ถ้าเรามีไอเดียที่เชื่อว่าสามารถพัฒนาต่อให้เกิดขึ้นจริงได้ ไม่ว่าไอเดียนั้นจะเป็นงานสร้างสรรค์ ศิลปะ ผลิตภัณฑ์ หรือกิจกรรมเพื่อสังคม แต่ก็เกินกำลัง เพราะทุกอย่างต้องเริ่มต้นด้วยเงินทุน เราจะทำอย่างไร?
หยิบยืมเงินใครสักก้อน ทำเรื่องขอกู้เงินกับธนาคาร นำทรัพย์สินไปแปลงเป็นเงิน พับความฝันนั้นเก็บลงกล่อง หรือจะประกาศความฝันเพื่อหาแนวร่วม และสร้างให้มันเป็นจริงขึ้นมา
การสานฝันด้วยการระดมทุนจากมวลชน หรือ Crowdfunding ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพียงแต่ในอดีตอาจเกิดขึ้นแค่ในสังคมกลุ่มย่อย แต่เมื่อการสื่อสารผ่านสื่อโซเชียลแพร่ไวอย่างไม่มีพรมแดนจำกัด การเปิดแคมเปญเพื่อรวบรวมทุนไปใช้ประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง จึงเกิดขึ้นผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลมากหน้าหลายตา
และ ‘เอซิโอลา’ (Asiola) คือแพลตฟอร์มเพื่อการระดมทุนสาธารณะแพลตฟอร์มหนึ่งของเมืองไทย ที่เป็นเสมือนสื่อกลางพาเจ้าของแคมเปญและผู้ให้การสนับสนุนได้มาเจอกัน หากแคมเปญนั้นเข้าตาและเห็นด้วยว่าอยากให้เกิดขึ้นจริง ผู้สนับสนุนสามารถใส่วงเงินสนับสนุนที่ตั้งใจเอาไว้ก่อน จนกว่าจะมีผู้ร่วมสนับสนุนรายอื่นเข้ามาสมทบจนครบจำนวนที่เจ้าของแคมเปญตั้งเอาไว้ จึงค่อยจ่ายเงินตามจริง เพื่อให้เจ้าของไอเดียนำไปสานต่อโครงการให้เกิดขึ้นจริง โดยมีของตอบแทนผู้ให้การสนับสนุนตามที่เจ้าของไอเดียกำหนดเอาไว้แทนคำขอบคุณ
เจ-มณฑล จิรา คนทำดนตรีที่อยู่เบื้องหลังศิลปินดังหลายคนในเมืองไทย วางมือจากงานชั่วขณะเพื่อพูดคุยเรื่องนี้กับ The Momentum ระหว่างนี้เขากำลังอยู่ในช่วงเตรียมเทศกาลดนตรี Wonderfruit ที่จะมีขึ้นในเดือนธันวาคม และอีกส่วนหนึ่งก็ยังคงทำงานดนตรีของตัวเอง ด้วยความตั้งใจกับอัลบัมที่จะผ่านมือเขาทุกขั้นตอน ทั้งดนตรี ทำนอง การเรียบเรียง ไปจนถึงคำร้องและเสียงร้อง ที่หากเสร็จสมบูรณ์เมื่อไร แฟนๆ ก็จะได้ฟังกัน
ความที่อยู่กับงานดนตรีมาทั้งชีวิต จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจหากแพลตฟอร์มระดมทุนนี้จะเกิดขึ้นจากไอเดียเล็กๆ ที่ต้องการสนับสนุนศิลปินให้สร้างงานขึ้นมา และต่อยอดไปสู่การระดมทุนเพื่อกิจการสร้างสรรค์ ไปจนถึงกิจกรรมเพื่อสังคม ที่ผ่านมามีแคมเปญที่ประสบความสำเร็จราว 60 เปอร์เซ็นต์ จากแคมเปญทั้งหมด
เริ่มจากการระดมทุนสายดนตรี ขยายวงไปสู่กิจกรรมสร้างสรรค์สังคม
การเริ่มต้นของเอซิโอลาเกิดขึ้นเมื่อสองปีก่อน นอกจากเจแล้ว ยังมีผู้ร่วมก่อตั้งที่เคยทำงานดนตรีมาด้วยกัน ทั้ง ซานจี ทานดาน อดีตผู้บริหารสูงสุดของวอร์เนอร์ มิวสิค ในอังกฤษ คริส ฮวง และ จอน ลอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านไอทีและการตลาด ประณิธาน พรประภา นักธุรกิจเพื่อสังคม และขันเงิน เนื้อนวล แห่งวงไทยเทเนียม
“ช่วงนั้นคุณซานจีได้เข้าไปเป็นผู้ดูแลคนหนึ่งของแพลตฟอร์มทื่ชื่อว่า PledgeMusic เป็นแพลตฟอร์ม Crowdfunding สำหรับศิลปินโดยเฉพาะ ที่ไม่ได้ทำงานผ่านค่าย แต่หาทุนจากกลุ่มแฟนโดยตรง เขาก็มาคุยกับผมว่า สนใจทำอะไรแบบนี้ในเมืองไทยไหม โมเดลแบบนี้มันเริ่มต้นที่อังกฤษ แล้วก็ขยายไปสู่อเมริกา สแกนดิเนเวีย พอได้ฟัง ก็คิดว่าน่าสนใจดี เลยมาคุยต่อกับเพื่อนๆ แล้วก็ชวนขัน (ขันเงิน) เข้ามา ที่เริ่มต้นกับศิลปินเพราะเรามองว่าศิลปินบางคนไม่มีโอกาสสร้างงานแบบที่เป็นธุรกิจจริงๆ เพราะไม่มีสปอนเซอร์หรือค่ายสนับสนุน แต่เบอร์แรกๆ เราก็ชวนเพื่อนๆ เข้ามาทำก่อน มีไทยเทเนียม ฮิวโก้ พลอย หอวัง เยลโลว์ แฟง
“คนอาจมองว่า เราก็เห็นผลงานคนเหล่านี้มาตลอดอยู่แล้ว ไม่เห็นจำเป็นต้องมาสนับสนุนเลย เขาต้องการทุนด้วยเหรอ สิ่งหนึ่งที่พวกเขาอาจจะไม่ทราบก็คือ ศิลปินมีทุนสนับสนุนจากที่อื่น โดยที่คนดูเองก็ต้องเสพผลงานของเขาผ่านการซื้อเครื่องดื่มที่สปอนเซอร์ศิลปิน เวลาไปดูคอนเสิร์ต ต้องออกตังค์ไปดู ซึ่งการจ่ายเงินตรงนั้นมันมีอยู่แล้ว เพียงแต่มันไม่ได้สนับสนุนผ่านศิลปินโดยตรง เพราะการสนับสนุนโดยตรงแบบนี้ไม่ได้อยู่ในวัฒนธรรมของบ้านเรา
“แต่ศิลปินที่มีฐานแฟนกลุ่มใหญ่ ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะมาสนับสนุนศิลปินของเขาทุกคน เราเลยต้องมองหาวิธีอื่นด้วย อย่างช่วงแรกๆ เจ้าของแคมเปญเป็นคนกลุ่มที่เราไม่รู้จักเลย แต่กลับพบว่าแคมเปญของเขาได้รับการสนับสนุนที่ดีกว่า อย่างมีแคมเปญหนึ่งชื่อว่า Street Strength เขาทำเป็น Street Dancing ให้คนได้มาร่วมกิจกรรมกัน มีรางวัลด้วย เราไม่คิดว่าเขาจะมีคนติดตามหรือสนับสนุนเยอะ แต่กลับเป็นแคมเปญที่จบได้เร็ว ได้ทุนตามเป้าเร็วมาก แสดงว่าก่อนหน้านั้นที่เราคิดว่าแคมเปญของคนมีชื่อเสียงคนน่าจะสนใจมากกว่า ก็ไม่ใช่ กลับเป็นกลุ่มเล็กๆ ที่เขามี passion มีกลุ่มแฟนเฉพาะที่ชอบเขามากๆ และอยากสนับสนุน ตรงนี้ต่างหากที่สำคัญกว่าชื่อเสียงของคนสร้างแคมเปญ
“เอซิโอลาเป็น Reward Based Crowdfunding คือถ้าสนับสนุนก็จะได้ของตอบแทนกลับมา อาจจะเป็นผลิตภัณฑ์ หรือได้ซื้อผลงานจากแคมเปญในราคาพิเศษ แต่เราก็เห็นว่า บางเคสคนก็ยินดีสนับสนุนโดยไม่ได้อะไรตอบแทน อย่างแคมเปญชื่อ ‘ทำบุญได้บุญ’ เขาไปสร้างห้องน้ำให้กับวัดป่าที่เคยไปอยู่มา คนก็สนับสนุนเยอะ
“ช่วงหลังๆ แคมเปญที่ได้รับความสนใจมากจะเป็น Community Based Campaign อย่างล่าสุดมีการระดมทุนให้กับห้องสมุดเนียลสัน เฮส์ เพื่อนำไปปรับปรุงอาคารสถานที่ เพราะมีคนพูดกันว่าจะมีคนมาซื้อตึกนี้และทุบตึกทิ้งเพื่อสร้างอะไรใหม่ คนก็เข้ามาช่วยกันใหญ่เลย อีกอันหนึ่งที่น่าสนใจคือแคมเปญของพีท (ประณิธาน พรประภา) ที่ทำกับอาจารย์คามิน เลิศชัยประเสริฐ เปลี่ยนโฆษณาที่หุ้มรถไฟฟ้าให้เป็นงานศิลปะ เป็นศิลปะที่เคลื่อนที่ได้ เราอยากให้คนกรุงเทพฯ มีส่วนร่วม ซึ่งก็ประสบความสำเร็จ”
อีกแคมเปญที่ลุล่วงอย่างน่าประทับใจ คือ From Klongtoey to Concert Hall (จากคลองเตยสู่เวทีคอนเสิร์ต) ซึ่งระดมทุนสนับสนุนโรงเรียนสอนดนตรีอิมมานูเอลในชุมชนคลองเตย ให้เป็นค่าจ้างครูที่เข้าไปสอนและจัดหาเครื่องดนตรีเพื่อให้เด็กๆ ฝึกฝีมือ และมีโอกาสได้ไปแสดงบนเวทีคอนเสิร์ตจริงๆ แคมเปญนี้ได้การสนับสนุนไปกว่า 200 เปอร์เซ็นต์ จากที่ตั้งเป้าเอาไว้แค่ 50,000 บาทในตอนแรก
“เราก็เชียร์ต่อไปว่าถ้าได้ทุนถึงสามแสนจะเพิ่มเชลโลได้สองตัว พอถึงเป้า เราก็ขยับไปอีกว่าจะเพิ่มไวโอลินอีกสองตัว แล้วก็มีกลุ่มดนตรีอื่นเข้ามาทำแคมเปญ เช่นกลุ่มออร์เคสตราของคนตาบอด ออร์เคสตราเด็ก ออร์เคสตราผู้ใหญ่ก็มี เพราะพอมีตัวอย่างที่ทำสำเร็จ ก็กลายเป็นกำลังใจให้พวกเขา”
พื้นที่ที่จูงมือคนที่อยากทำอะไรดีๆ มาเจอกัน
มีอีกหลายแคมเปญน่าสนใจที่บรรลุเป้าหมาย เจยกตัวอย่างแคมเปญฟื้นฟูระบบนิเวศชายฝั่งทะเลตะวันออก และอนุรักษ์วิถีประมงพื้นบ้าน ด้วยการทำ ‘ชั้งเชือก’ โดยการนำเชือกไปผูกวางไว้ใต้น้ำเพื่อให้ปลาใช้เป็นที่อยู่ใหม่ โครงการ Right to Breathe (สิทธิที่จะสูดลมหายใจ) ที่กระตุ้นให้เกษตรกรตระหนักถึงโทษของการเผาป่า ซึ่งระดมทุนไปได้มากกว่าสองล้านบาท
“เราเองไม่ค่อยมีโอกาสรับรู้เรื่องเหล่านี้นัก เพราะเราอยู่กับดนตรีมาตลอด พอได้มาทำก็ได้เห็นว่ามีคนสนใจ และก็มีคนที่อยากจะทำเรื่องพวกนี้อยู่เยอะ ผมเอาเรื่องนี้ไปคุยกับเพื่อนคุณพ่อหรือผู้ใหญ่ในบริษัทต่างๆ ก็ได้รู้ว่าเขาเหล่านั้นรู้จักเอซิโอลาด้วย เอ๊ะ เขานั่งดูเว็บไซต์พวกนี้ด้วยเหรอ แสดงว่าแคมเปญทำเรื่องดีๆ เพื่อช่วยเหลือคนอื่น ช่วยเหลือสังคมนั้น มีคนสนใจนะ
“การสร้างแพลตฟอร์มนี้ขึ้นมา มันเหมือนเปิดโอกาสให้คนได้รวบรวมความคิด พอมีคนสร้างแคมเปญแบบนี้ขึ้นมาแล้วสำเร็จ คราวหน้าพอมีปัญหาแบบเดียวกัน เขาก็อาจเข้ามาสร้างแคมเปญระดมทุนบ้าง คนที่อยากจะช่วยเหลือคนอื่น บางทีเขาก็ไม่รู้ว่าจะทำยังไง ไปที่ไหน ไม่รู้ใครต้องการความช่วยเหลือ พอมีพื้นที่ตรงนี้ เขาก็มาสนับสนุนได้เลย”
“เราก็ทำรีเสิร์ชดูเหมือนกันว่า คนที่เข้ามาในแพลตฟอร์มของเรามาจากไหน เป็นยังไง ก็เห็นว่าค่าเฉลี่ยของคนที่เข้ามาในเว็บไซต์เราค่อนข้างสูง ค่าเฉลี่ยต่อแคมเปญในการสนับสนุนอยู่ที่ 3,000-3,200 บาท ซึ่งสูงกว่าที่เราคาดไว้เยอะมาก เราคิดว่าการสนับสนุนของคนทั่วไปน่าจะอยู่ที่ 150 บาท หรือ 500 บาท นั่นแสดงว่าคนที่เข้ามาสนับสนุนเป็นกลุ่มที่มีกำลัง และอยากเห็นโครงการแบบนี้เกิดขึ้น ซึ่งเราก็คิดว่าดี แต่ผมก็คิดว่าคนที่เข้ามา ถ้าเป็นคนกลุ่มนั้นกลุ่มเดียว ก็แสดงว่ายังน้อย ไม่ได้ mass แล้วคนที่เข้ามาแต่ไม่ได้สนับสนุน เขามองหาอะไร เราจึงพยายามมีแคมเปญหลายๆ แบบ เพื่อจะได้หาดูว่า การเข้ามาของคนแต่ละกลุ่ม เขามีพฤติกรรมการสนับสนุนยังไง”
มีไอเดีย อยากสร้างแคมเปญ ต้องทำอย่างไร
แต่ละวัน เอซิโอลามีคนเสนอแคมเปญเข้ามา 4-5 แคมเปญ แรกเริ่มเดิมที แคมเปญที่จะมีโอกาสนำเสนอผ่านแพลตฟอร์ม จะต้องผ่านการคัดกรองจากทีมงานก่อน เพื่อที่ทีมงานจะได้ช่วยดูแลให้สำเร็จและทำได้จริง
“การจะให้คอนเทนต์ของโครงการนั้นๆ เข้ามาอยู่ในเว็บไซต์เรา วิดีโอนำเสนอต้องดี ต้องอธิบายเรื่องราวได้ว่าเขาคือใคร มาจากไหน จะทำอะไร ต้องการอะไร แล้วของตอบแทนราคาสมเหตุสมผลไหม ต้องใช้เวลาเดือนถึงสองเดือนถึงจะเอาขึ้นเว็บไซต์ได้ ตอนต้นๆ เราพยายามจะจูงมือทุกคน เพื่อให้มันสำเร็จ พอสำเร็จแล้วจะได้ดึงคนอื่นเข้ามา แต่เราก็เห็นว่า การที่เราช่วยอุ้มทุกคน มันกลายเป็นว่าเราเป็นคนสร้างแคมเปญมากกว่าเจ้าของไอเดียจะเป็นคนสร้างเอง และจริงๆ แล้วเราวางตัวไว้ว่าจะเป็นแค่แพลตฟอร์มให้
“อีกอย่างเราคิดว่าการที่เราคัดเลือกก่อนมันไปจำกัดไอเดีย เราจะรู้ทั้งหมดได้ยังไงว่าแคมเปญไหนดีไม่ดี เหมือนตอน Street Strength ที่เราคิดว่าไม่น่าจะเวิร์ก ก็ยังเวิร์ก เราเลยคิดกันระหว่างผู้ก่อตั้งว่า ควรเปิดให้คนเข้ามาสมัครฟรีๆ ได้เลย แล้วเราก็เลือกแคมเปญที่เราคิดว่าน่าสนใจขึ้นมาเป็นไฮไลต์
“ในเว็บไซต์เองจะมีพื้นที่เป็น Campaign Builder ที่คนเข้ามาแล้วสามารถสร้างแคมเปญของตัวเองได้เลย แต่การจะได้รับเสียงตอบรับที่ดี เจ้าของแคมเปญก็ต้องดูว่าการนำเสนอของเขาดีแล้วหรือยัง สิ่งที่จะทำมีคอนเซ็ปต์หรือหน้าตาเป็นยังไง เขาต้องการให้คนสนับสนุนในเรื่องใด ถ้าไม่ชัดเจนตรงนี้ คนก็ไม่รู้ว่าจะเอาเงินไปสนับสนุนอะไร”
เจย้ำว่า แค่รู้ว่าอยากทำยัง ‘ไม่พอ’ เพราะการสร้างแคมเปญระดมทุนคือการขายไอเดีย ไอเดียนั้นควรตกผลึกและสื่อสารไปสู่คนในวงกว้างที่อาจเข้ามาร่วมสนับสนุนได้ชัดเจน ในด้านการประชาสัมพันธ์ แพลตฟอร์มเอซิโอลาอาจช่วยโพสต์แคมเปญนั้นๆ ผ่านโซเชียลมีเดีย หรือดึงขึ้นมาเป็นโชว์เคสบนแพลตฟอร์ม แต่ไม่สามารถทำได้กับทุกแคมเปญ หน้าที่หลักในการทำให้คนเห็นและเข้ามาสนับสนุนยังอยู่ที่เจ้าของแคมเปญเป็นหลัก
“ข้อดีของการใช้แพลตฟอร์มแบบนี้ก่อนคือ มันช่วยให้เรารู้ว่าไอเดียที่เราจะทำน่าสนใจไหม เหมือนเข้ามาลองตลาด หรือจะเรียกว่าเข้ามาพิตช์งานก็ได้ นำเสนอแผนธุรกิจก่อน ถ้าคนสนใจ สนับสนุนจนถึงเป้า ก็ค่อยลงมือทำ แต่ถ้าไม่ถึงเป้า ก็ยังไม่ต้องทำ ไม่ต้องเสียเงินไปเปล่าๆ บางคนก็หาข้อบกพร่องจากพื้นที่นี้ ว่ามีส่วนไหนที่เขายังคิดไม่ตกหรือครบถ้วน ก็สามารถนำไปแก้ไข แล้วเข้ามานำเสนอใหม่ก็มี ดีกว่าไม่รู้แล้วตัดสินใจเอาเงินไปทำเลย โดยที่ไม่รู้ว่าคนจะชอบหรือจะไม่ชอบ
“แพลตฟอร์มนี้ถือเป็นโอกาสในการหาทุนอีกช่องทางหนึ่ง สำหรับคนที่ไม่รู้ว่าจะไปเริ่มตรงไหน ไม่มีสปอนเซอร์ ไม่รู้จะหาทุนยังไง ก็ใช้พื้นที่นี้สร้างผลงานตัวเอง ถ้าไอเดียดี นำเสนอดี มีความพยายาม มีความตั้งใจที่จะหาคนเข้ามาสนับสนุน ก็มีโอกาสที่จะได้ทำงานที่อยากทำโดยไม่ต้องใช้โมเดลแบบเก่าๆ”
ในอนาคต เอซิโอลามีแผนจะพัฒนาแอปพลิเคชันใหม่ชื่อว่า Stack ที่จะลดสเกลลงมาสู่ระดับ Personal Crowdfunding เพื่อใช้กับกลุ่มคนที่รู้จักกัน ส่วนการระดมทุนระดับสาธารณะจะขยายไปสู่ Equity Crowdfunding ซึ่งเป็นการระดมทุนแบบการขายหุ้น สำหรับธุรกิจที่ต้องการต่อยอด รวมถึงการสร้างแคมเปญสำหรับบริษัทที่ต้องการทำ CSR เพื่อให้ผู้สนับสนุนทั่วไปได้เข้ามาร่วมแก้ไขปัญหา
FACT BOX:
ไม่ว่าใครที่มีไอเดีย สามารถเข้าไปสร้างแคมเปญเพื่อขอระดมทุนสาธารณะได้ที่ asiola
Tags: crowdfunding, ศิลปิน, ดนตรี, เพลง, Asiola, เอซิโอลา, เจ มณฑล, มณฑล จิรา, การระดมทุนสาธารณะ