ปฏิเสธไม่ได้ว่า ใครๆ ต่างรู้จัก เต๋อ – นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ ในฐานะผู้กำกับภาพยนตร์รุ่นใหม่ผู้น่าจับตา แต่พักหลังมานี้จะเห็นว่า นอกจากผลงานภาพยนตร์ที่โดดเด่นแล้ว นวพลยังได้กระโดดเข้าสู่วงการโฆษณาอีกด้วย

พ้นไปจากเรื่องภาพยนตร์แล้ว วันนี้เราชวนนวพลคุยเรื่องโฆษณา พื้นที่สร้างสรรค์แห่งใหม่ที่เขาเพิ่งได้ก้าวเข้าไป นี่คือมุมมอง ประสบการณ์ และทัศนคติของเขาที่กลั่นกรองออกมาจากช่วงเวลาสั้นๆ ในวงการโฆษณาอย่างน่าสนใจ ลุ่มลึก และชวนติดตาม

ภาพยนตร์ที่เคยได้ดูในวัยเด็กมีอิทธิพลต่อภาพยนตร์ของคุณยังไงบ้าง

ถ้าเป็นหนังที่เราดูตอนเด็กเลยก็จะไม่พ้นยุคซีจี เราโตมากับหนังบล็อกบัสเตอร์ อย่าง Star Wars, Back to The Future, Jurassic Park, The Flintstones, Terminator 2 มันเป็นความตื่นตาตื่นใจของภาพยนตร์มากกว่า เพียงแต่มันไม่มีอิทธิพลกับหนังเราเท่าไหร่ เพราะหลักในการทำหนังของเราในปัจจุบันจะไม่ค่อยซีจี ต้องย้อนกลับไปยุคเก่ากว่านั้นคือ ’70s พวกหนังของสแตนลีย์ คูบริก (Stanley Kubrick) หรือวูดดี อัลเลน (Woody Allen) ซึ่งก็จะมาดูตอนโตแล้ว เพราะตอนเด็กพวกนี้จะยากไป

แต่หนังบล็อคบัสเตอร์พวกนี้ทำให้คุณอยากทำหนังขึ้นไหม

ใช่ เพราะมันตื่นตากว่า มันมีของเล่นที่ทำให้ภาพในหัวเราเป็นจริงขึ้นมาได้ ถ้าเป็นการเขียน เราต้องให้คนอ่านคิดภาพในหัวเอง ซึ่งเราก็ไม่รู้อีกว่าภาพในหัวคนอ่านจะตรงหรือไม่ตรงกับที่เราคิดไว้ แต่กับหนังมันทำให้ภาพของเราแสดงออกมาได้ตรงกับความคิด

หนังให้ภาพที่ตรงกว่าภาษาเขียน?

ใช่ มันเป็นความรุ่งเรืองของยุค ’90s นะ ที่ซีจีจะสร้างอะไรที่สมจริงก็ได้แล้ว จริงๆ ตั้งแต่ The Terminator 2 เป็นต้นมา มันก็ดูจริงหมดแล้วแหละ เป็นซีจีที่น่าเชื่อถือ ซึ่งพอเราย้อนกลับไปดูตอนนี้มันก็ไม่แย่นะ โอเคแหละว่าอาจดูออกว่าเป็นซีจีบ้าง แต่มันก็ยังรู้สึกว่าเนียนอยู่ดี

ด้วยความที่เทคโนโลยีของโลกภาพยนตร์พัฒนาไปเรื่อยๆ มันมีความเจ๋งอะไรในหนังยุคเก่าไหม ที่คุณคิดว่าหนังยุคนี้ทำไม่ได้แล้ว

เราว่ามันคือสเปเชียลเอฟเฟคต่างๆ ที่สมัยก่อนจะค่อนข้างแฮนด์เมดกว่า คราฟต์กว่า อย่างใน 2001 : A Space Odyssey มีฉากปากกาลอยได้ ถ้าในปัจจุบันก็แค่ใช้ซีจีช่วย แต่ในยุคนั้นเขาต้องไปถ่ายกับกระจก เซ็ตอัปอะไรกันไป  ซึ่งเราก็จะเชี่ย ทำได้ไงวะเพราะเขาไม่ใช้คอมพ์ฯ เลย มันอะนาล็อก มันตรงไปตรงมามาก มันต้องคิดวิธีการหลอกล่อดวงตาแทนที่จะไปสร้างขึ้นใหม่จากคอมพิวเตอร์

ยุคนี้เราจะคิดว่า ทำไมต้องมาเสียเวลาติดกระจกอะไรนั่นด้วย มันไม่จำเป็นไง แต่เวลาเราได้รู้เบื้องหลัง เราจะรู้สึกว่าคนพวกนั้นแม่งเก่งจริงๆ ในสมัยที่มันไม่มีอะไรเลย ถ้าอยากได้ความมหัศจรรย์ก็ต้องคิดเอง สร้างเอง แต่ในยุคนี้เรามีอะไรแบบนี้น้อยมาก ก็เลยจะมาทึ่งพอได้รู้ว่า ฉากนั้นๆ ในหนังเรื่องนี้ไม่ได้ใช้ซีจีนะ  ซึ่งตอนดูก็ไม่มีใครรู้หรอก เป็นความเนิร์ดของคนทำ ที่พอรู้มันก็เจ๋งดี

ในยุคที่ทุกคนต่างใช้ซีจี ที่เราไม่ต้องย้ายประเทศไปถ่ายกันอีกแล้ว เราแทบจะไม่ต้องยกกองไปไหนแล้ว มันก็ไม่ใช่ข้อเสียนะ เพราะถึงจุดหนึ่งถ้าเราอยากไปถ่ายเมืองนอกบ้าง แต่ไม่มีตังค์ เราก็คงใช้ซีจีนี่แหละ

แล้วกับโฆษณาล่ะ คุณชอบเสพโฆษณาเก่าๆ บ้างไหม

ก็ดูบ้าง แต่ก็ไม่เยอะนะ โฆษณายุค ’80s – ’90s จะค่อนข้างตรงไปตรงมา โฆษณาไทยยุคก่อนก็จะ “โทนาฟ ไฟไหม้ น้ำร้อนลวก” ก็ตรงดี ไม่มีลีลาเหี้ยอะไรเลย หรือถ้าเป็นโฆษณาเมืองนอกอย่าง Pepsi Michael Jackson ชุด I’ll Be There ก็อาจมีไอเดียขึ้นมาหน่อย ที่ให้แจ็กสันตอนโต ร้องเพลงคู่กับตัวเองตอนเด็กในเฟรมเดียวกัน ในขณะที่ยุคนี้มันค่อนข้างแอบสแตร็กต์ขึ้น ที่ขายไอเดียกันสุดๆ  เนื้อหาสวิงสวายขึ้น ขายไอเดียกันสุดๆ หรือบางงานก็ขายวิชวลจัดๆ ไปเลย สมัยนี้เหมือนกับเรามีอาวุธมากขึ้นน่ะ ไม่จำเป็นต้องพูดตรงๆ เหมือนเมื่อก่อน ทำให้ฟีลมันคล้ายๆ กับแบรนด์เรา อย่างโฆษณา Homepod ที่สไปค์ โจนซ์ (Spike Jonze) กำกับ ภาพโปรดักต์มีอยู่สองช็อต แต่เราจะรู้สึกว่าโฮมพ็อดมันเท่นะ โดยไม่ต้องบอกชัดๆ ว่าฟังก์ชั่นมีอะไรบ้าง

แล้วถ้าถึงจุดสูงสุดของไอเดีย/ความคิดสร้างสรรค์ขึ้นมาล่ะ วงการโฆษณาจะมีแนวโน้มจะวกกลับไปขายกันตรงๆ เหมือนเมื่อก่อนไหม

เราว่าเดี๋ยวนี้มันมีสองอย่าง คือจะขายตรงก็ขายตรงๆ ไปเลย กับไม่บอกเลยเลยว่ามาขาย สมัยก่อนมันจะบอกเลยว่าอะไรทำอะไรได้ แต่พอถึงยุคยูทูบ เราจะพบว่า ความสวยไม่ได้มีแค่แบบเดียวแล้ว เรารู้แล้วว่าสิ่งที่อยู่ในโฆษณามันไม่จริง เพราะสามารถเช็กความจริงจากจุดอื่นๆ ได้ คนดูเท่าทันกันมากขึ้น อย่างเมื่อก่อนอะไรที่มาจากทีวีมันดูจริงไปหมด แต่ยุคนี้ที่เรามีคนละจอ เราจะเช็กได้ว่าอะไรจริง อะไรไม่จริง มันเลยทำให้การโฆษณา ถ้าอลังการไป หรือสวยเกินไป คนก็จะไม่เอาแล้ว เพราะเขารู้แล้วว่าไม่จริง ตอนนี้มันเลยเป็นยุคที่อะไรจริงมากขึ้น

แล้วสำหรับคนทำโฆษณามันยากขึ้นไหมที่ต้องระมัดระวังขึ้นว่า ขายเกินจริงไม่ได้แล้ว หรือกลัวว่าคนจะมาจับผิดเรา

เราว่ามันไม่ได้ยากหรือง่ายขึ้นนะ ดีขึ้นด้วยซ้ำ หมายถึงว่า ถ้าจะทำจริงก็จริงไปเลย ถ้าไม่จริงก็ไม่จริงไปเลย ทำให้เวอร์สัสๆ คนอาจซื้อมากกว่าเที่ยวมากั๊กๆ ก็ได้ แต่กับโฆษณาที่พยายามบอกว่าตัวเองไม่ใช่โฆษณาน่ะ นั่นแหละปัญหา

กับอีกแบบคือพูดความจริงไปเลย ตรงไปตรงมา พูดถึงความบกพร่องของตัวเองเลย เพราะมันจริงไง อย่างโฆษณาสมัยก่อนจะไม่ย่อมพูด แต่ยุคนี้การพูดว่าเรามีข้อด้อย แต่เราก็มีข้อดีอย่างนี้นะ คนอาจซื้อมากกว่าแล้ว เพราะพื้นฐานของคนเรารู้อยู่แล้วว่ามันมีทั้งข้อดีและข้อเสีย พอได้ยินใครพูดแต่ข้อดีเยอะๆ ก็จะเริ่มไม่เชื่อแล้ว โฆษณาสมัยก่อนมันจะพูดแต่ ฉันดีๆๆ ซึ่งใช้กับยุคนี้ไม่ได้แล้ว

ถ้าเทียบกันแล้ว ระหว่างโฆษณาไทย กับโฆษณาของฝรั่ง ต่างกันยังไง

มันคนละแบบนะ เราว่าของไทยจะมีอารมณ์ขันที่ฝรั่งทำไม่ได้ แต่ของฝรั่งก็จะมีความกล้าบางอย่าง กล้าที่จะแอบสแตร็กต์ กล้าที่จะลงทุนบางอย่างที่ใหญ่จริงๆ เขาไม่ได้จำกัดจำเขี่ย อย่างของบ้านเราถ้าไม่มีตัวอย่างให้เห็นก่อนจะนึกไม่ออก นายทุนจะไม่แน่ใจว่าควรทำดีมั้ย จนกว่าจะมีเรฟออกมาก่อน แต่เราว่าในทางอารมณ์บ้านเราไปไกลกว่าฝรั่งเยอะนะ

ถ้าเกิดได้ทำโฆษณาเป๊ปซี่ขึ้นมา คุณจะดึงจุดเด่นอะไรของสินค้ามาใช้

เรารู้สึกว่าโฆษณาเป๊ปซี่มีแพทเทิร์นที่แข็งแรงมาก เพราะสิ่งที่เขาทำมาตลอดคือความใหญ่ ซึ่งเขาทำได้ดีนะ เขาแตะระดับโลกตลอดเวลา เป๊ปซี่จะมูฟอยู่ตลอด อย่างช่วงหนึ่งเป็น Michael Jackson ต่อไปเป็นสไปซ์เกิล เขากระโดดไปเรื่อยๆ เคลื่อนตามวัยรุ่นไปเรื่อยๆ ซึ่งมันต้องเปลี่ยนอยู่ตลอด

เราคิดว่าตอนนี้เทรนด์วัยรุ่นมันกำลังย้อนกลับไปหาอดีต อย่างโฆษณาตัวล่าสุดของเป๊ปซี่ก็วินเทจนะ เพื่อสื่อว่าเป๊ปซี่อยู่กับพวกเรามานานแล้ว

แล้วคุณล่ะ เป็นคนที่ชอบมองกลับไปหาสิ่งเก่า หรืออยู่กับสิ่งใหม่มากกว่า

แล้วแต่ชอบว่ะ เราไม่ได้ยึดว่าต้องเก่าหรือต้องใหม่ มันอยู่ที่สิ่งที่เราจะพูดมากกว่า หมายถึงว่า บางโปรเจ็กต์ของเราก็ดู 4.0 เหลือเกิน แต่บางเรื่องก็ดู ’90s มันเลยแล้วแต่ว่าจะใช้อะไร ไม่ได้ถึงขั้นว่านิยมเก่า หรือชอบแต่ของใหม่

เราว่าเด็กที่โตใน ’80s อย่างเราอยู่ในช่วงก้ำกึ่งนะ มันไปได้ทั้งสองทาง คือเราไม่เก่าขนาดนั้น แต่เราก็ไม่ถึงกับ Millenials หรือ Gen Me เราทันโทรศัพท์ทั้งสองแบบ สามารถย้อนกลับไปใช้ของเก่าได้เพราะทัน ขณะเดียวกันของใหม่เราก็รับ แต่ก็ไม่ถึงขั้นลงไปจมกับมัน ความก้ำกึ่งของเราเลยกลับไปกลับมา เราเห็นทั้งซีจีแบบ 2001 : A Space Odyssey กับ Gravity ที่ผลลัพธ์ของหนังอาจคล้ายกันแหละ แต่กระบวนการไม่เหมือนกัน เผลอๆ เด็กยุคนี้ดู 2001 : A Space Odyssey อาจบอกว่าแล้วไงอะ ลิงก็ปลอม ปากกาลอยได้แล้วจะยังไงวะ (หัวเราะ)

Tags: , , , , ,