“สารคดีเกี่ยวกับวงพังก์ในพม่าหรือ — เฮ้ย! อยากดู”
มิตรสหายหลายท่านตอบรับเช่นนี้เวลาผมเล่าถึง My Buddha Is Punk หนังสารคดีความยาว 68 นาทีของผู้กำกับฯ ชาวเยอรมัน อันเดรียส ฮาร์ตมันน์ (Andreas Hartmann) ซึ่งเรียกเสียงฮือฮาจากผู้ชมในเทศกาลหนังมาแล้วทั่วโลก
การที่หนังสร้างความสนใจได้มากขนาดนี้ อาจเป็นเพราะเรื่องราวของวงพังก์ในพม่าฟังดูแปลกใหม่ ไม่ค่อยปรากฏให้เห็นในสื่อ
อันที่จริง ไม่ใช่แค่เรื่องวงพังก์ แต่มีอีกหลายเรื่องที่เรายังไม่รู้เกี่ยวกับพม่า หรือรู้ไม่มากเท่าที่ควร ทั้งที่พม่าเป็นประเทศเพื่อนบ้านของไทยที่มีความเกี่ยวพันกันทางประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจ และสังคมมายาวนาน หนังเรื่องนี้จึงเป็นโอกาสอันดีสำหรับผู้ที่ต้องการทำความรู้จักพม่าให้มากขึ้น
ปัจจุบัน พม่าอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากระบอบเผด็จการทหารที่ปกครองประเทศมานานกว่า 50 ปี มาเป็นประชาธิปไตย (ที่ยังไม่เต็มใบสักเท่าไร) อีกทั้งยังมีปัญหามากมายที่รอการแก้ไข เช่น ชนกลุ่มน้อย ความขัดแย้งระหว่างศาสนา การละเมิดสิทธิมนุษยชน และการเมืองที่ยังไม่นิ่ง
ในสังคมพม่าซึ่งเต็มไปด้วยความเปลี่ยนแปลง มีวัฒนธรรมย่อย (subculture) เกิดขึ้นมากมาย หนึ่งในนั้นคือวงดนตรีพังก์ ซึ่งความน่าสนใจของ My Buddha Is Punk อยู่ที่หนังไม่ได้เสนอภาพของวงดนตรีพังก์หรือแม้แต่สังคมพม่าในภาพรวม แต่เลือกถ่ายทอดผ่านมุมมองของคนคนหนึ่ง นั่นก็คือจ่อว์จ่อว์ (Kyaw Kyaw) วัยรุ่นพม่าวัย 20 กลางๆ ผู้เป็นฟรอนต์แมนมือกีตาร์นักแต่งเพลงประจำวง The Rebel Riot
หนังฉายให้เห็นชีวิตในแต่ละวันของจ่อว์จ่อว์ ทั้งการทำวงดนตรีพังก์ร่วมกับเพื่อนอีกสองคนอย่างซาร์นิ (Zarni) มือเบส และโอการ์ (Oakar) มือกลอง การซ้อมดนตรี การแต่งเพลง การเล่นคอนเสิร์ตในย่างกุ้งและเมืองอื่นๆ การขายเสื้อผ้าเครื่องประดับแนวพังก์ในร้านริมถนน การเขียนหนังสือ การเข้าวัด การร่วมชุมนุมทางการเมือง การทำกิจกรรมกับพังก์วงอื่นๆ ซึ่งรวมตัวกันในนาม Common Street รวมถึงการพูดคุยและให้คำปรึกษาแก่วงพังก์น้องใหม่ ด้วยต้องการเผยแพร่แนวดนตรีและแนวคิดแบบพังก์ออกไปให้ได้มากที่สุด
นอกจากนั้น หนังยังพาไปสำรวจความคิดของจ่อว์จ่อว์ ทั้งเรื่องการเชิดชูสันติภาพและสิทธิมนุษยชน การตั้งคำถามกับผู้มีอำนาจอย่างทหาร-ตำรวจ การตั้งคำถามเรื่องบ้านเมืองที่ไม่พัฒนา การศึกษาที่ไร้ประสิทธิภาพ ค่าแรงที่ถูกกดขี่ โดยหนังแสดงให้ผู้ชมรับรู้ความคิดของเขาผ่าน 1) การบอกเล่าจากตัวเขาเองต่อหน้ากล้อง 2) บทสนทนาระหว่างเขากับเพื่อนๆ ในวงและในกลุ่ม Common Street และ 3) บทเพลงของเขา โดยเนื้อเพลงของเขาเขียนมักสะท้อนถึงปัญหาสังคมของพม่า
ตามประวัติศาสตร์ของพังก์ในประเทศต่างๆ จะพบว่าพังก์มักจะมาพร้อมกับการต่อต้านรัฐและสถาบันหลักต่างๆ (รวมถึงเพลงกระแสหลัก) จึงไม่น่าแปลกใจที่ในพม่าซึ่งอยู่ภายใต้รัฐบาลเผด็จการมานาน จะเกิดวงดนตรีพังก์ขึ้นมากมาย
ในสายตาของจ่อว์จ่อว์ พังก์ไม่ใช่แค่แนวดนตรี แต่มันยังเป็น ways of being หรือวิถีชีวิต รวมถึงการมีแนวคิดที่ปฏิเสธอำนาจครอบงำ สถาบันหลัก และเผด็จการ ในแวดวงพังก์ ทุกคนเท่าเทียมกัน ไม่มีใครเป็นเจ้าพ่อ เจ้านาย หรือราชา
การใช้ชีวิตแบบพังก์ไม่ใช่เรื่องง่าย ชนชั้นล่างปากกัดตีนถีบอย่างจ่อว์จ่อว์ต้องพบเจอกับการที่คนรอบตัวมองว่าใช้ชีวิตไม่เป็นชิ้นเป็นอัน รวมทั้งสายตาหวาดเกรงและไม่ไว้ใจ ด้วยเครื่องแต่งกายกับทรงผมที่แปลกประหลาด มีรอยสักและรอยเจาะเต็มตัว อีกทั้งยังถูกมองว่าใช้ยาเสพติดและดื่มเหล้า
แต่จ่อว์จ่อว์ก็ยังมั่นคงในวิถีพังก์ และอยากเห็นพังก์เติบโตในพม่า โดยเราจะเห็นว่าเขาให้คำแนะนำกับวงพังก์หน้าใหม่เกี่ยวกับหัวใจของพังก์ สิ่งที่ควรยึดถือ และสิ่งที่พวกเขากำลังจะพบเจอ หากยังต้องการเดินบนเส้นทางนี้ต่อไป
ความน่าสนใจอีกอย่างของหนังอยู่ที่เรื่องศาสนา ในหนัง เราจะเห็นอิทธิพลของศาสนาพุทธที่มีอยู่มากในพม่า จ่อว์จ่อว์เองก็เป็นชาวพุทธที่เข้าวัดและศึกษาหลักธรรมของพระพุทธเจ้าอยู่เสมอ แต่เราก็จะเห็นว่าเขาตั้งคำถามกับศาสนาเช่นกัน เขาไม่เห็นด้วยกับการที่ศาสนากลายมาเป็นเครื่องมือในการฆ่าหรือทำร้ายผู้อื่น ดังเช่นกรณีที่ชาวพุทธชาตินิยมสุดโต่งมีส่วนร่วมกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวมุสลิมโรฮิงญาในรัฐยะไข่ ซึ่งทำให้เขาต้องถกเถียงกับเพื่อนพังก์ที่มองว่าศาสนาพุทธอ่อนแอและต้องต่อสู้ ไม่เช่นนั้นอาจถูกศาสนาอื่นรุกราน
แม้พังก์กับพุทธจะดูเป็นเรื่องต่างขั้ว (เนื่องจากพังก์มีแนวคิดต่อต้านสถาบันใหญ่) แต่จ่อว์จ่อว์ซึ่งพยายามจะเป็นทั้งชาวพุทธและชาวพังก์ที่ดีกลับเห็นความเหมือนระหว่างสองสิ่งนี้ เนื่องจากทั้งพังก์และพุทธมีแนวคิดเกี่ยวกับอิสรภาพและการพึ่งพาตนเอง อีกทั้งการบรรลุหลักธรรมของศาสนาและการยึดมั่นในหลักการของพังก์นั้นอยู่ที่การฝึกฝนตนเองอย่างอดทน ซึ่งทำมองได้ว่าสองสิ่งนี้อาจไม่ได้อยู่กันคนละขั้วอย่างที่หลายคนคิดก็ได้
หนังอ้างอิงถึงผู้นำพม่าอย่างออง ซาน ซูจี ตอนที่จ่อว์จ่อว์อ่านข่าว (ในปี 2012) ว่าซูจีร้องขอให้วลาดีมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ปล่อยตัววงพังก์ต่อต้านรัฐอย่าง Pussy Riot ที่ถูกจับกุม ซึ่งนำมาสู่ความสงสัยของจ่อว์จ่อว์ว่าซูจีจะคิดเห็นอย่างไรกับวงพังก์ในพม่า เธอจะสนับสนุนพวกเขาหรือเปล่า (แต่ตอนนี้จ่อว์จ่อว์น่าจะผิดหวังกับซูจีเรื่องการเพิกเฉยต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับชาวโรฮิงญาไปเรียบร้อยแล้ว)
แม้จะได้ชื่อว่าเป็นสารคดี (แถมผู้กำกับฯ เป็นชาวเยอรมัน) แต่หนังเรื่องนี้ก็ไม่ได้หนักหนืดอย่างที่หลายคนคาดคิดผู้กำกับฯ ฮาร์ตมันน์ทำหนังออกมาได้ลื่นไหลดูสนุก โปรดักชั่นของหนังก็ออกมาสวยงามดูดี อีกทั้งการคลุกคลีอยู่กับวง The Rebel Riot เป็นเวลานาน ทำให้พวกเขาดูเป็นธรรมชาติต่อหน้ากล้อง กล้าเปิดเผยชีวิตและมุมมองส่วนตัวในหลายฉาก ส่งผลให้เป็นหนังที่ไม่ควรพลาดสำหรับทุกคน ไม่ว่าคุณจะเป็นสาวกพังก์หรือไม่ก็ตาม
ภาพประกอบเอื้อเฟื้อจากอันเดรียส ฮาร์ตมันน์
Photo: Courtesy of Andreas Hartmann
FACT BOX:
ภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่เคยลงโรงอย่างเป็นทางการในไทย แต่เคยฉายใน Bangkok Underground Film Festival 2017 และกำลังจะเข้าฉายที่เชียงใหม่วันที่ 22 กรกฎาคม ในงาน My Buddha is Punk Movie & Party ที่ Book Re:public
ติดตามการเดินทางของภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ที่นี่
Tags: Common Street, พม่า, My Buddha Is Punk, อันเดรียส ฮาร์ตมันน์, The Rebel Riot, จ่อว์จ่อว์, พังก์, Andreas Hartmann, Kyaw Kyaw