ไฟไหม้บ้านเป็นสิ่งที่พ่อแม่ทุกคนกลัว แม้เสียงเตือนภัยจะดัง แต่ลูกๆ ก็ยังคงนอนหลับสนิท เพราะกว่า 50% ของการเกิดไฟไหม้ส่วนใหญ่เกิดเวลากลางคืน ซึ่งมีความเสี่ยงหลักก็จากการนอนหลับนั่นเอง โดยเฉพาะเด็กที่อายุระหว่าง 5-12 ปีเป็นกลุ่มเสี่ยงที่สุด เพราะว่าไม่ค่อยตื่นจากเสียงเครื่องจับควัน เนื่องจากเด็กนอนหลับยาวกว่าผู้ใหญ่ หลับลึกนานกว่า และต้องกระตุ้นด้วยเสียงเยอะกว่าเพื่อปลุกให้ตื่น

เมื่อปลุกยาก ก็ทำให้การหนีออกจากบ้านที่ไฟไหม้ต้องใช้เวลามากกว่า จึงนำไปสู่อัตราการบาดเจ็บและตายสูงกว่า นักวิจัยจากศูนย์วิจัยที่ศึกษาการบาดเจ็บและนโยบายร่วมกับโรงพยาบาลเด็กแห่งชาติในโอไฮโอจึงทดลองหาเสียงเตือนแบบต่างๆ เพื่อปลุกเด็กๆ

ในอดีตเสียงของแม่ที่เรียกชื่อเด็กได้ผลดีกว่าเสียงความถี่สูงของเสียงเตือนภัยไฟไหม้ปกติ แต่นักวิจัยไม่แน่ใจว่าเสียงเตือนนี้จะทำงานได้ดีในบ้านหรือไม่ งานวิจัยล่าสุดนี้จึงพยายามตอบคำถามนี้

นักวิจัยสร้างฉากที่เหมือนกับบ้านเพื่อทดสอบเสียงเตือนภัยที่ใช้เสียงของแม่ มีเด็ก 176 คน อายุระหว่าง 5-12 ปี เข้าร่วมทดสอบ ซึ่งใช้เวลาในตอนเย็นที่บ้านจำลองนี้และถูกเฝ้าดูโดยสายไฟที่ใช้มอนิเตอร์สมองตอนที่หลับ เมื่อเด็กเข้าสู่ช่วงที่หลับลึกที่สุด เสียงเตือนภัยแบบต่างๆ จะดังขึ้น 4 แบบ

เสียงเตือนแบบหนึ่งที่มีเสียงแหลมสูงที่เรามักได้ยินตามบ้าน ส่วนอีก 3 แบบเป็นเสียงของแม่เด็ก เรียกชื่อเด็ก และมีคำแนะนำร่วมด้วย เช่น “ตื่น ตื่น ออกจากห้อง!”  

ผลออกมาว่าเสียงพูดของคนมีประสิทธิภาพมากกว่าเสียงแหลมสูงที่เตือนจากเครื่อง ขณะที่การมีข้อความประกอบเสียงพูดมีผลเล็กน้อย เด็กประมาณ 90% ตื่นเพราะได้ยินเสียง ขณะที่เด็กเพียง 53% ตื่นจากเสียงเตือนแบบที่ใช้กันอยู่ เมื่อดูที่การหนีออกมาได้ เด็ก 85% หนีออกมาได้ภายในเวลา 5 นาที หลังจากที่ได้ยินเสียงแม่ ส่วนเสียงแหลมสูงแบบปกติ เด็กหนีออกมาได้ประมาณ 50% เท่านั้น

นอกจากนี้ยังพบว่าเด็กนอนหลับได้ยินเสียงแม่ปลุกตื่นมากกว่าเสียงเตือนธรรมดา 3 เท่า และใช้เวลาน้อยกว่าในการหนีตามคำสั่งด้วย เด็กๆ ที่ได้ยินเสียงแม่ใช้เวลาลุกออกจากฟูก 2 วินาที โดยไม่เกี่ยงว่าจะใช้คำพูดว่าอะไร ส่วนการใช้เสียงเตือนภัยปกติใช้เวลามากกว่า 2.30 นาที

“เสียงจากเครื่องเตือนภัยปลุกเด็กๆ ที่อายุต่ำกว่า 12 ปีไม่ดีนัก แต่ก็ยังไม่รู้เหตุผล” นายแพทย์แกรี สมิธ (Gary Smith) หนึ่งในนักวิจัยจากโรงพยาบาลเด็กแห่งชาติที่โอไฮโอกล่าว เด็กๆ ที่อายุ 5 ปีสามารถช่วยตัวเองได้ สิ่งสำคัญก็คือหาทางพัฒนาเสียงเตือนภัยที่ดีขึ้น

สมิธกล่าวว่าถึงตอนนี้ทีมวิจัยต้องการศึกษาว่าเสียงอื่นๆ นอกจากเสียงแม่ที่มีประสิทธิภาพแบบเดียวกัน หรือเพศมีผลหรือไม่ “เป้าหมายของเราอยู่ที่มีสิ่งที่สามารถพัฒนาเป็นต้นแบบได้ แค่หยิบออกมาใช้ได้เลย และมีประสิทธิภาพในการปลุกเด็กในวัยนี้” เขากล่าว

ริค ฮิลตัน (Rick Hylton) จากสภาดับเพลิงแห่งชาติยินดีกับผลการศึกษานี้ แต่บอกว่าคนไม่ควรจะกังวลว่าเสียงเตือนที่ใช้อยู่ตอนนี้มีประสิทธิภาพมากแค่ไหน “เรารู้ว่าเสียงจากเครื่องเตือนควันช่วยชีวิตได้ ถ้ามันทำงาน ได้รับการติดตั้งอย่างถูกวิธี  มันจะเตือนคนที่นอนอยู่ได้เร็ว พ่อแม่ ผู้ใหญ่หรือผู้ปกครองของเด็กๆ จึงสามารถปลุกเด็กและออกจากบ้านได้ทัน” ฮิลตันยังบอกว่าเด็กๆ ควรจะรู้แผนการหนีออกมาด้วย

 

ที่มา:

https://www.theguardian.com/science/2018/oct/25/recording-of-mothers-voice-more-effective-than-smoke-alarm-study-finds

https://abcnews.go.com/Health/moms-voice-wake-sleeping-child-traditional-smoke-alarm/story?id=58739988

https://www.reuters.com/article/us-health-fire-child-alarms/smoke-alarms-with-moms-voice-wake-kids-up-faster-idUSKCN1MZ2WN

 

Tags: ,