จริงหรือที่ชาวเมียนมาและกลุ่มชาติพันธุ์ยอมรับรัฐประหาร และความนิยมของนางอองซานซูจีตกต่ำลง?
‘สุภัตรา ภูมิประภาส’ นักข่าว นักเขียน และนักแปลหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์พม่าชื่อดังหลายเล่ม อาทิ ‘ใบอนุญาตข่มขืน: บันทึกการทารุณกรรมทางเพศในรัฐฉาน’ ‘ราชันผู้พลัดแผ่นดิน เมื่อพม่าเสียเมือง’ ‘ราชินีศุภยาลัต จากนางกษัตริย์สู่สามัญชน’ ‘จิบพม่า ตามหาจอร์จ ออร์เวลล์’ และเล่มล่าสุด ‘ผ่าพม่า เปิดประวัติศาสตร์ปกปิด’ จะมาไขปมข้อสงสัยเบื้องหลังรัฐประหารเมียนมา ความนิยมของนางซูจี ความรู้สึกของชาวเมียนมาและชนกลุ่มน้อยต่อการยึดอำนาจ รากเหง้ากองทัพเมียนมาในโครงสร้างการเมืองภายใน และความสัมพันธ์เชิงอำนาจของอองซานซูจีกับกองทัพเมียนมาก่อนสิ้นอำนาจรอบใหม่
การก่อรัฐประหารยึดอำนาจอีกครั้งกองทัพเมียนมา ‘พม่า’ ที่คนไทยคุ้นเคยภายใต้การนำของ พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการสูงสุดกองทัพเมียนมา ที่มุ่งลดทอนอำนาจของ ‘อองซานซูจี’ กำลังถูกจับตามองจากประชาคมโลกอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาที่แสดงออกชัดเจนว่าจะใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจตอบโต้อีกครั้ง
ข้อสรุปสำคัญที่ทางกองทัพเมียนมาพยายามสื่อสารก็คือ การทุจริตเลือกตั้งเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2563 เป็นปฐมเหตุของการรัฐประหารทั้งหมด ทั้งที่วันนั้น พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ของอองซานซูจี ชนะเลือกตั้งครองเสียงข้างมาก 920 ที่นั่ง ใน 3 สภา ทั้งสภาผู้แทนราษฎร สภาชนชาติ และสภาภูมิภาคและรัฐ ยัดเยียดสถานะฝ่ายค้านให้แก่พรรคสหสามัคคีและการพัฒนา (ยูเอสดีพี) ของฝ่ายกองทัพที่ได้เสียงในสภาผู้แทนราษฎร 26 ที่นั่ง และสภาชนชาติ 7 ที่นั่ง (ลดลงจากเดิมสภาละ 4 ที่นั่ง)
แต่เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ การรัฐประหารหลังการเลือกตั้งเคยเกิดขึ้นแล้วเมื่อปี 2533 การเลือกตั้งวันที่ 27 พฤษภาคม 2533 หรือเมื่อเกือบ 31 ปีที่แล้ว ก็เคยเกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นเช่นกัน ในวันนั้น พรรคเอ็นแอลดี ได้คะแนนเสียงมากกว่า 59% ได้ที่นั่งมากกว่า 81% แต่อองซานซูจีถูกกักตัวไว้ในบ้าน ทำให้อองซานซูจี กลายเป็นนักโทษที่ถูกคุมขังไว้ในบ้านนานถึง 15 ปี และทำให้กองทัพ ยังคงยึดอำนาจในการปกครองประเทศ ยาวนานจนถึงปี 2558
สุภัตรากล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงของการเมืองภายในเมียนมาในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ และการฝังรากของกองทัพภายใต้โครงสร้างการเมืองเมียนมา ล้วนเกี่ยวกับเหตุผลว่าด้วยอำนาจ ชาตินิยม และความรู้สึกเป็น ‘ผู้สร้างชาติ’ ประกอบเข้าด้วยกัน ทำให้กองทัพมักออกมาทำรัฐประหารเสมอ เมื่อเริ่มสูญเสียอำนาจให้กับพลเรือนในฝ่ายการเมือง
“ทหารพม่าเขารู้สึกว่า เขามีส่วนในการสร้างชาติ ในแง่หนึ่งก็ไม่ผิด เพราะเขาสร้างชาติมาจริงๆ ตั้งแต่ยุคเรียกร้องเอกราช กลุ่มที่เรียกตัวเองว่า กลุ่มสหายสามสิบคน (Thirty Comrades) นำโดย ‘ออง ซาน’ บิดาของนางอองซานซูจี และ ‘นายพลเนวี่น’ ที่ต่อมายึดอำนาจจาก ‘อู้นุ’ นายกรัฐมนตรีคนแรกก็มาจากกองทัพ ขณะเดียวกัน จุดเริ่มต้นก็ชัดเจนว่า กองทัพกู้ชาติพม่าเป็นผู้ปลดแอกจากอังกฤษ ทำให้ทหารพม่าเรียกตัวเองว่าเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างชาติเสมอ”
หลังจากนายพลเนวี่นยึดอำนาจจากอู้นุในปี 2505 เขาก็ครองอำนาจมายาวนาน 26 ปี พร้อมกับยึดกิจการเอกชนและกิจการต่างชาติทั้งหมดเป็นของรัฐ ซ้ำยังเน้นเศรษฐกิจพึ่งตนเอง ลดการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศ จนเกือบจะกลายเป็นการปิดประเทศ ในห้วงเวลาเดียวกัน กองทัพพม่าก็แข็งแกร่งและเติบโตขึ้นเรื่อยๆ
ตัดภาพมาที่การรัฐประหารครั้งล่าสุด มูลเหตุสำคัญนั้น เกิดจากพรรคสหสามัคคีและการพัฒนา (ยูเอสดีพี) ซึ่งมีกองทัพพม่าเป็นผู้หนุนหลังนั้น พ่ายแพ้การเลือกตั้งอย่างหมดรูปในปลายปี 2563 และกลับกลายเป็นพรรคเอ็นแอลดีของอองซานซูจีที่แข็งแกร่งมากขึ้นเรื่อยๆ
แต่แล้วทำไม ทหารถึงเลือกจะ ‘ยึดอำนาจ’ เข้ามาบริหารเอง ทั้งที่ก่อนหน้านี้ กองทัพพม่า เป็นผู้ที่ยอมปล่อยให้อองซานซูจีมีอำนาจ ในสถานะ ‘มุขมนตรีแห่งรัฐ’ บริหารประเทศ และก็เป็นอองซานซูจี ที่ยอมเป็นหนังหน้าไฟ ออกมาแสดงบทบาทต่อเวทีโลก และรับแรงเสียดทานกรณีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮีนจาให้กับทหาร ต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศมาโดยตลอด
“ที่ผ่านมา ถามว่าทำไมเขาถึงยอมให้อำนาจกับซูจี เรื่องนี้จริงๆ แล้วมันได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย (win-win situation) ทำให้นานาชาติเห็นว่าพม่าก็มีประชาธิปไตย นำไปสู่การผ่อนคลายต่างๆ คือจริงๆ กองทัพคิดว่าเดี๋ยวซูจีก็ตายแล้ว วันนี้อายุ 75 ปีแล้ว ขณะเดียวกัน พรรคเอ็นแอลดีก็ไม่มีตัวตายตัวแทน นอกจากนี้ กองทัพก็ยังได้ประโยชน์ทั้งในส่วนของอำนาจทางการทหาร กิจการชายแดน สัมปทาน ทุกอย่างอยู่ในส่วนของทหารหมด แต่พอซูจีพยายามที่จะปฏิรูปการเมืองผลักดันกฎหมายลดบทบาทของกองทัพ ถ่ายโอนอำนาจของทหารไปสู่พลเรือน เช่น หน่วยงานบริหารทั่วไป หรือ GAD ภายในกระทรวงกิจการภายใน ซึ่งตรงนี้ทหารไม่ยอม เพราะทหารถือว่ามีความสำคัญ หากรอต่อไป ทหารก็จะสูญเสียอำนาจให้กับอองซานซูจีมากขึ้น”
นักเขียนผู้เชี่ยวชาญเรื่องพม่ารายนี้ ยังอธิบายอีกว่า ผลเลือกตั้งล่าสุดสะท้อนความนิยมต่อพรรคเอ็นแอลดี และต่ออองซานซูจีชัดเจน เพราะฉะนั้น การยึดอำนาจครั้งนี้ในสายตาของชาวเมียนมาทั่วไปและชนกลุ่มน้อยทุกชาติพันธุ์ จึงไม่มีความชอบธรรมใดๆ
“ถึงแม้ในประเทศเมียนมาจะมีกลุ่มสนับสนุนกองทัพอยู่บ้าง แต่คะแนนเลือกตั้งที่ผ่านมาที่พรรคเอ็นแอลดีชนะขาด คือเสียงสะท้อนความจริงทั้งหมด
“การเลือกตั้งที่ผ่านมา คะแนนนิยมต่อนางซูจีและพรรคเอ็นแอลดียังมีสูงมาก ซึ่งความหมายอีกนัยหนึ่งก็คือ เมื่อชาวพม่าอยู่กับรัฐบาลทหารมานานมากๆ เขามีประสบการณ์ที่ไม่ดี ถามว่าภายใต้รัฐบาลทหารประเทศพัฒนาขึ้นไหม ตรงนี้คือคำตอบว่าชาวเมียนมารู้สึกอย่างไรต่อการยึดอำนาจ”
สิ่งที่เห็นได้ชัดคือปฏิกิริยาล่าสุดจากชนกลุ่มน้อยในเมียนมา ที่หลายกลุ่มออกแถลงการณ์ประณามการยึดอำนาจโดยกองทัพ เช่น สภากอบกู้รัฐฉาน องค์กรชาติพันธุ์ติดอาวุธ และสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (เคเอ็นยู) ระบุว่าการยึดอำนาจรัฐของกองทัพเป็นการขัดขวางกระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยอย่างร้ายแรง และไม่ได้แสดงถึงความจริงจังต่อหลักการในการแก้ปัญหาทางการเมืองด้วยวิถีทางทางการเมือง
“ชนกลุ่มน้อยพม่าไม่ว่าชาติพันธุ์ไหน ก็ไม่มีใครชอบกองทัพพม่า แม้ว่าคนนอกจะรู้สึกไม่พอใจอองซานซูจี เรื่องการใช้นโยบายกวาดล้างโรฮีนจา แต่สุดท้าย คนถืออาวุธก็คือกองทัพ ขณะเดียวกันชนกลุ่มน้อยอื่นๆ ต่างก็มีประวัติศาสตร์ต่อสู้กับรัฐบาลทหารพม่า อย่างตอนเนวี่นครองอำนาจ ก็มีการสู้รบที่หนักขึ้น
“อย่างเรื่อง ‘ใบอนุญาตข่มขืน’ ก็เป็นบาดแผลความเจ็บช้ำไม่ใช่แค่โรฮีนจาเท่านั้น ชาติพันธุ์อื่นก็โดนเช่นกัน คะฉิ่น ไทใหญ่ก็ยิงกันหนัก แต่พอมีการเลือกตั้ง ซูจีกลับเข้าสภา ก็เกิดเป็นพื้นที่เจรจาเรื่องสัญญาหยุดยิง ที่มีมาแต่สมัยรัฐบาลเต็งเส่งแล้ว แม้คนมองว่าซูจีเข้ามาแล้ว จะมีนโยบายประนีประนอมกับกองทัพ แต่ก็อย่าลืมว่า มีการพูดคุยกันมาตลอดกับกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งสุดท้าย พอเกิดการยึดอำนาจ ทุกอย่างก็ชะงักหมด สัญญาต่างๆ จบลงไปด้วย ไม่มีอนาคตเลย”
ถึงตอนนี้ผู้แปลหนังสือ ‘ผ่าพม่า เปิดประวัติศาสตร์ปกปิด’ ก็ยังมองไม่ออกว่าการต่อต้านของประชาชนชาวเมียนมาต่อรัฐประหารครั้งนี้จะเดินไปสู่จุดไหน เพราะชาวเมียนมาเคยมีประสบการณ์ถูกกวาดล้างอย่างรุนแรงมาแล้วหลายครั้งโดยเฉพาะ ‘เหตุการณ์ 8888’ หรือการเรียกร้องประชาธิปไตยเมื่อปี 1988 (พ.ศ. 2531)
“ตอนนี้เขาก็เคาะหม้อ เคาะกะละมังต่อต้านกันอยู่ นักแสดง หน่วยแพทย์-พยาบาลก็แสดงออกต่อต้านอำนาจรัฐประหารกันอย่างกว้างขวาง แต่ก็ยากเหมือนกันที่จะลงถนน พรรคเอ็นแอลดีเองก็อยากให้ใช้สันติวิธี ใช้ช่องทางโซเชียลมีเดียเหมือนกับไทย แต่สุดท้าย สิ่งที่เห็นได้ชัดก็คือข้อมูลข่าวสารต่างๆ นั้นปิดกั้นยาก ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไป แต่อย่าลืมว่าปี 1988 หมอพยาบาลออกมาก็โดนยิง ถ้าลงถนนทหารก็ไม่ปรานีหรอก นี่คือพม่า” สุภัตรากล่าวทิ้งท้าย
Tags: Report, พม่า, รัฐบาลทหาร, รัฐบาลพม่า, รัฐประหาร