ชนพื้นเมืองอเมริกันนัดชุมนุมในวันศุกร์ที่ 3 กรกฎาคมนี้ ต้อนรับการเยือนของโดนัลด์ ทรัมป์ ณ ภูเขาหินแกะสลักรูปใบหน้าของอดีตสี่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในโอกาสฉลองวันชาติ 4 กรกฎาคม การประท้วงผู้นำทำเนียบขาวสะท้อนถึงการรื้อประวัติศาสตร์ชาติเพื่อทบทวนใหม่ ด้วยเจตนาที่จะผลักดันประชาธิปไตยอเมริกันให้รุดหน้า
กลุ่มคนที่สืบเชื้อสายจากคนพื้นเมืองดั้งเดิม ที่คนไทยเคยเรียกกันว่า อินเดียนแดง นัดหมายกันไปประท้วงประธานาธิบดีทรัมป์ ที่อนุสรณ์สถานแห่งชาติเมาท์รัชมอร์ มลรัฐเซาท์ดาโกตา เป้าหมายของคนจัดกิจกรรม คือ เรียกร้องให้ชาติย้อนพิเคราะห์ถึงชะตากรรมของท้องถิ่นในยุคก่อร่างสร้างประเทศ
การเรียกร้องให้เปิดประเด็นถกเถียงเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติที่กดทับประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเช่นนี้ มีขึ้นได้ภายใต้เงื่อนไขของสิทธิเสรีภาพ ซึ่งได้รับการรับรองตามรัฐธรรมนูญ และภายใต้เงื่อนไขของนิติรัฐ ซึ่งกระบวนการยุติธรรมจะไม่ยัดข้อหา พิพากษาพลเมืองให้ติดคุก ตามอำเภอใจของฝ่ายผู้ครองอำนาจ
ด้วยหลักประกันในเรื่องเสรีภาพ ด้วยหลักนิติรัฐ แม้หลักการทั้งสองยังมีข้อบกพร่องในภาคปฏิบัติ ชนพื้นเมืองอเมริกันจึงสามารถตั้งคำถามต่ออดีตผู้นำที่รัฐบาลกลางยกย่องเป็นปูชนียบุคคลได้อย่างลงลึกถึงแก่น ไม่ต้องพะวงกับข้อหาอาญาอันใด ตราบเท่าที่เป็นการแสดงออกโดยสงบ
ความเคลื่อนไหวของชนพื้นเมืองอเมริกันที่ว่านี้ เกิดขึ้นคู่ขนานไปกับกระแสโค่นรื้ออนุสาวรีย์ของบุคคลที่เคยมีส่วนในการค้าทาส ใช้แรงงานทาส และเบียดขับกลุ่มคนดั้งเดิมในดินแดนโลกใหม่ ทั่วภาคพื้นทวีปอเมริกาและยุโรป
อนุสาวรีย์ของ ‘คนขาว’
ทรัมป์มีกำหนดจะเปิดเทศกาลเฉลิมฉลองวันชาติอเมริกันด้วยบรรยากาศชาตินิยมต่อหน้ารูปจำหลักศิลาของจอร์จ วอชิงตัน, ทอมัส เจฟเฟอร์สัน, ธีโอดอร์ รูสเวลต์, และอับราฮัม ลินคอล์น ด้วยสีสันตระการตาของพลุอันเจิดจรัส และเครื่องบินเจ็ทที่บินแสดงการเชิดชูเกียรติของผู้ทรงคุณูปการทั้งสี่ในการสร้างชาติ
อนุสรณ์สถานอายุ 79 ปีแห่งนี้แกะสลักบนภูผาหินแกรนิตเมื่อช่วงปี 1927-1941 ด้วยฝีมือของประติมากรชื่อ กัตซัน บอร์กลัม บุตรชายของเขา ลินคอล์น ได้สานงานต่อภายหลังมรณกรรมของบิดา
ทว่าในสายตาของชนพื้นเมือง ที่ตั้งของเมาท์รัชมอร์ ในแถบเทือกเขาที่เรียกว่า แบล็กฮิลล์ นี้ ถือเป็นดินแดนศักดิ์สิทธิ์ รัฐบาลกลางได้ใช้กำลังแย่งยึดไปจากชนเผ่าลาโกตาซีอุกซ์ในช่วงทศวรรษ 1800
ยิ่งกว่านั้น ประติมากรผู้สร้างยังเป็นสมาชิกของคู คลักซ์ แคลน ขบวนการขวาสุดโต่งที่สดุดีคนขาวเป็นเลิศ และเรียกร้องให้ชำระล้างสังคมอเมริกันให้เป็นแผ่นดินของคนขาว
มิหนำซ้ำ รูปสลักที่ปรากฏยังเป็นภาพของบุคคลที่เคยครอบครองทาส นั่นคือ จอร์จ วอชิงตัน กับทอมัส เจฟเฟอร์สัน
ส่วนลินคอล์นนั้นแม้เป็นผู้นำการเลิกทาส แต่ก็เคยอนุมัติให้แขวนคอชาวดาโกตา 38 คนในมลรัฐมินเนโซตาโทษฐานใช้อาวุธต่อสู้กับคนขาวที่เข้าไปตั้งนิคมที่นั่น ขณะที่รูสเวลต์เคยแสดงทัศนะว่า “ผมไม่ถึงกับคิดว่า อินเดียนแดงที่ดีมีแต่อินเดียนแดงที่ตายแล้ว แต่ผมเชื่อว่า เก้าในสิบเป็นเช่นนั้น”
ชาติในมุมพินิจใหม่
กรณีตำรวจคนขาวฆ่าคนดำ จอร์จ ฟลอยด์ จุดชนวนการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิมนุษยชนของชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกัน รวมถึงชนพื้นเมืองที่เคยถูกช่วงชิงถิ่นฐานในยุคอาณานิคม การประท้วงนี้ได้ขยายตัวเป็นขบวนการ Black Lives Matter ในเวลานี้
นักเคลื่อนไหวชาวอเมริกันพื้นเมืองบางส่วนมองว่า รัฐบาลกลางควรมอบคืนดินแดนศักดิ์สิทธิ์ แบล็กฮิลล์ แก่ชนชาวลาโกตา และควรรื้อถอนอนุสรณ์สถานเมาท์รัชมอร์
นิค ทิลเซน นักกิจกรรมชนเผ่าอ็อกลาลา ลาโกตา บอกว่า เมาท์รัชมอร์เป็นสัญลักษณ์ของลัทธิคนขาวเป็นใหญ่ สะท้อนถึงความคิดเหยียดเชื้อชาติที่ยังคงสืบต่อจนถึงปัจจุบัน
“นับเป็นความอยุติธรรมที่ขโมยเอาแผ่นดินของชนดั้งเดิมไปแกะสลักภาพใบหน้าของคนขาวผู้พิชิต ผู้กระทำการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” ประธานกลุ่มท้องถิ่น NDN Collective ผู้นี้ บอกกับสำนักข่าวเอพี
จอห์น ทาเลียเฟอร์โร ผู้เขียนหนังสือเรื่อง ‘Great White Fathers : A History of Monument’ กล่าวว่า อนุสาวรีย์เปรียบเสมือนภาพทดสอบทางจิตวิทยา ที่เรียกว่า รอร์ซัค เทสต์ (Rorchach Test) มาช้านานแล้ว ภาพเดียวกัน คนสองคนมองเห็นเป็นคนละอย่างกัน คนหนึ่งนึกถึงสาธารณรัฐอันเปี่ยมด้วยอุดมคติของเสรีภาพ อีกคนนึกถึงการกดคนลงเป็นทาส ขับไล่ไสส่งเจ้าของเดิมออกจากแผ่นดินบรรพบุรุษ
‘ทรัมป์’ ปกป้อง ‘ประวัติศาสตร์’
ท่ามกลางกระแสรื้อโค่นในเวลานี้ ทรัมป์ออกโรงปกป้องอนุสาวรีย์อย่างเต็มที่
เมื่อวันพฤหัสฯ (25 มิถุนายน) เขาบอกกับผู้ฟังการปราศรัยที่เมืองกรีนเบย์ มลรัฐวิสคอนซิน ว่า “เราจะใช้ไม้แข็งกับผู้ประท้วงอนุสาวรีย์ให้หนักมือขึ้น เราต้องตอบโต้กลับไป คนพวกนี้เป็นพวกมือบอน พวกก่อความวุ่นวาย ที่จริงแล้ว คนพวกนี้ก็คือผู้ก่อการร้ายดีๆ นี่เอง”
คาดกันว่า ทรัมป์จะลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหารฉบับหนึ่งในเร็ววันนี้ เอาผิดคนที่ฉีดสีสเปรย์ โค่นล้มอนุสาวรีย์ ด้วยโทษจำคุก
สำหรับภูเขาแบล็กฮิลล์แห่งนี้ ชนพื้นเมืองอเมริกันเคยรวมตัวประท้วงมาแล้วหลายครั้ง เพื่อตอกย้ำถึงประวัติศาสตร์ของสถานที่ เมื่อห้าสิบปีก่อน นักกิจกรรมในนามกลุ่ม United Native Americans ได้ปีนป่ายขึ้นไปยึดยอดเขาลูกนี้
ประธานกลุ่มคนปัจจุบัน กานาห์ ไบรท์แมน บอกว่า การประท้วงเมื่อทศวรรษ 1970 เป็นผลพวงจากขบวนการสิทธิพลเมืองเมื่อทศวรรษ 1960 เขาหวังว่า ขบวนการ Black Lives Matter จะเรียกเสียงสนับสนุนแก่ชนพื้นเมืองอเมริกันเหมือนเช่นในครั้งนั้น
ทอม กริฟฟิธ นักเขียน ผู้ค้นคว้าเรื่องราวของเมาท์รัชมอร์ บอกว่า “นี่คือ ประวัติศาสตร์ของอเมริกา เป็นเรื่องราวที่มีหลายหลากมิติ และสลับซับซ้อน”
วาระเฉลิมฉลองวันชาติอเมริกัน ณ อนุสรณ์สถานแห่งชาติเมาท์รัชมอร์ ที่ประธานาธิบดีทรัมป์จะเป็นประธานเปิดงาน ท่ามกลางเสียงประท้วงของชนพื้นเมืองอเมริกัน จะดำเนินไปอย่างราบรื่นแค่ไหน เราจะได้เห็นกัน
อ้างอิง:
ภาพ: KEREM YUCEL / AFP
Tags: เมาท์รัชมอร์, Mount Rushmore