ถ้าผมบอกคุณว่า-โลกนี้มีแค่สองเพศ คุณรู้สึกอย่างไรครับ
จริงๆ นะครับ โลกนี้มีแค่สองเพศ แต่ที่บอกว่ามีสองเพศนั้นต้องมีปัจฉิมลิขิตแจ้งไว้ด้วยว่า-ผมไม่ได้หมายถึงเพศชายกับหญิงนะครับ
อ้าว! แล้วหมายถึงเพศอะไรล่ะ หลายคนอาจสงสัย
สำหรับผม เพศไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่า ‘วิธีคิด’ ที่เรามีต่อเพศ ทั้งเพศของตัวเองและเพศของคนอื่น และดังนั้น หากเราคิดจะแบ่งเรื่องเพศกันจริงๆ ผมคิดว่ามันแบ่งได้กว้างขวางที่สุดสองอย่าง
ซึ่งจะเรียกกันง่ายๆ ว่าเป็น ‘สองเพศ’ ก็เห็นจะได้
โดยสองเพศที่ว่า ก็คือเพศที่สังกัดอยู่ในกลุ่มที่เรียกว่า Binary (หรือทวิลักษณ์) กับกลุ่มที่เป็น Non-Binary (หรือไม่เป็นทวิลักษณ์)
ใช่ครับ ฟังดูกำปั้นทุบดินทีเดียว เหมือนบอกว่ามนุษย์เราหายใจอยู่สองวันเท่านั้น คือวันฝนตกกับวันฝนไม่ตก แต่ถ้าไม่พูดแบบนั้น ประเดี๋ยวก็อาจมีช่องว่างช่องโหว่ได้ และเอาเข้าจริงตอนนี้เพศที่เป็น Non-Binary กำลังเป็นที่พูดถึงกันไม่น้อยทั้งในแง่บวกและแง่ลบ
แต่ก่อนอื่น เราอาจต้องมานิยามกันก่อนนะครับว่าเพศ Binary กับ Non-Binary คืออะไร
พูดอย่างหยาบที่สุด วิธีมองเพศแบบ Binary (หรือ Gender Binarism) ก็คือการแบ่งแยกทั้ง ‘เพศ’ และ ‘สภาวะทางเพศ’ (บางคนใช้คำว่า เพศสภาพ หรือ เพศสภาวะ) ออกเป็นสองฟากสองฝั่งซึ่งอยู่ตรงข้ามกันและแยกขาดจากกัน
แน่นอนครับ สองฟากฝั่งที่ว่าก็คือภาวะที่เป็นชาย (Masculine) กับภาวะที่เป็นหญิง (Feminine) โดยคนที่มีวิธีคิดต่อเพศแบบนี้ ที่จริงก็มีความหลากหลายอยู่ไม่น้อยนะครับ คือบางคนก็ไม่สนับสนุนการ ‘ข้ามเส้นแบ่ง’ ระหว่างเพศ เช่น เกิดมามีเครื่องเพศเป็นชาย ต้องทำอย่างนี้อย่างนั้น ไม่ทำอย่างนี้อย่างนั้น เกิดมามีเครื่องเพศเป็นหญิง ก็ต้องทำอย่างนี้อย่างนั้น ไม่ทำอย่างนี้อย่างนั้น
แต่ในเวลาเดียวกัน คนที่มีวิธีคิดแบบ Gender Binarism บางกลุ่ม ก็โอเคหรือสบายใจกับการข้ามเส้นนะครับ แต่ข้ามแล้วต้องข้ามเลย คือถ้าเป็นผู้ชายก็ต้องกระโดดข้ามไปเป็นผู้หญิง ไปมีนม ผมยาว ผ่าตัดแปลงเพศอะไรก็ว่าไป โดยอาจยอมรับด้วยซ้ำว่ามีคนที่เกิดมา ‘ผิดร่าง’ อยู่จริงๆ เพราะฉะนั้นคนกลุ่มนี้จึงยอมรับคนที่เป็นกะเทย หรือเป็น Transmen ได้ แต่ที่คนกลุ่มนี้อาจจะงงๆ อยู่หน่อย ก็คือคนที่ไม่ได้ข้ามเส้นจริงๆ แต่มีวิถีทางเพศอยู่แถวๆ เส้นเขตแดน
ถ้าจะเปรียบไปก็เหมือนคนเมืองหลวงไม่เข้าใจน่ะครับ ว่าทำไมไปตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนอยู่แถวๆ ชายแดนอยู่ได้ ไม่รู้จักย้ายเข้ามาอยู่ตรงกลางประเทศ จะเลือกประเทศไหนก็เลือกสักประเทศสิ จะมารีๆ รอๆ อยู่ทำไม อะไรทำนองนั้น
นี่คือ Gender Binarism ซึ่งเป็น ‘วิธีคิด’ เกี่ยวกับเพศแบบแรก ซึ่งเราน่าจะคุ้นเคยกับคนแบบนี้ดี เพราะอย่างน้อยที่สุด คนชั้นกลางแทบทุกคนที่เติบโตมากับชีวิตเมืองและพ่อแม่ที่เป็นรักต่างเพศ ก็มักต้องพบกับภาวะผู้ชายสีฟ้าผู้หญิงสีชมพู หรือเด็กชายเล่นปืนเด็กหญิงเล่นตุ๊กตากันมา จนนึกว่านั่นเป็นสภาวะพื้นฐานของมนุษย์
การมองว่าโลกนี้มีเพศแบบ Binary ทำให้เกิดความพยายามในการ ‘จัดประเภท’ คนออกมาเป็นเพศต่างๆ ตามฐานคิดหญิงชาย ทีนี้พอโลกนี้มันสลับซับซ้อนมากขึ้น คนที่มีเพศและเพศสภาพอยู่ตรงเส้นแบ่งเขต (ที่ใครก็ไม่รู้เป็นผู้กำหนดขีด) เราก็ยังเอาแนวคิดแบบเดิมไปจับ เพราะฉะนั้นมันจึงเกิดคำประเภท-กะเทย, เกย์คิง, เกย์ควีน, สาว, ทอม, เลดี้, แมน ฯลฯ ขึ้นมา เพื่อใช้ ‘แยกแยะ’ คนที่ไม่ลงร่องลงรอยกับ Gender Binarism
พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ยังยอมรับได้ยากที่จะปล่อยให้เกิดความนอกคอกจัดประเภทไม่ได้ จึงต้องบ่งชี้ให้ได้ว่า เอ้า! ต่อให้ชอบผู้ชายด้วยกัน ก็ต้องแบ่งบทบาทเป็นชายกับหญิง คือเกย์คิงกับเกย์ควีน หรือเป็นทอมกับดี้ แล้วที่สุดก็เกิดการแบ่งคนตามเพศออกมาเป็นชายกับหญิง แล้วก็ ‘ที่เหลือ’ คือ LGBT ซึ่งแม้ภายหลังจะตามมาด้วยตัวย่ออื่นๆ อีกหลายตัว แต่ก็อยู่ในฐานคิดเดียวกัน คือพยายาม ‘ยัด’ คนแต่ละคนเข้าไปอยู่ในกรอบหรือกล่องทางเพศบางกรอบบางกล่องราวกับจัดอนุกรมวิธานของสัตว์ เพื่อให้สะดวกต่อการทำความเข้าใจของตัวเอง ซึ่งพูดให้ถึงที่สุดก็คือสะดวกต่อการทำความเข้าใจของผู้มีอำนาจ ที่จะแยกแยะว่าคนในสังกัดของตัวเองมีชายกี่คน หญิงกี่คน จะได้จัดสรรการใช้แรงงานและแบ่งปันผลประโยชน์ตอบแทนได้ถูกต้องตรงตามสัดส่วนและวิธีคิดเกี่ยวกับความต่างทางเพศ ซึ่งในแต่ละสังคมก็แตกต่างกันออกไป
อย่างไรก็ตาม พอโลกซับซ้อนมากขึ้น คนออกมาเปิดเผยตัวเองได้มากขึ้น ที่สุดเราก็จะพบว่าความคิดและความพยายามแบ่งแบบนี้มักไม่ค่อยได้ผล ความสลับซับซ้อนทำให้เรา ‘จัดสปีชีส์ทางเพศ’ ไม่ได้ ที่สำคัญก็คือ หลายคนไม่ได้ ‘ตายตัว’ อยู่กับเพศของตัวเองไปชั่วชีวิต แต่สามารถเปลี่ยนแปลงเลื่อนไหลไปมาได้ ถ้าเทียบกับสิ่งมีชีวิต วันนี้เป็นไลเคน พรุ่งนี้อาจเป็นเสือดาว มะรืนอาจเปลี่ยนเป็นกบก็ได้
นั่นทำให้วิธีคิดในการจัด ‘อนุกรมวิธานทางเพศ’ เริ่มสั่นคลอน
จากที่คิดกันว่า โลกต้องแบ่งเป็น 1) กับ 2) และถ้าจะแบ่งเป็นประเภทแยกย่อยออกไป ก็น่าจะแบ่งได้เป็น 1.1) 1.2) 2.1) 2.2) อะไรทำนองนี้ คือแยกเป็นกลุ่มๆ ในที่สุดเมื่อผู้คนเปิดเผยทั้งวิถีทางเพศ การแสดงออกทางเพศ รสนิยมทางเพศ ออกมากันมากเข้า กลุ่ม Gender Binarism ก็พบว่าเอาเข้าจริงแล้ว วิธีคิดแบบนี้อาจใช้ไม่ได้กับคนทั้งโลก
และพูดให้ถึงที่สุด คนที่คิดแบบ Gender Binarism หรือคิดว่าโลกมีสองเพศ (ในความหมายของชายกับหญิง) นั้น แท้จริงอาจเป็น ‘ชนกลุ่มน้อย’ เสียด้วยซ้ำ!
เพราะยิ่งโลกซับซ้อนมากขึ้นเท่าไร เราจะพบว่ามีคนที่กระโดดออกจากจักรวาลของ Gender Binarism ไปสู่จักรวาลที่ไม่จำกัดกรอบ ซึ่งก็เรียกกันแบบง่ายๆ ว่า Non-Binary กันมากขึ้นเรื่อยๆ
และคำว่า Non-Binary นี่แหละครับ ที่จะเป็นฐานให้เราได้ขบคิดถกเถียงกันต่อไป ว่าเอาเข้าจริงแล้ว แม้กระทั่งตัว Gender เอง ก็ไม่ได้ดำรงอยู่ (exist) หรือเปล่า
ที่เล่ามาทั้งหมดนี้ จริงๆ ไม่มีประเด็นอะไรหรอกนะครับ (อ้าว!) นอกจากอยากเล่าถึงที่มาของชื่อคอลัมน์ Genderless ที่วางไว้เป็นคำถามกว้างๆ ต่อวิธีมองเพศของตัวเราเองและคนที่อยู่รอบๆ
โลกนี้จึงมีสองเพศ
และไม่ได้มีสองเพศ
ในเวลาเดียวกัน…
Tags: momentum, opinion, genderless, binary sex