ค่ำคืนหนึ่งบนเพนเฮาส์ในกรุงเทพมหานคร ณ สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (The Foreign Correspondents’ Club of Thailand : FCCT) ถัดจากบาร์สไตล์ย้อนยุคที่เปิดต้อนรับอยู่ด้านหน้าของพื้นที่ บริเวณด้านในถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นห้องครัวของบ้านคุณยาย ซึ่งหลานสาวและแฟนหนุ่มกำลังเตรียมทำขนมฉลองเนื่องในวันเกิดของคุณยายของเธอ เรื่องราวยุ่งๆ ของงานเซอร์ไพรส์ซ้อนเซอร์ไพรส์ในละครเวที My Mother’s Kitchen กำลังจะเกิดขึ้นที่นั่น
ละครเรื่องนี้สร้างขึ้นเพื่อฉลองครบรอบ 500 ปี สนธิสัญญาทางการค้าและความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับโปรตุเกส โดยทีม NUNi Productions เป็นการร่วมงานกันระหว่างผู้เขียนบท จตุรชัย ศรีจันทร์วันเพ็ญ และกำกับโดย ภัทรสุดา อนุมานราชธน จัดแสดงรอบปฐมทัศน์ครั้งแรกที่สถานทูตโปรตุเกสประจำประเทศไทยเมื่อธันวาคมปี 2018 และจัดแสดงอย่างเป็นทางการอีก 2 ครั้งที่โรงละครเคแบงก์สยามพิฆเนศเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ และที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยม จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา และครั้งนี้ My Mother’s Kitchen ได้กลับมารีสเตจอีกครั้งที่ FCCT เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2019 เพียงหนึ่งรอบพิเศษเท่านั้น
ผู้เขียนเองมีโอกาสได้ดูละครเรื่องนี้ 3 ครั้งในสถานที่ที่ต่างกัน ทุกครั้งบทละครจะถูกเพิ่มเติมรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เพื่อไฮไลต์บางประเด็นให้ชัดขึ้น ในแง่ของการกำกับก็มีการปรับเปลี่ยนลักษณะบางอย่างของตัวละครทำให้บรรยากาศและเคมีของครอบครัวนี้เปลี่ยนไปเสมอทุกครั้งที่ได้ดู เรื่องราวในละครเกิดขึ้นในบ้านของ ‘คุณยายมน’ โดย ‘โอ๋’ หลานสาวได้ขอยืมสูตรทำขนมทองหยิบของคุณยายมาให้ ‘อังเดร’ แฟนหนุ่มฝรั่งแอบทำในครัวเพื่อเป็นการเซอร์ไพรส์วันเกิดคุณยายและเป็นการเปิดตัวอังเดรครั้งแรกให้คุณยายประทับใจ โดยมี ‘ดา’ แม่ของโอ๋มาคอยดูอยู่ห่างๆ แต่ในงานวันเกิดของยายมนกลับมีเรื่องเซอร์ไพรส์เกิดขึ้นอีกมากมายทั้งที่ตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจ กลายเป็นเรื่องราววุ่นวายทั้งเรื่องความแตกต่างของวัฒนธรรมไทยกับฝรั่ง และช่องว่างระหว่างวัยของผู้หญิงในครอบครัวนี้
งานชิ้นนี้พูดถึงมุมมองของคนแต่ละรุ่นที่มีต่อ ‘วัฒนธรรม’ ในสังคมร่วมสมัยได้อย่างน่าสนใจ เริ่มตั้งแต่ความเข้าใจผิดพื้นฐานอย่าง ‘ขนมทองหยิบ’ ที่อังเดรพยายามจะทำเพื่อสร้างความประทับใจให้ยายมนซึ่งเป็นคนไทย โดยไม่รู้เลยว่าทองหยิบเป็นขนมที่ได้รับอิทธิพลมาจากโปรตุเกสไม่ใช่ขนมไทยแท้ด้วยซ้ำ ตัวละครแต่ละตัวก็ล้วนแสดงให้เห็นถึงการปะทะกันระหว่างความคิดหรือค่านิยมเก่าๆ กับความคิดแบบร่วมสมัย
เช่นยายมน คนรุ่นเก่าที่รักษาสูตรขนมและมีความคิดว่าห้องครัวเป็นพื้นที่ของผู้หญิง แต่ก็ชอบอ่านความรู้ใหม่ๆ ในอินเทอร์เน็ต พูดอังกฤษเก่งแถมยังสนใจความคิดเรื่องความเป็นพลเมืองโลก ขณะที่ ดา แม่ของโอ๋ยังมองว่าการที่ลูกสาวตัวเองจะแต่งงานกับฝรั่งเป็นเรื่องไม่ควรเพราะกลัวว่าคนอื่นจะมองว่าลูกตัวเองเป็นเมียเช่า ในขณะที่ตัวเองก็คุยกับผู้ชายหลายคนในเวลาเดียวกันหลังจากการหย่าไม่นาน หรือโอ๋ที่เป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่กล้าคิดกล้าพูด แต่ก็ยังมีความเกรงใจและยำเกรงต่อคุณยายและต้องการคำอนุญาตจากผู้หลักผู้ใหญ่ในการตัดสินใจแต่งงาน
ตัวเรื่องและตัวละครทำให้เห็นประเด็นที่ว่า ‘วัฒนธรรม’ นั้นมีความหลากหลายมากๆ ตัวเราเพียงคนเดียวยังประกอบไปด้วยวิธีคิดที่เกิดจากวัฒนธรรมที่หลากหลายไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือคนต่างชาติ ความพยายามจะเข้าใจวัฒนธรรมไทยของอังเดรผ่านการสร้างความประทับใจให้คุณยาย จึงเป็นเหมือนตัวแทนที่พาผู้ชม (ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ) เข้าไปสำรวจวัฒนธรรมและวิธีคิดที่ฝังอยู่ในตัวของเราเอง
ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในเรื่องเกิดจากความคิดของแต่ละคนที่มีต่อค่านิยมและวัฒนธรรมเหล่านั้น ปัญหามันเกิดขึ้นเมื่อเราคิดไปเองว่าค่านิยมและวัฒนธรรมนั้นๆ “ควรเป็นแบบไหน” อย่างเช่นบรรยากาศบนโต๊ะทานข้าวที่ทุกคนต้องรอให้ยายมนนั่งก่อนทุกคนถึงจะนั่งตาม ทั้งอาการเกร็งและการแย่งกันปรนนิบัติคุณยายสะท้อนวิธีคิดของไทยเรื่องระบบอาวุโส หรือเรื่องที่ใหญ่กว่านั้นคือช่วงที่โอ๋ทะเลาะกับแม่อย่างรุนแรงเพราะแม่ไม่เห็นด้วยเรื่องที่โอ๋จะแต่งงานกับอังเดรที่เป็นชาวต่างชาติ ทั้งๆ ที่ชีวิตคู่ของตัวเองที่แต่งงานกับคนไทยก็ล้มเหลวไม่ต่างกัน
ฉากหนึ่งที่ผู้เขียนชอบมากๆ คือฉากที่แม่ของโอ๋เล่าเรื่องความฝันให้ยายมนฟัง เธอฝันว่าเธอฆ่าลูกของตัวเองด้วยการปล่อยให้แก่ตายอยู่ในห้อง สิ่งนี้สะท้อนวิธีคิดเรื่องความคาดหวังของผู้ปกครองที่มีต่อลูกๆ ในสังคมไทยได้ชัดเจนและ แม่ของโอ๋ยังบอกอีกว่ายายมนก็เคยพูดว่าเธอสมัยเด็กๆ ว่า ‘ปีกกล้าขาแข็ง’ ส่วนยายมนก็บอกว่าทั้งโอ๋และดาโชคดีที่ได้เลือกคู่ครองของตัวเอง เป็นฉากที่พูดเรื่องวัฒนธรรมและมุมมองเกี่ยวกับชีวิตคู่ที่ส่งผลต่อความรู้สึกอย่างรุนแรงมากๆ
ประเด็นสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือการนำเสนอเรื่องประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมผ่านการเปรียบเทียบกับสูตรขนมทองหยิบ สูตรขนมที่สืบทอดมาในตระกูลของยายมนจากรุ่นสู่รุ่นเป็นสิ่งทุกคนในเรื่องให้ความสำคัญและพยายามจะรักษามันไว้และทำขนมให้ได้ตามสูตรเป๊ะๆ ไม่ต่างจากวิธีการที่ผู้คนพยายามทำกับวัฒนธรรมเก่าแก่ ตัวละครในเรื่องจึงเดือดร้อนเอามากๆ เมื่อสูตรนั้นถูกทำลายลงด้วยอุบัติเหตุ แถมอังเดรยังทำขนมผิดไปจากสูตรอีก แต่สุดท้ายเราก็รู้ว่าขนมทองหยิบไม่ใช่ของคนไทย และคนที่นำมาเผยแพร่ก็ไม่ใช่คนโปรตุเกสแท้ๆ แต่เป็นลูกครึ่งที่มีเชื้อญี่ปุ่น-เบงกอลอีก หนำซ้ำสูตรขนมทองหยิบของยายมนก็ไม่ใช่สูตรดั้งเดิมที่เหมือนกับต้นฉบับ แต่ถูกดัดแปลง ปรับเปลี่ยน และพัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ อีกต่างหาก
ประเด็นของละครเรื่องนี้จึงเป็นการพยายามบอกว่าวัฒนธรรมนั้นเป็นสิ่งที่สามารถสืบทอดและเปลี่ยนแปลงได้เช่นเดียวกับสูตรขนม อย่างที่สุดท้ายยายมนก็ชวนอังเดรเขียนสูตรทองหยิบเล่มใหม่ด้วยกัน นี่จึงนับเป็นงานที่พูดถึงวัฒนธรรมและความสัมพันธ์ระหว่างคนไทยและชาวต่างชาติได้อย่างเป็นธรรมชาติและเรียบง่าย จากห้องครัวเล็กๆ ของครอบครัวหนึ่งไปสู่ภาพรวมของรอยต่อ/การปะทะ/ความลื่นไหลในวัฒนธรรมไทยร่วมสมัย
ในอนาคตละครเรื่อง My Mother’s Kitchen อาจจะได้กลับมาแสดงอีกครั้งก็เป็นได้ และผู้เขียนก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะมีคนที่ติดตามรอดู
ขอบคุณภาพจาก โจนาธาน เฮด, BBC
Fact Box
ติดตามข่าวสารของละครเรื่องนี้และเรื่องต่อๆ ไปของทีมได้ทาง https://www.facebook.com/nuniproductions/