ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองในหลายปีที่ผ่านมา มีปรากฏการณ์อย่างหนึ่งในสังคมไทยที่อาจไม่ได้รับความสนใจมากเท่าประเด็นอื่น แต่ก็ยังถือเป็นเรื่องสำคัญไม่น้อย นั่นคือกระแสการผลักดันให้พุทธศาสนามีฐานะเป็นศาสนาประจำชาติ ซึ่งเป็นกระแสที่มาจากการเรียกร้องของคนหลายกลุ่ม ตั้งแต่คณะสงฆ์ สถาบันการศึกษา นักวิชาการ นักการเมือง ไปจนถึงองค์กรชาวพุทธหลายองค์กรจากทั่วประเทศ
เป้าหมายสำคัญที่สุดของกระแสเรียกร้องนี้คือ ให้มีการระบุลงไปในรัฐธรรมนูญว่าพุทธศาสนาคือศาสนาประจำชาติไทย แต่ในรัฐธรรมนูญสองฉบับล่าสุดที่ผ่านมา คือฉบับ 2550 และ 2560 ความพยายามเหล่านี้ก็ยังไม่เป็นผล และยังไม่มีการเขียนข้อความที่ว่านี้ลงไปในรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด
หลายคนอาจมองศาสนาว่าเป็นเรื่องสูงส่ง เกี่ยวข้องกับความศักดิ์สิทธิ์ ศีลธรรม และความดีงาม ไม่ควรแปดเปื้อนกับประเด็นทางโลก การมองศาสนาในแบบนี้ทำให้บางครั้งเราไม่ได้มองความเชื่อมโยงระหว่างศาสนากับประเด็นทางสังคมและการเมืองอื่นๆ เท่าไรนัก
ในบทความนี้จะขอนำเสนอว่าเราสามารถวิเคราะห์และทำความเข้าใจการระบุศาสนาประจำชาติโดยใช้แนวคิดเรื่องความหลากหลายทางวัฒนธรรมและพหุวัฒนธรรมนิยม (Multiculturalism) ได้อย่างไรบ้าง
ศาสนา วัฒนธรรม และชีวิตมนุษย์
ศาสนาเป็นเรื่องที่แยกไม่ออกจากวัฒนธรรม เมื่อกล่าวถึงศาสนาแล้วเราจะนึกถึงวัฒนธรรมตามมาด้วยเสมอ พฤติกรรมของมนุษย์จะออกมาเป็นอย่างไรก็ล้วนถูกหล่อหลอมด้วยวัฒนธรรม คงไม่เกินเลยไปนักที่จะสรุปว่ามนุษย์เราล้วนไม่อาจหลีกหนีจากวัฒนธรรมได้
คำถามต่อมาคือ จำเป็นหรือไม่ที่สังคมแต่ละแห่งจะต้องมีวัฒนธรรมอยู่เพียงแบบเดียว หากเราพิจารณาว่าวัฒนธรรมมิใช่สิ่งที่มีอิทธิพลเหนือคนเพียงคนเดียวหรือคนจำนวนน้อย แต่หมายถึงแบบแผนการปฏิบัติที่ผู้คนจำนวนมากยึดถือร่วมกัน คำว่าวัฒนธรรมก็ย่อมมีผลผูกพันคนจำนวนมากอยู่แล้ว
อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงอาจมีเพียงสังคมขนาดเล็กเท่านั้นที่ผู้คนยึดถือวัฒนธรรมแบบเดียวกัน แต่ในสังคมขนาดใหญ่ที่ประกอบไปด้วยผู้คนจำนวนมาก เราย่อมไม่อาจคาดหวังให้ทุกคนมีความคิด ความเชื่อ หรือวิถีชีวิตที่เหมือนกันทั้งหมด
การที่ผู้คนในสังคมเดียวกันจะมีวิถีชีวิตที่แตกต่างกันไปย่อมเป็นเรื่องธรรมดา ในแง่นี้ความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรมจึงไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับมนุษย์แต่อย่างใด ยิ่งในโลกยุคปัจจุบันที่มีการกวาดต้อนเอาผู้คนหลากหลายกลุ่มมาอยู่ในอาณาเขตเดียวกัน โอกาสที่เราจะพบเห็นความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรมในแต่ละประเทศก็มีเพิ่มขึ้นไปด้วย ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าไม่มีประเทศไหนที่ไม่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมปรากฏอยู่
อาจมีเพียงสังคมขนาดเล็กเท่านั้นที่ผู้คนยึดถือวัฒนธรรมแบบเดียวกัน แต่ในสังคมขนาดใหญ่ที่ประกอบไปด้วยผู้คนจำนวนมาก เราย่อมไม่อาจคาดหวังให้ทุกคนมีความคิด ความเชื่อ หรือวิถีชีวิตที่เหมือนกันทั้งหมด
ความหลากหลายทางวัฒนธรรมจะเป็นสิ่งที่ดีหรือแย่ก็เป็นเรื่องที่มองได้หลายมุม ในสายตาของผู้มีอำนาจในรัฐ เมื่อรัฐเผชิญหน้ากับความหลากหลายทางวัฒนธรรมก็จะมีวิธีรับมือและจัดการแตกต่างกันไป รัฐบางแห่งอาจแสดงการยอมรับความหลากหลายดังกล่าว แต่รัฐบางแห่งก็ไม่ต้องการให้มีภาพของความหลากหลายทางวัฒนธรรมปรากฏขึ้น ซึ่งมักเป็นเพราะรัฐนั้นเชื่อว่าสังคมควรมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และมองว่าการปล่อยให้มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมจะส่งผลให้เกิดความแตกแยกในสังคมจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ
ในกรณีที่รัฐมองว่าความหลากหลายเป็นสิ่งไม่ดี แทนที่รัฐจะเคารพความหลากหลายทางวัฒนธรรม รัฐก็จะยกเอาวัฒนธรรมของคนส่วนใหญ่ขึ้นมาเป็นวัฒนธรรมหลักของสังคม และพยายามจูงใจหรือกระทั่งบีบบังคับให้คนกลุ่มน้อยหรือผู้อพยพจากต่างถิ่นมาหลอมรวมเข้าเป็นเนื้อเดียวกันกับวัฒนธรรมหลักของรัฐนั้น หรือหากรัฐไม่ได้บีบบังคับ ชนกลุ่มน้อยหรือผู้อพยพเองก็อาจเล็งเห็นว่าหากตนพยายามปรับตัวหลอมรวมเข้ากับวัฒนธรรมหลักของรัฐนั้นได้ ก็จะเป็นประโยชน์ต่อชีวิตของตนมากกว่า
ดังนั้นการทำให้ความหลากหลายทางวัฒนธรรมหายไปหรือลดน้อยลงก็จะเป็นเป้าหมายหนึ่งของรัฐที่ต้องการสร้างความสงบเรียบร้อยและมีระเบียบขึ้นในสังคม ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดก็คือ การที่รัฐบาลจีนพยายามลดความหลากหลายทางวัฒนธรรมในประเทศลงด้วยการส่งเสริมภาษาจีนกลางและผลักดันให้คนเชื้อสายจีนฮั่น (Han Chinese) อพยพเข้าไปอยู่ในดินแดนที่มีวัฒนธรรมท้องถิ่นของตนเองอยู่ เช่นทิเบต โดยหวังว่าคนเชื้อสายฮั่นซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของจีนจะเข้าไปกลืนวัฒนธรรมท้องถิ่นให้ค่อยๆ หายไป
หลักพหุวัฒนธรรมนิยมในโลกตะวันตก
พหุวัฒนธรรมนิยมเป็นแนวคิดที่ก้าวขึ้นมามีบทบาททั้งในทางวิชาการและทางนโยบายของรัฐอย่างเป็นรูปธรรมในสังคมตะวันตกได้ราว 40 ปี สาระสำคัญของแนวคิดนี้ก็คือการแสดงการรับรู้และยอมรับถึงความแตกต่างทางวัฒนธรรมระหว่างกลุ่มบุคคลในสังคมเดียวกัน
การยอมรับที่ว่านี้จะต้องแสดงออกมาในระดับสาธารณะด้วย กล่าวคือหลักพหุวัฒนธรรมนิยมไม่ได้หมายถึงแค่การแสดงความยอมรับซึ่งกันและกันระหว่างคนทั่วไป แต่หมายถึงการมีกฎหมายและนโยบายรัฐที่เคารพความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรมในสังคม เช่น รัฐอาจจะไม่ประกาศชัดเจนว่าวัฒนธรรมแบบใดมีคุณค่าที่ควรได้รับการยกย่องเชิดชูหรือสมควรได้รับการสนับสนุนจากรัฐมากกว่าวัฒนธรรมแบบอื่น แต่จะพยายามส่งเสริมให้วัฒนธรรมหลายๆ แบบมีฐานะที่เท่าเทียมกันในทางสาธารณะให้ได้มากที่สุด
สิ่งสำคัญที่กระตุ้นให้หลักพหุวัฒนธรรมนิยมเป็นประเด็นขึ้นมาในโลกตะวันตก ก็คือการหลั่งไหลของผู้คนจากประเทศต่างๆ เข้าไปในประเทศตะวันตกเป็นจำนวนมากตั้งแต่ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 การที่ผู้คนเหล่านี้มีรากฐานทางวัฒนธรรมดั้งเดิมที่ต่างไปจากชาวตะวันตก ทำให้มีความกังวลว่าจะเกิดปัญหาในการมาอยู่ในสังคมเดียวกันหรือไม่ เพราะความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นในสถานการณ์นี้เป็นความหลากหลายที่มาจากภายนอก ไม่ใช่ภายในสังคมตะวันตกเอง
หลักพหุวัฒนธรรมนิยมไม่ได้หมายถึงแค่การแสดงความยอมรับซึ่งกันและกันระหว่างคนทั่วไป แต่หมายถึงการมีกฎหมายและนโยบายรัฐที่เคารพความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรมในสังคม
ชาวตะวันตกบางส่วนมองว่าวัฒนธรรมของกลุ่มผู้อพยพเป็นสิ่งแปลกปลอม หรือแม้กระทั่งอาจเป็นภัยต่อวิถีชีวิตแบบตะวันตก ขณะที่ฝ่ายผู้อพยพเองก็มีหลายคนที่ไม่ต้องการละทิ้งวัฒนธรรมดั้งเดิมของตน
ด้วยเหตุนี้จึงมีการเสนอแนวคิดพหุวัฒนธรรมนิยมขึ้นมาเพื่อหาทางออกให้กับปัญหาเหล่านี้ โดยฝ่ายที่สนับสนุนแนวคิดพหุวัฒนธรรมนิยมมีความเชื่อว่าแนวคิดนี้จะกลายเป็นแนวทางที่ช่วยให้สังคมตะวันตกสามารถปรับตัวรับความเปลี่ยนแปลงจากความหลากหลายทางวัฒนธรรมได้อย่างเหมาะสม ทำให้ผู้คนในสังคมอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข
ออสเตรเลีย (ซึ่งตั้งอยู่ใกล้เอเชีย แต่นับว่าเป็นประเทศในโลกตะวันตก) ประกาศอย่างเป็นทางการว่าเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ 1970s เพราะพบว่ามีประชากรชาวเอเชียเพิ่มสูงขึ้นและคนเหล่านี้ไม่ยอมหลอมรวมเข้ากับวัฒนธรรมของชาวผิวขาว ส่วนแคนาดาเป็นกรณีที่น่าสนใจ เพราะนโยบายพหุวัฒนธรรมนิยมของแคนาดาไม่ได้เกิดขึ้นจากการอพยพเข้ามาของผู้คนในรอบ 50-60 ปีที่ผ่านมา แต่เป็นประเทศที่มีกลุ่มผู้พูดภาษาอังกฤษและฝรั่งเศสอยู่ร่วมกันมานานกว่านั้นแล้ว หลักพหุวัฒนธรรมนิยมของแคนาดาจึงเป็นสิ่งที่ยึดถือปฏิบัติกันเพื่อช่วยให้คนทั้งสองกลุ่มสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างเท่าเทียม ไม่ได้เกิดจากการเข้ามาของผู้อพยพจากนอกโลกตะวันตก
ศาสนาประจำชาติกับหลักพหุวัฒนธรรมนิยม
หลักพหุวัฒนธรรมนิยมเป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องไปถึงระดับกฎหมาย อำนาจรัฐ และนโยบายของรัฐบาล ดังนั้นกระแสเรียกร้องให้กำหนดศาสนาประจำชาติในรัฐธรรมนูญของไทยจึงย่อมเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับหลักพหุวัฒนธรรมนิยม เพราะหากระบุเช่นนั้นได้จริงก็เท่ากับยกให้พุทธศาสนามีฐานะเหนือศาสนาอื่นๆ อย่างชัดเจน ขัดกับการเคารพวัฒนธรรมต่างๆ อย่างเท่าเทียม อันเป็นหัวใจสำคัญของหลักพหุวัฒนธรรมนิยม
แม้อาจมีผู้แย้งว่าการระบุศาสนาประจำชาติไม่ได้กระทบต่อเสรีภาพในการนับถือศาสนาอื่น แต่ก็มีความเป็นไปได้สูงว่านโยบายรัฐในด้านต่างๆ เช่นการศึกษาหรือเงินงบประมาณจะต้องถูกปรับเปลี่ยนไปในทางที่กระทบต่อสถานะของศาสนาอื่นในประเทศไทยไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง หรือหากจะถามว่าการกำหนดพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาตินั้นไม่ดีอย่างไร ก็ต้องถามกลับว่าแล้วที่ผ่านมา ที่เราไม่ได้ระบุศาสนาประจำชาตินั้นเป็นเรื่องเสียหายอย่างไร
ปัจจุบันนี้แม้จะยังไม่มีข้อความระบุศาสนาประจำชาติในรัฐธรรมนูญ แต่รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ก็มีข้อความที่เน้นความสำคัญของพุทธศาสนาแนวเถรวาทอยู่แล้ว โดยระบุไว้ในมาตรา 67 ว่า “รัฐพึงอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่นในการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาอันเป็นศาสนาที่ประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่นับถือมาช้านาน รัฐพึงส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาและการเผยแผ่หลักธรรมของพระพุทธศาสนาเถรวาทเพื่อให้เกิดการพัฒนาจิตใจและปัญญา และต้องมีมาตรการและกลไกในการป้องกันมิให้มีการบ่อนทำลายพระพุทธศาสนาไม่ว่าในรูปแบบใด และพึงส่งเสริมให้พุทธศาสนิกชนมีส่วนร่วมในการดำเนินมาตรการหรือกลไกดังกล่าวด้วย”
หากจะถามว่าการกำหนดพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาตินั้นไม่ดีอย่างไร ก็ต้องถามกลับว่าแล้วที่ผ่านมา ที่เราไม่ได้ระบุศาสนาประจำชาตินั้นเป็นเรื่องเสียหายอย่างไร
ควรกล่าวด้วยว่าในโลกตะวันตกก็มีการวิพากษ์วิจารณ์หลักพหุวัฒนธรรมนิยมอยู่เป็นระยะ เช่นมีการโจมตีว่าพหุวัฒนธรรมนิยมไม่ได้ทำให้คนต่างวัฒนธรรมกันมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน แต่กลับส่งเสริมให้คนกลุ่มต่างๆ ใช้ชีวิตคลุกคลีกันอยู่แต่ในกลุ่มตัวเอง ไม่มีปฏิสัมพันธ์กับคนกลุ่มอื่น ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อการดำรงอยู่ของสังคมที่ต้องอาศัยความกลมเกลียวไว้เนื้อเชื่อใจกันอย่างถ้วนหน้า
เดวิด คาเมรอน อดีตนายกรัฐมนตรีของอังกฤษ เป็นผู้หนึ่งที่เคยกล่าววิจารณ์พหุวัฒนธรรมนิยมด้วยเหตุผลนี้ แต่อย่างไรก็ตาม เราควรเข้าใจว่าหลักพหุวัฒนธรรมนิยมไม่ได้มีจุดประสงค์ให้คนกลุ่มต่างๆ มีชีวิตแบบต่างคนต่างอยู่ แต่เป็นหลักการที่ต้องการส่งเสริมให้คนแต่ละกลุ่มมีความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน โดยมีพื้นฐานจากการเคารพและยอมรับกันอย่างเท่าเทียมในสายตาของรัฐ ซึ่งหากเราเข้าใจประเด็นนี้ก็จะมองเห็นถึงข้อดีของหลักพหุวัฒนธรรมนิยมได้อย่างชัดเจนมากขึ้น
ภาพประกอบบทความโดย ปรางวลัย พูลทวี
Tags: รัฐศาสตร์, พหุวัฒนธรรมนิยม, multiculturalism, รัฐ, ศาสนา, religion state