บทสนทนาในห้องกลุ่มไลน์ดังขึ้นตลอดเวลา “ซิโก้ไปแน่”,​ “ใครจะมาคุมแทน”, “ไม่เซ็นก็ออกไป”, “ผมว่าเรื่องนี้มีเงื่อนงำ” ฯลฯ

และอีกหลายประโยคที่ดุเด็ดเผ็ดร้อนเกี่ยวกับเรื่องของสัญญาโค้ชทีมชาติไทยชุดใหญ่ของ ซิโก้-เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง ที่กลายเป็นประเด็นใหญ่ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา

โดยเฉพาะหลังการส่งจดหมายข่าวจากสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ เร่งรัดให้ บริษัท สปอร์ตฮีโร่ ที่รู้กันว่าเป็นของครอบครัวเสนาเมืองเซ็นต่อสัญญาการคุมทีมชาติไทยฉบับใหม่ โดยขีดเส้นตายเอาไว้ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

ท่ามกลางคำพูดและมุมมองที่หลายหลาก ยากจะปฏิเสธได้ครับว่า ไม่ว่าใครก็ตามจับตามองเรื่องนี้ด้วยความไม่สบายใจนัก

มันแสดงให้เห็นถึงการไม่ลงรอยกันระหว่างสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ กับ บริษัท สปอร์ตฮีโร่ ที่ชัดเจน หลังก่อนหน้านี้ก็มีกระแสข่าวดราม่ากันมาตลอด แต่ทุกครั้งก็จบลงด้วยภาพของการ ‘กอดคอจูบปาก’ กันระหว่างคู่กรณี พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง นายกสมาคมฯ และซิโก้เอง

แต่ครั้งนี้ก็เช่นกันครับ เรื่องที่กำลังลุกลามบานปลายจบลงแบบแอนตี้ไคลแมกซ์ (ในความรู้สึกของแฟนบอลส่วนหนึ่ง) เมื่อซิโก้เดินทางมาที่สมาคมกีฬาฟุตบอลฯ เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ก่อนจะมีการแถลงร่วมกันว่าได้ตกลงเซ็นสัญญาฉบับใหม่ระยะเวลา 1 ปีออกไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

สำนักข่าวแทบทุกแห่งพาดหัวในเชิง ‘ลิเกลาโรง’ ‘ปิดฉากดราม่า’ ‘จบมหากาพย์’

เอาเข้าจริงเรื่อง ‘จบ’ จริงหรือ?

หรือนี่เป็นเพียงละครอีกฉากหนึ่ง และอนาคตของฟุตบอลทีมชาติไทยควรจะเดินไปในทิศทางใดต่อ?

ประเด็นที่มีการซุบซิบนินทากันตลอดมาคือ
การทำแบบนี้ถูกต้องและเหมาะสมหรือไม่
มันคือ ‘ผลประโยชน์ทับซ้อน’ (Conflict of Interests) หรือเปล่า?

Photo: Athit Perawongmetha, Reuters/Profile

สัญญาโค้ชทีมชาติไทยไม่เหมือนใครในโลก

ประเด็นที่มีการพูดถึงอย่างมากคือ เรื่องสัญญาของโค้ชทีมชาติไทยที่แปลกและแตกต่าง

อาจจะพูดได้ว่าเป็นสัญญาการคุมทีมชาติที่ไม่เหมือนใครในโลกเลยก็ว่าได้

ที่แปลกเพราะสัญญาการว่าจ้างการฝึกสอนทีมชาติไทยชุดใหญ่นั้น สมาคมกีฬาฟุตบอลฯ ในฐานะผู้ว่าจ้างไม่ได้ทำสัญญาโดยตรงกับโค้ชที่เป็นตัวบุคคลจริงๆ หากแต่เป็นการทำสัญญาร่วมกับ บริษัท สปอร์ตฮีโร่ ที่จะเป็นผู้ดูแลเรื่องการฝึกสอน และเรื่องอื่นๆ ที่ทางบริษัทเป็นผู้รับผิดชอบดูแล

รวมถึงเรื่องของการหาเงินรายได้จากสปอนเซอร์ด้วย

ส่วนหลังจากนั้นสปอร์ตฮีโร่จะเป็นผู้จ่ายเงินให้แก่ผู้ฝึกสอน เงินเบี้ยเลี้ยง เงินโบนัสต่างๆ ให้แก่ทีมชาติเอง

ประเด็นที่มีการซุบซิบนินทากันตลอดมาคือ การทำแบบนี้ถูกต้องและเหมาะสมหรือไม่ มันคือ ‘ผลประโยชน์ทับซ้อน’ (Conflict of Interests) หรือเปล่า?

และสำคัญที่สุดที่สังคมร่วมตั้งคำถามคือ มันเป็นผลดีต่อทีมชาติไทยจริงๆ หรือเป็นช่องทางในการหาผลประโยชน์ของสปอร์ตฮีโร่ ที่มีการจับตาว่าใช้การ ‘กอบกู้’ ทีมชาติไทย (ทั้งในนาม, ภาพลักษณ์ หรือทรัพยากรบุคคลอย่างนักฟุตบอลทีมชาติไทย) ในการ ‘กอบโกย’ เงินเข้ากระเป๋าตัวเองอย่างมากมายมหาศาลแบบไม่เหมาะสม

ถ้าเป็นแบบนั้นจริงถือว่า ‘ผิด’​ และนอกจากจะไม่ควรได้รับโอกาสทำงานแล้ว ยังควรถูกตรวจสอบด้วย

ขนาดอังกฤษชาติที่อ้างว่าให้กำเนิดกีฬาฟุตบอล เมื่อมีข่าวอื้อฉาวของ แซม อัลลาร์ไดซ์ (Sam Allardyce) ผู้จัดการทีมชาติที่แสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัว สุดท้าย ‘บิ๊กแซม’ ยังต้องลาออกจากตำแหน่ง นั่นคือ ‘มาตรฐานทางจริยธรรม’ ที่ควรดูเป็นเยี่ยงอย่าง

แต่ทั้งนี้ในรายละเอียดแล้ว ไม่มีใครทราบครับว่าที่พูดกันนั้นจริงหรือเท็จ เพราะไม่มีใครเห็นว่ามีการตกลงกันอย่างไรบ้าง สัญญานั้นก็มีมาตั้งแต่สมาคมกีฬาฟุตบอลฯ ชุดที่แล้ว แม้กระทั่งคนข่าวฟุตบอลยังไม่กล้ายืนยันเลยว่าสัญญาที่ว่านั้นเป็น ‘เรื่องสมมติ’ หรือ ‘เรื่องจริง’

เรื่องนี้เป็นที่มาของความพยายามของสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ ชุดใหม่ที่พยายามทำทุกอย่างให้เรื่องนี้โปร่งใส

ใสที่สุดเท่าที่จะใสได้

แม้นั่นจะหมายถึงการที่ต้อง ‘วัด’ กับคนที่มีแฟนบอลรักและบูชาจนเป็นดังผนังทองแดงกำแพงเหล็กอย่างซิโก้ก็ตาม

เสียงครหาจากแฟนบอลว่าซิโก้ นอกจากจะ ‘ปิดใจ’ แล้ว ยังไม่ ‘เปิดตา’
ไม่ไปดูฟอร์มการเล่นนักฟุตบอลในสนาม (แต่ไปออกงานของสปอนเซอร์ได้)
เอาแต่เลือกใช้แต่ผู้เล่นชุดเดิมๆ ทั้งที่บางรายฟอร์มตก สภาพร่างกายไม่พร้อม
และอื่นๆ ไม่ต่างอะไรจากมีดที่รุมแทงกะลาสีในถังไม้ที่แทงเข้าใจดำอย่างจัง

Photo: Jorge Silva, Reuters/Profile

มหากาพย์สัญญาโค้ชทีมชาติไทย

เพื่อเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น สิ่งที่สมาคมกีฬาฟุตบอลฯ ทำ คือการอดทนรอจังหวะที่เหมาะสมในการเปิดเกมรุกในเรื่องนี้

‘โมเมนตัม’ ของเกมเริ่มเปลี่ยนเมื่อทีมชาติไทยทำผลงานได้ย่ำแย่ในการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบคัดเลือกโซนเอเชีย ในรอบ 12 ทีมสุดท้าย ที่ทำให้เริ่มมีกระแสต่อต้านกุนซือขวัญใจมหาชนเป็นครั้งแรก

คำถามเรื่องความรู้ความสามารถไม่หนักหนาเท่าเรื่อง ‘วิจารณญาณ’ และ ‘เด็กเส้น’ ที่กลายเป็น ‘ชนัก’ ติดหลังอดีตศูนย์หน้าจอมตีลังกาผู้ยิ่งใหญ่ของแฟนฟุตบอลชาวไทย

เสียงครหาจากแฟนบอลว่าซิโก้ นอกจากจะ ‘ปิดใจ’ แล้ว ยังไม่ ‘เปิดตา’ ไม่ไปดูฟอร์มการเล่นนักฟุตบอลในสนาม (แต่ไปออกงานของสปอนเซอร์ได้) เอาแต่เลือกใช้แต่ผู้เล่นชุดเดิมๆ ทั้งที่บางรายฟอร์มตก สภาพร่างกายไม่พร้อม และอื่นๆ ไม่ต่างอะไรจากมีดที่รุมแทงกะลาสีในถังไม้ที่แทงเข้าใจดำอย่างจัง

ตรงนี้เป็นอีกจุดที่สมาคมกีฬาฟุตบอลฯ นำมาใช้เป็นข้อพิจารณาเรื่องสัญญาฉบับใหม่ได้

กระแสโจมตีซิโก้รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงเวลานั้นตามความผิดหวังของแฟนบอลชาวไทยที่ ‘อกหัก’ เพราะหมดลุ้นจะไปฟุตบอลโลกอย่างรวดเร็ว ก่อนจะค่อยๆ จางลงหลังการคว้าแชมป์ เอเอฟเอฟ ซูซูกิ คัพ ได้ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา

แต่ก็มีกระแสข่าวช่วงปลายปีว่าอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงโค้ชทีมชาติไทยใหม่ โดยนายกสมาคมเป็นผู้ออกปากเองว่ามีโค้ชเก่งๆ จากทั่วโลกที่ส่งจดหมายมาสมัครงานเยอะแยะ และ “ถ้าเลือกได้ก็อยากเลือกคนที่ทำทีมไปฟุตบอลโลกมาแล้ว”

อเลฮานโดร ซาเบยา (Alejandro Sabella) อดีตโค้ชทีมชาติอาร์เจนตินา ที่พาทีมเข้าชิงชนะเลิศฟุตบอลโลก 2014 มาแล้ว เป็นหนึ่งในแคนดิเดตที่สื่ออ้างถึง และทำให้แฟนบอลไทยเริ่มเสียงแตก ระหว่างโค้ชขวัญใจคนเดิมอย่างซิโก้ กับโค้ชต่างชาติที่อาจจะพาทีมไปได้ไกลกว่า

ทว่าทุกอย่างก็พลิกผันเมื่อทั้งสองฝ่าย ‘ซิโก้-บิ๊กอ๊อด’ สยบกระแสข่าวด้วยการยืนยันว่าไม่มีการเปลี่ยนโค้ช ก่อนจะเริ่มมีข่าวการต่อสัญญาใหม่ ซึ่งน่าจะไม่มีปัญหาอะไร

แต่ทุกอย่างกลับเป็นไปในทางตรงข้าม สัญญานั้นคาราคาซังและไม่มีความชัดเจนใดๆ

จนกระทั่งมีการส่งจดหมายข่าวจากสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ และมีการโพสต์ข้อความในเพจ Fair เป็นจดหมายจากฝ่ายกฎหมายของสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ ถึงฝ่ายกฎหมายบริษัท สปอร์ตฮีโร่ ในทำนองว่าให้ดำเนินการเซ็นสัญญาที่ได้เสนอไปโดย ‘มิให้เปลี่ยนแปลงรายละเอียดใดๆ’ ภายในระยะเวลาที่กำหนดคือ 28 กุมภาพันธ์ โดยที่ทาง พล.ต.อ.สมยศ เปรยว่าหากไม่มีการเซ็นสัญญาก็จะดำเนินการหาโค้ชใหม่ต่อไป

และมีการเปิดเผยหนึ่งใน ‘ปม’ ที่เป็นปัญหาคือ เรื่องของการเสียภาษีที่ทำให้สังคมตั้งคำถามหนักขึ้นไปอีก

ก่อนจะมีการตอบโต้กันผ่านสื่อไปมาตั้งแต่วันอาทิตย์ และวันจันทร์ ซึ่งเป็นวันเปิดตัวชุดแข่งทีมชาติไทยชุดใหม่ของ วอริกซ์ (Warrix) สปอนเซอร์รายใหม่

วันนั้นคนพยายาม ‘จับอาการ’ ของทั้งสองฝ่ายว่ามีแนวโน้มจะแยกทางกัน

แต่สุดท้ายเรื่องนั้นจบลงที่การต่อสัญญาใหม่ของซิโก้ ที่มีการแถลงข่าวร่วมกันเมื่อบ่ายวันอังคาร และการชี้แจงจากฝ่ายโค้ชทีมชาติไทยว่าไม่ได้มีความขัดแย้งกันแต่อย่างใด

“ส่วนเรื่องระยะเวลา 1 ปี ก็ไม่ใช่ปัญหา ร่างของสัญญาสมาคมฯ เป็นคนนำเสนอ พี่โก้ก็เป็นคนดูแค่นั้นเอง ไม่ได้เกี่ยวเรื่องอื่นเลย ไม่ได้เกี่ยวเรื่องค่าจ้างได้เท่าไร หรือเสียภาษีหรือไม่เสียภาษี” นี่คือถ้อยแถลงของโค้ชทีมชาติไทย

เป็นการปิดฉาก ‘มหากาพย์โค้ชทีมชาติไทย’ ที่ยืดเยื้อและยาวนาน

ถ้าทุกอย่าง ‘แฟร์’ และ ‘โปร่งใส’ มันไม่ใช่ปัญหา

Photo: Athit Perawongmetha, Reuters/Profile

อนาคตของ ‘ช้างศึก’

อย่างไรก็ดียังมีการตั้งคำถามอยู่บ้างว่าจบแบบนี้ดีแล้วใช่ไหม? หลายคนยังคลางแคลงใจ บางคนผิดหวังเพราะอยากเห็นอะไรใหม่ๆ เกิดขึ้น

คำตอบในเรื่องนี้นั้นไม่มีใครรู้ครับ แต่อย่างน้อยที่สุดเชื่อว่าในสัญญาฉบับใหม่คงจะมีการครอบคลุมเรื่องของผลประโยชน์ที่มีปัญหาก่อนหน้านี้ รวมถึงเรื่อง ‘บทบาทหน้าที่การทำงาน’ ที่จะชัดเจนมากขึ้น ซึ่งถ้าปฏิบัติได้ตามนั้นจริงก็ถือเป็นเรื่องที่ดีสำหรับทีมชาติไทยและวงการฟุตบอลไทย

ระยะเวลา 1 ปีในสัญญาอาจจะดูสั้น แต่มันไม่สำคัญเท่ากับว่าสปอร์ตฮีโร่ และสมาคมฟุตบอลฯ จะทำอะไรร่วมกันในช่วงหลังจากนี้

เพราะตามความหมายของคำว่า ‘สัญญา’ ตามพจนานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตยสถาน เป็นคำนาม มีความหมายว่า (กฎ) ข้อตกลงระหว่างบุคคล 2 ฝ่ายหรือหลายฝ่ายว่าจะกระทําการ หรืองดเว้นกระทําการอย่างใดอย่างหนึ่ง

พูดง่ายๆ คือมันเป็นเรื่องของคน 2 ฝ่ายที่จะตกลงกัน หากเห็นชอบก็ลงนามร่วมกันเท่านั้น

ถึงทางสากลแล้วการเซ็นสัญญากับบริษัทจะเป็นเรื่องที่ไม่มีใครเขาทำกัน แต่หากทำแล้วเกิดผลดี มีคุณูปการต่อวงการฟุตบอลไทย ไม่ได้มีลับลมคมในอะไรให้เสียหาย ปฏิบัติต่ออย่างถูกต้องอย่าง ‘ยุติธรรม’ ส่วนตัวผมและแฟนบอลอีกจำนวนมากก็พอเข้าใจได้

เหมือนกับกรณีที่สมาคมกีฬาฟุตบอลฯ ว่าจ้างบริษัท เอคโคโน ให้ดูแลทีมฟุตบอลระดับเยาวชนทั้งระบบตั้งแต่ชุดอายุไม่เกิน 14 ปี มาถึงชุดอายุไม่เกิน 21 ปี หรือทีมชาติชุดเล็ก นี่ก็เป็นการว่าจ้างงานในรูปแบบบริษัทเช่นเดียวกัน

ถ้าทุกอย่าง ‘แฟร์’ และ ‘โปร่งใส’ มันไม่ใช่ปัญหา

ที่ผ่านมาคนไทยแค่ ‘คาใจ’ กับเรื่องบางเรื่องที่ได้ยินมา ซึ่งมันไม่เข้าท่าและไม่น่าเกิดขึ้นก็เท่านั้น

เวลานี้วงการฟุตบอลไทยมีความตื่นตัวสูงขึ้นมาก และกำลังปรับตัวสู่ความเป็นมืออาชีพที่แท้จริง มีการวางโครงสร้างระบบใหม่ตามแบบที่ควรจะเป็น มีการพัฒนาบุคลากรอย่างจริงจัง องค์ความรู้จากต่างประเทศกำลังหลั่งไหลเข้ามา

ระบบอุปถัมภ์และความเละเทะที่เกิดจากการบริหารแบบ ‘ไทยๆ’ ในยุคก่อนหน้านี้ผมเชื่อว่าจะค่อยๆ ถูกล้างไปอย่างช้าๆ และเรามีโอกาสจะเป็นชาติที่ก้าวหน้าในทางฟุตบอลจริงๆ หลังจากที่จมปลักอยู่กับที่มาหลายทศวรรษ

แต่จะไปได้แค่ไหนนั้น อยู่ที่ ‘เรา’ (ในความหมายถึงทุกคน) ว่าร่วมมือกัน ‘เพื่อชาติ’ แค่ไหน

อีก 1 ปีเรามาว่ากันใหม่ครับ ตอนนี้กลับไปทำงานใครงานมันก่อน

ความจริง ‘สัญญา’ สำหรับทีมชาติไทยที่แท้จริงในความรู้สึกแล้วไม่ได้มีอะไรมากมายนัก

ขอเพียงทำให้ทีมชาติไทยเป็นทีมฟุตบอลที่ดี มีน้ำใจนักกีฬา สง่างาม ประสบความสำเร็จบ้าง และทำหน้าที่เป็น ‘ยาชูใจ’ ของคนไทย

ขอมอบกำลังใจให้ทั้ง ‘พี่โก้’ และ ‘บิ๊กอ๊อด’ รวมถึงทุกฝ่ายครับ จะไปให้ถึงฝันเรามีอะไรต้องทำอีกเยอะมากครับ

สู้ๆ!

FACT BOX:

  • บริษัท สปอร์ต ฮีโร่ เป็นบริษัทของ เกียรติศักดิ์ และภรรยา อัสราภา เสนาเมือง จดทะเบียนเมื่อ 19 พ.ย. 2546 ประกอบธุรกิจจัดการแข่งขันกีฬาทุกชนิด และประกอบกิจการผลิต จำหน่าย นายหน้า และตัวแทนสื่อโฆษณาทุกชนิด
  • ซิโก้-เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง ประสบความสำเร็จสูงสุดทั้งในฐานะกัปตันทีมชาติไทย ลงเล่น 131 นัดทำไป 70 ประตู ก่อนจะกลับมาคุมทีมชาติไทยชุดใหญ่ในวันที่ตกต่ำ พาทีมคว้าแชมป์ซีเกมส์ 2013, เอเอฟเอฟ ซูซูกิ คัพ 2014, 2016 พาทีมเข้ารอบ 12 ทีมสุดท้ายฟุตบอลโลกรอบคัดเลือกโซนเอเชีย ซึ่งเป็นการปลุกไฟให้แก่วงการฟุตบอลไทยจนกลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้ง
  • บริษัท เอคโคโน (Echono) เป็นบริษัทการจัดการฟุตบอลระดับโลกจากเมืองบาร์เซโลนา ประเทศสเปน มีผลงานโดดเด่น เช่น การดูแลทีมเยาวชนสโมสรบาร์เซโลนา, ปารีส แซงต์-แชร์แมง โดยหลังจากนี้จะรับดูแลระบบเยาวชนทีมชาติทุกอย่าง ตั้งแต่ หาโค้ช, ออกแบบการฝึกสอน, ช่วยเรื่องการอบรมระดับ  A ไลเซนส์ และ Pro ไลเซนส์
Tags: ,