมควร อย่างไรก็ตาม ต้องไม่ลืมว่าพรรคอนุรักษ์นิยมยังมีบาดแผลจากการใช้เกมนี้ เพราะเมื่อปี 2017 อดีตนายกรัฐมนตรีเทเรซา เมย์ จัดให้มีการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรใหม่ ด้วยยุทธศาสตร์ใกล้เคียงกัน และกลายเป็นว่า พรรคอนุรักษ์นิยมเสียที่นั่งมากถึง 13 ที่นั่ง ส่วนพรรคแรงงานที่เป็นผู้นำฝ่ายค้าน กลับได้ที่นั่งเพิ่มถึง 30 ที่นั่ง ทำให้ปัจจุบันในสภากลายเป็นสภาเสียงปริ่มน้ำ และเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ข้อเสนอของเมย์ ไม่ไปถึงฝั่งนั่นเอง

 

ทางออกของอังกฤษเวลานี้ คือสิ่งที่ผู้นำคนใหม่จะต้องตัดสินใจในอีกประมาณ 100 วันนับจากนี้ ซึ่งถ้าเลือกที่จะออกจากสหภาพยุโรปโดยที่ไม่มีข้อตกลงใดๆ ในวันที่ 31 ตุลาคม 2019 ผลกระทบทางเศรษฐกิจอาจจะมากเหลือคณานับ และจะเป็นปัจจัยหลักสำคัญที่กดดันสภาวะเศรษฐกิจโลก นอกเหนือไปจากความตึงเครียดจากการค้าระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา

สำหรับเศรษฐกิจของไทย ซึ่งเจอความท้าทายจำนวนมากอยู่แล้วในปีนี้จากปัจจัยภายใน การเจอสถานการณ์ในยุโรปเป็นปัจจัยกดดันอีกหนึ่งอย่าง ย่อมไม่ใช่เรื่องที่ดีอย่างแน่นอน และเลี่ยงไม่ได้ที่จะกระทบกับตัวเลขการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่อาจจะลดต่ำลงไปอีก

Tags: , , , , , , , ,