ปี 2017 ถือเป็นปีที่หนังไทยมีความหลากหลายและมีคุณภาพน่าสนใจ

แต่น่าเสียดายที่หนังหลายเรื่องไม่ประสบความสำเร็จจนอาจถูกลืมเลือนไปจากความทรงจำของผู้ชมอย่างรวดเร็ว

เพื่อเป็นการบันทึกความทรงจำเอาไว้ The Momentum จึงได้รวบรวมหนังห้าเรื่องที่เรามองว่าเป็นหนังไทยแห่งปี (และเพิ่มเติมอีก ห้าเรื่องที่เรามองว่าเป็นหนังไทยที่โดดเด่นและควรได้รับการกล่าวถึง) ดังนี้

5 หนังไทยแห่งปี

นิรันดร์ราตรี Phantom of Illumination (ผู้กำกับ – วรรจธนภูมิ ลายสุวรรณชัย)

สารคดีสำรวจเรื่องราวของโรงหนังสแตนด์อโลนซึ่งในอดีตเคยรุ่งเรืองแต่ปัจจุบันกลับเสื่อมถอยและทยอยปิดตัวไปเกือบหมด ความน่าสนใจอยู่ที่หนังไม่ได้สำรวจแค่เรื่อง ‘สถานที่’ ว่าโรงหนังสแตนด์อโลนเป็นอย่างไร แต่หนังยังพูดถึง ‘มนุษย์’ ที่ทำงานและใช้ชีวิตอยู่ในนั้นด้วยว่า ในวันที่แสงไฟจากห้องฉายหนังดับลง ชีวิตของพวกเขาจะเป็นอย่างไรต่อไป

หนังเล่าเรื่องราวผ่านมุมมองของสัมฤทธิ์ – คนฉายหนังที่ใช้ชีวิตอยู่ในโรงธนบุรีรามานานกว่า 25 ปี เมื่อโรงหนังปิดตัว สัมฤทธิ์ได้กลับไปอยู่กับครอบครัวที่สุรินทร์ ซึ่งเขาไม่สามารถต่อติดกับครอบครัวที่ทำงานอาชีพอื่น รวมถึงปรับตัวให้เข้ากับโลกยุคปัจจุบันได้อีกต่อไป

จะเห็นว่าหนังไม่ได้ Romanticize หรือเน้นไปที่ความ Nostalgia ที่สวยงามของโรงหนังแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังเลือกที่จะมองด้านมืดของการล่มสลายดังกล่าวด้วยว่าส่งผลต่อชีวิตคนอย่างไร ซึ่งเราสามารถนำประเด็นดังกล่าวมามองสิ่งที่กำลังเปลี่ยนแปลงหรือหายไปในด้านอื่นๆ อย่างนิตยสาร ร้านอินเทอร์เน็ต หรือร้านเช่า/ขายดีวีดีได้เช่นกัน

นอกจากประเด็นที่น่าสนใจแล้ว หนังยังมีจุดเด่นอยู่ที่ภาพซึ่งงดงามแปลกตาและออกมาในเชิงทดลอง (ซึ่งไม่น่าแปลกใจหากมองว่าวรรจธนภูมิเป็นผู้ก่อตั้งกลุ่ม Eyedropper Fill ศิลปินวิชวลอาร์ตที่มาแรงของยุคนี้) จนสามารถนำหนังไปฉายในแกลเลอรี่ศิลปะได้โดยไม่ขัดเขิน แต่การได้ดูหนังเรื่องนี้ในโรงหนังยุคใหม่ – ซึ่งบนจอแสดงให้เห็นถึงการล่มสลายของโรงหนังยุคเก่า – ก็ถือเป็นการเพิ่มผลกระทบต่อผู้ชมไปอีกระดับ

หมอนรถไฟ Railway Sleepers (ผู้กำกับ – สมพจน์ ชิตเกษรพงศ์)

สารคดีเกี่ยวกับชีวิตผู้คนบนรถไฟเรื่องนี้ถือเป็นหนังฉายโรงที่ดูยากและท้าทายผู้ชมที่สุดเป็นอันดับต้นๆ ของปี ด้วยความที่มันใช้วิธีเฝ้ามองเหตุการณ์แบบห่างๆ โดยไม่เข้าไปยุ่งกับ Subject ในหนัง (ถือเป็นสารคดีประเภท Fly on the Wall – แมลงวันเกาะบนผนัง) นอกจากนั้นหนังยังไม่มีการใส่เสียงบรรยาย, ฉากสัมภาษณ์, เนื้อเรื่องที่จับต้องได้ (ยกเว้นแค่ช่วงท้ายที่มีบทสัมภาษณ์ชาวต่างชาติที่ข้ามเวลามาจากสมัย ร.5 ซึ่งเห็นได้ชัดว่าตั้งใจเซ็ตขึ้น) จึงทำให้ระหว่างรับชมหนังเรื่องนี้ ผู้ชมจึงรู้สึกเหมือนอยู่บนรถไฟที่แล่นช้าๆ แล้วนั่งมองผู้คนในตู้รถไฟหรือวิวนอกหน้าต่างไปเรื่อยๆ จึงไม่น่าแปลกใจที่ผู้ชมหลายคนจะรู้สึกเบื่อหรือเคลิ้มหลับไประหว่างที่ดู

แต่ถ้าใครปรับจูนตัวเองให้เข้ากับหนังได้ก็จะพบกับความเพลิดเพลินจากการสังเกตชีวิตผู้คน ซึ่งถือเป็นภาพจำลองของสังคมไทยอย่างย่นย่อ โดยเราจะเห็นถึงกลุ่มผู้โดยสารซึ่งมีทั้งเพื่อน คู่รัก พ่อแม่ลูก คนที่นั่งรถไฟเพื่อกลับบ้านและไปเที่ยว นายตรวจ ทหารถือปืน แม่ค้า ซึ่งภาพในหนังได้มีการเรียงลำดับจากรถไฟชั้นสามซึ่งเก่า ร้อน แออัด ไปยังชั้นสองและชั้นหนึ่งซึ่งมีที่นั่งสบาย มีแอร์ ไม่แออัด และมีความเป็นส่วนตัวมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งไม่เห็นมนุษย์เลยในตู้รถไฟหรูสุด

การได้มาซึ่งภาพดังกล่าว ผู้กำกับต้องใช้เวลานานถึงแปดปี (ทำให้ภาพในหนังมีความแตกต่างทางด้านคุณภาพจากการใช้กล้องมินิดีวีไปจนถึงกล้องดิจิทัล) ในการเก็บภาพจากขบวนรถไฟทั่วประเทศไทย ที่น่าสนใจคือผู้กำกับได้ทำการเลือน ‘เวลาและสถานที่’ ด้วยการไม่บอกข้อมูลว่าภาพที่เห็นนั้นเกิดขึ้นบนรถไฟขบวนไหนหรือวันเดือนปีอะไร แต่ได้นำภาพต่างกรรมต่างวาระมาร้อยเรียงใหม่ให้เหมือนว่าภาพในหนังเกิดขึ้นบนขบวนรถไฟเดียวกันในหนึ่งวันตั้งแต่เช้าถึงกลางคืน

ด้วยความที่หนังอยู่บนรถไฟตั้งแต่ต้นจนจบส่งผลให้ผู้ชมรู้สึกว่าเหมือนได้อยู่บนรถไฟขบวนหนึ่งโดยไม่มีโอกาสได้ลง ซึ่งรถไฟขบวนนั้นไม่อาจรู้ได้ว่าจะพาผู้โดยสารมุ่งหน้าไปทางใด เปรียบได้กับอนาคตของรถไฟไทยที่มิอาจคาดเดาได้ว่าจะไปทางไหนเช่นกัน (จะมุ่งไปที่ความเร็วสูง ความเร็วปานกลาง หรือจะกลับมาเรโทรเช่นเดิม)

ฉลาดเกมส์โกง Bad Genius (ผู้กำกับ – นัฐวุฒิ พูนพิริยะ)

หลายคนมองภาพสตูดิโอ GDH ว่าทำแต่หนังฟีลกู๊ดแนวเดิมๆ ซึ่งฉลาดเกมส์โกงน่าจะช่วยให้เปลี่ยนความคิดดังกล่าวได้เป็นอย่างดี เนื่องจากมันเป็นหนังไทยที่มีความสดใหม่และแหวกแนว ด้วยความที่หนังกล่าวถึงกลุ่มเด็กมัธยมปลายที่หารายได้จากการโกงข้อสอบระดับโลกโดยใช้ความแตกต่างของโซนเวลามาช่วยเรื่องนี้ มีการดำเนินเรื่องที่ฉับไวและพลอตเรื่องที่เต็มไปด้วยจุดพลิกผัน ราวกับหนังจารกรรมอย่าง Ocean’s Eleven หรือหนังของผู้กำกับมาร์ติน สกอร์เซซี

ซึ่งความโดดเด่นดังกล่าวเกิดจากการระดมเทคนิคภาพยนตร์ชั้นเลิศเอาไว้ด้วยกัน ทั้งการกำกับ, บทหนัง, ถ่ายภาพ, ตัดต่อ, ดนตรีประกอบ, การแสดง ฯลฯ ซึ่งอยู่ในระดับเหนือกว่ามาตรฐานหนังไทยทั่วไป จริงอยู่ที่ว่าหนังมีความไม่สมจริงหลายจุด แต่ด้วยความที่หนังสนุกและพุ่งไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วราวกับรถไฟเหาะ ทำให้ผู้ชมมองข้ามความไม่สมจริงดังกล่าวไปอย่างง่ายดาย

นอกเหนือจากความสนุกลุ้นระทึกที่ได้รับระหว่างดูแล้ว หนังยังถ่ายทอดประเด็นที่น่าสนใจซึ่งชวนให้คิดต่อ เช่น การวิพากษ์โรงเรียนและระบบการศึกษาไทย ความแตกต่างระหว่างชนชั้น คนตัวเล็กๆ ที่ใช้กลโกงเพื่อต่อสู้กับระบบใหญ่โต เป็นต้น ซึ่งเป็นประเด็นสากลที่เข้าใจได้ไม่ยาก จึงไม่แปลกใจที่หนังจะประสบความสำเร็จในระดับสากล  (โดยเฉพาะในจีน เกาหลีใต้ ไต้หวัน ฮ่องกง ที่มีการแข่งขันด้านการเรียนการสอบดุเดือดไม่แพ้เมืองไทย)

#BKKY (ผู้กำกับ – นนทวัฒน์ นำเบญจพล)

สารคดีเรื่องที่ 3 ซึ่งติดอันดับนี้ ที่น่าสนใจคือมันไม่ใช่สารคดีเต็มรูปแบบแต่ผสมความเป็น Fiction เอาไว้ครึ่งต่อครึ่ง (จนอาจมองว่ามันเป็นหนัง Fiction ที่เสริมความเป็นสารคดีลงไปก็ได้)

ส่วนของ ‘สารคดี’ นั้น ผู้กำกับได้ทำการสัมภาษณ์เด็กมัธยมจำนวน 100 คนในเรื่องต่างๆ เช่น เพื่อน แฟน ครอบครัว การเรียน การสอบ ความฝัน อนาคต เซ็กซ์ ฯลฯ จากนั้นจึงรวบรวมความเห็นที่ใกล้เคียงกันไว้ด้วยกัน แล้วนำมาตัดต่อเข้ากับส่วน ‘Fiction’ (ซึ่งถ่ายทำขึ้นภายหลังโดยเขียนบทอ้างอิงจากข้อมูลของตัวนักแสดงและจาก Subject ของสารคดีคนอื่นๆ) ซึ่งเล่าเรื่องราวของโจโจ้ หญิงสาวที่อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านของชีวิต ทั้งในเรื่องการเรียนจากมัธยมไปมหาวิทยาลัย และเรื่องความรักที่ต้องเลือกระหว่างคนรักเก่าเพศเดียวกันกับคนรักใหม่ต่างเพศ

ใครที่คาดหวังว่าจะได้เห็นประเด็นใหญ่โต – แหลมคม – แปลกใหม่ – ซีเรียส – ซับซ้อน แบบที่เห็นในหนังเรื่องเก่าๆ ของนนทวัฒน์อย่างฟ้าต่ำแผ่นดินสูงหรือสายน้ำติดเชื้ออาจรู้สึกผิดหวังเนื่องจากหนังเน้นไปที่มุมมองความคิดของเด็กในเมือง ซึ่งเป็นประเด็นที่พบได้บ่อยมากในหนังหรือละครวัยรุ่นทั่วไป อีกทั้งผู้กำกับยังเลือกที่จะนำเสนอความเห็นที่พ้องกันมากกว่าที่แตกต่าง ก็ยิ่งทำให้หาประเด็นที่แหลมคมหรือท้าทายได้ยาก

แต่ถึงกระนั้นหนังก็ยังมีความสนใจตรงการพาผู้ชมไปสัมผัสมุมมองวัยรุ่นผ่านปากคำของพวกเขาจริงๆ (ไม่ใช่มุมมองที่ผู้ใหญ่คิดแทนเด็ก) ซึ่งเห็นได้ว่าพวกเขาเปิดกว้างและเสรีมากกว่าที่คิด (เห็นได้ชัดจากเรื่องความลื่นไหลทางเพศสภาพและเรื่องเซ็กซ์) นอกจากนั้นด้วยการนำเสนอที่แปลกใหม่และกระฉับกระเฉง ทำให้เวลา 75 นาทีของหนังเรื่องนี้ผ่านไปอย่างรวดเร็ว

Die Tomorrow (ผู้กำกับ – นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์)

ถือเป็นหนังยาวของนวพลที่ก่อให้เกิดเสียงแตกออกเป็นสองข้างอย่างชัดเจน ด้วยความที่มันไม่ใช่หนังเล่าเรื่องในรูปแบบทั่วไป แต่เป็นหนังทดลองที่รวบรวมหนังสั้นหกเรื่อง (แต่ละเรื่องเป็นหนังถ่ายแบบลองเทคช็อตเดียว โดยถ่ายทอดเหตุการณ์วันสุดท้ายก่อนที่ตัวละครในเรื่องจะตาย)  บวกกับฉากสัมภาษณ์แบบสารคดี, text ข้อมูล, พาดหัวข่าว, ภาพประกอบอื่นๆ  เข้าด้วยกัน ซึ่งทั้งหมดนั้นล้วนพุ่งไปที่ประเด็นเดียวกันคือความตาย

ความตายถือเป็นเรื่องน่าแปลก เพราะถึงแม้มันจะเป็นสิ่งสามัญที่ทุกคนต้องพบเจอแต่กลับไม่ค่อยได้รับการพูดถึงเท่าไร โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น (ซึ่งเป็นแฟนกลุ่มหลักของนวพล) ที่มักมองว่ามันเป็นเรื่องไกลตัว หนังเรื่องนี้ได้นำเสนอความตายในฐานะสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวและอาจเกิดขึ้นกับเราเมื่อไรก็ได้ อีกทั้งยังมองมันอย่างใคร่ครวญด้วยเหลี่ยมมุมที่น่าสนใจ

นอกจากรูปแบบการนำเสนอที่แปลกซึ่งเหมือนเป็นยาขมสำหรับผู้ชมแล้ว การที่หนังเลือกที่จะนำเสนอเรื่องราวหนึ่งวันก่อนตายในรูปแบบของวันธรรมดาที่สุดแสนเรียบง่ายน่าเบื่อ (เพื่อขับเน้นไอเดียที่ว่าวันก่อนตายอาจเป็นเพียงวันธรรมดาวันหนึ่ง) ก็ยิ่งเพิ่มความขมให้กับยาเข้าไปอีก และอาจทำให้ผู้ชมหลายคนซึ่งคาดหวังว่าจะได้พบเจอความหวือหวาแบบหนังยาวเรื่องก่อนๆ ของนวพลรู้สึกว่าหนังเรียบนิ่ง ล่องลอย ไม่มีอะไร และจูนไม่ติดกับหนัง (ยิ่งหนังมีการรวมดาราดังที่เคยร่วมงานกับนวพลอย่างคับคั่ง บวกกับการโปรโมตที่ดีจนเข้าถึงกลุ่มผู้ชมวงกว้างนอกเหนือสายอาร์ตเฮาส์ ก็ยิ่งทำให้ผู้ชมหลายคนคาดหวังว่าจะได้มาดูอะไรแมสๆ ซึ่งหนังเรื่องนี้ไม่เข้าข่ายนั้น) แต่ถึงอย่างไรเราก็มองว่าหนังเรื่องนี้ถือเป็นก้าวที่กล้าของศิลปินในการมุ่งทดลองทำในสิ่งที่ตัวเองเชื่อโดยไม่เดินตามคามคาดหวังคนดู (แม้การทดลองของเขาอาจไม่ประสบความสำเร็จไปเสียหมดก็ตาม)

5 หนังไทยที่โดดเด่น

Insects in the Backyard แมลงรักในสวนหลังบ้าน (ผู้กำกับ – ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์)

หนังปี 2010 ที่เพิ่งได้ฉายปี 2017 (เพราะกองเซนเซอร์มองว่าหนังขัดต่อศีลธรรมอันดีจนสั่งห้ามฉาย จนนำไปสู่การต่อสู้คดีอันยาวนาน) จริงอยู่ที่ว่าหนังมีจุดบกพร่องด้านเทคนิคและการเล่าเรื่องหลายจุด แต่ด้วยประเด็นที่แข็งแรงมีพลังก็ทำให้ผู้ชมมองข้ามจุดอ่อนดังกล่าวไปได้อย่างง่ายดาย ซึ่งประเด็นที่เห็นได้ในหนัง ได้แก่ ครอบครัวที่ไม่สมบูรณ์, กิเลสความใคร่ของมนุษย์, การยอมรับในความแตกต่างทั้งเรื่องเพศสภาพและเรื่องอื่นๆ เป็นต้น ซึ่งเป็นประเด็นที่สามารถพบได้ในหนังของธัญญ์วารินอีกหลายเรื่อง จริงอยู่ที่ว่าตัวละครในหนังของเขาล้วนเป็นมนุษย์ที่บกพร่องและมีกิเลส แต่คนทำหนังก็นำเสนอตัวละครเหล่านี้ด้วยความเข้าใจและไม่ด่วนตัดสิน ส่งผลให้หนังของเขามีความน่าจดจำ

Pop Aye ป๊อปอาย มายเฟรนด์ (ผู้กำกับ – เคิร์สเตน ตัน)

เป็นหนังร่วมทุนระหว่างไทย – สิงคโปร์ เนื่องจากผู้กำกับ/เขียนบทอย่างเคิร์สเตน ตันเป็นชาวสิงคโปร์อีกทั้งได้ทุนสร้างส่วนใหญ่จากที่นั่น ในขณะตัวละครและฉากหลังเป็นไทยทั้งหมดและมีทีมงานบางส่วนเป็นคนไทย ซึ่งหนังได้รางวัลจากเทศกาลหนังชื่อดังหลายแห่งแต่กลับไม่ประสบความสำเร็จในไทยเท่าที่ควร อาจเป็นเพราะหนังดูแปลกแปร่งเกินไปและดูไม่สมจริงในหลายจุด (เนื่องจากเป็นมุมมองจากคนทำหนังต่างชาติ) แต่ถึงกระนั้นหนัง Road Movie ที่พูดถึงการเดินทางกลับบ้านเกิดของคนกับช้างเรื่องนี้ก็มีความน่าสนใจตรงที่มันสะท้อนภาพของสังคมไทยหลายอย่าง เช่น ชนชั้นกลางในเมืองที่ถูกเขี่ยทิ้งจากระบบทุนนิยม, ชีวิตในชนบท, ความเป็นอีสาน, ตำรวจ, สาวประเภทสอง ฯลฯ ผ่านการนำเสนอที่แฝงความเหนือจริงและความเป็นเทพนิยายลงไปหน่อยๆ

สยามสแควร์ (ผู้กำกับ – ไพรัช คุ้มวัน)

หนังผีในโรงเรียนกวดวิชาเรื่องนี้ ดูจากหน้าหนังแล้วอาจไม่ต่างจากหนังสยองขวัญวัยรุ่นทั่วไป แต่สิ่งที่ทำให้สยามสแควร์มีความพิเศษอยู่ที่ความทะเยอทะยาน (แม้จะไม่ประสบความสำเร็จทั้งหมด) ในการเล่าเรื่องที่ซับซ้อนและประเด็นที่หนักหน่วงทั้งการ Bully, มิตรภาพที่แตกหัก, ความเกลียดชังระหว่างเพื่อน, การแอบรัก, ความรักที่ไม่สมหวัง เป็นต้น ในขณะที่ฉากสยองขวัญก็ทำออกมาได้น่ากลัวและมีการออกแบบที่ดี  (ความน่าสนใจอยู่ที่ผีในหนังไม่ได้น่ากลัวด้วยตัวมันเอง แต่เกิดจากตำนานและการบอกเล่าปากต่อปากที่ยิ่งเสริมความน่ากลัวให้กับมัน)

ไทบ้านเดอะซีรีส์ (ผู้กำกับ – สุรศักดิ์ ป้องศร)

เป็นหนึ่งในหนังเอาใจผู้ชมภาคอีสานที่มีการสร้างขึ้นมามากมายหลังปี 2015 (หลังจากความสำเร็จของผู้บ่าวไทบ้าน อีสานอินดี้) ซึ่งตัวหนังอาจไม่ได้สมบูรณ์พร้อมหรือต้องการบอกเล่าเรื่องราวประเด็นใหญ่โตอะไร แต่มันเป็นหนังที่ผู้สร้างรู้ตัวว่าต้องการทำอะไรแล้วก็ไปทางนั้นจนสุด ผลก็คือหนังทำได้ถึงทั้งในเรื่องความสนุกและความซึ้ง อีกทั้งยังจริงใจในสิ่งที่ตัวเองต้องการจะเล่า ผลก็คือมันทำให้หนังบอกเล่าชีวิตความฝันความรักของผู้คนในภาคอีสานที่มีเสน่ห์เหลือเกินเรื่องนี้ประสบความสำเร็จเหนือเรื่องอื่นจนไม่แปลกใจที่จะมีการสร้างภาคต่อตามมา

ดอกฟ้า_หมาแจ๊ส (ผู้กำกับ – ยุทธเลิศ สิปปภาค)

เป็นหนังที่ยังคงลายเซ็นของยุทธเลิศได้อย่างครบถ้วน เช่น มุขตลกดิบเถื่อน, ความไม่ PC (จิกกัดเพศที่สาม เหยียดเพศหญิง และเล่นมุกตลกสังขาร), การเสียดสีสังคมการเมือง, จิกกัดวงการหนัง ซึ่งใครที่ไม่ปลื้มหนังของเขาก็น่าจะยังคงไม่ปลื้มต่อไป แต่สำหรับเรามองว่านี่ถือเป็นการคืนฟอร์มอีกครั้งของยุทธเลิศ (หลังจากผิดหวังจากหนังช่วงหลังของเขาหลายเรื่อง) ที่ทำหนังออกมาได้เต็มไปด้วยลูกบ้าและไอเดีย อีกทั้งเนื้อหาของการย้อนเวลาเพื่อแก้ไขสิ่งที่ผิดพลาดก็ทำออกมาได้น่าสนใจและยังสะท้อนถึงสังคมไทยที่ไม่ยอมเดินต่อไปข้างหน้าเสียที

Tags: , , , , , , , , , ,