สุดสัปดาห์นี้ใครที่มีหัวใจ ‘สีแดง’ คงรู้สึกตุ้มๆ ต่อมๆ เหมือนกันใช่ไหมครับ

ใจมันเต้นเพราะเกม ‘แดงเดือด’ (จากการตั้งของ ‘ศิริ อัครลาภ’ นักเขียนลูกหนังรุ่นตำนานของไทย) ระหว่าง ‘ปีศาจแดง’​ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด และ ‘หงส์แดง’ ลิเวอร์พูล กำลังจะลงสนามกันอีกครั้ง ในเกมนัดที่ 2 ของฤดูกาลนี้ ณ ‘โรงละครแห่งความฝัน’ โอลด์​ แทรฟฟอร์ด

ว่ากันว่าศึกแดงเดือดนัดนี้น่าจะร้อนแรงกว่าครั้งไหนๆ เพราะมี ‘เดิมพัน’ เรื่องโอกาสและความสำเร็จของทั้งสองทีมรวมอยู่ด้วย ฝ่ายหนึ่งก็ไม่อยากหลุดจากวงโคจรการลุ้นแชมป์ ขณะที่อีกฝ่ายชนะมา 9 นัดรวดทุกรายการ ก็ย่อมมองถึงเป้าหมายการกลับไปยืนบนโซนท็อปโฟร์อีกครั้ง

แน่นอนครับว่าในแมตช์หยุดโลกเช่นนี้ รัศมีความร้อนแรงย่อมสูงกว่าเกมฟุตบอลทั่วไป

การเกทับบลัฟแหลกเป็นของคู่กัน บางครั้งเลยเถิดจนกลายเป็นความบาดหมางที่ไม่ควรเกิด

แต่เคยสงสัยไหมครับว่า แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด และลิเวอร์พูล ไปจงเกลียดจงชังกันตั้งแต่เมื่อไหร่? มีอะไรเป็นสาเหตุ?

ไม่เคยมีแม้แต่ความรักระหว่างคู่ปรับแห่งถนนสาย M62 ของสองทีมที่ตั้งอยู่ห่างกันเพียง 35 ไมล์เกิดขึ้นบ้างเลยหรือ?

Photo: Reuters Photographer, Reuters/profile

เกลียดกันตั้งแต่ชาติปางก่อน!

ก่อนหน้านี้ไม่กี่วัน ผมถือโอกาสถามไถ่ คุณแดน ศรมณี ผู้หลักผู้ใหญ่ด้านการตลาดของประเทศไทย ซึ่งเป็น The Kop มาตั้งแต่เกิด เพราะน่าจะเป็นคนไทยคนเดียว (หรือไม่กี่คน) ที่เกิดในเมืองลิเวอร์พูล ว่าความเป็นอริระหว่าง แมนคูเนียน (ชาวเมืองแมนเชสเตอร์) และ สเกาเซอร์ (ชาวเมืองลิเวอร์พูล) นั้นมีขึ้นเมื่อไหร่

คำตอบจาก Kopite อาวุโสนั้นชัดเจน “ตั้งแต่แรก!”

แต่คำว่า ‘แรก’ นั้นต้องย้อนกลับไปไกลขนาดไหน?

ตามความเข้าใจของคนจำนวนมาก จุดเริ่มต้นของความแตกร้าวระหว่างประชากรของ 2 เมืองใหญ่นี้เริ่มต้นขึ้นในช่วงราวปี 1894 ในปีที่เมืองแมนเชสเตอร์ มีการขุดคลอง Manchester Ship Canal ความยาว 36 ไมล์ ซึ่งทำให้เรือบรรทุกสินค้าสามารถเชื่อมตรงกับ ‘แมนเชสเตอร์’ ที่แต่เดิมเป็นเมืองอุตสาหกรรมได้ โดยไม่ต้องเข้าท่าเรือที่เมือง ลิเวอร์พูล

ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนั้นทำให้ลิเวอร์พูลที่เคยรุ่งเรืองจากกิจการท่าเรือและการค้าต้องล่มสลาย มีคนตกงานจำนวนมาก และว่ากันว่าความโกรธแค้นนั้นเริ่มจากจุดนั้น

อย่างไรก็ดีในบันทึกของ สจวร์ต เบรนแนน (Stuart Brennan) ผู้สื่อข่าว Manchester Evening News ระบุว่า อันที่จริงแล้วรอยร้าวระหว่างความสัมพันธ์มันเกิดขึ้นก่อนหน้านั้น ว่ากันว่าน่าจะเริ่มตั้งแต่ยุควิกตอเรีย ในช่วงแรกของการปฏิวัติอุตสาหกรรม (1750-1850) เลยทีเดียว

เรียกว่าแมนคูเนียนและสเกาเซอร์ไม่ชอบหน้ากันมาตั้งแต่ชาติปางก่อนแล้วครับ

ต้นเหตุนั้นส่วนหนึ่งเป็นเพราะชาวแมนคูเนียน ซึ่งทำธุรกิจสิ่งทอและมีวัตถุดิบสำคัญคือ ‘ผ้าฝ้าย’ ไม่พอใจที่จะต้องเสียเงินจำนวนมากมายมหาศาลไปกับ ‘ค่าธรรมเนียม’ เวลาสั่งวัตถุดิบอื่นๆ เพื่อมาประกอบกิจการ ฝ่ายชนชั้นเจ้านายชาวสเกาเซอร์นั้นวางตัวเยี่ยงพ่อค้าวาณิช เป็นสุภาพบุรุษมือสะอาดสะอ้านไม่เปรอะเปื้อนเหมือน ‘คนงาน’ แบบที่ชาวแมนคูเนียนเป็น​ ทั้งๆ ที่พวกเขาเองก็เป็นเจ้าของกิจการเหมือนกัน (และความจริงส่วนใหญ่แล้วประชาชนทั้งสองเมืองต่างก็เป็นชนชั้นแรงงานทั้งนั้นครับ)

ขณะที่ชาวแมนคูเนียนก็จะแขวะกลับว่า สเกาเซอร์มันเป็นพวกไม่เอาถ่าน ไม่เป็นชายชาตรี และนำไปสู่คำด่าคลาสสิกว่า ‘lazy Scousers’

มันลามมาถึงการแต่งเพลงล้อที่แสบเจ็บปวดบนอัฒจันทร์สเตรตฟอร์ด เอนด์ ที่โอลด์ แทรฟฟอร์ด ว่า “Sign on, sign on, and you’ll never get a job” ที่ล้อจากเพลง You’ll Never Walk Alone ของลิเวอร์พูล

การรวมตัวกันของนายทุนโรงงานอุตสาหกรรมในการซื้อที่ย่านเวร์รอล (Wirral) ลากยาวมาถึงซัลฟอร์ด เพื่อขุดคลอง Manchester Ship Canal เป็นผลจากความร้าวรานที่เก็บมานานของชาวแมนคูเนียน

คลองนั้นเปลี่ยนชะตากรรมของเมืองทั้งสอง

แต่ฟุตบอลต่างหากที่ทำให้แมนเชสเตอร์และลิเวอร์พูลต้องเป็นคู่ปรับตลอดกาล

‘Red War’ สงครามแดงเดือด

บิดเข็มนาฬิกาย้อนเวลากลับไปก่อนหน้าจะมีการขุดคลอง Manchester Ship Canal ในปี 1894 ทีมฟุตบอลลิเวอร์พูล ซึ่งเป็นสโมสรใหม่ที่เพิ่งก่อตั้งหลังแยกตัวกับทีมเอฟเวอร์ตัน ได้สิทธิ์ลงแข่งในระดับดิวิชั่น 2 และทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยมไม่แพ้ใครเลยตลอดฤดูกาล

ผลงานดังกล่าวทำให้มีการเสนอให้พวกเขาได้สิทธิ์ในการทดสอบว่าจะผ่านไปเล่นในดิวิชั่น 1 ได้หรือไม่? และทีมที่ต้องเผชิญหน้าด้วยคือ นิวตัน ฮีธ ชื่อเดิมของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ซึ่งเป็นทีมบ๊วยของระดับดิวิชั่น 1 ในฤดูกาลนั้น

เกมนั้นคือเกม ‘แดงเดือด’ ครั้งแรก และลิเวอร์พูล เป็นฝ่ายเอาชนะได้ 2-0 (28 เม.ย.1894)

หลังจากนั้นระหว่างลิเวอร์พูล และแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ก็มีการแข่งขันกันมาตลอดในฐานะ ‘หัวเมืองใหญ่ทางตอนเหนือ’ ของอังกฤษ

ความจริงอาจจะเรียกว่าเป็นการแก่งแย่งชิงดี ซึ่งอาจจะสะท้อนความเป็นจริงได้ชัดเจนกว่า

ต่างฝ่ายต่างใช้ความ ‘ริษยา’ เป็นแรงผลักดันสโมสรได้เป็นอย่างดี

ช่วงใดที่ลิเวอร์พูลผลงานดีกว่าแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ก็จะค่อยๆ เก็บความรู้สึกไว้เป็นพลังในการโต้ตอบและรอเวลาที่จะกลับมาผงาดเหนืออีกครั้ง เช่นเดียวกัน ช่วงใดที่แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ผลงานดีกว่าลิเวอร์พูล พวกเขาก็ทำในสิ่งเดียวกัน

นั่นทำให้ระหว่างทั้งสองทีมนี้ต่างมี ‘ยุค’​ ของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นช่วงที่แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ยิ่งใหญ่ภายใต้การคุมทีมของ เซอร์ แมตต์ บัสบี หรือลิเวอร์พูลในยุคของปรมาจารย์ บิลล์ แชงคลีย์ และเหล่าสมาชิก Boot Room ผู้สืบทอดปรัชญาของเขา

และก่อนหน้านี้ไม่นานนักกับยอดคน เซอร์ อเล็กซ์​ เฟอร์กูสัน ผู้ที่ทำให้แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด แซงหน้าลิเวอร์พูล

แต่ไม่ว่าทั้งสองทีมจะตกอยู่ในช่วงเวลาใด ประสบความสำเร็จหรือไม่ การพบกันเองระหว่างพวกเขาก็ถือเป็นเกมที่อยู่ในภาวะยอมกันไม่ได้มาโดยตลอด เรียกว่าเข้มยิ่งกว่าดาร์บีแมตช์แท้ๆ อย่าง แมนเชสเตอร์ ดาร์บี (แมนฯ ยูไนเต็ด-แมนฯ ซิตี้) หรือ เมอร์ซีย์ไซด์ ดาร์บี (ลิเวอร์พูล-เอฟเวอร์ตัน) เสียอีก

ความร้อนแรงของศึกแดงเดือดยิ่งทวีคูณมากเป็นพิเศษในช่วง 30 ปีหลัง โดยเฉพาะหลังจากที่ลิเวอร์พูลผงาดเป็นเจ้าแห่งเกาะอังกฤษช่วงปี 70s-80s ข่มคู่ปรับอย่างแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เกือบ 20 ปี จนทำให้ความรู้สึก ‘ยอมไม่ได้’ รุนแรงขึ้นร้อยเท่าพันทวี

ไม่ใช่เฉพาะกับนักฟุตบอลที่ใส่กันยับไม่มีคำว่ายั้ง

แต่มันพาลไปถึงแฟนบอลด้วย!

โดยเฉพาะในยุคที่ฟุตบอลอังกฤษไม่ใช่แค่ของคนอังกฤษเท่านั้น แต่เป็นมหรสพของคนทั้งโลก เกม ‘แดงเดือด’ จึงไม่ใช่เรื่องของกองเชียร์ชาวแมนคูเนียนและสเกาเซอร์อีกต่อไป

แต่เป็นเรื่องของเรดอาร์มีกับเดอะค็อปทั้งโลกที่มีจำนวนหลายสิบล้านคน

เรียกได้ว่าเป็นเกมหยุดโลกอย่างแท้จริง

Photo: Phil Noble, Reuters/profile

ความรักบนความเกลียดชังที่ซับซ้อน

แกรี เนวิลล์ ตำนานตลอดกาลคนหนึ่งของโอลด์ แทรฟฟอร์ด จากชุด Class of ’92 หนึ่งในคนที่เดอะค็อปชิงชังมากที่สุด ยอมรับว่าความรู้สึกที่เขามีต่อลิเวอร์พูลนั้นมัน ‘ซับซ้อนเกินกว่าจะบอกว่าเกลียด!’

ในความหมายคือถึงปากและใจจะบอกว่า “กูเกลียดมึง”​ แต่ลึกๆ แล้วมันก็ไม่ได้เป็นแบบนั้นเสมอไป

เช่นกันกับแฟนบอลแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด และลิเวอร์พูล ที่ทุกครั้งเมื่อมีการเผยปฏิทินการแข่งขันฟุตบอลลีกอังกฤษ 2 นัดแรกที่พวกเขามองหาคือ ‘สงครามสีแดง’ ว่าจะอุบัติขึ้นเมื่อใด

อลัน แบร์เนอร์ (Alan Bairner) ศาสตราจารย์ด้านทฤษฎีสังคมและกีฬามหาวิทยาลัยลัฟบรา (Loughborough) ชี้ว่าแฟนฟุตบอลต้องการ ‘อริ’ เพราะมันทำให้รู้สึกว่าตัวเองมีความสำคัญ

“มันทำให้ทุกคนรู้สึกดีกับตัวเองในแง่ที่ว่า ‘พวกมันต้องกลัวพวกเรา’ หรือ ‘เราดีกว่ามัน’ มันไม่จำเป็นที่จะต้องไปเกลียดแฟนบอลทีมอื่น แต่ทีมอื่นจะต้องเกลียดเรา”

แอนดี ฮีตัน (Andy Heaton) เจ้าของรายการพอดแคสต์และแมกกาซีนออนไลน์ชื่อดัง The Anfield Wrap บอกว่า “พวกเราเกลียดกัน เพราะพวกเราเหมือนกัน”

ขณะที่ โทนี วิลสัน (Tony Wilson) ผู้ประกาศชื่อดังชาวแมนคูเนียนก็พูดในสิ่งเดียวกัน และคิดว่าความยิ่งใหญ่ของทั้งสองสโมสรเกิดขึ้นได้ เพราะต่างฝ่ายต่างใช้ความชิงชังที่มีต่อกันเป็นแรงกระตุ้น

อย่างไรก็ดีใช่ว่าทั้งสองทีมนี้จะไม่เคย ‘ญาติดี’ กันเลย

ในช่วงหลังเหตุการณ์โศกนาฏกรรมที่มิวนิก เครื่องบินของทีมแมนเชสเตอร์  ยูไนเต็ด เกิดอุบัติเหตุในปี 1958 จน ‘บัสบี เบบส์’ 7 รายเสียชีวิต ลิเวอร์พูลคือหนึ่งในทีมที่เสนอตัวช่วยเหลือพวกเขาทันที โดย บิลล์ แชงคลีย์ ผู้จัดการทีมในยุคนั้น เสนอให้ยืมนักฟุตบอลชุดใหญ่ของลิเวอร์พูล 5 ราย โดยไม่มีเงื่อนไข และเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายให้ด้วยตัวเอง

อีกครั้งหนึ่งในปี 1971 แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ถูกแบนห้ามลงแข่งขันในสนามตัวเอง ทำให้พวกเขาต้องใช้แอนฟิลด์เป็นสนามเหย้า 1 นัด (แม้จะมีแฟนบอลเข้ามาชมเพียงครึ่งสนามก็ตาม)

และในปี 1977 ลิเวอร์พูล และแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด พบกันในเกมนัดชิงชนะเลิศเอฟเอ คัพ ซึ่งผลจบลงด้วยชัยชนะของฝ่ายหลัง แต่ทันทีที่จบเกมแฟนบอลปีศาจแดง ยืนปรบมือและร้องเพลงให้กำลังใจแก่นักเตะลิเวอร์พูล ที่กำลังจะเข้าชิงยูโรเปียน คัพ สมัยแรก

พวกเขาต้องการให้ลิเวอร์พูลคว้าแชมป์ยุโรปให้ได้เหมือนที่แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ทำได้เป็นทีมแรกในปี 1958 ซึ่งหงส์แดงก็ทำได้สำเร็จด้วยการพิชิต โบรุสเซีย มึนเชนกลัดบัค

ในยุคนั้นนักฟุตบอลทั้งสองทีมต่างก็รู้จักมักคุ้นเป็นอย่างดี นักเตะลิเวอร์พูลชื่นชอบไปเที่ยวในตัวเมืองแมนเชสเตอร์ ขณะที่แข้งยูไนเต็ดเองก็ชอบมาฟังเพลงในบาร์ที่ลิเวอร์พูลเช่นกัน บางครั้งก็ชวนกันเที่ยวด้วยซ้ำไป

หรือแม้แต่ในปัจจุบัน อดีตสองนักเตะที่เกลียดชังกันมากที่สุดอย่าง แกรี เนวิลล์ กับ เจมี คาร์ราเกอร์ ก็ต้องมาทำงานร่วมกันในบทนักวิเคราะห์ทาง Sky Sports และทั้งสองก็รับส่งเข้ากันได้เป็นอย่างดีเสียด้วย

เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นว่าแม้ความชิงชังจะถูกฝังในสมองและหัวใจมาอย่างยาวนานระหว่างสองสโมสร และแฟนบอลของทั้งสองทีมด้วยเหตุผลมากมาย และเกมแดงเดือดก็นับเป็นเกมอาญาลูกหนังที่ไม่สามารถยอมความกันได้

แต่สุดท้ายแล้วเมื่อถอดหมวกแฟนบอลออก เราต่างก็เป็นมนุษย์เหมือนกัน

และฟุตบอลก็เป็นแค่เกม ไม่มีอะไรมากหรือน้อยไปกว่านั้น

อ้างอิง:

DID YOU KNOW?

  • การพบกันที่ โอลด์ แทรฟฟอร์ด วันอาทิตย์นี้ (15 ม.ค.) จะเป็นการพบกันครั้งที่ 198
  • 197 ครั้งก่อนหน้านี้ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ชนะมากกว่า 79 ครั้ง, เสมอ 53 ครั้ง และลิเวอร์พูลชนะ 65 ครั้ง
  • ไรอัน กิกส์ คือนักฟุตบอลที่ลงเล่นในเกมแดงเดือดมากที่สุด 48 ครั้ง
  • แต่ สตีเวน เจอร์ราร์ด คือผู้ทำประตูสูงสุดในเกมแดงเดือด 9 ประตู (เท่ากับ จอร์จ วอลล์ และแซนดี เทิร์นบูล ของฝั่งแมนเชสเตอร์ ​ยูไนเต็ดทั้งคู่)
Tags: , ,