“พิพิธภัณฑ์เป็นสถานที่ท่องเที่ยวหรือเป็นแหล่งเรียนรู้กันแน่?” นี่อาจเป็นคำถามสำคัญที่ระบบการศึกษาต้องหาคำตอบ เพราะหากมองย้อนกลับไป จะพบว่า พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 (ปรับปรุง 2553) ให้ความสำคัญกับการศึกษาในแหล่งเรียนรู้ทางสังคม โดยกำหนดไว้ในมาตรา 25 ระบุว่า รัฐต้องส่งเสริมการดำเนินงาน และการจัดตั้งแหล่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตทุกรูปแบบ และในขณะเดียวกันพิพิธภัณฑ์เองก็ต้องตอบคำถามให้ได้ว่า “พิพิธภัณฑ์มีบทบาทต่อการศึกษาอย่างไรได้บ้าง” เพื่อให้ทั้ง 2 ฝ่าย มองหาช่องทางการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงกัน ซึ่งจะทำให้เกิดประโยชน์และคุ้มค่าต่อการลงทุนทางการศึกษามากที่สุด

ฌอง เพียเจต์ (Jean Piaget : 1896-1980) นักจิตวิทยาชาวสวิส กล่าวว่า “การเรียนรู้เกิดจากพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม” แน่นอนว่าเราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมได้ สิ่งเดียวที่เราสามารถทำได้ คือจัดการสิ่งแวดล้อมที่เอื้อประโยชน์ต่อการเรียนรู้ ฉะนั้นบรรยากาศ สถานที่ ผู้สอน หลักสูตร แผนการสอน และองค์ประกอบต่างๆ จึงเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเรียนรู้ ซึ่งจากอดีตถึงปัจจุบันมีผู้พยายามศึกษาหาวิธีการ จัดการเรียนรู้ได้มากถึง 54 วิธี

การเรียนรู้แบบใช้พิพิธภัณฑ์เป็นฐาน (Museum-based Learning) เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่สร้างประสบการณ์ตรงให้กับผู้เรียน เปิดโอกาสให้ใช้ความคิด จินตนาการ และเชื่อมโยงสิ่งต่างๆ รอบตัว   เกิดความรู้ความเข้าใจจากการสะสมประสบการณ์ ซึ่งจะเป็นความรู้ที่ยั่งยืน จึงเป็นจุดเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงอย่างสร้างสรรค์ ภายใต้แนวคิดการจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ที่มุ่งเน้นให้ผู้เรียนมีทักษะสำคัญ 4 อย่าง ( 4C ) คือ Collaboration การร่วมมือร่วมใจ Creativity ความคิดสร้างสรรค์ Communication การสื่อสารติดต่อ และ Critical Thinking การคิดวิเคราะห์ และยังสามารถสร้างรูปแบบการเรียนรู้ได้หลากหลาย ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์และเป้าหมายทางการศึกษา ซึ่งในประเทศไทยเองก็เริ่มนำวิธีการเรียนรู้แบบนี้มาใช้บ้าง แต่เป็นลักษณะการไปทัศนศึกษา ซึ่งโรงเรียนก็หวังให้ได้รับความรู้จากการไปเที่ยว แต่เมื่อไม่มีการออกแบบวิธีการจัดการเรียนรู้ที่ดี ผลลัพธ์ที่ได้จึงออกแบบตามมีตามเกิด ขึ้นอยู่กับความสนใจส่วนตัวของผู้เรียน การเรียนรู้แบบใช้พิพิธภัณฑ์เป็นฐาน ในประเทศไทยจึงยังไม่เกิดประสิทธิภาพ ภายใต้ระบบการศึกษากระแสหลัก

แต่ก็ยังมีนโยบายของสถานศึกษา ที่กำหนดให้ใช้รูปแบบพิพิธภัณฑ์ในการเรียนรู้ ซึ่งตัวอย่างหนึ่งที่มองเห็นความเป็นไปได้คือ โรงเรียนสาธิตบางนา ที่มุ่งเน้นพัฒนาการจัดการเรียนสอนให้ตอบสนองการพัฒนาแบบองค์รวม กำหนดให้ในทุกปีการศึกษา ครูต้องพานักเรียนทุกคนเข้าไปเรียนรู้ในพิพิธภัณฑ์ ตามความยากง่ายและเนื้อหาการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงกับหลักสูตรการสอน ต่อเนื่องและเปลี่ยนสถานที่ไปทุกปี โดยตั้งเป้าให้นักเรียนทุกคนเกิดการเรียนรู้อย่างมีความหมาย ได้รับประสบการณ์การเรียนรู้ที่ดี และปลูกนิสัยใฝ่เรียนรู้อย่างไม่รู้จบ

หรือโรงเรียนบ้านกู่กาสิงห์ จังหวัดร้อยเอ็ด ที่ใช้กระบวนการพิพิธภัณฑ์เป็นต้นทางในการจัดการเรียนรู้สำหรับนักเรียนประถมศึกษา เพื่อผลักดันให้เกิดแหล่งเรียนรู้ เป็นพิพิธภัณฑ์มรดกภูมิปัญญา ภายใต้แนวคิดการสร้างพิพิธภัณฑ์เด็กเพื่อเด็ก

เริ่มต้นจากการรวบรวมนักเรียนอาสาสมัคร จำนวน 30 คน ทำงานร่วมมือกับศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ลงพื้นที่ทำกิจกรรม สำรวจของดีในชุมชน ซึ่งนักเรียนได้เลือกประเด็นในการทำกิจกรรมต่อเนื่อง 3 อย่างคือ โบราณสถาน ประเพณีสรงกู่ และมัคคุเทศก์น้อย จากนั้นนักเรียนทุกคนได้มีโอกาสลงพื้นที่ ไปสัมภาษณ์ผู้คนในชุมชน นำมาวิเคราะห์ สังเคราะห์เป็นองค์ความรู้ และนำไปสร้างสื่อ นำเสนอองค์ความรู้ต่างๆ ในรูปแบบพิพิธภัณฑ์ในสถานศึกษา ที่นักเรียนได้มีส่วนร่วมในการสร้างตั้งแต่เริ่มต้น นักเรียนจึงได้เรียนรู้เรื่องราวต่างๆ ในชุมชน ทั้งยังได้เรียนรู้กระบวนการเชิงพิพิธภัณฑ์ ผ่านการฝึกวิเคราะห์ และสืบค้นข้อมูล การเรียนรู้จึงมีความหมายมากกว่าการอยู่ในห้องเรียน ซึ่งกระบวนการที่โรงเรียนบ้านกู่กาสิงห์ใช้ ก็ถูกปรับประยุกต์ให้เหมาะสมกับบริบท และปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ  สามารถสรุปกระบวนการได้เป็น 4 ขั้นตอน คือ สำรวจของดีชุมชน ลงพื้นที่เก็บข้อมูล ทำสื่อ และนำเสนอในรูปแบบพิพิธภัณฑ์ ผ่านมาแล้ว 15 ปีกระบวนการเหล่านี้ยังคงอยู่

ในขณะเดียวกันพิพิธภัณฑ์เองก็พยายามปรับตัวเข้าหาสถาบันศึกษามากขึ้นผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ หอศิลป์ จัดฝึกอบรมครูศิลปะในประเด็นการใช้หอศิลป์เป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับนักเรียนมัธยมศึกษา โดยเชิญครูศิลปะที่อยู่บริเวณโดยรอบพิพิธภัณฑ์ จำนวน 50 คนเข้ามาเรียนรู้ใน 4 เรื่อง  คือ องค์ความรู้ด้านศิลปะที่พิพิธภัณฑ์มีอยู่ การใช้ประโยชน์จากพื้นที่ต่างๆ ของพิพิธภัณฑ์ ตัวอย่างการจัดกิจกรรมศิลปะในพิพิธภัณฑ์ การวิเคราะห์และเชื่อมโยงหลักสูตรแกนกลาง และแนวทางการออกแบบกิจกรรม เพื่อให้ครูศิลปะเห็นภาพและความเป็นไปได้ในการใช้พิพิธภัณฑ์เป็นแหล่งเรียนรู้ เข้ามาใช้พื้นที่จัดการเรียนการสอน โดยได้รับการสนับสนุนจากสิ่งที่พิพิธภัณฑ์มีอยู่ รวมทั้งต่อเนื่องไปถึงการเข้าไปจัดกิจกรรมศิลปะในโรงเรียน เพื่อเชื่อมรอยต่อระหว่างแหล่งเรียนรู้กับสถาบันการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ร่วมกัน

หนึ่งตัวอย่างที่น่าสนใจคือ เจ พอล เก็ตตี้ มิวเซียม (J. Paul Getty Museum) พิพิธภัณฑ์ศิลปะขนาดใหญ่ในสหรัฐอเมริกา ได้สร้างเครื่องมือในการพัฒนาการเรียนรู้ให้กับสถานศึกษา โดยร่วมกับครูจากสถาบันต่าง ๆ ออกแบบใบงาน และชุดกิจกรรม จากเนื้อหา ข้อมูล และผลงานศิลปะในพิพิธภัณฑ์ ให้ครูซึ่งเป็นผู้นำไปใช้ได้มีส่วนร่วมคิด ร่วมทำ นำไปทดลอง และนำกลับมาศึกษาผลการใช้ เพื่อให้แน่ชัดว่าใบงาน และชุดกิจกรรมที่ออกแบบมานั้นสามารถนำไปใช้ได้จริง ตอบสนองต่อความต้องการของสถานศึกษา ช่วยพัฒนาการเรียนการสอนได้

สถานศึกษาที่อยู่ใกล้เคียงก็สามารถมาใช้ประโยชน์จากพิพิธภัณฑ์ได้มากกว่าการมาเที่ยว โดยนำใบงานที่ออกแบบแล้วนั้น จัดการเรียนรู้ให้กับนักเรียนก่อนการมาดูของจริงที่พิพิธภัณฑ์ การมาพิพิธภัณฑ์ของนักเรียนทุกครั้งจึงมีความหมายมาก เพราะการได้เรียนรู้เบื้องต้นมากก่อน เป็นแรงดึงดูดสำคัญ ซึ่งไม่ได้จำกัดอยู่แค่เพียงวิชาศิลปะเท่านั้น แต่สามารถเชื่อมโยงไปสู่วิชาประวัติศาสตร์ ภาษา จนถึงวิทยาศาสตร์ เจ พอล เก็ตตี้ มิวเซียม ได้นำใบงานและชุดกิจกรรมใส่ไว้ในเว็บไซด์ ให้ครูเลือกนำไปใช้ผ่านการดาวน์โหลดจาก http://www.getty.edu ทำให้ง่ายต่อการเผยแพร่ สถานบันการศึกษาที่อยู่ห่างไกลก็สามารถใช้ประโยชน์จากสิ่งต่างๆ เหล่านี้ได้ ที่สำคัญคือฟรี ไม่ต้องเสียเงิน

การเปลี่ยนแปลงนั้นควรเริ่มต้นที่ตัวเรา กลยุทธ์การตั้งรับอยู่ในฐานที่มั่นอาจใช้ไม่ได้แล้วกับการเรียนรู้ในยุคสมัยปัจจุบัน ขณะที่นักเรียนทุกคนสามารถค้นหาข้อมูลต่างๆ ได้จากโทรศัพท์มือถือ การทำให้แหล่งเรียนรู้เพิ่มความน่าสนใจและไม่หยุดนิ่งเท่านั้นที่จะสามารถเรียกร้องให้นักเรียนนักศึกษาเข้ามาหาความรู้ได้ และต้องไม่ลืมว่าไม่มีอะไรดีที่สุดแบบตายตัว การปรับเปลี่ยนและประยุกต์ใช้เป็นสิ่งจำเป็น เพราะแนวทาง ทฤษฏีต่างๆ ไม่สามารถใช้ได้แบบตรงไปตรงมา ขึ้นอยู่กับบริบท และปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ด้วยเช่นกัน

และน่าจะดีหากสถานศึกษาหรือพิพิธภัณฑ์ในชุมชนจะลองนำวิธีการ museum-based learning ไปทดลองใช้ อย่างน้อยเพื่อให้รู้ว่ามันดีหรือไม่ดีอย่างไร ถึงแม้ผลลัพธ์มันจะออกมาล้มเหลวบ้างก็ตามที ด้วยปัจจัยใดๆ แต่คงดีกว่าไม่มีใครลอง

อ้างอิง:

จุฑามาศ  แก้วพิจิต. การศึกษากระบวนการเรียนรู้ในพิพิธภัณฑ์ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต.

วารสารการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และองค์กร คณะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา. นโยบายและยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษา

ในทศวรรษที่สอง ด้านการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาและเรียนรู้.  พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร: สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ, 2554.

http://www.getty.edu

โรงเรียนบ้านกู่กาสิงห์ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จังหวัดร้อยเอ็ด

โรงเรียนสาธิตบางนา จังหวัดสมุทรปราการ

เครดิตภาพ: iStock / Getty Images Plus

Tags: ,