เนื่องในโอกาสที่วันแม่ของไทยจะเวียนมาบรรจบอีกครั้ง สัปดาห์นี้เราจะไปดูกันว่า คุณแม่เกี่ยวข้องอะไรกับสถานศึกษา ภาพยนตร์ เดอะเมทริกซ์ และรถไฟใต้ดิน
เรียกแม่สิลูก
ในภาษาอังกฤษ คำสามัญที่สุดที่ใช้เรียกแม่ก็คือ mother แต่ในชีวิตประจำวันทั่วไป คนมักคำย่นย่อกว่านี้ เช่น mom (แบบอเมริกัน) mum (แบบอังกฤษ) ไม่ก็ mama หรือ ma เฉยๆ
นอกจากจะใช้เรียกแม่บังเกิดเกล้าแล้ว mother ยังไปโผล่ในคำอื่นๆ ที่ใช้เรียกสิ่งที่เรามองว่ามีคุณสมบัติคล้ายแม่ เช่น Mother Nature หรือ Mother Earth เทียบแบบไทยๆ ก็คือ พระแม่ธรณี ผู้อุ้มชูหล่อเลี้ยงมนุษย์และสรรพสัตว์ หรือแม้กระทั่ง motherboard หรือแผงวงจรแม่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ควบคุมและเชื่อมโยงอุปกรณ์ต่างๆ เข้าด้วยกัน นอกจากนั้นยังปรากฏในคำที่เกี่ยวกับชาติกำเนิดของเราด้วย เช่น mother country ที่หมายถึง มาตุภูมิ และ mother tongue ที่หมายถึง ภาษาแม่
คำว่า mother นี้มาจาก modor ในภาษาอังกฤษเก่า ซึ่งหากสืบสาวกลับไปอีกจะพบว่ามาจากรากภาษาโปรโตอินโดยูโรเปียน *mater- ซึ่งเป็นที่มาของคำที่หมายถึง แม่ ในหลายๆ ภาษา แม้แต่ มาตา หรือ มารดา ที่เรายืมมาจากภาษาบาลีสันสกฤตก็ยังมาจากรากนี้
ในภาษาละตินก็มีคำที่หมายถึงแม่ที่พัฒนามาจากรากนี้เช่นเดียวกัน นั่นคือ mater ซึ่งปรากฏในคำภาษาอังกฤษหลายคำ เช่น maternal หมายถึง เกี่ยวกับแม่ เช่น maternal bond คือ สายสัมพันธ์ระหว่างแม่ลูก หรือ maternal instinct คือ สัญชาตญาณความเป็นแม่ คำนี้หากใช้กับญาติจะหมายถึง ฝ่ายแม่ เช่น maternal aunt ก็คือ ป้าฝั่งแม่ หรือ น้าสาว (เรียกอย่างจีนคือ อาอี๊)
คำนี้มีคำนามคือ maternity หมายถึง ความเป็นแม่ คำนี้มักใช้ประกอบกับคำอื่นๆ ไปประกบกับคำไหน ก็จะเกี่ยวกับความเป็นแม่ขึ้นมา เช่น maternity clothes ก็จะหมายถึง ชุดคลุมท้อง maternity ward คือ แผนกหรือหอผู้ป่วยสำหรับคลอดบุตร และ maternity leave หมายถึง การลาคลอดบุตรนั่นเอง (อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่)
สถานศึกษา
คำว่า mater ที่แปลว่า แม่ ในภาษาละตินนี้ ยังปรากฏคำอื่นในภาษาอังกฤษที่ดูจะไม่เกี่ยวข้องกับแม่เท่าไรด้วย หนึ่งในคำเหล่านั้นก็คือ alma mater หมายถึง สถานศึกษาที่เราเคยเข้าเรียน มาจาก alma ที่แปลว่า หล่อเลี้ยง ฟูมฟัก มารวมกับ mater ที่หมายถึง แม่ รวมกันแล้วหมายถึง แม่ที่เป็นผู้ฟูมฟักเรามา เนื่องจากโรงเรียนเป็นแหล่งประสิทธิ์ประสาทวิชาและอุ้มชูหล่อเลี้ยงสติปัญญาของเรา ภายหลังจึงนำมาใช้หมายถึง โรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยที่เราเคยเข้าเรียน นั่นเอง
เดอะเมทริกซ์
คำว่า mater ในภาษาละตินนี้ ยังเป็นที่มาของคำว่า matrix ที่นำมาตั้งเป็นชื่อภาพยนตร์ เดอะเมทริกซ์ อีกด้วย แต่เดิมในภาษาละติน matrix แปลว่า ครรภ์ หรือ มดลูก ต่อมาในภายหลังจึงนำมาใช้หมายถึง แหล่งกำเนิด หรือ แม่พิมพ์ แม้แต่เนื้อเยื่อที่สร้างเส้นผมและเล็บก็เรียกว่า matrix เช่นกัน นอกจากนั้น ยังเอาไปใช้เรียกสิ่งที่ห่อหุ้มสิ่งอื่นคล้ายครรภ์มารดาด้วย เช่น เมทริกซ์ ในวิชาคณิตศาสตร์ ซึ่งเป็นตารางที่บรรจุชุดตัวเลขลงไปได้ เรียงเป็นแถวและสดมภ์ เขียนในเครื่องหมายวงเล็บสี่เหลี่ยม
ทั้งนี้ ภาพยนตร์เรื่อง เดอะเมทริกซ์ ได้ชื่อมาจากระบบความจริงเสมือนในเรื่องที่เครื่องจักรสร้างขึ้น หากใครจำได้ว่านีโอพระเอกของเรื่องตื่นขึ้นมาเห็นมนุษย์อยู่ในสภาพไหนหลังกินยาเม็ดสีแดง ก็คงจะพอเข้าใจว่าทำไมผู้สร้างจึงนำคำที่หมายถึง ครรภ์ มาใช้เรียกระบบนี้
แต่ matrix ในภาษาละตินยังมีอีกความหมายหนึ่งด้วย คือ รายชื่อหรือทะเบียน เป็นต้นตอของคำว่า matriculation ที่แปลว่า การรับเข้าเป็นนิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัย ในภาษาอังกฤษด้วย
รถไฟใต้ดิน
อีกคำหนึ่งที่มี แม่ ซ่อนอยู่ในรากศัพท์ คือคำว่า metropolitan ซึ่งเป็นคุณศัพท์ของคำว่า metropolis อีกที มาจาก meter ในภาษากรีก แปลว่า แม่ มารวมกับ polis ที่แปลว่าเมือง เช่นที่พบในคำว่า politics, polite และ police เดิมทีหมายถึงเมืองใหญ่ที่ปกครองเมืองอื่นอีกที ให้ภาพเหมือนเมืองแม่ที่ดูแลเมืองลูกในอาณัติ แต่ปัจจุบันใช้หมายถึงเมืองขนาดใหญ่หรือมหานคร
คำว่า metropolitan มักปรากฏในชื่อองค์กรที่เกี่ยวกับเมืองขนาดใหญ่ เช่น Bangkok Metropolitan Administration ก็จะหมายถึง กรุงเทพมหานคร ที่เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
แล้วแม่มาเกี่ยวกับรถไฟใต้ดินได้อย่างไร
คำว่า รถไฟใต้ดิน ภาษาอังกฤษมีคำเรียกหลายคำ ถ้าฝั่งอังกฤษก็มักเรียกว่า the Underground หรือ the Tube ส่วนฝั่งอเมริกันก็จะเรียกว่า subway แต่ถ้าเป็นรถไฟใต้ดินในเมืองใหญ่หลายแห่ง เช่น ปารีสและวอชิงตันดีซี ก็มักเรียกว่า Metro
คำว่า Metro นี้ ว่ากันว่าเริ่มใช้ครั้งแรกในกรุงปารีส รถไฟใต้ดินของกรุงปารีสมีชื่อเต็มว่า Chemin de Fer Métropolitain แต่ครั้นจะเรียกชื่อเต็มก็คงไม่สะดวกปาก จึงย่นย่อเหลือเพียง Metro
และเป็นที่มาของ Metro ในเมืองใหญ่อื่นๆ ด้วยเหตุนี้รถไฟใต้ดินจึงมาโยงกับแม่ได้นั่นเอง
บรรณานุกรม
American Heritage Dictionary of the English Language
Ayto, John. Word Origin: The Hidden Histories of English Words from A to Z. 2nd ed. A&C Black: London, 2008.
Barnhart, Robert K. The Barnhart Concise Dictionary of Etymology: The Origins of American English Words. H. W. Wilson: New York, 1995.
Claiborne, Robert. The Roots of English: A Reader’s Handbook to Word Origins. Random House: New York, 1989.
Cresswell, Julia. Oxford Dictionary of Word Origins. OUP: New York, 2009.
Funk, Wilfred. Word Origins: A Classical Exploration of Words and Language. Gramercy Books: New York, 2008.
Merriam-Webster Dictionary
Oxford Advanced Learners’ Dictionary
Shipley, Joseph T. The Origins of English Words: A Discursive Dictionary of Indo-European Roots. John Hopkins University Press: Maryland, 1984.
Shorter Oxford English Dictionary
The Merriam-Webster New Book of Word Histories. Merriam-Webster, 1991.
Watkins, Calvert. The American Heritage Dictionary of Indo-European Roots. 3ed., Houghton Mifflin Harcourt: New York, 2011.
Tags: แม่, คำศัพท์ภาษาอังกฤษ