ดูเหมือนว่าเส้นขนานที่ 38 ซึ่งเป็นเส้นแบ่งเขตสำคัญระหว่างเกาหลีเหนือและใต้กำลังค่อยๆ จางหายไป  หลังจากเมื่อ 19 กันยายน 2561 ที่ผู้นำเกาหลีใต้ ประธานาธิบดีมุนแจอิน และผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือ คิมจองอึน พบปะกันเป็นครั้งที่ 3 หลังพบกันไปเมื่อเดือนเมษายนและพฤษภาคมที่ผ่านมา

ที่ทั่วโลกตื่นเต้นคือ นี่ยังเป็นครั้งแรกที่ประธานาธิบดีมุนเดินทางไปเปียงยาง เมืองหลวงของสาธารณรัฐเกาหลีเหนือ

เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2561  คิมจองอึนและภรรยา ลีซอลจู  เดินทางมาต้อนรับมุนแจอินและภรรยา คิมจองซุก ซึ่งเดินทางมาถึงสนามบิน ในเมืองเปียงยางด้วยตนเอง และโดยสารรถยนต์เปิดประทุนคันเดียวกัน และร่วมทักทายประชาชนชาวเกาหลีเหนือที่มาร่วมต้อนรับกันอย่างหนาแน่นตลอดสองข้างทางที่พร้อมใจกันส่งเสียงกู่ร้องว่า  “สันติภาพและความเจริญ” และ “เกาหลีรวมเป็นหนึ่ง”

ผู้นำคิมยังกล่าวอีกว่า ในอนาคตอันใกล้นี้ อาจมีโอกาสได้เดินทางไปที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ ในช่วงปลายปีนี้ แต่ยังไม่มีการยืนยันถึงกำหนดการที่แน่ชัด

อย่างไรก็ดี นี่ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งประวัติศาสตร์ นายมุนกล่าวว่า การพบปะในครั้งนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของอนาคต โดยทั้งตัวเขาและคิมจะร่วมมือร่วมใจกันอย่างเต็มที่เพื่อนำไปสู่ข้อตกลงที่ดีที่สุด

    ความสัมพันธ์ระหว่างเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้มีแนวทางพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น หลังจากเกิดสงครามคาบสมุทรเกาหลีที่ล่วงเลยมาเป็นเวลากว่า 65 ปี สงครามยังคงดำเนินมาถึงปัจจุบัน เพียงแต่ปัจจุบันมีการประกาศหยุดยิงเท่านั้น

การพบปะครั้งนี้ สร้างความคาดหวังจากทั่วโลกว่าจะได้เห็นความคืบหน้าและความเป็นไปได้ที่จะมีการถอดถอนอาวุธนิวเคลียร์ถาวรเสียที หลังจากมีการกดดันของนานาชาติ โดยมีสหรัฐอเมริกาเป็นแกนนำหลัก

ความหวังการรวมชาติ

การประชุมของผู้นำทั้งสองในรอบปี 2018 นี้ ทิ้งช่วงห่างจากรอบที่แล้วถึง 11 ปี ที่ประธานาธิบดีเกาหลีใต้เดินทางเยือนเมืองเปียงยางในเดือนตุลาคม  2007 โดยมีแนวโน้มว่า ความตึงเครียดระหว่างชายแดนจะลดลง ด้วยทั้งสองฝ่ายตกลงกันว่าจะมีเขตกันชน (Buffer zone) บริเวณทะเลเหลือง และยังระงับการยิงปืนและการฝึกซ้อมทางทะเล และกำหนดเป็นเขตปลอดการบิน (no-fly zone)  และยังมีการลดระดับการใช้อาวุธในเขตชายแดนอีกด้วย

อีกสิ่งที่ถือเป็นปรากฎการณ์สำคัญในการพบปะครั้งนี้ คือการเข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิก 2020 ที่จะจัดขึ้น ณ กรุงโตเกียว ร่วมกันในฐานะ ‘เกาหลี’ และวางแผนจะจัด การแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อนร่วมกัน ในปี 2032 อีกด้วย

การทดสอบขีปนาวุธ

  ถือเป็นหัวข้อสำคัญที่นานาชาติต่างจับตามอง ในกรณีการทำข้อตกลงการถอดถอนอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ โดยมีการแสดงเจตนารมณ์ของทั้งสองฝ่ายว่า ต้องการให้คาบสมุทรเกาหลีเป็นเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์โดยสิ้นเชิง

แต่ต้องยอมรับว่า ในทางปฏิบัติก็ยังถือเป็นเรื่องยาก นายมุนเองก็ยังออกมายอมรับว่าไม่ใช่ง่ายเลยที่จะยุติอาวุธนิวเคลียร์แบบ ‘ถาวร’ ในเกาหลีเหนือ อย่างไรก็ตาม นายมุนยังคงยืนยันว่า จากความสัมพันธ์ที่ดีของทั้งสองฝ่าย น่าจะเป็นโอกาสที่นำไปสู่ข้อตกลงดังกล่าวได้ในอนาคต  

ด้านเกาหลีเหนือก็แสดงความพร้อมในการถอดถอนอาวุธนิวเคลียร์ โดยเปิดโอกาสให้ผู้เขี่ยวชาญจากต่างประเทศเข้ามาตรวจสอบฐานการทดสอบการปล่อยอาวุธนิวเคลียร์ในจังหวัดดงชางริ ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของเกาหลีเหนือ ถือเป็นศูนย์กลางการทดสอบขีปนาวุธหลักของเกาหลีเหนือ และ จังหวัดยงบยอนซึ่งเกาหลีเหนืออ้างว่าเป็นฐานทดสอบหลัก

ซอ จีซอก ผู้จัดการวิจัย ณ สถาบันเกาหลีเหนือศึกษากล่าวว่า ฐานทดสอบขีปนาวุธทั้งสองนั้นล้าสมัยมาก แต่เกาหลีเหนือเองยังมีฐานปล่อยอาวุธนิวเคลียร์แบบเคลื่อนที่ที่ง่ายต่อการปฎิบัติการณ์และยากต่อการติดตาม หรืออาจกล่าวได้ว่า เกาหลีเหนืออาจจะยังมีอะไรที่ปิดบัง และยังไม่สามารถการันตีได้ว่า การถอดถอนนิวเคลียร์จะเกิดขึ้นได้จริง

ที่ปรึกษาด้านความปลอดภัยของเกาหลีใต้ ชอง อึยยง กล่าวว่า บทบาทของสหรัฐฯ เป็นตัวแปรสำคัญในการสร้างสันติภาพในคาบสมุทรเกาหลี ด้วยมาตรการการคว่ำบาตรจากสหรัฐอเมริกานี้เองที่มีบทบาทมากต่อความสัมพันธ์ของทั้งสองเกาหลี ซึ่งท่าทีของสหรัฐที่ยังคงต่อต้านอยู่เช่นนี้เอง ส่งผลต่อกลุ่มนักธุรกิจชั้นนำที่ไม่สามารถดำเนินข้อตกลงทางการค้ากับเกาหลีเหนือได้ และยังมีความกังวลในศักยภาพของเศรษฐกิจเกาหลีเหนือที่แท้จริงหลังจากการถอดถอนการปล่อยขีปนาวุธ

แต่อย่างไรก็ตามผู้เขียนยังคงมองว่า แม้แนวทางการรวมชาติและการก้าวเข้ามามีที่ยืนของเกาหลีเหนือต่อสายตานานาชาติโดยไร้อาวุธนิวเคลียร์นั้นยังคงเป็นไปได้จริงยาก แต่พันธกิจการพบปะหลายครั้งในปีนี้ เป็นด้านบวกต่อตัวประธานาธิบดีมุน เพราะทำให้เขาและเกาหลีใต้มีที่ยืนในสังคมประชาชาติมากยิ่งขึ้น เช่นเดียวกับที่ ไมเคิล แมดเดิล นักวิเคราะห์ที่ศูนย์วิจัยสติมซัน (The Stimson Centre’s 38 North think tank) ณ กรุงวอชิงตัน ที่มองว่า ประธานาธิบดีมุนอาจไม่ได้ทุกอย่างตามข้อเสนอในข้อตกลงที่เขาวางแผนไว้ แต่คิมก็ยังคงให้การตอบรับบางอย่าง ที่ท้ายที่สุดแล้ว ส่งผลดีต่อประธานาธิบดีมุน และยังสามารถนำไปเป็นเครดิตของตัวเขาได้ในสายตานานาชาติ

 

อ้างอิง:

  • https://www.washingtonpost.com/world/south-koreas-moon-travels-to-pyongyang-in-bid-to-revive-stalled-nuclear-talks/2018/09/17/d5b401fa-ba5c-11e8-b1c5-7a2126bc722c_story.html?utm_term=.31f592918ac1
  • https://www.reuters.com/article/us-northkorea-southkorea-summit-mountain/fulfilling-a-dream-south-koreas-moon-visits-sacred-north-korean-mountain-with-kim-idUSKCN1M006F
  • https://www.nytimes.com/2018/09/18/world/asia/moon-jae-in-pyongyang-kim-jong-un-summit.html?action=click&module=Top%20Stories&pgtype=Homepage
Tags: , ,