มันเป็นเช้าช่วงวันหยุดยาวปีใหม่ไทยที่ต่างจากปีก่อนๆ เราลืมตาตื่นขึ้นมาไวกว่าเวลาที่ตั้งไว้ด้วยความรู้สึกแปลกที่ อาจเพราะจุดหมายที่เราเลือกไม่ได้ตรงกับใครหลายๆ คน โรงแรมที่พักกับค่ำคืนที่ล่วงเลย ไม่ได้มีเสียงเอะอะมะเทิ่งตามประสาการฉลองเหมือนปีอื่นๆ คิดดูแล้วก็สงบใจดี เสียงติ๊ดๆ ของมือถือที่ตั้งปลุกไว้ทำงาน บิดขี้เกียจยาวๆ สักหนึ่งที ก่อนจะชะโงกหน้าแหงนตามช่องหน้าต่าง ส่องหาพระอาทิตย์ตามประสาคนบ้าแสงเช้า

แต่เห้ย! กลับเจอสิ่งที่ไม่คาดฝัน เผลออุทานออกมาว่า แม่เจ้า ในช่วงเวลาที่ร้อนสุดติ่งของประเทศไทย บนพื้นที่สุดชายขอบแดนใต้ ยังมีหมอกลอยทั่วถนนใจกลางสุไหงโกลก ขยี้ตาอีกที นี่ฉันไม่ได้จองตั๋วมาแอ่วเหนือฉ่ายหม้ายยยย?!

บรรยากาศยามเช้าในตัวเมืองสุไหงโกลก

หลังทำธุระส่วนตัว เราเดินฝ่าไอหมอกที่เริ่มบางเบาไปตามการปรากฎตัวของพระอาทิตย์ เดินมาได้ระยะหนึ่งก็โบกมือถามคนขี่รถมอเตอร์ไซค์พ่วงที่ผ่านมา พี่เขาชี้ทางไปร้านแม่ค้าที่ขายของสำหรับใส่บาตรเช้า ทำบุญเสร็จแล้วเตร็ดเตร่ดูวิถีชีวิตคนทั่วไปของที่นี่่  

ชาวสุไหงโกลกที่พบเห็นส่วนใหญ่มีเชื้อสายไทยจีนมากกว่าชาวมุสลิม แต่ละคนมีท่าทียิ้มแย้มต้อนรับนักเยี่ยมเมืองหน้าใหม่อย่างไม่ขัดเขิน คงเพราะเมืองนี้ครึกครื้นด้วยนักท่องเที่ยวจากมาเลย์มาช้านาน ไม่แปลกใจเลยว่า คิวต่อร้านอาหารเจ้าดังอย่างอ้วนบะกุ๊ดเต๋จะมีนักท่องเที่ยวมาเลย์มากกว่าไทย นี่เป็นการชิมบะกุ๊ดเต๋ครั้งแรกที่เราไม่รู้สึกถึงกลิ่นยาจีนอันฉุนกึก แถมยังเสิร์ฟคู่กับปาท่องโก่ตัวเบิ้มๆ ราดน้ำซุปกับเนื้อหมูเปื่อยนุ่มๆ ลงไปก่อนตักเข้าปาก ฟินสุด แต่ที่ประทับใจจริงๆ กลายเป็นเครื่องดื่มง่ายๆ อย่างชาเย็น รสชาติหวานมันกลมกล่อม ลงตัวอย่างที่แฟนพันธุ์แท้ชาเย็นควรจะได้ลิ้มลองสักครั้งเถอะ

ชาชัก เครื่องดื่มห้ามพลาดเมื่อมาที่นราธิวาส

ผู้หลักผู้ใหญ่แนะตั้งแต่ก่อนออกเดินทางว่า ถ้ามาสุโหงโก-ลกแล้วต้องหาเวลาไปกราบเจ้าแม่โต๊ะโมะให้ได้  ตัวศาลภายในคงบรรยากาศขรึมขลัง มีกลิ่นควันธูปจากแรงศรัทธาอวลตลอดเวลา ก่อสร้างมาตั้งแต่พ.ศ. 2495 ตามตำนานเล่าว่า ช่วงที่ฝรั่งเศสได้สัมปทานเหมืองแร่ทองคำบริสุทธิ์ในอำเภอสุคิริน ก่อนสงครามเอเชียบูรพา หรือสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น ท่านเป็นผู้ชี้ทางสว่างให้แก่พวกขุดทองได้พบแหล่งทอง ร่ำรวยไปกันอักโข

วัดชลธาราสิงเห

40 นาทีที่เราขับรถมุ่งจากสุไหงโก-ลก เข้าสู่อำเภอตากใบด้วยเส้นทางหมายเลข 42  ระหว่างทางมีจุดตรวจของทหารเป็นระยะ เรียกได้ว่ามีมากกว่าเส้นทางขับรถในจังหวัดอื่นๆ อย่างเห็นได้ชัด คิดเสียว่านี่คือแนวตะเข็บชายแดน มีพี่ทหารคอยให้ความคุ้มกันไปตลอดทางก็อุ่นใจดี

ย้อนกลับไปในห้วงประวัติศาสตร์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสเมืองแหลมมลายู ถึง 7 ครั้ง และเมื่อครั้งอังกฤษได้มลายูเป็นเมืองขึ้น จังหวัดนราธิวาสจึงเป็นเป้าหมายที่เกือบถูกยึดครอง แต่ด้วยการอ้างสิทธิ์ถึงวัดชลธาราสิงเหซึ่งเป็นวัดไทยในตำบลเจ๊ะเห อำเภอตากใบ อังกฤษจึงต้องยอมปล่อยพื้นที่นี้ วัดชลธาราสิงเหจึงถูกเชิดชูขึ้นในฐานะ  ‘วัดพิทักษ์แผ่นดินไทย’

โบสถ์วัดชลธาราสิงเห

อารมณ์ขันของชาวเจ๊ะเหถูกถ่ายทอดออกมาจนเรียกว่า เก็บมุขแทบไม่ทัน สืบสาวราวเรื่องได้ความว่า ชาวเจ๊ะเหอพยพจากเมืองจันท์มาตั้งแต่สมัยพ่อขุนรามคำแหง สำนงสำเนียงจึงไปทางนั้นหมด โดยเฉพาะเมื่อต้องลงท้ายคำว่า “หมี” เช่น กินข้าวแล้วหมี (กินข้าวแล้วยัง) และไวกว่าความคิด เหล่าชายหนุ่มจะต้องหยอดมุข “เห็นหมี” (เห็นไหม) เราได้แต่มองบน “ตูว่าแล้ว”

ความน่าสนใจของวัดอยู่ที่ตัวพิพิธภัณฑ์ด้านใน เราโชคดีที่ได้คุยกับ บุญเรือน ไชยรัตน์ เจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์ผู้มีความรู้อย่างเต็มเปี่ยม สิ่งที่จับตาทุกคนตั้งแต่วินาทีแรกที่ก้าวเข้าสู่พิพิธภัณฑ์คือ เครื่องสังเค็ดในงานพระราชทานเพลิงพระบรมศพของรัชกาลที่ 5 ซึ่งรัชกาลที่ 6 ทรงนำมาถวายที่วัดเมื่อครั้งเสด็จประพาสเมืองตากใบ ในพ.ศ. 2458 นอกจากนั้นยังมีข้าวของเครื่องใช้ เช่น จานชามลายดอกไม้จากเนเธอร์แลนด์ ดูทรงคุณค่าเหมือนของที่น่าจะอยู่ตามบ้านของคหบดี แต่ที่จริง จานชามพวกนี้ได้รับการบริจาคจากชาวบ้านนี่แหละ ส่วนใหญ่มีใช้กันตามบ้านในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว เพราะค้าขายกับต่างชาติมาแต่ไหนแต่ไร

ผู้คนในนราธิวาสกับการแต่งตัวที่เป็นเอกลักษณ์

เรือกอและ

จากวัดไปไม่ไกล บุญเรือนแนะนำให้ไปชมพระอาทิตย์ตกที่สะพานคอย 100 ปี ซึ่งพาดผ่านแม่น้ำตากใบ โดยเชื่อมความสัมพันธ์ของชาวเกาะยาวและเมืองตากใบเอาไว้ ทางเข้าเป็นตลาดนัดขายของกิน ควันจากร้านไก่เหลืองปิ้งพาเราพุ่งตัวไปโดยไม่ต้องนัดหมาย ปั้นข้าวเหนียวมองแม่น้ำตากใบ แม่น้ำสายสำคัญด้วยเป็นแหล่งหาปลากุเลาเค็ม อาหารขึ้นชื่อของตากใบซึ่งขายกันกิโลละเกือบสามพัน

ร้านดังในตากใบไล่กันไปตั้งแต่ปลากุเลาร้านป้าแป้น รวมถึงร้านนัดพบยูงทอง ขากินบอกเลยว่า มาแล้วต้องโดน อาหารของร้านรสจัดถึงพริกถึงขิง การันตีว่าทุกเมนูล้วนเอร็ดอร่อย อาทิ ยำปลากุเลา กุ้งต้มกะทิ และแกงเหลือง

เรายังคงใช้เส้นทางหมายเลข 42 เพื่อมุ่งสู่ ต.ละหาร อ.ยี่งอ ของนราธิวาส เพื่อร่วมพิสูจน์ความรุ่มรวยทางอารยธรรมจากหลักฐานด้วยคัมภีร์อัลกุรอานโบราณที่ค้นพบ รวมถึงอัลกุรอานเก่าแก่บางเล่มที่เขียนขึ้นจากแถบนี้ ซึ่งทั้งหมดต้องผ่านการพิสูจน์วิเคราะห์จากสถาบันอัลกุรอานระดับโลก ของประเทศตุรกี ความภาคภูมิใจที่คนไทยทุกคนควรรับรู้คือ เรามีคัมภีร์อัลกุรอานที่สวยที่สุดในโลก โดยรวบรวมไว้ที่พิพิธภัณฑ์มรดกวัฒนธรรมอิสลาม (ศูนย์การเรียนรู้อัล-กุรอานโบราณ) โรงเรียนสมานมิตรวิทยา ต.ละหาร อ.ยี่งอ ซึ่งด้านหน้าทางเข้ากำลังสร้างเป็นพิพิธภัณฑ์ใหม่ ที่จะกลายเป็นแหล่งกรุสมบัติที่ควรค่าแก่การมาเห็นกับตา รวมถึงคัมภีร์อัล-กุรอานโบราณเก่าแก่เป็นอันดับสามของโลก ที่มีอายุมากถึง 1,137 ปี ได้รับการบอกกล่าวโดยมาหะมะลุตฟี หะยีสาแม ผู้บริหารศูนย์การเรียนรู้อัล-กุรอาน โรงเรียนสมานมิตรวิทยา

คัมภีร์อัลกุรอานที่จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์มรดกวัฒนธรรมอิสลาม โรงเรียนสมานมิตรวิทยา ต.ละหาร อ.ยี่งอ

คัมภีร์อัลกุรอานนั้น แบ่งได้ออกเป็น 3 กลุ่ม โดยคัดจากวัสดุที่ใช้ในการบันทึก ถ้าเป็นรุ่นสุดยอดพระคัมภีร์เก่าแก่สุดจะมีอายุราว 600-700 ปีขึ้นไป และส่วนใหญ่ทำจากหนังสัตว์ เช่น หนังแพะ หนังกวาง เป็นต้น รุ่นเก่าแก่รองลงมามากกว่า 300 ปีจะใช้วัสดุเป็นกระดาษสา ส่วนรุ่นใหม่สุดคือมีอายุไม่เกิน 300 ปี เป็นวัสดุทำจากกระดาษนำเข้าของยุโรป

คัมภีร์อัลกุรอานหนังที่ได้รับบริจาคจากผู้ที่ไปแสวงบุญที่นครเมกกะ

ตอนนี้คัมภีร์อัลกุรอานที่เก่าแก่ที่สุดในโลกอยู่ที่หอสมุดประเทศอังกฤษ อันดับสองอยู่ที่ประเทศตุรกี และน่าภูมิใจที่สุดคืออันดับสามอยู่ที่บ้านเรา โดยเจ้าของคัมภีร์คือโต๊ะครู (นักปราชญ์) อิสมาแอ ลูโบ๊ะ ซึ่งเดินทางไปกรุงเมกกะแล้วนำคัมภีร์ดังกล่าวกลับมา ปัจจุบันบรรจุในพิพิธภัณฑ์นี้เรียบร้อยแล้ว ถ้ามีวาสนาครั้งหน้า เมื่อพิพิธภัณฑ์แห่งใหม่สร้างเสร็จ เราคงได้เห็นกับตา

บรรยากาศยามค่ำคืนในสุไหงโกลก

ยังมีพื้นที่ในบ้านของเราอีกมากมายที่ตกสำรวจจากนักเดินทางคนไทยด้วยกัน ขอบคุณตัวเองที่ได้ลองเปิดใจมาเที่ยวจังหวัดตะเข็บชายแดนอย่างนราธิวาสอยู่สามวันเต็ม สิ่งที่ประทับใจนอกจากอาหารอร่อยถูกปากมากแบบกอไก่ล้านตัวแล้ว เรายังสัมผัสได้ถึงความจริงใจและรอยยิ้ม สารที่ชาวนราธิวาสอยากฝากฉันมาบอกต่อทุกๆ คนคือ “อยากให้มาเที่ยวบ้านเรากันเยอะๆ และที่นี่ไม่มีอะไรน่ากลัว” เมื่อรับปากเขามาแล้ว ฉันก็ยินดีทำตาม ไปเที่ยวนราฯ ที่ปาตานีกันเถอะ       

Fact Box

  • อยากเที่ยวอย่างอุ่นใจ
    • เราสามารถแวะเที่ยวชมสถานที่ต่างๆ ในสามจังหวัดชายแดนใต้ได้ปกติในช่วงเวลากลางวัน แต่มีข้อควรระวังในเรื่องการเข้าที่พัก ควรทำก่อนฟ้ามืดหรือพลบค่ำ
  • ไปแล้วต้องชิม
    • อ้วนบะกุ๊ดเต๋ 58 ถนน เทศปฐม อำเภอ สุไหงโก-ลก นราธิวาส โทรศัพท์081-698-9234
    • ร้านอาหารจีนบักมุ้ย 21/12 ซอยภูธร ถนนเจริญเขต (หน้าสมาคมแต้จิ๋ว) สุไหงโกลก นราธิวาส  โทรศัพท์073 -611-129
Tags: , , ,