“Do you think you a moral person? – คุณคิดว่าคุณเป็นคนมีศีลธรรมหรือเปล่า”

“I am a business person – ผมเป็นนักธุรกิจ”

คำตอบข้างต้นออกมาจากปาก สก็อต ทักเกอร์ (Scott Tucker) นักแข่งรถสปอร์ตที่มีอีกโฉมหน้าหนึ่งคือนักธุรกิจปล่อยสินเชื่อออนไลน์ที่เก็บดอกเบี้ยสูง สูงในระดับที่ผิดกฎหมาย โดยไม่อธิบายให้ชัดเจนเรื่องค่าธรรมเนียม อัตราดอกเบี้ย และเงื่อนไขการปล่อยกู้

การปล่อยสินเชื่อให้ผู้มีรายได้ต่ำ ไม่ใช่ธุรกิจหนึ่งเดียวที่สร้างกำไรในพื้นที่สีเทา ผู้เขียนชวนไปหาคำตอบจากซีรีย์สารคดี Dirty Money บน Netflix ซึ่งนำเสนอ 6 กรณีของการทำธุรกิจที่โลดแล่นอยู่บนเส้นบางๆ ระหว่างผลกำไรกับศีลธรรม

ความลักลั่นย้อนแย้งดังกล่าวแทบจะเรียกได้ว่าเป็นคุณสมบัติพื้นฐานของเศรษฐกิจแบบทุนนิยมซึ่งขับเคลื่อนด้วยบริษัทยักษ์ใหญ่ที่รายได้อาจมากกว่าประเทศกำลังพัฒนาบางประเทศ

เมื่อสองปีก่อน ทักเกอร์ถูกปรับหลายสิบล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ล่าสุดเขาถูกจำคุก 16 ปี 8 เดือน จากคดีความเกี่ยวกับธุรกิจปล่อยสินเชื่อออนไลน์หลากหลายแบรนด์ที่เขาเป็นเจ้าของ รวมถึงการหลบเลี่ยงภาษีโดยใช้ชื่อชนกลุ่มชาติพันธุ์พื้นถิ่นในอเมริกันเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่เพื่อเลี่ยงกฎหมาย ในขณะที่อำนาจในการควบคุมกิจการและเงินทุกสตางค์ยังคงเข้ากระเป๋าทักเกอร์

แน่นอนครับ สินเชื่อดอกเบี้ยโหดเหล่านี้ผิดกฎหมายเพราะหลอกลวงผู้บริโภคซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้มีรายได้ต่ำซึ่งไม่มีความรู้ทางการเงินเพียงพอ

หากลองมองย้อนกลับมาในไทย ก็คงคล้ายกับเจ้าหนี้นอกระบบ เงินสดเงินด่วน ซึ่งพบเห็นได้ตามเสาไฟฟ้า หรือเหล่าหมวกกันน็อคที่ตระเวนเก็บหนี้สินตามบ้าน

ธุรกิจการปล่อยสินเชื่อให้ผู้มีรายได้ต่ำอยู่ในพื้นที่สีเทามาตั้งแต่ไหนแต่ไร ภาครัฐหลายยุคหลายสมัยต่างก็พยายามเข้ามาปราบปราม แต่ตามหลักอุปสงค์และอุปทาน เมื่อผู้คนที่หาเช้ากินค่ำต้องการสินเชื่อแบบเร่งด่วน ทางเลือกของเขาคงไม่ใช่เดินเข้าไปหาธนาคาร ซึ่งยุ่งยาก ซับซ้อน เชื่องช้า และมีโอกาสสูงที่จะไม่ได้รับอนุมัติ ในขณะที่หนี้นอกระบบสามารถเสนอเงินก้อนให้กับพวกเขาได้รวดเร็วทันใจ ไม่ต้องใช้เอกสารวุ่นวาย แต่มีข้อเสียคือดอกเบี้ยสูงกว่าที่กฎหมายกำหนด

แต่หากไม่ใช่ทางนี้ พวกเขาจะมีทางเลือกอื่นหรือเปล่า?

สำหรับผม สิ่งที่น่ากลัวที่สุดในระบบทุนนิยมก็คือโครงสร้างของ ‘นิติบุคคล’ ที่ชื่อว่าบริษัทนี่แหละครับ เพราะเป้าหมายของบริษัทคือการสร้างผลกำไรสูงสุดให้ผู้ถือหุ้น เป็นแรงจูงใจให้เหล่าผู้บริหารทำทุกวิถีทางเพื่อกอดเก้าอี้และคว้าโบนัสเข้ากระเป๋า แม้ว่าการตัดสินใจดังกล่าวจะเป็นการทำร้ายผู้บริโภคก็ตาม

ยาสำคัญไม่จำเป็นต้องมีศีลธรรม?

อีกกรณีในซีรีส์นี้ คือเรื่องบริษัทยา ‘วาเลียนท์’ (Valeant Pharmaceuticals) เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของการค้ากำไรเกินควรจนเรียกได้ว่าผิดศีลธรรม ภายใต้การบริหารของไมเคิล เพียสัน (Michael Pearson) ที่ปรับโมเดลธุรกิจของบริษัทยาที่ปกติมักจะลงทุนจำนวนมากในการวิจัยและพัฒนา สู่การใช้เงินลงทุนส่วนใหญ่กว้านซื้อบริษัทยาขนาดเล็กกว่าเพื่อหวังสินทรัพย์ ซึ่งก็คือสิทธิบัตรยานั่นเอง

เมื่อได้สิทธิบัตรมาแล้ว สิ่งที่วาเลียนท์ทำคือขึ้นราคาอย่างน่ารังเกียจ เช่นในปี 2015 บริษัทขึ้นราคายาเฉลี่ยร้อยละ 66 ซึ่งคิดเป็นราว 5 เท่าของค่าเฉลี่ยในอุตสาหกรรม แต่สิ่งที่น่ารังเกียจกว่านั้นคือการขึ้นราคายารักษาโรคเฉพาะทาง เช่น ฟลูไซโทซีน (flucytosin) ยารักษาการติดเชื้อราขั้นรุนแรงที่ราคาจำหน่ายในสหรัฐอเมริกาสูงกว่าที่จำหน่ายในสหภาพยุโรปถึง 1,000 เท่า ยารักษาโรคหัวใจอย่าง ไอซูเพรล (Isuprel) ที่ราคาเพิ่มขึ้น 5 เท่า และยารักษาโรคเบาหวาน กลูเม็ทซา (Glumetza) ที่ราคาเพิ่มขึ้น 8 เท่าหลังจากที่ Valeant เข้าซื้อบริษัทซึ่งเป็นเจ้าของสิทธิบัตร

ข้อเท็จจริงดังกล่าวทำให้สาธารณชนไม่พอใจอย่างมาก ส่งผลให้หุ้นวาเลียนท์ราคาหล่นฮวบ พร้อมกับไมเคิล เพียสันก็ถูกถอดออกจากตำแหน่ง และบริษัทยังถูกตรวจสอบโดยคณะกรรมการหลักทรัพย์ของอเมริกา อย่างไรก็ดี การเพิ่มราคายาอย่างไร้ศีลธรรมของวาเลียนท์นั้นไม่ผิดกฎหมาย และปัจจุบัน ราคายาดังกล่าวก็ไม่ได้ลดลงแต่อย่างใด

นี่คือหนึ่งในความน่ากลัวของบริษัทที่มีคุณสมบัติของความเป็นอมตะ แม้ว่าผู้ก่อตั้งอาจจะตายไปแล้วร้อยปี หรือผู้บริหารคนก่อนกำลังนอนอยู่ในตะราง หากธุรกิจดังกล่าวยังสามารถทำกำไร ก็ย่อมมีผู้สนใจเข้ามาบริหารต่อจากรุ่นสู่รุ่น หลายครั้งที่ภาครัฐมองว่าการสั่งปรับหรือปิดกิจการของบริษัทใดบริษัทหนึ่งอาจสร้างผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบเศรษฐกิจและสังคม เพราะนอกจากจะทำให้ประชาชนหลายพันชีวิต (หรืออาจสูงถึงหลักหมื่น) ต้องว่างงานอย่างกระทันหัน เรายังต้องสูญเสียสินค้าหรือบริการเฉพาะทางของบริษัทนั้นๆ ไปอีกด้วย

จึงไม่น่าแปลกใจหากในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ รัฐจะเลือก ‘อุ้ม’ บริษัทมากกว่าปล่อยให้ล้มหายตายจากไปตามธรรมชาติ ด้วยเหตุผลที่ว่าบริษัทเหล่านั้นใหญ่เกินกว่าที่จะปล่อยให้ล้มได้ หรือ ‘too big to fail’

ธนาคารกับธุรกิจมืด

ธนาคารคือหนึ่งในตัวอย่างธุรกิจที่มักจะเติบโตและผูกโยงกับระบบเศรษฐกิจจนมีขนาดใหญ่เกินกว่าที่รัฐจะปล่อยให้ล้ม เพราะนอกจากจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อลูกหนี้ที่ธนาคารปล่อยสินเชื่อให้ อีกหนึ่งผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสำคัญคือสาธารณชนที่นำเงินไป ‘ลงทุน’ โดยการปล่อยกู้ให้สถาบันการเงินเหล่านั้นในรูปแบบเงินฝากชนิดต่างๆ หากธนาคารขนาดใหญ่ถูกบังคับให้หยุดดำเนินการ ก็มีความเป็นไปได้สูงว่าจะลากเศรษฐกิจของประเทศตามไปด้วย

แต่จะเป็นอย่างไร เมื่อธนาคารใหญ่ระดับโลกอย่าง HSBC ถูกดำเนินคดีเพราะกระทำผิดกฎหมายอย่างไม่น่าให้อภัย คือการฟอกเงินให้กับองค์กรยาเสพติดในเม็กซิโก รวมถึงปล่อยปละละเลยทำธุรกรรมให้กับประเทศที่ถูกคว่ำบาตรทางการค้า ยิ่งไปกว่านั้น HSBC เองก็ออกมาประกาศยอมรับความผิดพลาดดังกล่าว แต่ขอโอกาสแก้ตัวใหม่ในอนาคต

หากใครไม่คุ้นเคยกับโลกการเงินอาจสงสัยว่าปัญหาฟอกเงินเป็นเรื่องใหญ่แค่ไหน

ภายใต้โลกทุนนิยม เงินเป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนที่เปรียบเสมือนเส้นเลือดที่หล่อเลี้ยงองค์กรไม่ว่าจะถูกหรือผิดกฎหมายก็ตาม ปัญหาของเหล่าองค์กรใต้ดินทั้งการค้ายาเสพติด ค้ามนุษย์ หรือการก่อการร้ายซึ่งมีเงินสดหมุนเวียนเป็นล้านล้านคือการแปลงเงินสดเหล่านั้นให้เข้าสู่ระบบการเงิน เพราะหากเงินสดเหล่านั้นเข้าสู่ระบบได้เมื่อไหร่ ก็สามารถเปลี่ยนมือได้ง่ายเสียยิ่งกว่าง่าย นำไปใช้ซื้ออาวุธ ซื้อสินทรัพย์ หรือแม้กระทั่งการติดสินบนพนักงานรัฐ

สถาบันการเงินในฐานะหน่วยงาน ‘เฝ้าประตู’ จึงมีทั้งหน้าที่และความรับผิดชอบในการป้องกันธุรกรรมทางการเงินผิดกฎหมาย ไม่ใช่อำนวยความสะดวกแก่องค์กรใต้ดินให้ทำงานง่ายขึ้น

การละเมิดกฎหมายครั้งใหญ่ของ HSBC จบลงด้วยการจ่ายค่าปรับ 1.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมถึงข้อตกลงที่ว่า HSBC จะต้องรายงานต่อกระทรวงยุติธรรมของสหรัฐเกี่ยวกับความคืบหน้าของการปรับโครงสร้างภายใน และประกาศว่าผู้บริหารจะไม่ได้รับโบนัสเป็นเวลา 5 ปี โดยไม่มีผู้บริหารหรือกรรมการบริษัทคนไหนของธนาคารที่ต้องติดคุก

สิ่งที่น่าประหลาดใจยิ่งกว่านั้น คือหลังจากที่คำตัดสินต่อ HSBC จบลงที่การจ่ายค่าปรับที่สูงเป็นประวัติการณ์ ราคาหุ้น HSBC กลับขยับขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากนักลงทุนคาดว่าผลการตัดสินจะเลวร้ายยิ่งกว่านี้ เพราะหาก HSBC ถูกดำเนินคดีอาญา นั่นหมายความว่าธนาคารจะต้องหยุดดำเนินการในสหรัฐอเมริกา

นี่เป็นแค่น้ำจิ้มของซีรีย์ Dirty Money ที่ต้องการฉายภาพความ ‘ไม่สมบูรณ์แบบ’ ของระบบเศรษฐกิจในปัจจุบันที่หลายคนหลงใหลว่าสามารถสร้างความมั่งคั่งโดยไร้ข้อเสีย ทั้งที่ในความเป็นจริง ยังมีอีกหลายพื้นที่ที่กลไกตลาดทำหน้าที่ล้มเหลว และชักจูงให้นักธุรกิจหลายคนเลือกที่จะโกหกต่อสาธารณชน ปิดตาข้างหนึ่งเพื่อหาโบนัสเข้ากระเป๋า หรือเลือกพูดความจริงเพียงด้านเดียวเพื่อสร้าง ‘แบรนด์’ ที่วันหนึ่งจะผลักให้ตัวเองกลายเป็นประธานาธิบดี

นี่คือตัวอย่าง ‘ราคา’ ที่เราทุกคนกำลังจ่ายไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ เพื่อหล่อเลี้ยง ‘ทุนนิยม’ จนกว่าเราจะมีทางเลือกใหม่ๆ ที่ทรงพลังเพียงพอจะมาแทนที่ระบบเก่าได้ หรือกระทั่งสาธารณชนทนไม่ไหว ลุกขึ้นมาต่อสู้กับนายทุนเพื่อเคลื่อนสังคมเข้าสู่ยุค ‘หลังทุนนิยม’ ตามคำทำนายของคาร์ล มาร์กซ์

แต่กว่าวันนั้นจะมาถึง เราก็คงต้องทนอยู่กับระบบที่เอื้อต่อการทำ ‘กำไรสกปรก’ ต่อไป

 

เอกสารประกอบการเขียน

 

Fact Box

ซีรีส์สารคดี Dirty Money มีความยาว 6 ตอน ออกอากาศครั้งแรกทาง Netflix เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2018 ว่าด้วย

  • Hard NOx: โฟล์คสวาเกน กับการใช้ซอฟต์แวร์โกงค่ามลพิษ
  • Pay Day: ธุรกิจสินเชื่อออนไลน์ดอกเบี้ยสูงในสหรัฐฯ
  • Drug Short: บริษัทยา วาเลียนท์ กับการขึ้นราคายา
  • Cartel Bank: คดีธนาคารเอชเอสบีซี กับคดีฟอกเงิน
  • The Maple Syrup Heist: คดีปล้นเมเปิลไซรัป
  • The Confidence Man: โดนัลด์ ทรัมป์
Tags: , , , ,