Cry for the gods, cry for the people

Cry for the land that was taken away

“ขอร่ำร้องเพื่อพระเจ้าและผู้คน

เพื่อผืนแผ่นดินที่ถูกหยิบฉวยไป”

เสียงร้องทุ่มต่ำหากเปี่ยมไปด้วยพลังคลอคู่ไปกับเสียงเกาอะคูเลเล่และไวโอลินที่ไหลเอื่อยเป็นแบคกราวด์บางเบาอยู่ด้านหลังเพลง ‘Hawai’i ‘78′ ของอิสราเอล คามาคาวิโวโอเล (Israel Kamakawiwoʻole’) บอกเล่าความทุกข์ระทมของชาวฮาวายนับตั้งแต่ชาวผิวขาวจากยุโรปและสหรัฐฯ เข้ามามีบทบาทในผืนดินของพวกเขา ทางรถไฟ ถนน สัญญาณไฟเขียวไฟแดง ตึกสูงระฟ้า การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ภายใต้อำนาจของสหรัฐฯ กดทับวัฒนธรรมและเปลี่ยนแปลงวิธีชีวิตของชาวฮาวายจากหน้ามือเป็นหลังมือ 

แต่ส่วนที่เศร้าที่สุดคือ พวกเขาไม่มีแม้แต่ปากเสียงในความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

อิซ

Hawai’i 78 เป็นดั่งจดหมายของชาวฮาวายถึงอดีตของพวกเขา ครั้งที่ผืนดินเคยมอบพืชพันธุ์ธัญญาหาร มหาสมุทรคอยรวบรวมแหล่งโปรตีนชั้นดี และอดีตที่ชาวฮาวายมีเอกราชและปกครองตัวเอง   

ย้อนกลับไปราว 2,000 ปีที่แล้ว ครั้งที่ฮาวายยังเป็นเกาะห่างไกลจากสิ่งมีชีวิต ชาวเกาะกลุ่มหนึ่ง (บ้างว่าเป็นชาวตาฮิติ แต่บ้างก็ว่าโพลีนีเซีย) ได้แล่นเรือฝ่าคลื่นสมุทรกว่าหลายพันไมล์มาลงหลักปักฐานที่เกาะแห่งนี้ พวกเขาค่อยๆ สร้างวัฒนธรรม ภาษา ความเชื่อ เสื้อผ้าอาภรณ์ เครื่องดนตรี ของใช้สอย ตลอดจนขนบสังคมและธรรมเนียมการปกครองที่ต่อมาถูกเรียกรวมกันว่า ‘วัฒนธรรมฮาวาย (Hawai’i)’

กระทั่งปี 1778 นักสำรวจชาวอังกฤษ กัปตันเจมส์ คุก ได้แล่นเรือมาพบกับหมู่เกาะฮาวายเข้าโดยบังเอิญ เขานำลูกเรือขึ้นฝั่งเพื่อสำรวจเกาะและได้พบกับการดูแลปรนนิบัติอย่างดีด้วยอาหารเลิศรส คลอไปกับเสียงเพลงและศิลปะการแสดงตระการตา

กัปตันเจมส์ คุก

แต่เมื่อคุกเดินทางกลับมาที่ฮาวายอีกครั้งในปีต่อมา หลายอย่างกลับเปลี่ยนไป อาหารเลิศรสกลายเป็นสรรพาวุธที่จี้คอ เสียงเพลงถูกกลบด้วยเสียงรัวกลองรบ บ้างเชื่อว่าการปฏิบัติหน้ามือเป็นหลังเท้านี้ เป็นเพราะคุกนำวัตถุสักการะบูชาของชาวฮาวายมาต่อเป็นรั้ว บ้างก็ว่าช่วงนั้นเป็นฤดูแห่งสงคราม (Season of War) ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ชาวฮาวายมีพิธีบูชายัญมนุษย์

ชาวฮาวายบนเกาะได้แอบขึ้นไปเรือของคุกและขโมยเรือมาได้ลำหนึ่ง คุกและลูกเรือของเขาจึงตอบโต้ด้วยการจับราชาของชาวฮาวายมาเป็นตัวประกัน ซึ่งการตอบโต้ของทั้งสองฝ่ายคล้ายสุมไฟใส่กัน ผลสุดท้ายกัปตันเจมส์ คุกและลูกเรือสี่นายต้องจบชีวิตลงในสงครามครั้งนั้น

เรื่องราวการเดินทางของคุกถูกพิมพ์เป็นหนังสือและบอกเล่าปากต่อปาก จากบาร์เหล้าในเมืองท่า สู่ตลาดที่เหล่าพ่อค้าต่างล้อมวงแลกเปลี่ยนสินค้า และจนถึงโบสถ์ที่เซ็งแซ่ด้วยเสียงสรรเสริญพระเจ้า เบนเข็มการเดินทางของชาวยุโรปจำนวนมากสู่หมู่เกาะที่ตั้งอยู่กลางมหาสมุทรแปซิฟิกแห่งนี้

ภายหลังที่เรื่องเล่าการเดินทางของกัปตันคุกถูกบอกเล่า สามปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของฮาวาย ได้แก่ หนึ่ง การเข้ามาเผยแพร่ศาสนาของกลุ่มมิชชันนารีโปรเตสแตนต์ซึ่งได้ทำให้ชาวฮาวายหันมาเข้ารีต ยกเลิกความเชื่อและพิธีกรรมดั้งเดิม รวมถึงการบูชายัญมนุษย์ 

สอง การเติบโตของอุตสาหกรรมน้ำตาลโดยนายทุนผิวขาว นอกจากทำให้แรงงานต่างถิ่นอพยพเข้ามาในฮาวายเป็นจำนวนมากแล้ว นายทุนกลุ่มนี้ยังเข้ามามีอิทธิพลต่อการเมืองของฮาวายอย่างมาก โดยเฉพาะการปฏิวัติโค่นล้มราชบัลลังก์ในปี 1893 และสาม โรคระบาดที่มาพร้อมชาวยุโรป ซึ่งทำให้ประชากรพื้นเมืองฮาวายลดลงจาก 300,000 คนเหลือเพียง 60,000-70,000 คน

ในช่วงเดียวกับที่ชาวยุโรปและสหรัฐฯ เริ่มเดินทางเข้ามาในฮาวาย กษัตริย์คาเมฮาเมฮามหาราช (King Kamehameha the Great) ได้ยุติความวุ่นวายภายในของฮาวายและรวมฮาวายเป็นหนึ่งภายใต้ราชวงศ์คาเมฮาเมฮา ซึ่งจะปกครองฮาวายอีกนานร่วม 100 ปี กระทั่งถึงการเปลี่ยนผ่านอำนาจไปสู่มือของสหรัฐอเมริกา

ราวปลายศตวรรษที่ 19 การเมืองภายในของฮาวายวุ่นวายอีกครั้งเมื่อมีกษัตริย์สิ้นพระชนม์โดยไม่ได้ทิ้งพินัยกรรมเอาไว้ จึงเปิดทางให้สหรัฐฯ ดันกษัตริย์คาราคัวอา (Kalākaua) ซึ่งตนเองสนับสนุนขึ้นเป็นผู้ปกครองฮาวายและกดดันให้เซ็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรฮาวาย 1887 หรือ Bayonet Constitution ซึ่งลดอำนาจของกษัตริย์ลง และกระจายอำนาจออกไปให้กลุ่มนายทุนน้ำตาลเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในทางการเมือง 

ในปี 1891 ราชินี ลิลีอูกาลานิ (Liliʻuokalaniได้ขึ้นมาครองอำนาจต่อจากกษัตริย์คาราคัวอาที่ทรงประชวร เธอประกาศรื้อฟื้นอำนาจของสถาบันกษัตริย์ หากถูกขัดขวางจากกลุ่มนายทุนน้ำตาลที่เรียกร้องให้ฮาวายผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งกับสหรัฐฯ ซึ่งข้อเสนอดังกล่าวก็ได้รับเสียงสนับสนุนจากรัฐบาลกลางสหรัฐฯ เพราะฮาวายถือเป็นอู่ข้าวอู่น้ำและจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญในมหาสมุทรแปซิฟิก

ราชินีลิลีอูกาลานิ

ในปี 1893 การเปลี่ยนผ่านทางการเมืองในฮาวายมาถึงจุดสำคัญ เมื่อขบวนปฏิวัติซึ่งได้รับการสนับสนุนโดยตรงจากทูตสหรัฐฯ จอห์น แอล สตีเวน (John L. Stevens) และกองทัพ ได้จับกุมราชินีลิลีอูกาลานิแล้วเปลี่ยนราชอาณาจักรฮาวายให้กลายเป็นสาธารณรัฐฮาวายในช่วงสั้นๆ ก่อนผนวกฮาวายเป็นส่วนหนึ่งของสหรัฐฯ เพื่อใช้ในการต่อสู้สงคราม สเปนิช-อเมริกัน ในปี 1898 ภายใต้สนธิสัญญา Newsland Solution และกลายมาเป็นรัฐที่ 50 ของสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการ ในวันที่ 18 มีนาคม 1959

กลับไปถึงเนื้อหาในเพลงของอิซที่ย่อหน้าแรก กระแสชาตินิยมฮาวาย ได้รับการพูดถึงอยู่เสมอในสังคมฮาวาย เพราะนอกจากสนธิสัญญาผนวกประเทศที่ผ่านโดยขาดเสียงสนับสนุนจากวุฒิสภาและการปกครองที่ปราศจากกฎหมายภายในกลุ่มตัวเองเหมือนกรณีชาวอินเดียนแดงหรือเอสกิโมแล้ว การถูกผนวกเป็นรัฐหนึ่งของสหรัฐฯ ยังนำมาซึ่งปัญหามากมาย อาทิ การกดทับทางวัฒนธรรม การห้ามสอนภาษาฮาวายในสถานศึกษา สภาพเศรษฐกิจที่พึ่งพิงการท่องเที่ยวจนทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ปัญหาผู้อพยพและคนไร้บ้าน รวมถึงการจัดตั้งฐานทัพของสหรัฐฯ ซึ่งทำให้ฮาวายเสี่ยงต่อการเป็นพื้นที่สงครามอยู่เสมอ เช่นที่เคยเกิดมาแล้วเมื่อครั้งญี่ปุ่นถล่มเพิร์ล ฮาร์เบอร์ 

แต่เหนืออื่นใด การกดทับทางวัฒนธรรมเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่ทำให้กระแสฟื้นฟูศิลปวิทยาฮาวาย (Hawaii Renissance) เติบโตขึ้นอย่างมากในช่วงทศวรรษ 1970 ก่อนถูกผลักให้กลายเป็นกระแสชาตินิยมฮาวายในเวลาต่อมา 

โดยหนึ่งในการเดินขบวนชาตินิยมฮาวายที่ใหญ่ที่สุดเกิดขึ้นในวาระครบรอบ 100 ปี ที่ฮาวายถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสหรัฐฯ (ปี 1998) การเคลื่อนไหวครั้งดังกล่าวเกิดขึ้นภายหลังการออกแถลงการณ์ขอโทษถึงชาวฮาวายอย่างเป็นทางการจากรัฐบาลสหรัฐฯ สมัยประธานาธิบดีบิล คลินตัน ในปี 1993  

การเดินขบวนของชาวฮาวาย ในปี 1998

ทั้งนี้ ในปัจจุบันกระแสชาตินิยมฮาวายได้กระตุ้นให้ชาวฮาวายออกมารวมตัวเป็นกลุ่มองค์กรทางสังคมที่หลากหลาย ที่มีเป้าหมายหลักร่วมกันคือ การเพิ่มอำนาจการปกครองตนเอง อย่างไรก็ตาม ระดับของการเรียกร้องมีตั้งแต่ สิทธิในการออกกฎหมายปกครองตนเอง เพิ่มอำนาจของตัวแทนและสถาบันทางการเมืองของชาวฮาวาย ตลอดจนย้อนระบบการปกครองกลับสู่สมบูรณาญาสิทธิราชย์ 

ด้วยความหลากหลายในเป้าหมาย เราแบ่งกลุ่มเป้าหมายที่ยึดโยงกับแนวคิดชาตินิยมของฮาวายได้เป็นสี่ระดับ  

กลุ่มเรียกร้องรูปแบบรัฐซ้อนรัฐ (State within a State) ข้อเรียกร้องดังกล่าวเรียกร้องให้มีการขยายสถาบันทางการเมืองที่เป็นตัวแทนของชาวฮาวายเพิ่มมากขึ้น เพื่อเพิ่มอำนาจในการต่อรองทางการปกครอง อย่างไรก็ตาม ข้อเรียกร้องดังกล่าวไม่ได้เรียกร้องการเปลี่ยนแปลงที่แตกต่างจากเดิมมากนัก แต่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นบันไดสู่ข้อเรียกร้องอื่นๆ มากกว่า ผู้สนับสนุนแนวคิดดังกล่าว อาทิ อดีตนักการเมืองฮาวายผู้ล่วงลับ Kina’u Boyd Kamali’i 

กลุ่มที่เรียกร้องรูปแบบประเทศซ้อนประเทศ (Nation within a Nation) มีโมเดลจากความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มอินเดียนพื้นเมืองกับรัฐบาลกลางสหรัฐ โดยเรียกร้องให้ชาวฮาวายมีการเลือกตั้ง การจัดการรักษาความปลอดภัย สภาและกฎหมายที่เป็นของตัวเอง แต่ยังคงอยู่ภายใต้สหรัฐฯ กล่าวคือเป็นทั้งพลเมืองของฮาวายและสหรัฐฯ พร้อมกัน โดยฮาวายจะได้รับการปฏิบัติเสมือนเป็นหน่วยการปกครองที่แยกออกจากรัฐบาลกลาง และไม่ได้รับสิทธิและสวัสดิการ อาทิ สวัสดิการสาธารณสุข การศึกษา ตลอดจนโครงการจัดหาที่อยู่อาศัยและสัญญาเช่าที่ดิน  กลุ่มสำคัญที่สนับสนุนแนวคิดนี้คือ Ka Lahui Hawai’i’

กลุ่มที่เรียกร้องเอกราช แต่ให้มีสัญญาความสัมพันธ์เสรีกับสหรัฐฯ (Free Association) ข้อเรียกร้องดังกล่าวถอดแบบมาจากข้อตกลงระหว่างสหรัฐฯ กับกลุ่มประเทศ COFA (สหพันธรัฐไมโครนีเซีย สาธารณรัฐหมู่เกาะมาร์แชล และสาธารณรัฐปาเลา) ภายใต้ข้อตกลงรูปแบบนี้ ฮาวายจะแยกตัวออกจากสหรัฐฯ สามารถมีรัฐบาลและวางนโยบายทางการทูฑูตของตนเองได้ แต่ยังคงความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดทางด้านการทหาร การค้า และกิจกรรมทางเศรษฐกิจกับสหรัฐฯ กลุ่มที่สนับสนุนแนวคิดนี้ ได้แก่ พรรคปิติภูมิฮาวายเพื่อสัมพันธ์เสรี (Hawaiian Home Rule Party for Free Association)

และกลุ่มสุดท้ายคือ กลุ่มที่เรียกร้องการสถาปนาประเทศฮาวาย (Independence State) โดยเรียกร้องให้ตัดขาดความสัมพันธ์กับรัฐบาลสหรัฐฯ ในทุกมิติ ไม่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ระบบภาษีหรือข้อตกลงทางการค้าฉบับใด ซึ่งรวมถึงการตัดสินใจผลักฐานทัพสหรัฐฯ ออกจากพื้นที่ของฮาวายด้วย แนวคิดนี้มีกลุ่มชาตินิยมฮาวายเก่าแก่ Nation of Hawai’i เป็นหัวหอกสำคัญ โดยมี เดนิส บัมพ์ปี้ (Dennis “Bumpy” Kanahele) ซึ่งอ้างว่าสืบสายเลือดมาจากราชาคาเมฮาคาเมฮ้าเป็นผู้นำ 

เดนิส บัมพ์ปี้

ในปี 1989 บัมพ์ปี้ได้นำแนวร่วมของกลุ่มราว 300 คนเข้ายึดพื้นที่ชายฝั่งตะวันออกของหาดโออาฮู (Oahu) เพื่อสร้างเป็นที่อยู่อาศัยและก่อตั้งชุมชนชาวฮาวาย แต่ราวหนึ่งปีต่อมาทางการฮาวายได้แก้ปัญหาการบุกยึกที่ดินของบัมพ์ปี้ด้วยการมอบพื้นที่ 45 เอเคอร์ บริเวณ Waimānalo โดยแลกกับค่าเช่าปีละ 3,000 ดอลลาร์ห์ ซึ่งในปัจจุบันพวกเขาได้ใช้พื้นที่ดังกล่าวก่อตั้งเป็นชุมชนปกครองตัวเองของชาวฮาวายพื้นเมือง โดยพยายามรักษาวัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิมเอาไว้ เช่น การสักด้วยเครื่องมือแบบโบราณ การร้องเล่นเต้นรำแบบฮาวาย  

อย่างไรก็ตาม ชุมชนดังกล่าวเต็มไปด้วยข้อจำกัดหลายๆ ด้าน เช่น พลังงานไฟฟ้าและน้ำสะอาดที่มีจำนวนจำกัด การแพทย์ที่ยังคงไม่มีประสิทธิภาพ ระบบการศึกษาก็เป็นแบบโฮมสคูลไม่มีหลักสูตรที่แน่นอน นอกจากนี้ สหรัฐฯ ก็ไม่ได้รองรับการมีอยู่ของชุมชนดังกล่าวในทางนิตินัย ดังนั้น ยังเป็นการยากที่ชุมชนดังกล่าวจะยืนหยัดได้ด้วยตัวเองโดยปราศจากการสนับสนุนใดๆ นอกจากนี้ การดึงดูดให้มีผู้มาอาศัยในชุมชนเพิ่มก็เป็นปัญหาเช่นเดียวกัน

อนาคตของฮาวายจะเป็นอย่างไรต่อไป คงไม่มีใครตอบได้ แต่เราต้องไม่ลืมว่าประชากรและดินแดนเป็นทรัพยากรและองค์ประกอบที่สำคัญของรัฐ โดยเฉพาะในพื้นที่อู่ข้าวอู่น้ำและยุทธศาสตร์ทางการทหารอย่างฮาวายซึ่งอยู่กึ่งกลางระหว่างทวีปเอเชียและสหรัฐฯ (โดยเฉพาะเกาหลีเหนือ*) การเรียกร้องอำนาจทางการเมืองในบางมิติอาจเป็นไปได้สำหรับกลุ่มชาตินิยมฮาวาย แต่ข้อเรียกร้องที่สุดโต่งอย่างการเรียกร้องเอกราชหรือ ‘ประเทศฮาวาย’ ย่อมเป็นไปได้ยากในมุมมองของผู้เขียน  

 

หมายเหตุ

*ผู้เขียนเคยพูดคุยกับองค์กรทางทหารสหรัฐฯ ที่เกี่ยวข้องกับการแจ้งเตือนอาวุธนิวเคลียร์ โดยขีปนาวุธจะใช้เวลาเดินทางมาถึงฮาวายใน 30 นาที และเดินทางถึงแผ่นดินใหญ่ของสหรัฐฯ ในอีก 30 นาทีต่อไป กล่าวคือ ระยะทางระหว่าง เกาหลีเหนือ-ฮาวาย-สหรัฐฯ แบ่งเป็นครึ่งต่อครึ่ง

 

อ้างอิง:

https://www.npr.org/2010/12/06/131812500/israel-kamakawiwo-ole-the-voice-of-hawaii

https://medium.com/@cameron.pagador/hawaiian-sovereignty-101-bd267facad5b

https://www.washingtonpost.com/national/native-hawaiians-again-seek-political-sovereignty-with-a-new-constitution/2017/11/05/833842d2-b905-11e7-be94-fabb0f1e9ffb_story.html

http://www.hawaiihistory.org/index.cfm%3Ffuseaction%3Dig.page%26PageID%3D353%26returntoname%3DShort

https://www.voanews.com/usa/native-hawaiians-divided-federal-recognition

https://www.csmonitor.com/USA/Society/2019/0702/Whose-independence-Why-some-Native-Hawaiians-don-t-celebrate-on-July-4

https://www.westhawaiitoday.com/2018/12/04/hawaii-news/my-turn-sovereignty-movement-not-all-or-nothing/

Fact Box

Israel Kamakawiwoʻole (1959-1997) ที่ชาวฮาวายเรียกกันสั้นๆ ว่า โอฮานาอิซ (Ohana - ครอบครัวในภาษาฮาวาย) นอกจากจะเป็นนักร้อง นักแต่งเพลงที่มีเพลงติดหูคนทั่วโลกอย่าง Somewhere Over the Rainbow ที่ประกอบหนังคลาสสิกเรื่อง The Wizard of OZ แล้ว เขายังเป็นนักเคลื่อนไหวชาตินิยมฮาวายอีกด้วย 

ภายหลังที่เขาจากไป ในปี 2003 มีการสร้างรูปปั้นเพื่อรำลึกการจากไปของอิซตั้งอยู่บริเวณชุมชนไวอานี (Waianae) ในเมืองโฮโนลูลู

Tags: , , ,