43% คือคะแนนจากเว็บไซต์ Rotten Tomatoes ที่หนังเรื่อง Murder Mystery ได้รับ หลังจาก Netflix ปล่อยสตรีมมิงตั้งแต่วันที่ 14 มิถุนายน ที่ผ่านมา

ตัวเลขนี้ถือว่าดีขึ้นเล็กน้อย เมื่อเทียบกับช่วงไม่กี่วันแรกหลังจากหนังเริ่มฉาย แต่ก็ยังไม่มากพอที่จะทำให้หนังที่นำแสดงโดย อดัม แซนด์เลอร์ และ เจนนิเฟอร์ อนิสตัน เรื่องนี้ จัดเป็น ‘หนังดี’ ในมุมมองของนักวิจารณ์ 

ทั้งพล็อตเรื่องและคาแรกเตอร์ของบทนำถูกมองว่าไม่มีอะไรน่าตื่นเต้น ทุกอย่างเป็นไปตามสูตร โดยเฉพาะบทตำรวจไม่เอาไหนของแซนด์เลอร์ที่มีทั้งความฝืดและความไม่ฉลาด จนแทบเดาได้ตั้งแต่ซีนแรกๆ ว่า จะต้องเป็นตัวละครที่ถนัดทำเสียเรื่องอย่างแน่นอน ส่วนคาแรกเตอร์ช่างทำผมในนิวยอร์กที่มีความใฝ่ฝันอยากไปยุโรปของอนิสตันเองก็มีความคลิเชไม่แพ้กัน องค์ประกอบเหล่านี้เองทำให้นักวิจารณ์ในต่างประเทศส่วนใหญ่ลงความเห็นไปในทางเดียวกันว่า Murder Mystery เป็นหนังแนว whodunit ที่ไร้รสชาติและไร้การจดจำ

หากแต่สำหรับคนที่โตมากับการอ่านนิยายของ อกาธา คริสตี ตั้งแต่ยุคที่พิมพ์ฉบับแปลภาษาไทยโดยสำนักพิมพ์น้องใหม่แล้ว Murder Mystery คือหนังที่เรายื่นมะเขือเทศสดให้อย่างเต็มใจ ทั้งที่รู้ว่ามันไม่ใช่หนังที่บทเฉียบ ตัวละครมีความลึกทางความคิดและความรู้สึก แต่เราก็ยังหยิบยื่นมะเขือเทศลูกเดิมให้ เพราะ Murder Mystery คือพาโรดี้ของนิยายสืบสวนสอบสวนแบบที่นักอ่านจะต้องร้องอ๋อและนึกถึงตัวหนังสือที่เคยอ่านในหลายๆ ฉากของหนัง

อนิสตันในบทของ ออเดรย์ สปิตซ์​ ที่พกเอานิยายเรื่อง R.S.V.P Murder ของ Mignon G. Eberhart ขึ้นไปอ่านบนเครื่องบินจากอเมริกาสู่ยุโรป คือตัวแทนของแฟนนิยายที่อ่านหนังสือแนวนี้มาหลายต่อหลายเรื่อง แต่ไม่เคยคิดว่าวันหนึ่งตัวเองจะต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่ถอดแบบออกมาจากหนังสือที่ชอบอ่าน เหตุเพราะการจับพลัดจับผลูได้ทำความรู้จักกับหนุ่มอังกฤษในแวดวงชั้นสูงบนเครื่องบินลำนั้น และเป็นคนเชิญทั้งคู่ให้มาร่วมล่องเรือยอชท์ด้วยกันกับคนในครอบครัวของเขาที่มารวมตัวกัน เนื่องในโอกาสที่คุณลุงมหาเศรษฐีจะประกาศเกี่ยวกับพินัยกรรมของตัวเอง 

เรือยอชท์ที่มุ่งหน้าสู่โมนาโกคือฉากแรกของคดีฆาตกรรมที่ดูเหมือนว่า ทุกคนที่อยู่บนเรือล้วนแต่มีแรงจูงใจและมีเหตุผลที่นำไปสู่การฆาตกรรมครั้งนี้ทั้งนั้น ความหลากหลายของกลุ่มคนที่มารวมตัวกันในสถานที่เฉพาะกิจในช่วงเวลาใดช่วงเวลาหนึ่ง และความสัมพันธ์ที่ดูสมเหตุสมผล แต่ก็มีอะไรชวนให้เอะใจ เป็นลักษณะอย่างหนึ่งของนิยายสืบสวนชื่อดังหลายเรื่องที่แต่งขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 20

มีเพียงสองตัวละครอย่างสองสามีภรรยาสปิตซ์เท่านั้นที่ดูผิดที่ผิดทางและผิดยุค จนเหมือนจับตัวละครจากนิยายอีกเรื่องมาใส่ไว้ในเรื่องนี้

แต่ความผิดที่ผิดทางนั่นเองที่ทำให้ทั้งออเดรย์และ นิค สปิตซ์ มองสิ่งต่างๆ ด้วยมุมมองที่ไม่ต่างจากคนดูสักเท่าไร บทบาทล้นๆ เพี้ยนๆ ของสองสามีภรรยาจึงเป็นการคาดเดาตัวฆาตกรในแบบเดียวกับที่คนอ่านหนังสือมักจะคิดตามยามอ่านหนังสือ

ถ้าเคยอ่านนิยายแนวนี้หลายเล่มจะพบว่า ลักษณะอย่างหนึ่งของนิยายสืบสวนประเภทนี้คือโศกนาฏกรรมมักไม่จบที่ศพแรก คนที่น่าสงสัยจะค่อยๆ ถูกตัดออกไป ในขณะที่คนที่เหลืออยู่แม้จะดูน่าสงสัย แต่ก็ยังไม่มีหลักฐานจนกว่าจะค้นพบกุญแจที่เชื่อมโยงทุกคดีที่เกิดขึ้นและแรงจูงใจเข้าด้วยกัน 

นอกจากนี้ ถึงแม้เหตุการณ์ทั้งหมดของเรื่องจะเล่าผ่านไทม์ไลน์ในปัจจุบัน แต่ความพาโรดี้ก็นำไปสู่วิธีการฆาตกรรมที่เหมือนหลุดมาจากยุคที่ อกาธา คริสตี (Agatha Christie) ราชินีแห่งนวนิยายอาชญากรรม ยังมีชีวิตอยู่ และสองสามีภรรยาสปิตซ์ก็พยายามจะเล่นบท แอร์กูล ปัวโรต์ กับมิสเจน มาร์เปิล ตัวละครเอกของคริสตี ที่ไขปริศนาทั้งหมดได้ในที่สุด

การหยิบเอาจุดเด่นจากหนังสือนิยายที่เฟื่องฟูในช่วงหลายทศวรรษก่อนมาไว้ในหนังเป็นผลงานของ เจมส์ แวนเดอร์บิลต์​ นักเขียนบทที่เคยฝากฝีมือไว้ในเรื่อง The Amazing Spider-Man ทั้งสองภาค ผู้นิยามตัวเองว่าเป็นเด็กยุค 80s ที่โตมากับการดูหนังเรื่อง Murder by Death ซึ่งเป็นพาโรดี้ของนิยายเรื่อง And Then There Were None ของ อกาธา คริสตี นิยายโปรดของแวนเดอร์บิลต์เอง และ Clue หนังแนวคอเมดี้-สืบสวนสอบสวน ที่สร้างขึ้นจากบอร์ดเกมชื่อเดียวกับชื่อหนัง

แวนเดอร์บิลต์รู้สึกว่าหนังสืบสวนสอบสวนแนวนี้หายไปจากวงการมานาน เขาจึงอยากนำเรื่องแนวนี้กลับมา โดยตั้งคำถามว่า จะเกิดอะไรขึ้นถ้าวันหนึ่งคุณตื่นขึ้นมาแล้วพบว่าตัวเองอยู่ในนิยายของ อกาธา คริสตี ซึ่งคำถามนี้ทำให้ Murder Mystery เป็นหนังที่ไม่ได้สร้างจากนิยายที่เราเคยอ่าน แต่เป็นหนังที่พาเราไปอยู่ในนิยายที่เราเคยอ่านนั่นเอง

นอกจากพล็อตเรื่องในการไขปริศนาฆาตกรรมแล้ว แวนเดอร์บิลต์ยังใส่ซับพล็อตเป็นเรื่องของชีวิตคู่ที่ไม่ใช่ทั้งการเล่าเรื่องช่วงเวลาที่พบรักก่อนจะลงเอยกันหรือคู่สามี-ภรรยาที่แต่งงานแล้วความสัมพันธ์ง่อนแง่น แต่เป็นเรื่องของคู่รักธรรมดาทั่วไปที่ยังรักกันอยู่ ไม่ได้คิดจะเลิก แม้จะมีปัญหาที่ทำให้ผิดใจกันแต่ก็เรียนรู้ว่าสำหรับชีวิตคู่แล้ว การพยายามจับมือกันแก้ปัญหาน่าจะเป็นชอยส์ที่ควรเลือกในทุกสถานการณ์  แม้แต่การตามหาคนร้ายตัวจริงในคดีฆาตกรรมต่อเนื่องก็ด้วย

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้สูตรสำเร็จต่างๆ และมุกตลกแบบตื้นๆ ของ Murder Mystery จะทำให้ตัวหนังยังห่างจากการเป็นหนังที่คนดูทั่วไปจดจำว่าดี แต่สำหรับคนที่ชื่นชอบนิยายสืบสวนสอบสวนแนวนี้แล้ว ระยะเวลา 97 นาทีที่ได้เห็นฉากต่างๆ ซึ่งมีความย้อนยุคเหมือนในหนังสือผ่านมุมมองของตัวละครที่มีความเป็นปัจจุบัน ก็น่าจะเพียงพอสำหรับการยื่นมะเขือเทศสดลูกเล็กๆ ให้แล้ว

อ้างอิง:

https://www.digitalspy.com/movies/a28113056/netflix-murder-mystery-ratings-big-hit-explained/

https://www.fatherly.com/play/adam-sandler-murder-mystery-netflix-record-comedy/

https://www.forbes.com/sites/joshweiss/2019/06/14/murder-mystery-writer-breaks-down-the-movies-deconstruction-of-genre/#4fbe84094804

Fact Box

  • Murder Mystery กำกับการแสดงโดย ไคล์ เนวาเช็ก และนำแสดงโดย อดัม แซนด์เลอร์ กับ เจนนิเฟอร์ อนิสตัน ได้สร้างสถิติมีผู้ชมมากถึง 30,869,863 แอ็กเคานต์ภายใน 3 วันหลังจากปล่อยสตรีมมิง ซึ่งเป็นสถิติสูงสุดในสัปดาห์เปิดตัวของ Netflix โดยในจำนวนนั้น ประมาณ 13.3 ล้านแอ็กเคานต์อยู่ในอเมริกาและแคนาดา และอีก 17.5 ล้านคือสถิติจากแอ็กเคานต์ที่อยู่ในประเทศอื่นๆ ทั่วโลก
  • เพราะตัวเลขที่พุ่งสูงสวนทางกับคะแนนจากนักวิจารณ์ ส่งผลให้จากบทวิจารณ์ในช่วงแรกที่เน้นพูดถึงคุณภาพของหนังโดยตรง ก็เปลี่ยนมาเป็นบทวิจารณ์ที่วิเคราะห์ว่าทำไมหนังเรื่องนี้ถึงกลายเป็นม้ามืด กวาดผู้ชมทั่วโลกอย่างรวดเร็ว ซึ่งหลายคนเชื่อว่าเป็นเพราะอัลกอริทึมในการแนะนำหนังมาใหม่ของเน็ตฟลิกซ์ที่สัมพันธ์กับประวัติในการเข้าชมของแต่ละแอ็กเคานต์ที่ทำให้เรื่องนี้อยู่ในหน้าแรกของหลายคน และชื่อของสองนักแสดงนำเองก็มีผลด้วย เพราะแม้ว่าทั้งแซนด์เลอร์และอนิสตันจะไม่ได้มีชื่ออยู่ในหนังทำเงินมานาน แต่ฐานแฟนของทั้งคู่ที่เคยดูผลงานมาตั้งแต่ยุคทองของทั้งสองคนส่วนหนึ่งก็คือกลุ่มคนที่ใช้งานเน็ตฟลิกซ์ในปัจจุบันนั่นเอง