จังหวัดน่านช่วงปลายฤดูฝน หลังจากฝาเบียร์กระเด็นออกจากขวดเกือบครบโหล และค่ำคืนใกล้จะเดินทางครบรอบวัน วรพจน์ พันธุ์พงศ์ ก็หยิบไฟฉายส่องลงในสมุดบันทึก และอ่านบทกวีของเขาให้เราฟัง
คืนนั้นฟ้าปิด ไม่มีแสงดาวเดือนขับเน้นบรรยากาศ แต่สรรพสำเนียงจากชีวิตในแมกไม้ ผืนดิน และผืนน้ำ ก็ขับคลอล้อไปกับท่วงทำนองของถ้อยคำได้อย่างเหมาะเจาะลงตัว
เสียงของคนและธรรมชาติสูงต่ำกำลังดี ไม่ต้องเงี่ยหูฟัง และไม่อึกทึกวุ่นวาย
คนบอกว่าบทกวีคือความรู้สึก คืออารมณ์ที่ค้นพบความคิด
และความคิดก็ค้นพบถ้อยคำ
บอกว่าบทกวีออกมาจากความสุขอันเป็นที่สุด
หรือมาจากห้วงลึกของความเศร้า
บอกว่าคือความรู้สึกอันแรงกล้า อันผุดเกิดและหลากหลั่งไหลมาจากภายใน*
ก่อนหน้านี้ บทกวีของวรพจน์ปรากฏตัวอยู่เนืองๆ ใน มติชนสุดสัปดาห์ เขานำเสนอจุดยืน ความรู้สึกนึกคิด และความขุ่นข้องหมองใจกับสถานการณ์บ้านเมืองผ่านถ้อยความเหล่านั้น
ผ่านมาหลายปี เมื่อย้ายที่พำนักมายังจังหวัดน่าน บวกรวมกับสถานการณ์บ้านเมืองที่ยิ่ง ‘อยู่นาน’ ก็ยิ่งหมุนวนถดถอย วรพจน์จึงอาสาถากถางป่ารกร้างเพื่อสร้าง ‘สนามกวี’ สำหรับการ “มานั่งเผชิญหน้ากัน มาจับมือกัน มาสัมผัสกัน มาหายใจอยู่ตรงหน้ากัน มาสร้างไดอะล็อกต่อกัน” ตามที่เขาให้สัมภาษณ์กับ The101.world
เย็นวันที่ 17 พฤศจิกายน 2561 หลังจากใช้เวลาเตรียมการเพียงไม่กี่เดือนร่วมกับชโลมใจ ชยพันธนาการ แห่งห้องสมุดบ้านๆ น่านๆ ธง Nan Poésie ก็ถูกเชิญขึ้นสู่ยอดเสา และเทศกาลบทกวีที่น่าน ครั้งที่ 1 ก็ถือกำเนิดอย่างเป็นทางการ
รูปทั้งหมดมาจากความรู้สึกของดิน น้ำ ฟ้า ป่า ขุนเขา
ทั้งหมดชัดเจนในคืนสีขาว กลางหุบเขามืดมิด
ภาพคือเสียงพึมพำ เพราะชีวิตเราอยู่ตรงนี้
ภาพคือเสียงพึมพำ ไออุ่น สีหม่น
บางรู้สึกคือม่านน้ำตา รอยยิ้ม สันโดษ
บางเพื่อนคือลมหายใจ
ภาพบางรู้สึกและบางเพื่อน เป็นเสบียงที่อยู่ในใจ
ผูกเกี่ยว เคลื่อนไหว ให้พลังบนเส้นทางเดินคนเดียว
สูงชัน คดเคี้ยว
เส้นทางคดเคี้ยวสูงชัน กับการเดินคนเดียว
ก็ดูไม่เปลี่ยวร้างๆ จนเกินจะเดิน
เราจะพบกันอีก เราจะรับรู้เรื่องราวลมหายใจอุ่นๆ ไปด้วยกัน
น่านๆ นานๆ
นอกจากบทกวี นิทรรศการภาพเขียนชุด ‘เพราะเธอคือบทกวีของชีวิต’ โดยสุมาลี เอกชนนิยม เป็นอีกส่วนหนึ่งของงานนี้
วรพจน์ชวนสุมาลีมาเขียนรูปที่น่านเมื่อหลายเดือนก่อน จิตรกรหญิงเดินทางไปยังทุ่งนาป่าเขา และถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกของน่านและของเธอผ่านปลายพู่กัน
เธอปิดท้ายคำกล่าวเปิดนิทรรศการด้วยข้อความข้างต้น ซึ่งเชื่อมผสานศิลปะสองแขนงได้อย่างแนบชิดลงตัว
คนบอกว่าบทกวีคือภาษา คือถ้อยคำจำนรรจ์ท่วงทำนอง
คือข้อความดีที่สุดเรียงร้อยกันหมดจดงดงามที่สุด คือคำเปรียบเปรย อุปมาอุปไมย
คือภาษาในจุดสูงสุดของพลัง คือโยนดอกกุหลาบลงจากหน้าผา
และรอคอยเสียงสะท้อนจากก้นเหว คือเสียงหวานของนกไนติงเกล
ซึ่งโดดเดี่ยวในความมืด
ปลอบประโลมความเดียวดายของตัวเอง*
เทศกาลบทกวีที่น่านเปิดรับบทกวีทุกประเภท ทุกหัวข้อ ทุกเนื้อหา ทุกเพศ ทุกวัย ทุกเชื้อชาติ ทุกสัญชาติ ทุกระดับการศึกษา ทุกอุดมคติทางการเมือง รวมทั้งไม่ปิดกั้นผู้ที่อยู่ในระหว่างการดำเนินคดีหรือเคยต้องโทษทุกประเภท ไม่จำกัดความสั้นยาวของบทกวี และจะเคยตีพิมพ์หรือไม่ก็ได้
เงื่อนไขสำคัญเพียงเงื่อนไขเดียว คือ ‘เคารพความเป็นมนุษย์’
เทศกาลบทกวีครั้งนี้จึงเปิดโอกาสให้ผู้คนทุกเพศวัยได้ซึมซับเนื้อหาและอารมณ์ความรู้สึกแบบไร้เส้นแบ่งขีดกั้น
สนามหญ้าผืนเล็ก ต้นไม้น้อยใหญ่รายรอบ แสงเสียงกำลังเหมาะ และท้องฟ้าเปิดโล่ง เกื้อหนุนให้แต่ละคนขบคิดใช้จินตนาการแบบไม่มีขีดจำกัด
รับฟังถ้อยความของกวีไล่เรียงไปทีละคน
และมองหาบทกวีของตัวเราเอง
คนบอกว่าบทกวีคือแรงปรารถนา คือพลังชีวิต
คือความคิดที่หายใจ ถ้อยคำที่เผาไหม้ เชื้อเพลิงที่ขับเคลื่อนชีวิต
คือหนทางของการถ่ายทอดชีวิต คือการเคลื่อนไหวของจิตวิญญาณ
คือรอยประทับที่ตราตรึง*
วิกตอร์ อูโก บอกกล่าว ‘หน้าที่ของกวี’ ไว้ตั้งแต่ปี 1840 ก่อนที่ จิตร ภูมิศักดิ์ จะถ่ายทอดเป็นภาษาไทยในอีกร้อยปีต่อมาว่ากวีคือผู้ถือโคมไฟ “ซึ่งกวัดไกวจ้าอยู่เหนือศีรษะของมวลมนุษย์ทุกกาลสมัย”
ตัวอักษรของกวีนั้นเปรียบดังโคมไฟกวัดไกวผ่านพ้นทุกกาลสมัยจริงหรือ?
ห้วงเวลาเกือบ 200 ปี คงให้คำตอบแล้วว่ามันเป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่
และ ‘Nan Poésie’ ก็น่าจะเป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ว่าตัวอักษรของกวีนั้นมีอายุยืนนานเพียงใด
อรุณวดี อรุณมาศ, สุมาลี เอกชนนิยม, ซะการีย์ยา อมตยา, เรืองรอง รุ่งรัศมี, กฤช เหลือลมัย, วาด รวี, ธิติ อิสรสารถี, วรรณา สุนทรไชย, อรรณพ วันศรี, อรุณรุ่ง สัตย์สวี, วนา วรรลยางกูร, วรพจน์ พันธุ์พงศ์, อนุชา วรรณาสุนทรไชย, เมฆ’ ครึ่งฟ้า, คาล รีอัล, ผการัมย์ งามธันวา, รอนฝัน ตะวันเศร้า, บริพัตร อินปาต๊ะ, จิดาภา, ธาราริน, คิน ออง เอ, Summao Nimmam, Mason Barlow, เก่อลี, ชินรัตน์ สายอุ่นใจ, พลอยไพลิน โพธิเพียรทอง
คือส่วนหนึ่งของผู้ร่วมกวัดไกวโคมไฟในเทศกาลบทกวีที่น่าน ครั้งที่ 1
เราหวังว่าโคมไฟดวงนี้จะสว่างจ้าอย่างมั่นคงในครั้งต่อๆ ไป
และตลอดไป
เพราะบทกวีต้องทวงคืนความเป็นมนุษย์สุดแสนเลี้ยวลดเหลือกำหนด
และมนุษย์ไม่อาจกำหนดเพราะมนุษย์มีบทกวีและบทกวีคือการทรยศ*
หมายเหตุ: *ถ้อยความบางส่วนใน ‘บทกวีคือการทรยศ’ สุนทรพจน์เปิดงานเทศกาลบทกวีที่น่าน ครั้งที่ 1 โดย วาด รวี
ภาพถ่ายโดย: นิชานันท์ นันทศิริศรณ์
Tags: Nan Poésie, เทศกาลอ่านบทกวี, บทกวี, วรพจน์ พันธุ์พงศ์