สำหรับหลายคน วันที่ 1 กุมภาพันธ์อาจเป็นแค่วันแรกของเดือนเดือนหนึ่ง แต่สำหรับชาวพม่านั้นแตกต่างอย่างสิ้นเชิงเพราะในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2022 คือวันครบรอบ 1 ปี การทำรัฐประหารของกองทัพพม่า นำโดยพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย (Min Aung Hlaing) ที่นำรถถังพร้อมกองกำลังอาวุธครบมือบุกเข้ายังทำเนียบรัฐบาล จับตัวประธานาธิบดีเมียนมา อู วิน มยินต์ (U Win Myint) และ อองซานซูจี (Aung San Suu Kyi) ที่ปรึกษาแห่งรัฐ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ…
นับจากวันนั้นเป็นต้นมา ชีวิตของชาวพม่าก็ไม่มีวันเหมือนเดิมได้อีกต่อไป
หลังการทำรัฐประหารประชาชนก็เริ่มเปิดฉากต่อสู้กับรัฐบาลทหารทันที พวกเขาออกมาเดินประท้วงตามท้องถนน ชูป้ายขับไล่เผด็จการ ชูสามนิ้วแสดงจุดยืนที่ยึดมั่นในประชาธิปไตย เคาะหม้อ เคาะกระทะเพื่อขับไล่สิ่งชั่วร้ายตามความเชื่อเดิม บ้างก็นัดหมายกันปิดร้านค้าหรืองดไปทำงานเพื่อทำอารยะขัดขืน ไปจนถึงจับอาวุธต่อสู้กับทหารพม่า ร่วมมือกับชนกลุ่มน้อยติดอาวุธที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ
หลายคนรอดตาย หลายคนถูกทำร้าย หลายคนติดคุก มีไม่น้อยที่เสียชีวิต บางครอบครัวสูญเสียคนที่รักไปจากการต่อต้านเผด็จการทหาร แต่พวกเขาก็ยังคงยืนหยัดต่อไปแม้หนทางที่จะเอาชนะอำนาจรัฐดูจะยากเย็นก็ตามที
ชาวพม่าหลายคนพยายามส่งเสียงไปยังประชาคมโลก บอกเล่าด้วยวิธีการต่างๆ ว่าพวกเขากำลังพบเจอกับอะไรอยู่ บางทีเสียงตอบรับก็มาพร้อมกับความหวังที่ไม่นานก็หายวับไปโดยไม่ทันได้รู้ตัว แต่ทุกคนพยายามส่งเสียงตามความถนัดของตัวเอง
ในวงการบันเทิงพม่าเองก็มีการเคลื่อนไหวมากพอดู นักดนตรีแต่งเพลงเล่าการต่อสู้ของประชาชน นักแสดงเดินขบวนประท้วง ส่วนคนทำหนังหยิบกล้องขึ้นมาถ่ายสถานการณ์จริง นำฟุตเทจจำนวนมากที่ได้มาประกอบร่างเป็นเรื่องราวบอกสู่ชาวโลกว่าพวกเขาจะไม่ยอมแพ้ และเรื่องราวการต่อสู้ของชาวพม่าที่ถูกสร้างเป็นภาพยนตร์สารคดีความยาว 70 นาที ชื่อ Myanmar Diaries โดยภาพยนตร์เรื่องนี้จะเป็นภาพยนตร์ลำดับแรกๆ ที่ได้รับเลือกให้ฉายในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเบอร์ลิน ในหมวด Panorama
Myanmar Diaries ถูกสร้างสรรค์โดยกลุ่มผู้กำกับและคนวงการหนังที่เรียกตัวเองว่า ‘Myanmar Film Collective’ พวกเขาจะไม่ระบุตัวตนอย่างโจ่งแจ้ง เนื่องจากต้องป้องกันการถูกจับกุมจากรัฐบาลทหาร แม้จะหวาดกลัวแต่พวกเขาก็ลงพื้นที่ประท้วงถ่ายทำการต่อสู้ของประชาชนเอาไว้ ลักลอบนำฟุตเทจจำนวนมากที่ถ่ายไว้ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021 ออกมานอกประเทศ
ฟุตเทจทั้งหมดเผยให้เห็นเรื่องราวหลากหลาย เมื่อดูแล้วอาจจะบรรยายสีหน้ากับสิ่งที่เห็นได้ไม่ถูก เพราะมีทั้งมุมตลกร้ายในวันที่ทหารก่อรัฐประหารขับรถถังปิดถนน ตรึงกำลังหลังแนวรั้วลวดหนาม ประชาชนที่ไม่รู้เรื่องรู้ราวกำลังเต้นแอโรบิกยามเช้าอยู่ในบริเวณเดียวกัน ไล่มายังภาพการเดินขบวนประท้วง นักศึกษาบอกลาพ่อแม่เพื่อไปยืนอยู่แนวหน้าของขบวน ภาพประชาชนถูกทหารทรมาน ภาพผู้คนที่ร่วงโรยอยู่ริมถนน ภาพการใช้กองทัพสลายการชุมนุม ภาพการจับกุมคุมขังคนที่เห็นต่างที่เผยให้เห็นไปยังกระบวนการเข้าควบคุมสื่อ บล็อกการสื่อสารทางอินเทอร์เน็ต และเส้นทางการลี้ภัยของนักข่าวชาวพม่าและนักข่าวต่างประเทศ
คอลเลน ฟอง เอฟาดาส (Corinne van Egeraat) ผู้อำนวยการสร้างของ Zindoc ที่ได้ลิขสิทธิ์ของ Myanmar Diaries กล่าวถึงสารคดีนี้ว่า “ตอนนี้พม่าเป็นประเทศที่ถูกลืม ภาพยนตร์เรื่องนี้จะเปิดเผยเรื่องราวของผู้คนที่ตกอยู่ภายใต้ระบอบทหาร ซึ่งเป็นหนึ่งในมุมมองที่ไม่ค่อยพบเห็นจากการรายงานของสื่อมวลชน”
โดยคอลเลน ฟอง เอฟาดาส และหุ้นส่วนที่เป็นผู้กำกับ เคยอาศัยอยู่ในประเทศพม่าในช่วงปี 2013-2017 และเคยทำสารคดีพม่าเรื่อง Burma Storybook มาก่อน จึงไม่พลาดที่จะนำเรื่องราวการต่อสู้กับอำนาจรัฐเผด็จการมาออกฉายให้โลกได้เห็น
ก่อนหน้านี้ชาวต่างชาติได้เห็นสารคดีที่ถ่ายทำในเมียนมาหลายเรื่อง ทั้ง Sad Film ที่ได้ฉายในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเวนิส (Venice Film Festival) เมื่อปีก่อน หรือ Letter to San Zaw Htway บอกเล่าเรื่องราวของนักการเมืองและนักเคลื่อนไหวทางการเมืองพม่า ที่รอดชีวิตจากการซ้อมทรมานและรอดจากการเคยถูกคุมขังในเรือนจำ ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นผลงานของกลุ่มคนทำหนังนิรนาม Myanmar Film Collective จนมาในปีนี้ที่ Myanmar Diaries จะเล่าเรื่องในมุมมองของประชาชนคนธรรมดาที่ลุกขึ้นสู้กับอำนาจ โดยหวังว่าผลงานของพวกเขาจะทำให้คนอื่นๆ เข้าใจในบริบทที่ชาวพม่ากำลังพบเจออยู่ในตอนนี้
อ้างอิง
https://variety.com/2022/film/asia/myanmar-diaries-picked-up-by-autlook-filmsales-1235155645/
Tags: พม่า, ประชาธิปไตย, เผด็จการทหาร, รัฐประหาร, เมียนมา, Screen and Sound, Flims, Myanmer Diaries, ภาพยนตร์, ภาพยนตร์สารคดี, สารคดี