“หนูไม่เข้าใจเลยค่ะ หนูไปช่วยงานตั้งแต่แปดโมง หมดเงินไปกะค่าชุด ค่าน้ำมันรถ มีเงินใส่ซอง 200 ถึงกับไม่พอใจคืนซองหนูเลย เค้าบอกว่าต่ำๆ แถวบ้านเค้าใส่ซอง 500 แถวบ้านนอกบ้านเค้าใส่กันแบบนี้ มันเป็นมารยาทของคนทั่วไป เอาซองกลับคืนไปเผื่อเงินนี้จะทำให้หนูกินข้าวได้สองสามวัน!!! #หนูขอโทษนะคะที่มีเงินแค่นี้ #เงินเดือนหนูน้อยเองหนูขอโทษค่ะ”
ประเด็น’เงินใส่ซอง’ ถูกนำมาถกเถียงเสมอว่าอย่างไรถึงจะเหมาะสม บ้างก็ว่า การจัดงานแต่งงานเป็นเรื่องของความรัก เป็นการเฉลิมฉลองไม่ควรใช้โอกาสนี้เพื่อ ‘ถอนทุน’ ถ้ากลัวขาดทุนก็ไม่ควรจัดงานแต่งงานตั้งแต่แรก จดทะเบียนกันเงียบๆ ไหม?
บ้างก็บอกว่า การจัดงานแต่งงานเป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่า แขกพึงมีของขวัญ หรือ การ ‘ใส่ซอง’ ที่สมน้ำสมเนื้อ สมฐานานุรูปของงาน ไม่ใช่เขาจัดงานแต่งในโรงแรมห้าดาว แล้วจะซื้อหม้ออบลมร้อนจากลาซาด้า 750 บาท เป็นของขวัญให้คู่บ่าวสาว
อย่าลืมว่าของขวัญทุกชิ้น เงินทุกซอง แรงงานที่เคยมาช่วยเราทุกแรง
อาหารทุกมื้อที่มีคนเคยเลี้ยงเราเอาไว้ มันตามมาด้วยความรับผิดชอบ และ ‘หน้าที่’ เสมอ – นั่นคือ การต้อง ‘มอบคืน’, ‘ตอบแทน’
แล้วก็ปฏิเสธไม่ได้อีกนั่นแหละว่า ในแผนการจัดงานแต่งงานนั้นคนส่วนใหญ่มัก ‘คำนวณ’ ไว้แล้วว่า ค่าใช้จ่าย จำนวนแขกที่มาร่วมงาน สถานะของแขก ‘ซอง’ ที่จะได้จากแขกที่เชิญ – ทั้งหมดนี้จะต้องทำงบดุลให้พอดีๆ กัน หรือหาก ‘ขาดทุน’ ก็ไม่มาก และแม้จะมีแขกที่เซอร์ไพร์สด้วยการให้ ‘ซอง’ ที่น้อยกว่าคาดการณ์เอาไว้ ก็ไม่ถึงกับเสียหาย ถือว่าได้จัดงาน ได้เอาญาติมิตรมาเจอกัน ได้สนุก ได้ปาร์ตี้กัน
แต่ความยากมันอยู่ตรงนี้ เราจะพูดเรื่องค่าใช้จ่าย ต้นทุน กำไร ตรงๆ จะดูหยาบคายหรือเปล่า ส่วนแขกที่ไปงาน ควรจะคิดว่าเราไปด้วยใจ ให้ด้วยใจ หรือคำนวณไปด้วยว่า ใจน่ะไปเต็มร้อย แต่ถ้าเลี้ยงบุฟเฟต์หัวละห้าร้อยเก้าสิบเก้า เราก็น่าจะใส่ซองไม่เกินเก้าร้อยบาท (เลขสวยๆ) ไม่ใช่ว่ามีใจจะใส่ห้าพันโลด – เออ – แล้วมันเห็นแก่ตัวหรือเปล่านะถ้าคิดแบบนี้
อย่ารู้สึกผิดเลยที่จะคิด
ประเด็นเรื่องการ ‘ให้’ และ ‘รับ’ ของ อีกทั้งการ ‘มอบคืน’ นั้นเป็นเรื่องที่ยุ่งยากสาหัสและเกี่ยวพันกับสัมพันธภาพของเราและคนอื่นๆ จนพัลวันเกินกว่าที่คิด
การให้และรับของขวัญ ของกำนัล ในหลายต่อหลายครั้งนำมาซึ่งความเครียด ความกดดัน และไม่ได้หมายถึงความชื่นมื่น อิ่มเอิบในน้ำจิตน้ำใจตลอดเวลา
ปกติเรามักจะมองว่าการมอบขวัญ การให้ของกำนัล เป็นเรื่องความยินดี ความรัก มิตรภาพ และการฟื้นฟูความสัมพันธ์ แต่ในเวลาเดียวกันของขวัญก็เป็นสัญลักษณ์ของอำนาจ และความสัมพันธ์ด้วย
อย่าลืมว่าของขวัญทุกชิ้น เงินทุกซอง แรงงานที่เคยมาช่วยเราทุกแรง อาหารทุกมื้อที่มีคนเคยเลี้ยงเราเอาไว้ มันตามมาด้วยความรับผิดชอบ และ ‘หน้าที่’ เสมอ – นั่นคือ การต้อง ‘มอบคืน’, ‘ตอบแทน’ แต่ปัญหาคือ มอบคืน และตอบแทนอย่างไรจึงจะเหมาะสมที่สุด และกระชับไว้ซึ่งมิตรภาพที่ดีที่สุดด้วย
งานคลาสสิกเกี่ยวกับ ‘ของขวัญ’ หรือ Gift โดย มาร์เซล โมสส์ (Marcel Mauss) เป็นสิ่งที่ถูกนำมาอ้างถึงเสมอเมื่อพูดถึงเรื่องนี้
โมสส์บอกว่า ภาระหน้าที่อันมาพร้อมกับการ ‘แลก’ ของขวัญนั้นมี 3 ส่วน เริ่มจาก ‘การให้’ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างสายสัมพันธ์ ถัดมาคือ ‘การรับ’ ซึ่งเป็นการส่งสัญญะให้รู้ว่า ได้มีการยอมรับสายสัมพันธ์ที่ยื่นมา สุดท้ายคือ ‘การตอบแทน’ ซึ่งหมายถึง การบอกถึง ‘ความสง่างาม’ ของผู้ส่งที่ส่งของตอบแทนนั้น
ในความสัมพันธ์แห่งการให้-รับ-คืน นี้ มันสร้างลำดับชั้นต่ำสูงระหว่างผู้ให้และผู้รับขึ้นมาด้วย
เพราะฉะนั้นของขวัญ ของกำนัล แรงงานที่เอามาช่วยงานของเรา ดูเผินๆ มันเป็น ‘น้ำใจ’ ที่หยิบยื่นมาให้ (แน่นอนว่าคนให้ ‘คง’ ไม่หวังผลตอบแทน) แต่เราก็ต้องไม่ลืมว่าในกระบวนการให้-รับ-คืน นี้ มันหมายถึงการรักษาความสัมพันธ์ ซึ่งไม่ใช่ความสัมพันธ์เฉยๆ แต่ในความสัมพันธ์แห่งการให้-รับ-คืน นี้ มันสร้างลำดับชั้นต่ำสูงระหว่างผู้ให้และผู้รับขึ้นมาด้วย
การให้กลายเป็นภาระของผู้รับได้อย่างไร? ในหลายกรณีเราจะเห็นว่า ผู้รับปฏิเสธที่จะรับของขวัญบางชิ้น การปฏิเสธนี้มีทั้งในความหมายของการสะบั้นความสัมพันธ์ที่ยื่นมา การส่งของขวัญคืน หมายถึงการไม่ยอมรับใน ‘อำนาจ’ หรือ ‘ตัวตน’ ของ ‘ผู้ให้’ ของขวัญ ในบางกรณีเท่ากับเป็นการดูถูกเหยียดหยามอย่างรุนแรง แต่การปฏิเสธของขวัญหรือไมตรีในหลายกรณีก็เกิดจากการเกรงว่าตนเองจะไม่สามารถ ‘ตอบแทน’ หรือ ‘ให้คืน’ ได้ ซึ่งก็เท่ากับว่าความสัมพันธ์ผ่านการ ‘ให้’ ครั้งนี้ไม่บรรลุผล เช่น ของขวัญที่มูลค่าสูงเกินไป หรือหากมีใครสักคนมาอุทิศตัวรับใช้เราอย่างไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อยเหล่านี้ ย่อมก่อให้เกิดความลำบากใจแก่เราอย่างยิ่ง
สมมุติว่าเราจะย้ายบ้าน ระหว่างการขอเพื่อนให้มาช่วยขนของ กับการจ้างบริษัทมาขนของ ท้ายที่สุดเราอาจเลือกอย่างหลัง เพราะเป็นการจ่ายค่าแรงตามแรงงานที่ทำจริง แต่การไปขอให้เพื่อนมาช่วยขนของ ความยากคือ เราจะตอบแทนเพื่อนอย่างไรดี? พาไปเลี้ยงข้าวก็อาจจะไม่พอ พาไปเลี้ยงข้าวแพงๆ ก็อาจจะทำให้เสียเงินมากกว่าจ้างบริษัท และในอนาคต หากเพื่อนต้องการแรงงานในกิจการใดๆ เราก็ต้องไปช่วยเป็นการตอบแทน เท่ากับมีภาระที่จะตามมาในอนาคต แต่การให้เพื่อนมาช่วยก็ได้ความสนุกสนาน ความสนิทชิดเชื้อ ความรู้สึกดีๆ อบอุ่นทางใจว่า เราไม่ใช่คนไร้ญาติขาดมิตร ในจังหวะความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นก็มีเพื่อนมาอยู่เคียงข้างเสมอ
นี่คือความสัมพันธ์อันยุ่งยากที่อยู่ในการให้ รับ และคืน
ถ้าเราได้รับเชิญไปดินเนอร์ที่บ้านใครสักคน สิ่งที่ต้องคิดคือ เราจะเอาอะไรไปให้เจ้าของบ้าน จะเป็นอาหารที่เราทำเอง? อบขนมไป? สั่งขนมร้านดังที่อยากซื้อ ไวน์สักขวด แล้วไวน์นั้นจะราคาสักเท่าไรดี? ถ้าไวน์แพงเกินไปจะเป็นการโอ้อวด ข่มทับเจ้าบ้านหรือไม่? ถ้าไวน์ถูกเกินไปก็ดูขี้เหนียว ไวน์ปานกลางควรเป็นอะไรดีที่จะบอกว่าเราได้ใส่ใจพอควรในการคัดสรร ฯลฯ การตัดสินใจทั้งหมดนี้ยังขึ้นอยู่กับ ‘สถานภาพ’ ของเจ้าของบ้าน เป็นเพื่อน? เป็นเจ้านาย? เป็นลูกน้อง? เป็นเพื่อนเก่า? เป็นเพื่อนร่วมงาน?
ถ้าเราเป็นแค่คนเดินดิน กินข้าวแกง การ ให้-รับ-ให้คืน คงก่อให้เกิดเพียงความเครียดหรือกดดันบ้าง แต่ลองจินตนาการว่าถ้าลูกของรัฐมนตรีผู้ทรงอิทธิพลในสังคมของประเทศสารขันฑ์ที่มีระบบอุปถัมภ์และการคอร์รัปชันที่รุนแรงมากแต่งงาน อะไรจะเกิดขึ้น? เราจะสามารถจินตนาการถึงปริมาณมูลค่าอันมหาศาลของ ‘ของขวัญ’ และ ‘เงิน’ ที่จะหลั่งไหลไปยังงานนี้ โดยที่ไม่มีใครครหาได้ว่านี่คือ ‘สินบน’
แต่ของขวัญเหล่านั้นเป็นสินบนหรือไม่? พ่อค้า นายทุน เจ้าสัว ข้าราชการผู้หวังไต่เต้าในตำแหน่งนำของขวัญไปงานแต่งงานลูกสาวรัฐมนตรี เพราะ ‘น้ำใจ’ ล้วนๆ หรือมีความหวังว่าจะมี ‘ค่าตอบแทน’ ในอนาคตที่รัฐมนตรีจะต้องมอบให้เขา หรือแม้จะไม่หวัง แต่การส่งของขวัญก็ยังเป็นการแสดงการ ‘ยอมรับ’ หรือเพื่อให้ได้รับ ‘การยอมรับ’ จากอำนาจของรัฐมนตรีฯ ท่านนั้นอยู่นั่นเอง
ถ้าไม่ไปงานก็มีความชอบธรรมที่จะใส่ซองน้อยหน่อย
แต่ถ้าเป็นเพื่อนสนิท ญาติสนิท อย่าให้ ‘น้อย’ เกินไป
ยิ่งถ้าเขาเหล่านั้นเคยมาร่วมงานแต่งงานของคุณ หรือจะมาร่วมในอนาคต
ของขวัญ หรือของกำนัล จึงเป็น ‘สื่อ’ ในการบอกตำแหน่งแห่งที่ของสถานะ และอำนาจของผู้ให้และผู้รับ มากกว่านั้นการมอบของกำนัลคืน ซึ่งก็เป็นประเด็นอีกว่า จะคืนเมื่อไร ที่ไหน ในวาระโอกาสใด คืนในคุณค่าที่มากกว่าหรือน้อยกว่า ก็เป็นการบอกว่า ผู้รับของขวัญ ยอมรับ/ปฏิเสธ ต่อ ‘สถานะ’ หรือตำแหน่งแห่งหนของตนที่ผู้ให้ของขวัญ ‘นิยาม’ มาพร้อมกับของกำนัลที่มอบให้
การให้ การรับ และการตอบแทน จึงเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์แห่งการรู้จักเกมแห่งอำนาจ และความยากของมันก็มาจากการที่มันไม่ใช้อำนาจล้วนๆ แต่เป็นอำนาจที่มาพร้อมกับความรู้สึก ความผูกพัน ความเคารพ ขณะเดียวกันก็มีความคาดหวังพ่วงมาทั้งกับผู้รับและผู้ให้ แต่ขณะเดียวกันก็มีทั้งเรื่องสถานะ อำนาจ ฐานะทางเศรษฐกิจ
แต่เอาล่ะ ในเมื่อเราไม่ใช่คนที่มี ‘อำนาจ’ อันจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสาธารณะ หากเราไม่อยากมีปัญหาเรื่องการให้ของขวัญ หรือใส่ซองงานแต่งงานนั้น มีสิ่งที่เป็นหลักมารยาทที่ค่อนข้างเป็นมาตรฐานสำหรับวัฒนธรรมร่วมสมัยและเป็นสากลอยู่ดังนี้
- เงินเดือน หลักง่ายๆ คือ เงินสูง ควรใส่ซองสูงตามสัดส่วนของเงินเดือน แต่ถ้าคุณตกงานไม่มีรายได้ เจ้าบ่าว เจ้าสาว เขาซาบซึ้งใจพออยู่แล้วกับอะไรก็ได้ที่คุณนำมาในงาน
- ไปงาน หรือไม่ไป ถ้าไม่ไปงานก็มีความชอบธรรมที่จะใส่ซองน้อยหน่อย แต่ถ้าเป็นเพื่อนสนิท ญาติสนิท อย่าให้ ‘น้อย’ เกินไป ยิ่งถ้าเขาเหล่านั้นเคยมาร่วมงานแต่งงานของคุณ หรือจะมาร่วมในอนาคต
- ถ้าไป 2 คน ไม่จำเป็นต้องเพิ่มเงินใส่ซอง 2 เท่า แต่เพิ่มแค่ 1.5 เท่าก็เพียงพอ แต่ห้ามต่ำกว่านั้น
- ยิ่งสนิทยิ่งต้องให้มาก
- ถ้าการไปร่วมงานแต่งมีค่าใช้จ่ายในการเดินทาง เช่น ค่าตั๋วเครื่องบิน หรือยานพาหนะอื่นๆ หรือเวลาที่ใช้ในการเดินทาง ค่าโรงแรมที่พัก เราอาจใส่ซองน้อยกว่ามาตรฐานได้ แต่ถ้าเจ้าบ่าวเจ้าสาวจ่ายค่าเดินทางและอื่นๆ ให้เรา มาตรฐานการใส่ซองก็ต้องจัดเต็ม
- ถ้าเจ้าบ่าวเจ้าสาวเคยมางานแต่งงานของคุณ และใส่ซองให้คุณ คุณไม่จำเป็นต้องใส่คืนตามจำนวนนั้นเป๊ะๆ เพราะ ‘ค่าเงิน’ มันเปลี่ยนไปตามกาลเวลา เพราะฉะนั้น ตรงนี้ต้องคำนวณให้เหมาะสม
- กฎเก่าๆ ของการใส่ซองงานแต่งคือ ใส่ให้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายสำหรับอาหารและเครื่องดื่มที่เจ้าภาพเลี้ยงเราไปในงานแต่งนั้น แต่ประเด็นคือ เราไม่ควรจะไปรู้ว่างบฯ ค่าอาหาร และเครื่องดื่มของเจ้าภาพเป็นเท่าไร ที่สำคัญ การที่เจ้าภาพมีงบเท่าไรในการเลี้ยงไม่ควรเป็นเงื่อนไขว่าเราควร ‘จ่าย’ เท่าไรสำหรับการใส่ซอง เช่น ถ้าคุณไปงานแต่งงานลูกน้องที่เพิ่งก่อร่างสร้างตัว งานแต่งงานของเขาอาจจะเรียบง่าย เลี้ยงเครื่องดื่มง่ายๆ แต่ในฐานะที่คุณเป็นเจ้านาย ได้เงินเดือนสูงกว่าเขาหลายเท่า และหากเขาคือลูกน้องที่สนิท ยังไงคุณก็ต้องใส่ซองในจำนวนที่ไม่เกี่ยวกับว่าอาหารและเครื่องดื่มที่เขานำมาเลี้ยงนั้นมันกี่บาทกี่สตางค์ (กันเชียว?)
ภาพประกอบ: NOLA NOLEE
อ้างอิง:
– http://articles.latimes.com/1990-07-03/news/vw-901_1_emperor-akihito
– http://www.smithsonianmag.com/smart-news/what-does-sociology-teach-us-about-gift-giving-180948181
FACT BOX:
จักรพรรดิ สถานะต้องห้ามสำหรับการรับของขวัญ: สมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะ แห่งญี่ปุ่น เมื่อคราวฉลองการขึ้นครองราชย์ในปี 1990 นั้น ทางสำนักพระราชวังต้องออกประกาศให้นานาประเทศงดส่งของขวัญแสดงความยินดี เนื่องจากองค์พระจักรพรรดิไม่สามารถรับ ‘ของขวัญ’ จากใครได้ นอกจากคณะรัฐมนตรี รัฐสภา วุฒิสภา สภาผู้แทนราษฎร และรัฐบาลท้องถิ่นเท่านั้น ซึ่งเป็นไปตามที่ระบุในรัฐธรรมนูญญี่ปุ่นมาตรา 8 หมวดพระจักรพรรดิ ระบุว่า การโอนทรัพย์สินให้แก่ราชสำนัก หรือการที่ราชสำนักจะรับโอนทรัพย์สินที่มอบให้โดยเสน่หา ต้องเป็นไปตามความเห็นชอบของรัฐสภา