งานประชุมขนาดใหญ่ที่เราได้ไปเข้าร่วม มักมีความขรึมขลัง ติดอยู่ในห้องสี่เหลี่ยม ดีหน่อยก็มีรูปแบบการจัดโต๊ะประชุมที่แหวกแนวบ้าง แต่ก็ยังต้องมีประธานใส่สูทมาตัดริบบิ้นเปิดงานด้วยเป็นพิธีการสำคัญ

แต่งาน Movin’On งานประชุมระดับโลกว่าด้วยนวัตกรรมใหม่ๆ เกี่ยวกับการสัญจรอย่างยั่งยืนที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีที่มอนทรีอัล ประเทศแคนาดา ฉีกภาพลักษณ์เหล่านั้นไปโดยสิ้นเชิง สาระของงานคือการรวบรวมองค์ความรู้ทั้งทางวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมใหม่เกี่ยวกับการขับเคลื่อนสัญจร ซึ่งมีประเด็น ‘ความยั่งยืน’ (Sustainability) เป็นหัวใจสำคัญในงานมูฟวิ่งออนทุกๆ ครั้ง ทำให้หัวข้อต่างๆ ในงานต่างคำนึงถึงการใช้ทรัพยากรอย่างตระหนักถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และมองหาเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะพาไปสู่ทางออกของการสัญจรในอนาคต

นิโคลัส โบมองต์ (Nicolas Beaumont) รองประธานอาวุโส ด้านการสัญจรและการพัฒนาที่ยั่งยืนของมิชลิน อธิบายความสำคัญที่ต้องคิดเรื่องความยั่งยืนให้มากว่า “เมื่อคิดถึงระบบการสัญจร ตอนนี้ยิ่งทำก็ยิ่งซับซ้อน ยิ่งทำก็ยิ่งยากและยิ่งไม่เท่าเทียมกันมากขึ้น เพราะมีแค่คนจำนวนหนึ่งที่เข้าถึงได้ แต่คนอีกจำนวนหนึ่งกลับเข้าไม่ถึง แต่หนึ่งในนิยามของคำว่าความยั่งยืน ก็คือการทำให้คนทุกคนสามารถเข้าถึงการสัญจร ไม่ใช่แค่มิติสิ่งแวดล้อมที่เราจะต้องมาเลือกระหว่างมนุษย์หรือโลก”

“การสัญจรมันคือหัวใจของความก้าวหน้าของมนุษยชาติ การที่คุณสามารถขยับจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่งได้ มันหมายถึงการเข้าถึงงาน เข้าถึงสังคม เข้าถึงวัฒนธรรม แล้วจะทำอย่างไรที่จะสร้างการเข้าถึงการสัญจรได้มากขึ้น โดยทำให้มันปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ นั่นคือสิ่งที่งานประชุมว่าด้วยการสัญจรต้องคำนึงถึง”

แต่เมื่อความรู้ต่างๆ มักไม่ได้งอกออกมาได้ด้วยการทดลองในห้องแล็บตามลำพัง การพัฒนาวงการจึงต้องมากับอีโคซิสเต็มที่ดี งานประชุมระดับโลกลักษณะนี้ จึงทำหน้าที่สานสัมพันธ์กับกลุ่มธุรกิจและองค์กรใหม่ๆ ที่กำลังหาทางออก ทั้งแง่มุมสิ่งแวดล้อม เทคโนโลยี และพลังงาน และพัฒนามาเป็นหัวใจของการออกแบบงานมูฟวิ่งออน ที่พยายามใส่ไอเดียแหวกแนวเข้าไปได้มากที่สุด เป็นงานที่พาเอาคนเนิร์ดสายวิทย์ นักธุรกิจผูกไท มาเจอกับความเป็นศิลปะและความคิดสร้างสรรค์ โดยยังคงผู้เล่นสำคัญ คือกลุ่ม 4Cs อันได้แก่ companies-ภาคธุรกิจ, cities-เมือง, countries-ประเทศ, civil society-ภาคประชาสังคม 

แล้วจะทำอย่างไรให้งานแบบนี้สนุก ได้พัฒนาความรู้ และสร้างเพื่อนใหม่ๆ ในวงการ ต่อไปนี้คือแง่มุมน่าสนใจที่เราสังเกตเห็นผ่านการจัดงานที่ทำให้ผู้เข้าร่วมเหมือนเดินเข้าไปเล่นสนุกอยู่ตลอดเวลา

1. ใช้สตูดิโอภาพยนตร์ ที่เคยเป็นโรงซ่อมรถไฟเก่า เป็นสถานที่จัดงาน

บรรยากาศที่ดีก็มีชัยแล้ว เริ่มตั้งแต่สถานที่จัดงาน ที่ในปีนี้ย้ายไปจัดที่ Grandé Studios ซึ่งเป็นสตูดิโอถ่ายทำภาพยนตร์ พื้นที่กว้างๆ ที่มากับสถาปัตยกรรมในยุคอุตสาหกรรมแห่งนี้ แต่ก่อนเคยเป็นพื้นที่ของ Grand Trunk Railway ซึ่งดูแลระบบเดินรถไฟระบบรางของหลายรัฐในแคนาดา ตัวอาคารหลักก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1850s และเคยเป็นแหล่งซ่อมรถไฟที่ใหญ่ที่สุดในแคนาดา (The Largest train repair shop) น่าสนุกดีที่เราได้ย้อนไปใช้พื้นที่เก่าแก่ใจกลางย่านการค้าในอดีต มาเป็นสถานที่จัดงานที่เน้นมองหนทางไปสู่อนาคต

ด้วยพื้นที่กว้าง มีการแบ่งโซนตามสัดส่วนที่สนองประโยชน์ในการถ่ายหนัง เมื่อต้องมาจัดการประชุมระดับโลก ก็ยังสามารถคิดและใช้พื้นที่บนสนามเด็กเล่นแห่งนี้ได้ ซึ่งงานมูฟวิ่งออนจัดการพื้นที่โดยแบ่งออกเป็นโซนต่างๆ ตั้งแต่พื้นที่อินดอร์ซึ่งนำมาจัดสัดส่วนเป็นเวทีใหญ่ เช่นเวทีสำหรับเสวนา มีโซนห้องประชุมย่อย มีพื้นที่สีเขียวสำหรับชิลล์นั่งกินกาแฟและอาหาร รวมถึงพื้นที่ให้ทดลองทำเทสต์ไดรฟ์เครื่องยนต์รุ่นใหม่ๆ ด้วย 

2. ศิลปะผสมผสานในงานประชุม

ทำไมการประชุมต้องอยู่แต่กับห้องสี่เหลี่ยมและโต๊ะประชุม งานมูฟวิงออนฉีกภาพเหล่านั้นออกไปไม่เหลือ แล้วรังสรรค์บรรรยากาศเสียใหม่ที่ออกแบบและตกแต่งโดยสร้างบรรยากาศของงานให้ความรู้สึกแบบฟิวเจอร์ริสติก ทั่วทั้งงานคล้ายจะพาเราไปสู่โลกอนาคตในจินตนาการ แถมตลอดระยะเวลาสามวัน เราจะได้พบเหล่านักแสดงกายกรรมของเซิร์ค ดู โซเลย์ แทรกซึมไปอยู่ตามมุมและกำลังวาดท่าทางต่างๆ สิ่งนี้เองที่คอยฉุดกระชากเราให้ออกไปจากความคิดตามกรอบเดิมๆ

ทำไมจึงต้องมีศิลปะการละครเข้ามาแทรกซึมอยู่ ในฐานะที่ดูแลการจัดงานนี้ นิโคลัส โบมองต์ บอกว่า เพราะประเด็นอย่างความยั่งยืนเป็นเรื่องใหญ่ การจะได้ไอเดียใหม่ๆ จำเป็นต้องสร้างบรรยากาศให้ผู้เข้าร่วมมีแนวคิดที่เปิดกว้าง (open mindset) กล้าที่จะเข้าไปพูดคุยกับผู้คน รวมถึงไม่เขินอายที่จะเข้าใกล้กับนักกายกรรม 

“เพราะเราเชื่อว่า ความหลากหลายจะนำไปสู่ความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ จึงพยายามสร้างบรรยากาศพื้นที่ให้ตอบรับความหลากหลายมากเท่าที่จะทำได้” นิโคลัสกล่าว

3. การออกแบบพื้นที่และเครือข่ายการสื่อสาร ที่ทำให้เราได้เจอเพื่อนใหม่ๆ 

ตามที่นิโคลัสบอกไปว่างานนี้มีผู้เข้าร่วมจากหลากหลายกลุ่ม มูฟวิ่งออนเป็นงานสามวันที่รวมผู้นำกว่า 5,000 คน ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการ นักการเมือง นักธุรกิจ มาเจอกันเพื่อหาทางออกที่ยั่งยืนในอุตสาหกรรมยานยนต์และการสัญจร ผู้เข้าร่วมงานทุกคนจะมี badge ที่ – แตะแล้วปิ๊ง- คือเมื่อเราอยากทำความรู้จักกับใคร ก็เอาแบดจ์ไปแตะกัน ข้อมูลจากสองฝ่ายก็จะเชื่อมต่อไปในแอปพลิเคชั่นที่ชื่อ Klik เป็นวิธีที่สามารถใช้แทนการแลกนามบัตร และในแอปนี้ยังมีรายละเอียดกำหนดการ และเปิดให้เรา ‘ส่อง’ โพรไฟล์ผู้เข้าร่วมที่น่าสนใจด้วย

ในงานนี้ มีเวที Agora เป็นพื้นที่กลางที่จะใช้สำหรับพิธีเปิด-ปิดและการแถลงข่าวสำคัญๆ เวทีตั้งตรงกลาง ล้อมรอบด้วยสแตนด์หกเหลี่ยมที่สูงขึ้นไป แนวที่นั่งใช้ถุงบีนแบ็กวางไล่ไปตามขั้นบันไดของแสตนด์ที่นั่ง ส่วนที่นั่งชั้นบนสุดจัดวางโต๊ะกลมจิ๋วๆ กับเก้าอี้ทรงสตูล เหมาะสำหรับนักข่าวที่ต้องการวางคอมพิวเตอร์พิมพ์รายงาน และก็ที่เวทีนี้เอง ที่ ฟลอรองต์ เมอเนโกซ์ (Florent Menegaux) ซีอีโอและประธานมิชลิน และ Luis Alfonso de Alba ผู้แทนพิเศษของสหประชาติเพื่อการประชุมโลกร้อนปี 2019 กล่าวว่าจะต้องดำเนินมาตรการเร่งด่วนจริงจังเพื่อรับมือปัญหาโลกร้อน

นอกจากนี้ ยังมีโซนการออกบูท ที่ธุรกิจทั้งใหญ่และเล็กๆ รวมถึงบรรดาสตาร์ตอัปที่ผ่านการคัดเลือกทั้งหมด 40 รายจากทั่วโลกนำตัวอย่างไอเดียผลงานของตัวเองมาเผยแพร่ ซึ่งเหมาะสำหรับการทำ networking ทำให้บรรดาภาคธุรกิจที่กำลังมองหาคนรุ่นใหม่ที่ฝันใหญ่ได้มาเจอและเป็นตัวเบิกทางให้ได้ร่วมงานกัน 

ที่น่าสนใจมากๆ ก็คือ การสร้างสเปซและกิจกรรมพิเศษซึ่งเปิดโอกาสให้คนได้สร้างเครือข่ายใหม่ๆ ให้ได้มากที่สุด โดยในงานจัดพื้นที่สวยๆ เอาไว้ให้ใช้สำหรับการประชุมย่อยๆ ซึ่งสามารถเข้าไปขอจองใช้งานได้ เช่น หากเสิร์ชประวัติใครแล้วอยากทำความรู้จักเพิ่มเติม ก็สามารถส่งข้อความไปนัดคุยงานสานต่อสัมพันธ์กันได้เลย และเพื่อให้คนในงานสามารถพูดคุยแลกเปลี่ยนกันมากเท่าที่จะทำได้ จึงจะเห็นได้ว่ามีการจัดกิจกรรมอย่างเช่น ‘แล็บ’ ซึ่งเปิดประเด็นให้ผู้เข้าร่วมได้ทดลองกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้ใหม่ๆ 

อีกส่วนหนึ่งที่โดดเด่นมากเรียกว่า Braindates ซึ่งจะเป็นกิจกรรมที่ใช้เวลา 30 นาที ที่คนมากกว่าสองคนจะมานัดเจอกันผ่านแอปพลิเคชั่น Klik เพื่อถกเถียงหารือในเรื่องที่สนใจร่วมกัน เช่น มาแชร์ปัญหากันว่าการขับเคลื่อนเรื่องรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศต่างๆ เจออุปสรรคอะไรบ้าง จะทำอย่างไรที่จะช่วยลดอุณหภูมิโลกให้ร้อนน้อยลง ฯลฯ 

ด้วยรูปแบบกิจกรรมลักษณะนี้ ผู้เข้าร่วมก็จะไม่ต้องเขินกันมากนัก เพราะมาเจอกันกลุ่มไม่ใหญ่ ด้วยประเด็นความสนใจเรื่องหนึ่งๆ ร่วมกัน และก็ใช้เวลาไม่นาน ไม่ต้องเสียเวลาอึดอัด เป็นกิจกรรมที่เหมาะทั้งกับมนุษย์เนิร์ดขี้อายและคนที่ชอบเข้ากลุ่มเข้าสังคม

4. ซัมมิตที่มีเกมที่พาเราออกจากกรอบคิดเดิมๆ

หากเหนื่อยจากการนั่งฟังหรือพูดคุยแล้ว มูฟวิ่งออนก็มีพื้นที่ให้หลบมุม ไม่ว่าจะนั่งที่โซนบาร์และร้านอาหาร หรืออีกตัวเลือกก็คือ การเข้าห้องเกม โดยแต่ละปีก็จะเลือกสรรเกมที่ช่วยให้เราได้คิดทบทวนเกี่ยวกับตัวตนเราเอง ความสัมพันธ์ของเรากับคนอื่นๆ การทำงานหรือใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่น ฯลฯ

ในปีนี้ หนึ่งในกิจกรรมที่มูฟวิ่งออนเลือกมา มีชื่อว่า The slow-lab ห้องพิเศษที่สร้างขึ้นมาเพื่อชวนให้เราค่อยๆ ใช้เวลาเพื่อคิดตรองในสิ่งที่เราอาจจะมองข้ามไป โดยเค้นให้ลองค้นหาโจทย์ใหม่ๆ ผ่านการเพ่งมองภาพศิลปะอย่างช้าๆ วนซ้ำไปมา โดยอยู่กับชุดคำถามที่ผู้จัดเตรียมเอาไว้

กิจกรรมนี้ท้าให้ผู้เข้าร่วมได้ฝึกลองมองสิ่งต่างๆ รอบตัวด้วยสายตาใหม่ๆ ก้าวข้ามสมมติฐานเก่าๆ และเช่นเดียวกัน ก็ชวนให้คุณลองสร้างกระบวนการนี้กับเรื่องอื่นๆ เผื่อจะสามารถมองเห็นทางออกอื่นๆ ที่เป็นไปได้

5. ทำตามคำสัญญาจากปีก่อน นวัตกรรมความคืบหน้าเรื่องยางไร้ลม

เนื่องจากงานมูฟวิ่งออนครั้งนี้จัดขึ้นเป็นปีที่สามแล้ว ปีที่แล้ว พันธกิจที่ทุกคนพูดซ้ำๆ และย้ำๆ ด้วยกันก็คือเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนและการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยมิชลิน เคยทิ้งไอเดียเกี่ยวกับการพัฒนายางรถยนต์เอาไว้ จากปัญหาที่พบว่า แต่ละปีมียางรถยนต์ราว 200 ล้านเส้นถูกแปรรูปเป็นเศษยางก่อนเวลาอันควรจากปัญหายางแตกรั่ว ปีก่อนหน้านี้ มิชลินจึงเสนอแนวคิด ‘Vision’ ที่จะพัฒนานวัตกรรม 4 ข้อ คือ ทำให้ยางรถยนต์ไม่ต้องเติมลมยาง (Airless) สามารถทำงานบนระบบที่เชื่อมต่อได้ (connected) ใช้เทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติ (3D Printing) และมีความยั่งยืน เพราะเป็นผลิตภัณฑ์ที่นำวัสดุกลับมาใช้ใหม่ได้เนื่องจากผลิตจากวัสดุธรรมชาติหรือวัสดุหมุนเวียน 100% แต่ยังเป็นเพียงไอเดียในห้องแล็บ

มาปีนี้ หนีไม่พ้นที่คนต้องเฝ้ารอความคืบหน้าว่าแล้วจะมีนวัตกรรมใหม่ๆ อะไรออกมาบ้าง ซึ่งสิ่งที่เป็นไฮไลต์ที่สุดของงาน คือการเปิดตัวโปรโตไทป์ยางรุ่นใหม่ ซึ่งมาต่อเนื่องจากคำสัญญาในปีก่อน ที่มิชลินและองค์กรเพื่อนๆ กำลังหาวิธียืดอายุการใช้งานยางรถยนต์เพื่อประหยัดทรัพยากรและลดขยะที่ไม่จำเป็น และจะทำให้ยางรถยนต์ฉลาดขึ้นด้วยเทคนิคการซ่อมแซมแบบใหม่ๆ ซึ่งครั้งนี้ เอริค ไวเนสส์ (Eric Vinesse) รองประธานบริหารฝ่ายวิจัยและพัฒนาของกลุ่มมิชลิน และสตีฟ ไคฟ์เฟอร์ (Steve Kieffer) จากเจเนอรัล มอเตอร์ส (General Motors) ก็เผยโฉมโปรโตไทป์ยาง ‘อัพทิส’ (Uptis) ชุดยางล้อไร้ลม ซึ่งจะติดตั้งกับรถยนต์พลังงานไฟฟ้าอย่าง เชฟโรเลต โบลต์

นวัตกรรมยางไร้ลมตัวใหม่นี้ผ่านการวิจัยมานับสิบปี จุดเด่นที่มันไร้ลม ก็แปลว่าจะไม่เกิดปัญหายางรั่วและยางแตก และผลิตขึ้นมาจากวัตถุดิบที่สามารถนำไปหมุนเวียนใช้งานต่อให้ได้มากที่สุด และในกรณีที่ยางเกิดสึกหรอ ก็ใช้ระบบการพิมพ์สามมิติเข้าไปช่วยแก้ปัญหาดอกยางได้ แม้ตอนนี้ยังเป็นโปรโตไทป์ แต่ตั้งเป้าจะให้ใช้งานได้จริงภายในปี 2024

การเปิดตัวโปรโตไทป์ยางไร้ลม เป็นการรายงานถึงความคืบหน้าที่องค์กรขนาดใหญ่แสดงออกว่า ที่ผ่านมาไม่ได้พูดถึงความยั่งยืนเพียงแค่แง่มุมของการทำซีเอสอาร์ แต่จริงจังและจริงใจกับการค้นคว้าหาทางออกเพื่อการสัญจรในอนาคต

Fact Box

Movin’On เป็นงานระดับโลกว่าด้วยการสัญจรอย่างยั่งยืน จัดขึ้นปีละครั้งโดยบริษัท มิชลิน ผู้ผลิตและจำหน่ายยางรถยนต์ และองค์กรพันธมิตร โดยมีผู้เข้าร่วมเป็นผู้นำในภาครัฐ ธุรกิจ ประชาสังคม และสื่อมวลชน รวมกว่า 5,000 คน สำหรับงานในปี 2019 จัดขึ้นที่มอนทรีอัล ประเทศแคนาดา เมื่อวันที่ 4-6 มิถุนายน 2019

Tags: , , , , , , , , , ,