ตั้งแต่ปลายปี 2560 เป็นต้นมาที่มีการประกาศ ‘ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์’ ประชาชนน่าจะได้ยินข่าวประชาสัมพันธ์เรื่องพระสงฆ์อาพาธด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCD) เพิ่มขึ้นมากขึ้น ยิ่งใกล้วันพระใหญ่เข้ามา ก็คงได้ยินทั้งภาครัฐและ สสส. รณรงค์ให้ประชาชนใส่ใจกับอาหารที่ถวายพระสงฆ์บ่อยขึ้นอีก เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น?
You are what you eat.
เวลาตรวจคลินิก NCD สิ่งที่ผมมักจะถามคนไข้รองจากความสม่ำเสมอของการกินยาแล้ว (ยามีทั้งหมดกี่ตัว แต่ละตัวกินอย่างไรบ้าง มีปัญหาหรือผลข้างเคียงจากการกินยาหรือไม่) ก็คือ ‘อาหาร’ เพราะเป็นสาเหตุที่สะสมมานานจนทำให้คนไข้ป่วยในที่สุด การปรับเปลี่ยนหรือควบคุมอาหารจึงเป็นวิธีการรักษาที่ ‘ต้นน้ำ’ ซึ่งตรงจุดมากกว่าการกินยา เช่น โรคเบาหวาน ต้องลดอาหารประเภทข้าวแป้ง ขนมหวาน น้ำหวาน น้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกำลัง รวมถึงผักผลไม้ที่ย่อยเป็นน้ำตาลได้
โรคความดันโลหิตสูงและโรคไตวายเรื้อรัง ต้องลดอาหารที่มีความเค็ม อาหารหมักดอง และเครื่องปรุงอาหารที่ทำให้มีรสเค็ม ส่วนโรคไขมันในเลือดสูง ต้องลดอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง และไขมันทรานส์ และเพิ่มการออกกำลังกายร่วมด้วย (ส่วนการงดอาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูงนั้นยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่)
คนไข้จึงได้รับการเน้นย้ำถึงเรื่องนี้เป็นประจำทุกครั้งที่มาหาหมอ เพื่อให้สามารถเลือกกินหรือซื้อ รวมถึงประกอบอาหารที่เหมาะสมกับโรคที่ตัวเองเป็นได้ หรือถ้าไม่ได้ทำอาหารเอง ก็อาจไปแนะนำแม่บ้านหรือลูกหลานที่เป็นคนทำหรือซื้ออาหารมาให้กินได้
Monks are what they eat.
ในทางกลับกัน หลายคนอาจกังวลว่าคนไข้โรคเรื้อรังที่เป็นพระจะไม่สามารถให้คำแนะนำหรือคาดหวังแบบเดียวกันได้ เพราะเชื่อว่าพระมีวัตรปฏิบัติหรือวิถีชีวิตที่ต่างจากคนทั่วไป
ประการแรกคือ พระปฏิเสธอาหารที่มีผู้นำมาถวายไม่ได้ ญาติโยมถวายอะไรมาให้ก็ต้องฉันอย่างนั้น บางคนมีความคิดว่าถ้าพระไม่ได้ฉันอาหารที่ตนถวายก็จะไม่ได้บุญ หรือถ้ารูปไหนไม่ฉันอาหารที่ญาติโยมเตรียมไว้ก็อาจเสียศรัทธาได้ ในแง่นี้ ฆราวาสในฐานะผู้ถวายอาหารจึงถูกเพ่งเล็งเป็นพิเศษ มีการรณรงค์เป็นต้นว่า “ตักบาตร ถาม (สุขภาพ) พระ” เพื่อให้คำนึงถึงสุขภาพพระเป็นลำดับแรกก่อนที่จะใส่บาตร
และอีกประการหนึ่งคือพระสงฆ์ฉันอาหาร 2 มื้อภายในเที่ยงวัน ได้แก่ มื้อเช้า หลังกลับมาจากเดินรับบิณฑบาต (ช่วง 7-9 โมง) และมื้อเพล (ช่วง 11 โมง) เพราะเวลาหลังเที่ยงไปแล้ว พระฉันได้เฉพาะน้ำปานะ อาจทำให้ควบคุมอาหารลำบาก
แต่ในความเป็นจริงแล้ว มีงานวิจัยเรื่องการศึกษาวิถีชีวิต ลักษณะอาหาร ภาวะโภชนาการของพระสงฆ์ สามเณร และฆราวาสในบริบท 4 ภูมิภาพประเทศไทย ของ รศ.จงจิตร อังคทะวานิช คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาฯ ในปี 2556-2557 พบว่า
วัดส่วนใหญ่จะจัดอาหารที่รับถวายมาให้พระฉันรวมกันที่โรงฉัน โดยพระจะเลือกฉันอาหารตามปัจจัยส่วนบุคคล เช่น อายุ ความชอบ และปัญหาสุขภาพ เช่น ท้องเสีย ถ้าหากต้องการฉันอาหารอื่นก็จะไปซื้อจากร้านค้าภายนอกมาฉันเพิ่มเติม และถ้าหากไม่ไปฉันอาหารเพลที่โรงฉันก็จะมีอาหารกึ่งสำเร็จรูปหรืออาหารกระป๋องที่กุฏิของตัวเอง
บางคนมีความคิดว่าถ้าพระไม่ได้ฉันอาหารที่ตนถวายก็จะไม่ได้บุญ หรือถ้ารูปไหนไม่ฉันอาหารที่ญาติโยมเตรียมไว้ก็อาจเสียศรัทธาได้
นอกจากนี้บางรูปยังมีการฉันมื้อเย็นในบางวัน ในกรณีที่มีการศึกษาเล่าเรียน ต้องการใช้พลังงานเยอะ หรือมีปัญหาสุขภาพเพื่อจะได้ฉันยาตามที่หมอสั่ง ส่วนน้ำปานะมักเป็นนมหรือน้ำผลไม้กล่องปริมาณวันละ 2 กล่องขึ้นไป
อย่างไรก็ตามพระก็มีการพิจารณาอาหาร ทั้งพระที่มีสุขภาพแข็งแรงและพระที่มีโรคประจำตัว โดยเลือกฉันอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เช่น ผัก ผลไม้ และหลีกเลี่ยงอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ เช่น อาหารที่มีไขมัน อาหารประเภททอด แต่ถ้าหากไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้เพราะมีญาติโยมมองอยู่ก็จะตักอาหารหลายๆ อย่าง แต่ในปริมาณที่น้อยแทน
ส่วนถ้าหากไม่ต้องการฉันอาหารที่ได้รับมาก็จะนำไปให้คนอื่น เช่น โยมที่มาช่วยงานที่วัดหรือลูกศิษย์ ผลวิจัยในข้อนี้ทำให้ผมนึกถึงพระรูปหนึ่งอาพาธเป็นโรคเบาหวานที่จะมาฉีดอินซูลินก่อนฉันอาหารที่ห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาล ท่านจะหอบหิ้วเอาแกงถุงที่รับบิณฑบาตมามอบให้กับพยาบาลที่ฉีดยาให้ท่านเกือบทุกเช้า
Monks are what we eat.
เนื่องจากอาหารส่วนใหญ่ที่พระฉันในแต่ละวันได้รับจากการออกรับบิณฑบาต ดังนั้นโรคเรื้อรังที่พระอาพาธจึงมีสาเหตุ ‘ต้นน้ำ’ จากฆราวาสอย่างที่โดนเพ่งเล็ง โดยเรามักจะซื้ออาหารชุดจากตลาด หรือร้านขายข้าวราดแกง ซึ่งจากงานวิจัยชิ้นเดียวกันนี้ก็พบว่าแม่ค้าจะมีเมนูประจำที่ต้องทำเกือบทุกวันคือ ไข่พะโล้และแกงเขียวหวาน เนื่องจากลูกค้านิยมซื้อทั้งใส่บาตรและกลับบ้านไปกินเอง และมีอาหารประเภททอดและผัดอีกจำนวนหนึ่ง
ในขณะที่หากเป็นอาหารที่ทำถวายเอง มักจะเป็นต้มจืด แกงท้องถิ่น น้ำพริก และพืชผักตามฤดูกาล ซึ่งจะมีความพิถีพิถัน และมีคุณค่าทางโภชนาการมากกว่า
นอกจากนี้ขนม(ว้าน)หวานจำพวกขนมทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง ก็ยังเป็นสิ่งที่เรานิยมทำบุญถวายให้พระ เพราะมีชื่อเรียกเป็นศิริมงคล รวมถึงลอดช่อง กล้วยบวชชี ข้าวเหนียวถั่วดำ ก็ยิ่งทำให้พระได้รับกะทิเพิ่มจากที่ได้รับจากอาหารคาวอีกด้วย จะเห็นได้ว่าอาหารที่พระฉันก็คืออาหารที่เราซื้อหรือทำกิน ดังนั้นหากจะถวายอาหารดีต่อสุขภาพของพระและเหมาะสมกับโรคประจำตัวของพระบางรูปอาจต้องเริ่มต้นที่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินของฆราวาสเสียก่อน
พอเราเริ่มเลือกซื้ออาหารบางอย่าง และหลีกเลี่ยงการซื้ออาหารบางประเภท แม่ค้าก็จะได้ปรับตัวตาม
ส่วนการแก้ไขปัญหา ‘กลางน้ำ’ ที่พระสามารถพิจารณาอาหารก่อนที่จะฉันได้ ผมก็ได้เน้นย้ำให้ท่านควบคุมอาหารไม่ต่างจากฆราวาสอย่างที่ผมกล่าวไปแล้วในตอนต้น
ป.ล. สำหรับผมการจัดการที่ ‘ปลายน้ำ’ คือการฉันยารักษาโรคตามที่หมอสั่ง เพราะพระหลายรูปอยู่คนเดียวต้องจัดยาฉันเองและไม่มีลูกหลานคอยเตือนให้ฉันยา หรือบางรูปต้องออกเดินธุดงค์ ทำให้ไม่สามารถพกขวดยาฉีดอินซูลินซึ่งต้องแช่เย็นตลอดเวลาติดตัวไปด้วยได้ เลยมีปัญหาควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ได้ ผมจึงได้เปลี่ยนเป็นยาฉีดชนิดปากกาซึ่งเก็บในอุณหภูมิห้องได้ให้แทน
Fact Box
โครงการสงฆ์ไทยไกลโรคได้เริ่มต้นจากการศึกษาสถานการณ์ปัญหาโภชนาการในพระสงฆ์ที่วัด 4 แห่งใจกลางกรุงเทพฯ ก่อนในปี 2555 พบว่า พระสงฆ์ 1 ใน 10 รูป เป็นโรคเบาหวาน (10.42%), เกือบ 1 ใน 4 รูป เป็นโรคความดันโลหิตสูง (22.92%), เกือบครึ่งหนึ่งเป็นโรคอ้วน (47.92%), และเกือบครึ่งหนึ่งเป็นโรคไขมันในเลือดสูง (41.67%)
เมื่อเทียบกับผู้ชายทั่วประเทศ จากรายงานการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกาย ของวิชัย เอกพลากร ในปี 2551-2552 (สังเกตว่าเป็นการเปรียบเทียบคนละปี แต่เป็นช่วงเวลาที่ใกล้เคียงที่สุดเท่าที่มีการศึกษาระดับชาติ) พบว่าพระสงฆ์เป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และอ้วนสูงกว่า
แผนภูมิ ร้อยละของผู้ป่วยโรคเรื้อรังกลุ่มพระสงฆ์เปรียบเทียบกับกลุ่มชายไทยในกรุงเทพฯ และทั่วประเทศ
ดัดแปลงจาก: สถานการณ์ปัญหาโภชนาการในพระสงฆ์จากโครงการสงฆ์ไทยไกลโรค