‘บ้าน’ ทุกหลัง ย่อมเคยมี ‘เจ้าของ’ และความทรงจำที่จารึกวันเวลาของพวกเขาเอาไว้ในแผ่นพื้นจรดมุงหลังคา ความทรงจำเหล่านั้นบางครั้งทรงคุณค่ามากขนาดที่บ้านของใครคนหนึ่ง ในวันหนึ่งจะกลายเป็น ‘พิพิธภัณฑ์บ้าน’ ที่เปิดให้สาธารณะชนเข้าเยี่ยมชมความทรงจำเหล่านั้น

ในประเทศไทยเราเองมี พิพิธภัณฑ์บ้าน ในนิยามนี้มากกว่า 80 แห่ง (จากพิพิธภัณฑ์ที่

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรสำรวจไว้ 1,477 แห่งทั่วประเทศ) ล่าสุดเราได้มีโอกาสทำความรู้จักเรื่องราว และกลไกการเปลี่ยนผ่านของสถานที่เหล่านี้ ในหนังสือ พิพิธภัณฑ์บ้าน คุณค่าและความหลากหลาย เรียบเรียงโดยชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ และปณิตา สระวาสี โดยชีวสิทธิ์บอกเล่าว่า ในเบื้องต้น เขาวางข้อสันนิษฐานไว้ว่า พิพิธภัณฑ์บ้าน ส่วนมากน่าจะมีพื้นเพที่เหมือนๆ กัน แต่ในความเป็นจริงนั้นเขาได้พบกับความแตกต่างกันไปในแต่ละเคสอย่างน่าสนใจ

โดยปกติแล้วทางศูนย์มานุษยวิทยาจะแบ่งประเภทพิพิธภัณฑ์บ้านไว้ตามอาชีพของเจ้าของเรือน มี 6 ประเภทด้วยกัน ได้แก่ 1. พระราชวัง หรือ วังเจ้านาย 2. บ้านขุนนาง หรือ ข้าราชการ 3. บ้านพ่อค้า หรือ คหบดี  4. บ้านศิลปินแขนงต่างๆ 5.บ้านแพทย์ หรือ หมอยา และสุดท้าย 6. กุฎิพระสงฆ์ อย่างไรก็ดี หลังจากที่ได้ทำการสำรวจแล้ว เขามองเห็นอีกชุดคำอธิบายนิยามของพิพิธภัณฑ์บ้านในประเทศไทย นั่นคือ การมองด้วยกระบวนการภัณฑารักษ์ (curatorial process)

หมายถึงว่า ในขั้นตอนการแปรเรือนเหล่านี้ให้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ ย่อมมีการ คัดเลือก ว่าจะ อนุรักษ์ส่วนไหน จะจัดแสดง (หรือไม่จัดแสดง) อะไรบ้าง? บ้านหลังนี้เมื่อไม่ได้มีการใช้สอยแบบเดิมแล้ว มันจะต้องมีคุณค่าหรือความหมายแก่ผู้เข้าชมในปัจจุบันอย่างไร?

ดังนั้นเขาจึงเลือกที่จะจัดหมวดหมู่ใหม่ เป็น 3 ประเภทด้วยกัน

อันดับแรกคือ ‘เรือนเล่าประวัติ’  สถานที่เหล่านี้พยายามฉายให้เห็นชีวิตชีวาของคนคนหนึ่ง โดยเรือนมักจะถูกจัดสรรในลักษณะใกล้เคียงสิ่งที่เคยเป็น โดยคุณชีวสิทธิ์ยกตัวอย่าง ร้าน ‘บำรุงชาติสาสนายาไทย’ หรือ ‘บ้านหมอหวาน’ ตั้งอยู่ในตรอกถนนบำรุงเมือง ย่านเสาชิงช้า จังหวัดกรุงเทพฯ เป็นเรือนทรงโคโลเนียลที่ถูกสร้างขึ้นในปลายสมัยรัชกาลที่ 6 สำหรับพักอาศัย และ ประกอบธุรกิจขายยา โดยหมอหวาน รอดม่วง คือแพทย์แผนโบราณ ผู้เป็นเจ้าของตำรับยาที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ เช่นน้ำมันทาเส้น ขี้ผึ้งทาเส้น ยาลม ยาหอม ที่ปรุงขึ้นจากสมุนไพรไทย

จนเก้าสิบกว่าปีผ่านมา บ้านหลังนี้ตกทอดมาสู่ทายาทรุ่นที่สี่ คือ ภาสินี ญาโณทัย ผู้ตัดสินใจพยายามกู้กิตติศัพท์ของยาหมอหวานขึ้นมาอีกครั้ง ด้วยการเปิดบ้านเป็นร้านยากึ่งพิพิธภัณฑ์ มีการพยายามรวบรวมข้อมูล อาศัยปากคำของคนที่เคยพบเจอหมอหวาน และจดหมายเหตุต่างๆ ควบคู่ไปกับความพยายามทำให้คนเห็นบริบทและบรรยากาศดั้งเดิมของพื้นที่ขายยา ถือเป็น ‘เรือนเล่าประวัติ’ ที่ฉายภาพเจ้าของบ้านเดิมในฐานะบุคคลต้นแบบได้อย่างดีเยี่ยม

ประเภทที่สองคือ ‘เรือนเรื่องเล่า’ นั่นคือมุ่งเน้นไปที่ประเด็นมากกว่าตัวบุคคล มีตัวอย่างคือ ‘โฮงนิทัศน์ครูบาเจ้าศรีวิชัย’ อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน

ชีวสิทธิ์อธิบายว่า พิพิธภัณฑ์บ้านประเภทนี้มักจะนำเรื่องของบุคคลมาเป็นตัวตั้ง แต่มีการปรับเปลี่ยนรายละเอียด รวมไปถึงกายภาพของพื้นที่ เพื่อให้เข้ากับประเด็นที่ผู้จัดต้องการนำเสนอ ในกรณีตัวอย่างนี้ มีการเน้นเรื่องที่ครูบาศรีวิชัยเป็นศูนย์รวมพลังศรัทธาของคนล้านนา เพื่องานสาธารณะประโยชน์ ในช่วง พ.ศ. 2447-2481  

การนำเสนอของที่นี่จึงไม่มีของใช้ส่วนตัวของท่าน จะมีเพียงแต่ต้นฉบับภาพหน้าศพของท่าน นอกนั้นเป็นรูปถ่าย สิ่งพิมพ์ หรือแม้กระทั้งการ์ตูน หรือรูปเคารพ ที่ล้วนเล่าเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ของครูบาฯ และแสดงให้เห็นความศรัทธาของผู้ที่นับถือ เก็บไว้เพื่อแสดงให้เห็นว่าคนล้านนามีความผูกพันกับท่านอย่างไร

และถึงแม้จะมีการทำรูปจำลองของท่านจำวัดอยู่ในพิพิธภัณฑ์ แต่ในความจริงแล้วเรือนที่ใช้เป็นโฮงนิทัศน์นั้นเป็นของลูกศิษย์ ส่วนกุฏิที่ครูบาฯ เคยจำวัด ณ วัดจามเทวีนั้นถูกถอดถอนไปแล้ว

ประเภทสุดท้าย ชีวสิทธิ์เรียกว่า ‘เรือนสร้างสรรค์’ เขายกตัวอย่าง ‘บ้านหลวงราชไมตรี’ ที่ตั้งอยู่ในอำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี แม้ว่าที่นี่จะเรียกตัวเองว่าเรือนพักประวัติศาสตร์ (Historic Inn) ไม่ใช่พิพิธภัณฑ์โดยตรงก็ตาม

‘บ้านหลวงราชไมตรี’ เริ่มมาจากวาระครบรอบร้อยปีชาตกาลของหลวงราชไมตรี บิดาแห่งยางพาราภาคตะวันออก ในปี พ.ศ. 2551 เนื่องจากชาวสวนยางพาราสร้างอนุสรณ์หลวงราชไมตรีไว้ที่ทางขึ้นน้ำตกพริ้วไปแล้ว บ้านหลวงราชไมตรีจึงถูกออกแบบให้เป็นสถานที่ถ่ายทอดเรื่องราวคุณความดีของหลวงราชไมตรี ผ่านการซึมซับบรรยากาศของเรือนในรูปแบบโรงแรม มีห้องพักทั้งหมด 12 ห้อง ในแต่ละห้องมีการประดับด้วยภาพถ่ายเก่า รวมไปถึงการใช้เครื่องเรือนที่มากับตัวบ้านดังเดิมในการเล่าเรื่อง (ผู้เข้าพักที่ใจแข็งพอสามารถนอนบนเตียงของหลวงราชไมตรีได้!) และถึงแม้ในบางมุมก็มีการจัดแสดงโบราณวัตถุที่ขุดได้ขณะบูรณะ รวมถึงจดหมายเหตุต่างๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย แต่ทั้งหมดทั้งปวงถูกเชื่อมโยงเข้าในประวัติและชีวิตของชุมชนริมน้ำจันทรบูรอย่างแน่นแฟ้นและกลมกลืน

ทั้งหมดนี้มีการให้ชุมชนเข้าร่วมระดมทุนกับโครงการนี้ตั้งแต่ต้น มีการแบ่งหุ้น และปันผลจากผลประกอบการอย่างเป็นเรื่องเป็นราว ดังนั้น แม้พิพิธภัณฑ์บ้านประเภทนี้ จะปรับเปลี่ยนการใช้งานและการนำเสนอไปอย่างสิ้นเชิง ( จาก ‘บ้าน’ เป็น ‘โรงแรม’ ) แต่ก็ ถือว่าเป็นการใช้บริบทของพิพิธภัณฑ์ เพื่อต่อยอดต้นทุนทางวัฒนธรรม และเชื่อมโยงเข้ากับสังคมร่วมสมัยได้อย่างน่าชื่นชม

ตัวอย่างของพิพิธภัณฑ์บ้านทั้งสามประเภทนี้ เป็นเพียงน้ำย่อยของพิพิธภัณฑ์บ้านเล็กๆ ที่สรรค์สร้างขึ้นด้วยใจรักของคนตัวเล็กๆ ซึ่งน่าเสียดายที่หลายๆ ที่นั้นบ่นเป็นเสียงเดียวกันว่า พวกเขายังไม่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐเท่าที่ควร อาจจะเพราะพวกเขาไม่สามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้ครั้งละมากๆ หรือคนอาจจะมองเรื่องที่นำเสนอว่า เป็นเรื่อง ‘ส่วนตัว’ เฉพาะบุคคลมากเกินไป  จนบางที่ท้อใจขนาดที่ยอมปิดตัวลงไปบ้างก็ไม่น้อย

แน่ละว่าพวกเรามักจะสนใจประวัติศาสตร์ระดับชาติ แต่ใครล่ะที่ดำรงชีวิตอยู่ในประวัติศาสตร์เหล่านั้น? พวกเขามีพื้นเพจากที่ไหน? เขาอยู่กินอย่างไร? คนรอบตัวเขาเป็นใคร? ใช้ชีวิตเหมือนหรือต่างจากเราอย่างไร? คำตอบอาจจะไม่ได้อยู่ในพิพิธภัณฑสถานขนาดใหญ่ แต่อยู่ในพิพิธภัณฑ์บ้านเล็กๆ ใกล้บ้านคุณก็ได้

ภาพปกบทความจาก http://www.baanluangrajamaitri.com/gallery/

Tags: , , ,