1

ก : คุณว่าผู้ชายถูกข่มขืนได้ไหม

ข : ได้สิ-โดยเฉพาะถ้าผู้ชายข่มขืนกันเอง หรือผู้ใหญ่ที่เป็นผู้ชายข่มขืนเด็ก

ก : แล้วถ้าเป็นผู้ใหญ่ที่เป็นผู้หญิง มีอะไรกับเด็กผู้ชายอายุยังไม่บรรลุนิติภาวะล่ะ

ข : อย่างนั้นเขาเรียก…ขึ้นครู

ก : แปลว่าไม่ผิด?

ข : อาจเรียกได้ว่าเป็นการให้การศึกษา

ก : ?!?

รายงานการสำรวจในนักศึกษาชาย 302 คน พบว่า
นักศึกษาชาย 51.2% บอกว่าตัวเอง ‘เคยตกเป็นเหยื่อ’
ของการล่วงละเมิดทางเพศตั้งแต่อายุ 16 ปี เป็นต้นมา
โดยที่ครึ่งหนึ่งของเหยื่อเหล่านี้บอกว่า ผู้คุกคามเป็นผู้หญิง

2

ในหลายสังคม (ไม่ใช่เฉพาะสังคมไทย) ความคิดเรื่องการข่มขืนและเพศต่างๆ นั้นดูเหมือนจะลักลั่นกันอยู่หลายเรื่อง เรื่องข่มขืนหรือละเมิดทางเพศ (sexual abuse) เป็นเรื่องใหญ่เรื่องหนึ่ง เพราะพอเอาเรื่องนี้ไปผูกอยู่กับอคติทางเพศที่เป็นแนวคิดกระแสหลัก หลายครั้งเรื่องนี้ถูกทำให้เจือจางหรือเข้มข้นเกินจริงไป

เมื่อราวสามปีที่แล้ว มีการสำรวจที่เรียกว่า National Crime Victimization Survey หรือการสำรวจเหยื่ออาชญากรรมของสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะในเรื่องของการข่มขืนและความรุนแรงทางเพศ ผลการสำรวจทำให้หลายคนรู้สึกช็อกไปเลย

เวลาพูดว่า มีคนเป็น ‘ผู้กระทำ’ ความรุนแรงทางเพศ คุณจะนึกภาพใครครับ

หลายคนอาจนึกถึงผู้ชายร่างใหญ่หนวดเฟิ้ม แต่ไม่ค่อยคิดถึงผู้หญิงเท่าไร หรือต่อให้นึกถึง ก็อาจคิดว่าคนที่เป็นผู้กระทำความรุนแรงทางเพศที่เป็นหญิงนั้น คงมีจำนวนไม่มากนักหรอก

แต่ผลการสำรวจเปิดเผยออกมาว่า ในบรรดาอาชญากรรมทางเพศ (ที่รวมทั้งการข่มขืนและล่วงละเมิดทางเพศในหลายรูปแบบ) พบว่ามีอยู่ถึง 38% ที่เป็น ‘ผู้หญิง’ กระทำต่อทั้งผู้หญิง ผู้ชาย และเพศอื่นๆ

ตัวเลข 38% ทำให้หลายคนไม่เชื่อ แต่หน่วยงานที่รับผิดชอบก็ยืนยันว่านี่คือตัวเลขที่ถูกต้องแล้ว และเมื่อมีการสำรวจเพิ่มเติม โดยสำรวจจากผู้ต้องขังในเรือนจำ ก็พบว่าตัวเลขของการเป็นผู้กระทำหรือถูกกระทำในสองเพศ (คือชายและหญิง) นั้น มีสัดส่วนที่ ‘พอๆ กัน’

คนที่ไปสำรวจเรื่องนี้อย่างต่อเนื่องคือ ลารา สเตมเพิล (Lara Stemple) ซึ่งทำงานอยู่ที่ UCLA สเตมเพิลเป็นเฟมินิสต์ที่ทำงานเกี่ยวกับเรื่องเพศมายาวนาน ในมุมของเฟมินิสต์บางสาย การข่มขืนคือสิ่งที่ผู้ชายกระทำกับผู้หญิง (บางคนถึงกับบอกว่า penetration หรือการสอดใส่ทุกรูปแบบถือเป็นการกดขี่ หรือ oppression ซึ่งหมายถึงการข่มขืนรูปแบบหนึ่งนั้น) และเฟมินิสต์ก็ต้องต่อสู้กับมายาคติของการข่มขืน ซึ่งในสมัยโบราณนานนม สังคมบุพกาลจะคิดว่า ถ้าผู้หญิงถูกข่มขืน แปลว่าเป็นความผิดของผู้หญิงเอง เช่น ผู้หญิงคงจะแต่งตัวโป๊ยั่วยวน  หรืออย่างที่คนเฒ่าคนแก่บางคนเคยพูดในทำนองที่ว่า นักท่องเที่ยวหญิงถูกข่มขืน เพราะใส่บิกินีไปเที่ยวทะเล หรือถ้าจะรอดจากการถูกข่มขืนก็เพราะไม่สวย อะไรทำนองนี้

คำถามก็คือ แล้วถ้าเป็นผู้ชายล่ะ?

สเตมเพิลพบว่า ในผู้ชายก็มีมายาคติดึกดำบรรพ์แบบนี้ฝังหัวอยู่ด้วยเหมือนกัน คือถ้าผู้ชายจะโดนข่มขืน แปลว่าผู้ชายต้อง ‘welcome somehow’ คือต้อง ‘อยาก’ โดนข่มขืน ถึงได้โดนข่มขืนได้ แบบเดียวกับที่ผู้หญิงแต่งตัวโป๊ยั่วยวน แปลว่าเธอสมควรโดน ในผู้ชายกระบวนการแข็งตัวของอวัยวะเพศยิ่งขับเน้นมายาคตินี้เข้าไปอีก ทำให้หลายคนคิดว่าผู้ชายไม่มีทางถูกข่มขืนได้ เพราะผู้ชายต้องมีความต้องการร่วมด้วย ขั้นตอนการข่มขืนถึงจะสำเร็จลุล่วงไปได้

ย้อนกลับไปที่การสำรวจ National Crime Victimization Survey อีกรอบ การสำรวจนี้พุ่งเป้าไปที่อาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรง โดยมีคนเอาข้อมูลที่ได้จากการเก็บระหว่างปี 2010-2013 มาวิเคราะห์อย่างละเอียด พบว่าในบรรดาอาชญากรรมทั้งหมดนั้น มีอยู่ถึง 28% ที่เป็นเรื่องของ ‘ผู้หญิง’ ข่มขืน หรือกระทำความรุนแรงทางเพศโดยไม่มีผู้สมคบคิดที่เป็นชาย (คือเป็นหญิงล้วนๆ อาจกระทำคนเดียวหรือหลายคนก็ว่ากันไป)

ทีนี้ถ้าดูเฉพาะผู้กระทำที่เป็นหญิงอย่างเดียว พบว่าผู้กระทำที่เป็นหญิงนั้น ได้กระทำต่อเหยื่อที่เป็นผู้ชายมากถึง 34.7% ในขณะที่กระทำต่อผู้หญิง 4.2%

พอเข้าไปดูในกรณีของผู้ต้องขังในเรือนจำของรัฐ ก็พบว่าปัญหามันซับซ้อนขึ้นไปอีกขั้น เพราะในเรือนจำก็ต้องมีนักโทษกับผู้คุมใช่ไหมครับ แล้วทั้งนักโทษกับผู้คุมก็แบ่งออกหยาบๆ ได้เป็นหญิงกับชาย ซึ่งก็แปลว่าเราจะมีคนอยู่สี่กลุ่มด้วยกัน คือนักโทษหญิง นักโทษชาย ผู้คุมหญิง และผู้คุมชาย รายงานบอกว่า นักโทษหญิงนั้นจะถูกกระทำให้ตกเป็นเหยื่อทางเพศ (sexual victimization) จากผู้คุมหญิงและจากนักโทษหญิงด้วยกันมากกว่าจากผู้คุมชาย ทั้งที่ถ้าดูจากตัวเลขเฉลี่ยแล้ว ผู้คุมชายที่มาดูแลนักโทษหญิงนั้นมีจำนวนมากกว่าผู้คุมหญิง

แล้วถ้าเปรียบเทียบการล่วงละเมิดทางเพศที่นักโทษชายทำกับนักโทษชายด้วยกันเอง กับระหว่างนักโทษหญิงทำกับนักโทษหญิงด้วยกันเอง พบว่าผู้หญิงกับผู้หญิงนั้นมีตัวเลขสูงกว่าผู้ชายกับผู้ชายถึงกว่าสามเท่า (คือ 13.7% กับ 4.2% ตามลำดับ)

นอกจากนี้ ยังมีรายงานการสำรวจในนักศึกษาชาย 302 คน พบว่า นักศึกษาชาย 51.2% บอกว่าตัวเอง ‘เคยตกเป็นเหยื่อ’ ของการล่วงละเมิดทางเพศตั้งแต่อายุ 16 ปี เป็นต้นมา โดยที่ครึ่งหนึ่งของเหยื่อเหล่านี้บอกว่า ผู้คุกคามเป็นผู้หญิง

ที่แย่ไปกว่านั้นก็คือ ตัวเลขที่ว่าอาจเป็นแค่ยอดของภูเขาน้ำแข็งก็ได้ เพราะมีงานวิจัยอีกชุดหนึ่ง (ตั้งแต่ปี 1993) บอกว่า คนที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศตั้งแต่วัยเด็ก ไม่ว่าจะจากผู้กระทำที่เป็นชายหรือหญิง มักจะไม่ค่อยกล้าเปิดเผยว่าตัวเองเคยถูกกระทำมาก่อน

ยิ่งถ้าผู้กระทำเป็นหญิง บ่อยครั้งเลยที่พบว่า เหยื่อจะรู้สึกอับอายมากจนรายงานว่าถูกกระทำจากผู้ชาย ไม่ใช่ผู้หญิง นั่นยิ่งทำให้ ‘ตัวเลข’ ของผู้กระทำที่เป็นหญิงน้อยกว่าความเป็นจริงลงไปอีก

มีคนอธิบายเอาไว้ว่า เหยื่อที่เป็นชายมักไม่ค่อยกล้ารายงานว่าตัวเองถูกล่วงละเมิดทางเพศจากผู้หญิง เพราะเหมือนมันไปกระทบกับอุดมคติความเป็นชายของตัวเอง รวมไปถึงกลัวจะถูกหาว่าตัวเองนั่นแหละ เป็นฝ่ายต้องการทางเพศเสียเอง (ตามมายาคติเกี่ยวกับการข่มขืนที่ว่ามาตอนต้น) การเปลี่ยนเพศผู้กระทำให้เป็นชายจึงดูสมเหตุสมผลมากกว่า

มีคนเอาข้อมูลที่ได้จากการเก็บระหว่างปี 2010-2013 มาวิเคราะห์อย่างละเอียด
พบว่าในบรรดาอาชญากรรมทั้งหมดนั้น มีอยู่ถึง 28% ที่เป็นเรื่องของ ‘ผู้หญิง’ ข่มขืน
หรือกระทำความรุนแรงทางเพศโดยไม่มีผู้สมคบคิดที่เป็นชาย

3

เรามักจะคิดว่าผู้หญิงเป็นเพศที่ ‘ไม่เป็นพิษเป็นภัย’ (harmless) ทางเพศ แต่ตัวเลขสถิติเหล่านี้มัน ‘เบิกตา’ เราให้เห็นว่า ‘มายาคติ’ เกี่ยวกับความเป็นหญิงที่เรามี (อย่างน้อยก็ในเรื่องนี้) มีความจริงซ่อนอยู่ในนั้นมากน้อยแค่ไหนอย่างไร

ที่ว่ามาทั้งหมดนี้ ไม่ได้จะบอกว่าผู้หญิงหรือผู้ชายใครดีหรือเลวกว่ากันนะครับ แต่การมองให้เห็นโลกอย่างที่มันเป็นจริง จะช่วยให้เราแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างถูกจุดมากกว่าคลำทางไปในมายาคติอย่างมืดบอดเสมอ

ภาพประกอบ: คุณเค

อ้างอิง:

Tags: , , ,