สัปดาห์ที่แล้ว อิสราเอลเพิ่งประกาศกฎหมายใหม่ที่ระบุว่า “อิสราเอลเป็นรัฐชาติชาวยิว” (nation-state of the Jewish people) นักวิจารณ์มองว่า นี่ถือเป็นความพยายามครั้งล่าสุดของชาวยิวในการรุกล้ำชาติพันธุ์อื่นด้วยการส่งเสริมนโยบายเหยียดเชื้อชาติ
กฎหมาย “รัฐชาติ” ที่ประกาศออกมาเมื่อวันที่ 19 ก.ค.ที่ผ่านมา ยิ่งทำให้พลเมืองชาวปาเลสไตน์กลายเป็นกลุ่มคนชายขอบยิ่งขึ้นไปอีก แต่กฎหมายนี้ก็ไม่มีอะไรใหม่ อดาลาห์ (Adalah) ศูนย์กฎหมายเพื่อสิทธิของชนกลุ่มน้อยชาวอาหรับในอิสราเอลระบุว่า ปัจจุบันมีกฎหมายอิสราเอลมากกว่า 65 ฉบับ ที่มีเนื้อหาเลือกปฏิบัติต่อชาวปาเลสไตน์ในอิสราเอล และในพื้นที่ยึดครองของปาเลสไตน์ กว่าครึ่งเป็นกฎหมายที่ออกตั้งแต่ปี 2000
จากฐานข้อมูลอะดาลาห์แสดงให้เห็นว่า กฎหมายของอิสราเอลที่ย้อนกลับไปตั้งแต่ปี 1939 เลือกปฏิบัติต่อชาวปาเลสไตน์หลายด้าน เช่น
- การจำกัดสิทธิในการครอบครองและเช่าที่ดิน กฎหมายที่ออกในปี 1960 กำหนดเงื่อนไขการเป็นเจ้าของ ‘ที่ดินอิสราเอล’ ซึ่งถูกควบคุมโดยรัฐอิสราเอล กองทุนชาติยิว (JNF) และองค์กรด้านการพัฒนาของรัฐ ว่าสามารถส่งต่อที่ดินได้เฉพาะกับชาวยิวเท่านั้น ซึ่งที่ดิน 93% ในอิสราเอลเป็นของรัฐและสององค์กรนี้ โดย JNF ซึ่งถือครองที่ดินอยู่ 13% ก็เป็นหน่วยงานที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อนโยบายที่ดินของอิสราเอล ทำให้ชาวปาเลสไตน์ถูกกีดกันจากการเช่าและเป็นเจ้าของที่ดิน
- การเพิกถอนสิทธิในทรัพย์สินของตัวเอง ตั้งแต่ 29 พฤศจิกายน 1947 ผู้อพยพชาวปาเลสไตน์ถูกทำให้เป็น “ผู้ที่ไม่อยู่” (absentees) และถูกเพิกถอนสิทธิทั้งหมด ที่ดินของพวกเขา บ้าน อพาร์ตเมนต์ และบัญชีธนาคารถูกรัฐยึดไป ตามกฎหมายกรรมสิทธิในทรัพย์สินของผู้ที่ไม่อยู่ (Absentees’ Property Law)
- การไร้สิทธิในการอยู่อาศัย ขณะที่ชาวปาเลสไตน์มีสถานะเป็นผู้อยู่อาศัย ‘ถาวร’ ในนครเยรูซาเลม แต่การเข้าไปยังพื้นที่อาศัยในนครเยรูซาเลมถือเป็น ‘สิทธิพิเศษที่ถูกเพิกถอนได้’ (revocable privilege) แทนที่จะเป็นสิทธิที่ติดตัว นับแต่ปี 1967 เป็นต้นมา หากชาวปาเลสไตน์คนใดออกจากเยรูซาเลมไปในช่วงเวลาหนึ่ง พวกเขาจะเสียสิทธิในการอยู่อาศัยไปได้ ทางการอ้างว่า เป็นเพราะพวกเขาไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า เยรูซาเลมเป็น “ศูนย์กลางของชีวิต”
นอกจากนี้ ในเดือนมีนาคม 2018 อิสราเอลยังผ่านกฎหมายอีกฉบับที่อนุญาตให้รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยเพิกถอนสิทธิในการอยู่อาศัยในเยรูซาเลมของชาวปาเลสไตน์ได้ หากว่าชาวปาเลสไตน์คนใด “ไม่ภักดี” ต่ออิสราเอล
ยังมีกฎหมายการห้ามการอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวเมื่อปี 2003 เมื่อฝ่ายหนึ่งเป็นพลเมืองอิสราเอล แต่อีกฝ่ายอยู่ในดินแดนปาเลสไตน์ ครอบครัวชาวปาเลสไตน์หลายพันคนได้รับผลกระทบจากกฎหมายนี้ ถูกบังคับให้แยกกันเดินทางไปต่างประเทศ หรืออยู่ในอิสราเอลอย่างหวาดกลัวว่าอาจจะถูกเนรเทศ รัฐสภาอิสราเอลปรับปรุงกฎหมายนี้ให้เป็นกฎหมายถาวรเมื่อมิถุนายนปีที่แล้ว
ขณะที่ชาวยิวเฉลิมฉลองวันประกาศอิสรภาพของอิสราเอล แต่ชาวปาเลสไตน์ถือว่าเป็นวันแห่งหายนะ ที่ทำให้ชาวปาเลสไตน์มากกว่า 700,000 คนต้องอพยพออกนอกพื้นที่เพื่อเปิดทางให้ชาวยิวสร้างชาติอิสราเอล ต่อมา ในปี 2011 อิสราเอลประกาศใช้กฎหมายนักบะห์ (Nakba) ที่อนุญาตให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังลดเงินสนับสนุนสถาบันที่จัดกิจกรรมรำลึกถึงวันแห่งหายนะในวันประกาศอิสรภาพของอิสราเอล “กฎหมายนี้ละเมิดหลักความเสมอภาคและสิทธิของชาวอาหรับในการรักษาประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของตนเอง” อะดาลาห์ระบุ
บรรยายภาพ: Zeinat Abu Rumeileh หญิงชาวปาเลสไตน์ที่ตัดสินใจทุบทำลายบ้านตัวเองทิ้ง หลังแพ้คดีในศาลอิสราเอล ทำให้เธอไม่มีสิทธิ์ในการเป็นเจ้าของบ้านนี้อีกต่อไป การตัดสินใจทุบบ้านนี้ เธอบอกว่ามันดีกว่าที่จะปล่อยให้ชาวอิสราเอลได้ย้ายเข้ามาอยู่ (ภาพเมื่อ 19 กรกฎาคม 2018 โดย REUTERS/Ammar Awad)
ที่มา:
- https://www.aljazeera.com/news/2018/07/ways-israeli-law-discriminates-palestinians-180719120357886.html
- https://www.bbc.com/thai/international-44911565
- https://www.nytimes.com/2018/07/19/world/middleeast/israel-law-jews-arabic.html
- https://www.reuters.com/article/us-israel-palestinians-demolition/palestinians-in-jerusalem-demolish-own-homes-rather-than-see-israelis-move-in-idUSKBN1K922N
Tags: อิสราเอล, ปาเลสไตน์, nation state of the Jewish people, กฎหมายรัฐชาติอิสราเอล, กฎหมายรัฐชาติ