หลังจากเดือนมิถุนายน 2016 ชาวสหราชอาณาจักรมากกว่าครึ่งตัดสินใจโหวตให้สหราชอาณาจักรออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป หนทางที่นายกรัฐมนตรีเทเรซา เมย์ จะนำสหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรปนั้นไม่ง่ายนัก เพราะศาลสูงสุดของอังกฤษมีคำตัดสินว่า การนำสหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรปจะต้องได้รับอนุมัติจากรัฐสภาอังกฤษก่อน

การนำสหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรปขยับเข้าใกล้ความจริงมากขึ้น หลังจากล่าสุดสมาชิกรัฐสภาส่วนใหญ่มีมติเห็นชอบให้รัฐบาลเริ่มการเจรจานำสหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรปได้ ตามมาตรา 50 แห่งสนธิสัญญาลิสบอนว่าด้วยสหภาพยุโรป อย่างไรก็ตามกฎหมายนี้จะต้องได้รับการยอมรับจาก ‘สภาสูง’ หรือ ‘สภาขุนนาง’ ของอังกฤษก่อน

ตามกรอบเวลาแล้วสหราชอาณาจักรจะออกจากสหภาพยุโรปได้ในต้นปี 2019 หรือหลังจากนี้อีก 2 ปี ซึ่ง 2 ปีนี้จะไม่เพียงทดสอบความเป็นเอกภาพของสหภาพยุโรป ที่เราเริ่มเห็นกระแสต่อต้านอียูมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ช่วงเวลาครึ่งๆ กลางๆ ของอังกฤษอย่างนี้ อังกฤษเองก็ต้องรีบหาที่ยืนในยุคหลัง Brexit แต่ก็ยังไม่สามารถทำข้อตกลงทวิภาคีอะไรได้จนกว่าจะออกจากสหภาพยุโรป จึงเป็นช่วงเวลาที่ลำบากสำหรับอังกฤษเช่นกัน

พรรคคอนเซอร์เวทีฟ และพรรคเลเบอร์ ที่มีจุดยืนสนับสนุน Brexit คาดการณ์ว่า
มาตรา 50 ของสนธิสัญญาลิสบอนจะได้รับการอนุมัติ และนำไปบังคับใช้ได้ภายในวันที่ 31 มีนาคม

Photo: POOL New, Reuters/profile

 

Brexit ยังต้องได้รับการอนุมัติจากสภาสูงก่อน

ขั้นตอนต่อไปการนำสหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรปตามมาตรา 50 แห่งสนธิสัญญาลิสบอน จะถูกนำไปพิจารณาในสภาสูง ก่อนจะเป็นกฎหมายที่บังคับใช้ได้จริง เบื้องต้นคาดว่าจะเริ่มการพิจารณาในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ และจะพิจารณาเสร็จในวันที่ 7 มีนาคม ซึ่งนายกรัฐมนตรีเทเรซา เมย์ ได้กำหนดไว้ว่า รัฐบาลอังกฤษจะต้องเริ่มการเจรจากับสหภาพยุโรปอย่างเป็นทางการ เพื่อนำสหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรปภายในวันที่ 31 มกราคม

ขณะที่พรรคคอนเซอร์เวทีฟของรัฐบาล มีจำนวนที่นั่งมากกว่าครึ่งของสภาล่าง การลงมติที่ผ่านมาจึงได้รับการสนับสนุนจากทางพรรค แต่การลงมติขั้นตอนต่อไปในสภาสูงนั้นพรรคคอนเซอร์เวทีฟไม่ได้มีจำนวนที่นั่งส่วนใหญ่ในสภา แต่พรรคคอนเซอร์เวทีฟ และพรรคเลเบอร์ ที่มีจุดยืนสนับสนุน Brexit คาดการณ์ว่า มาตรา 50 ของสนธิสัญญาลิสบอนจะได้รับการอนุมัติ และนำไปบังคับใช้ได้ภายในวันที่ 31 มีนาคม

อังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีของเยอรมนี
ได้พยายามสร้างความมั่นใจให้กับประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป
ด้วยการย้ำให้ทุกคนเป็นเอกภาพ และยังต้องทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด เพื่อบรรลุเป้าหมายของสหภาพยุโรป
ทั้งเรื่องผู้อพยพ ตลาดแรงงาน เทคโนโลยีดิจิทัล และการร่วมมือกันทางทหารและความมั่นคง

Photo: Sputnik Photo Agency, Reuters/profile

 

 

ความเคลื่อนไหวของประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปหลัง Brexit

หลังจากรัฐบาลอังกฤษประกาศแน่วแน่ว่าจะทำให้แผนการ Brexit ประสบความสำเร็จ อังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีของเยอรมนี ได้พยายามสร้างความมั่นใจให้กับประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป ด้วยการย้ำให้ทุกคนเป็นเอกภาพ และยังต้องทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด เพื่อบรรลุเป้าหมายของสหภาพยุโรป ทั้งเรื่องผู้อพยพ ตลาดแรงงาน เทคโนโลยีดิจิทัล และการร่วมมือกันทางทหารและความมั่นคง แม้ว่าสหราชอาณาจักรจะตัดสินใจออกจากสหภาพยุโรปก็ตาม

“มันสำคัญมากที่เราจะต้องไม่ลืมเป้าหมายหลักของเราในช่วงระหว่างที่อังกฤษพยายามจะเจรจาออกจากสหภาพยุโรป” นายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล ให้สัมภาษณ์กับนักข่าวว่า ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปทั้ง 27 ประเทศนั้นทำงานร่วมมือกันได้ ‘ดีมาก’ เพื่อให้สหภาพยุโรปยังมีความเป็นเอกภาพ

แต่ความเคลื่อนไหวในฟากยุโรปตะวันออกก็สร้างความกังวลให้กับสหภาพยุโรปไม่น้อย เพราะฮังการีหันไปรื้อฟื้นความสัมพันธ์กับรัสเซีย ทั้งยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียของยุโรป และหันไปร่วมมือทางการค้ากับรัสเซียด้านการนำเข้าก๊าซจากรัสเซีย และข้อตกลงกับรัสเซียที่จะสนับสนุนการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

วิกเตอร์ ออร์บาน (Viktor Orban) นายกรัฐมนตรีของฮังการี และวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีของรัสเซีย ได้พบปะกัน 3 รอบ ในช่วงเวลา 2 ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีวิกเตอร์ ออร์บาน ได้มีความขัดแย้งกับรัฐบาลของอดีตประธานาธิบดีบารัก โอบามา และตอนนี้ได้หันไปสานสัมพันธ์กับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ โดยจุดยืนของทรัมป์นั้นชัดเจนว่า เขาต่อต้านการรวมตัวเป็นสหภาพยุโรป

อย่างไรก็ตาม 2 โพลสำรวจความคิดเห็นชาวฮังการีพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ต้องการความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับรัสเซีย มีเพียง 6% ของประชาชนเท่านั้น ที่ยังมองฮังการีเป็น ‘ยุโรปตะวันออก’

แม้ความเคลื่อนไหวนี้จะเป็นความเคลื่อนไหวเล็กๆ แต่ปีนี้เราจะยังมีการเลือกตั้งทั่วไปทั้งในเนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส และเยอรมนี ที่นักการเมืองที่มีแนวคิดต่อต้านสหภาพยุโรปมีแนวโน้มว่าจะได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ

ความเคลื่อนไหวทั้งหมดเหล่านี้จึงจะเป็นบททดสอบสหภาพยุโรปที่สำคัญในปี 2017

เทเรซา เมย์ ระบุว่า เธอเดินทางไปพบประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์
เพื่อต้องการแสดงว่าอังกฤษยังสามารถมีความสัมพันธ์อันดีกับมหาอำนาจอื่นๆ ได้ แม้จะตัดสินใจออกจากสหภาพยุโรปก็ตาม

Photo: Kevin Lamarque, Reuters/profile

 

‘ความสัมพันธ์พิเศษ’ ระหว่างอังกฤษกับสหรัฐฯ ในยุค Brexit

นอกจากความเคลื่อนไหวของบรรดาประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปในช่วง Brexit ที่เราต้องเกาะติดแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างอังกฤษกับรัฐบาลของ โดนัลด์ ทรัมป์ ที่ออกตัวแรงสนับสนุนให้อังกฤษออกจากสหภาพยุโรปมาโดยตลอดนั้น จำเป็นต้องถูกจับตามองเช่นกัน

การพบปะกันระหว่างนายกรัฐมนตรีเทเรซา เมย์ กับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ที่มีภาพผู้นำทั้งสองจับมือกันปรากฏบนสื่อต่างๆ ได้สร้างความกังวลให้กับบรรดาพันธมิตรของอังกฤษในยุโรปว่า อังกฤษจะ ‘โน้มเอียง’ ไปหาสหรัฐฯ มากเกินไป เพราะอาจเป็นการสนับสนุนให้สหรัฐฯ เปลี่ยนจุดยืนหันไปร่วมมือทางการค้ากับอิหร่าน หลังจากก่อนหน้านี้เคยถูกสหรัฐฯ คว่ำบาตรเพราะการพัฒนาอาวุธ

ด้านนายกรัฐมนตรีเทเรซา เมย์ ระบุว่า เธอเดินทางไปพบประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เพื่อต้องการแสดงว่าอังกฤษยังสามารถมีความสัมพันธ์อันดีกับมหาอำนาจอื่นๆ ได้ แม้จะตัดสินใจออกจากสหภาพยุโรปก็ตาม ทำให้บรรดานักการทูตในยุโรปออกมาวิพากษ์วิจารณ์จำนวนมาก อย่างนักการทูตอาวุโสรายหนึ่งให้สัมภาษณ์กับ Reuters ว่า “เราจำเป็นต้องถามอังกฤษว่า พวกเขายินดีจะเสียจุดยืนด้านนโยบายต่างประเทศ เพื่อแลกกับข้อตกลงการค้าเสรีกับสหรัฐฯ หรือ?”

ยิ่งโดยเฉพาะในช่วงที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ออกมาประกาศห้ามประชาชนจาก 7 ประเทศมุสลิมเข้าสหรัฐฯ หากอังกฤษหันไปสนับสนุนสหรัฐฯ นั้น ยุโรปมองว่าก็เป็นสิ่งที่สะท้อนว่าอังกฤษมีจุดยืนออกจากสหภาพยุโรปมากขึ้นเรื่อยๆ

อย่างไรก็ตามการที่อังกฤษรีบหันไปสานสัมพันธ์กับ โดนัลด์ ทรัมป์ ทันทีที่เขาขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีนั้นก็แสดงให้เห็นว่าอังกฤษจำเป็นต้องรีบหา ‘ที่ยืน’ ในยุค Brexit

แต่ผู้นำสหภาพยุโรประบุว่า อังกฤษไม่สามารถทำข้อตกลงทวิภาคีกับประเทศใดๆ ได้ จนกว่าอังกฤษจะออกจากสหภาพยุโรปจริงๆ ซึ่งตามกรอบเวลาแล้วคือในช่วงต้นปี 2019 หรืออีก 2  ปีหลังจากนี้ และในช่วงนี้หากอังกฤษจะทำข้อตกลงอะไรกับสหภาพยุโรป อังกฤษจะยังได้รับข้อตกลงที่ ‘เป็นธรรม’ แต่การพิจารณาข้อตกลงกับอังกฤษย่อม ‘มาหลัง’ สมาชิกประเทศอื่นๆ

ในขณะที่ Brexit สร้างความกังวลให้กับสหภาพยุโรปไม่น้อยว่า พวกเขาจะยังอยู่กันได้อย่างสามัคคีหรือไม่ เพราะอังกฤษเองก็พยายามแสดงว่า พวกเขายังยิ่งใหญ่ได้แม้จะออกจากสหภาพยุโรป แต่แท้จริงแล้วการที่อังกฤษเองต้องรีบหาที่ยืนในยุคหลัง Brexit บวกกับความจริงที่ว่าอังกฤษต้องใช้เวลาอีกตั้ง 2 ปี กว่าจะมีอิสระได้กำหนดนโยบายต่างๆ

ช่วงเวลาครึ่งๆ กลางๆ อย่างนี้อาจทำให้เรามองได้ว่า อังกฤษอยู่ในสภาวะสับสนและกดดันเช่นกัน

อ้างอิง:

http://uk.reuters.com/article/uk-britain-eu-article-idUKKBN15G4CB

http://uk.reuters.com/article/uk-britain-eu-article-idUKKBN15G4GE

http://uk.reuters.com/article/uk-russia-hungary-idUKKBN15G4XN

http://uk.reuters.com/article/uk-germany-sweden-britain-eu-idUKKBN15F1PT

http://uk.reuters.com/article/uk-usa-trump-britain-eu-idUKKBN15G4SO

Tags: , , ,