การปะทะกันระหว่างโลกที่เป็น Binarism กับโลกที่เป็น Non-Binarism ในเรื่องเพศ พบเห็นได้ชัดเจนที่สุดที่ไหนรู้ไหมครับ?
ในส้วม!
เราอาจคิดว่า พ.ศ.นี้ ศตวรรษนี้ โลกกำลังอ้าแขนถ่างขาเปิดรับความหลากหลายทางเพศกันแล้วอย่างไม่มีข้อยกเว้น แต่อยากบอกคุณว่า ปีที่ผ่านมานี่แหละครับ ที่เราได้เห็นอาการ ‘โต้กลับ’ (Backlash) ทางเพศ อย่างเห็นชัดที่สุด
เพราะเมื่อโลกทำท่าว่าจะยอมเปิดรับความหลากหลายทางเพศ มีแนวโน้มว่าจะเดินไปบนเส้นทาง Non-Binarism มากขึ้นเรื่อยๆ โลกอีกใบที่สมาทานตัวเองอยู่ในกรอบกรงของ Binarism จึงยอมไม่ได้ ต้องหาทุกวิถีทางเพื่อกำกับควบคุมโลกที่ ‘ดูเหมือน’ กำลังจะออกนอกลู่นอกทางไป โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับตัวเองอย่างแนบแน่นไปถึงเนื้อตัวร่างกายเสียด้วย
รูปธรรมของการต่อสู้ในเรื่องนี้ที่เห็นได้ชัดที่สุด คือกฎหมายในสหรัฐอเมริกาที่เรียกกันด้วยชื่อเล่นๆ ว่า Bathroom Bill หรือพระราชบัญญัติห้องน้ำห้องส้วม อันมี ‘เป้า’ พุ่งตรงไปที่คนที่มีลักษณะ ‘ข้ามเพศ’ (transgender) โดยเฉพาะ ทั้งนี้ก็เพื่อรักษา ‘ความปลอดภัย’ ให้กับผู้หญิง (ที่ถูกมองว่าเป็นเพศอ่อนแอ) ในการเข้าใช้ห้องน้ำสาธารณะ
รัฐบาลกลางของสหรัฐอเมริกา ‘เปิดกว้าง’
ให้กับความหลากหลายทางเพศมากเกินไป
ในมุมกลับ การเปิดกว้างนี้กลับมา ‘จำกัด’ (หรือเลือกปฏิบัติ) ต่อคนที่อยากจะเคร่งศาสนาและยึดถือศีลธรรมในแบบที่ตัวเองเป็น
เช่น ถ้าเขาเห็นว่าผู้ชายต้องเป็นผู้ชาย ผู้หญิงต้องเป็นผู้หญิง
ก็ควรจะต้องได้รับการปกป้องความเชื่อนี้ด้วย
เมื่อต้นปีที่ผ่านมา มีการเสนอกฎหมายในรัฐมิสซิสซิปปี เพื่อ ‘ปกป้อง’ เสรีภาพแห่งมโนธรรม (Freedom of Conscience) จาก ‘การเลือกปฏิบัติของรัฐบาล’ (Government Discrimination Act) ซึ่งในท่ีนี้ก็คือรัฐบาลกลางของอเมริกานั่นแหละครับ
ฟังดูแล้วงงงๆ ไหมครับ
อธิบายง่ายๆ ก็คือ กฎหมายนี้เห็นว่า รัฐบาลกลางของสหรัฐอเมริกา ‘เปิดกว้าง’ ให้กับความหลากหลายทางเพศมากเกินไป ในมุมกลับ การเปิดกว้างนี้กลับมา ‘จำกัด’ (หรือเลือกปฏิบัติ) ต่อคนที่อยากจะเคร่งศาสนาและยึดถือศีลธรรมในแบบที่ตัวเองเป็น เช่น ถ้าเขาเห็นว่าผู้ชายต้องเป็นผู้ชาย ผู้หญิงต้องเป็นผู้หญิง ก็ควรจะต้องได้รับการปกป้องความเชื่อนี้ด้วย
ดังนั้น มิสซิสซิปปีจึงเสนอ House Bill No.1523 ขึ้นมา เป็นข้อเสนอเพื่อปกป้องคุ้มครองคนตามแนวคิดที่ว่านี้ โดยระบุเอาไว้ชัดเจนหลายเรื่อง (เพื่อเอาให้ชัดๆ กันไปเลย) เช่นบอกว่าการแต่งงานจะต้องเป็นการอยู่ร่วมกันของ ‘ผู้ชาย’ หนึ่งคน กับ ‘ผู้หญิง’ หนึ่งคน (เท่านั้น) หรือความสัมพันธ์ทางเพศจะต้องสงวนไว้สำหรับคนที่อยู่ในสถาบันการแต่งงานแล้ว (เท่านั้น) แต่ที่สำคัญก็คือ มีการให้ความหมายของ ‘ผู้ชาย’ กับ ‘ผู้หญิง’ เอาไว้น่าสนใจว่า ผู้ชายหรือผู้หญิงนั้น หมายถึงปัจเจกที่มี ‘เพศทางชีวภาพ’ (biological sex) ในแบบที่ ‘เปลี่ยนแปลงไม่ได้’ (immutable) และถูกกำหนดแบบภววิสัย (objectively determined) โดยสรีระและพันธุกรรมในช่วงเวลาที่ถือกำเนิดมา (time of birth)
พูดง่ายๆก็คือ เกิดมาเป็นเพศ (ทางชีววิทยา) อะไร ก็ต้องเป็นไปตามนั้น เปลี่ยนแปลงไม่ได้
และดังนั้น เวลาจะเข้าส้วมสาธารณะ ก็ต้องเข้าให้ตรงกับ ‘เพศกำเนิด’ ของตัวเองด้วย!
มิสซิสซิปปีไม่ใช่รัฐเดียวที่มีความพยายามจะเสนอกฎหมายนี้นะครับ นอร์ธแคไรโลนาก็มีคำสั่งทางกฎหมายให้องค์กรสาธารณะและโรงเรียนต่างๆ ‘อนุญาต’ ให้คนเข้าใช้ห้องน้ำได้เฉพาะห้องน้ำที่ตรง (correspond) กับเพศทางชีววิทยาเมื่อถือกำเนิดเท่านั้น (จะทำนมผ่าจิ๋มผ่าจู๋แต่งหญิงแต่งชายอะไรมาแค่ไหนก็ต้องเข้าห้องน้ำตามเพศของตัวเองทั้งสิ้น)
มิสซิสซิปปีไม่ใช่รัฐเดียวที่มีความพยายามจะเสนอกฎหมายนี้นะครับ
นอร์ธแคไรโลนาก็มีคำสั่งทางกฎหมายให้องค์กรสาธารณะและโรงเรียนต่างๆ ‘อนุญาต’ ให้คนเข้าใช้ห้องน้ำได้เฉพาะห้องน้ำที่ตรง (correspond) กับเพศทางชีววิทยาเมื่อถือกำเนิดเท่านั้น
Bathroom Bill ที่ว่านี้ ยังมีการเสนอกันในอีกหลายรัฐ เช่น เซาธ์ดาโกตา วอชิงตัน หรือแม้กระทั่งในแคลิฟอร์เนีย แม้ในหลายแห่งจะถูกต่อต้านคัดค้านจนต้องตกไป แต่กระนั้น สิ่งที่น่าตั้งคำถามก็คือ-อะไรเป็นตัวตั้งต้นที่ก่อให้เกิดสิ่งที่หลายคนเรียกว่า ‘ความกังวลทางเพศ’ (Gender Anxiety) แบบนี้ขึ้นมาได้
เห็นได้ชัดเลยนะครับ ว่าปรากฏการณ์ ‘โต้กลับ’ (backlash) ที่ว่านี้ เกิดขึ้นหลังศาลสูงของสหรัฐอเมริกาตัดสินว่า การแต่งงานของคนรักเพศเดียวกัน (same sex marriage) เป็นเรื่องที่ทำได้ตามกฎหมาย (legalized) ในช่วงฤดูร้อนปี 2015
ที่จริงแล้ว ถ้าไปดูลึกๆ เราจะเห็นว่า การต่อสู้ในเรื่อง same sex marriage นั้น กลุ่มที่ต่อสู้พยายามทำให้เรื่องนี้ ‘ตัดขาด’ ออกจากเรื่องเพศ แล้วหันมาให้ความสำคัญกับ ‘ความสัมพันธ์’ มากขึ้น เช่นพูดถึงเรื่อง ‘ความรัก’ เหนือกว่า ‘เสรีภาพทางเพศ’ เพื่อเปลี่ยนแปลงมายาคติที่คนมักจะชอบมองว่า ‘คนรักเพศเดียวกัน’ คือคนที่ ‘รัก (การ) ร่วมเพศ’ เป็นต้น
พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ เพื่อให้ได้มาซึ่งสถานภาพการแต่งงานในแบบที่มีความเป็น ‘สถาบัน’ (institutionalized) ก็ต้อง ‘แลก’ มาด้วยการค้อมหัวเข้าไปอยู่ในอีกกรอบกรงหนึ่ง-นั่นก็คือกรอบกรงแห่งศีลธรรมและศาสนา ซึ่งแน่นอน-ย่อมมีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย
การ ‘แลก’ ที่ว่านี้ หลายคนวิจารณ์ว่ามันสอดคล้องกับภาวะ ‘ซ้ายกลาง’ (mild leftism) ของพรรคการเมืองหลายพรรคในยุโรป ซึ่งเอาเข้าจริงก็เปราะบางต่อการถูกตอบโต้ (อย่างที่เราจะเห็นได้ในกรณี Brexit หรือการเลือกตั้งช่วงหลังๆที่พรรคฝ่ายขวาได้คะแนนนิยมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ) ด้วยเหตุนี้ จึงไม่น่าแปลกใจเท่าไหร่ ที่เราจะเห็นการตีโต้กลับจากฝ่ายขวาหรือฝ่ายอนุรักษ์นิยม (ซึ่งในมิติทางเพศจะสมาทานแนวคิดแบบ gender binarism อยู่แล้วโดยธรรมชาติ) ในทุกแนวรบ
ซึ่งก็รวมถึงแนวรบในเรื่องเพศด้วย
แคเธอรีน แฟรงค์ (Katherine Franke) อาจารย์จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบียที่ทำงานด้านกฎหมายและ gender studies ให้ความเห็นเอาไว้ว่า-เนื่องจาก ‘การแต่งงาน’ นั้นเป็น ‘สถาบัน’ ที่มี ‘ราก’ มาจากผู้ชายและผู้หญิง การแต่งงานจึงก่อให้เกิดผลอย่างหนึ่งที่เธอเรียกว่า ‘ผลมั่นคง’ (stabilizing effect) ความเป็นสถาบันของการแต่งงาน (ระหว่างชายกับหญิง) นั้นได้รับการยอมรับจากทั้งพระเจ้า กฎหมาย และรัฐ มาเป็นเวลานาน และเมื่อแต่งงานกันแล้ว ก็ ‘ถูกคาดหมาย’ ให้ต้องอยู่กันไปจนชั่วฟ้าดินสลาย (คือมี stability นั่นเอง)
แต่ในเวลาเดียวกัน การแต่งงานของคนรักเพศเดียวกัน กลับเป็นกระบวนการที่จะไป destablilize หรือบั่นทอนความมั่นคงดังกล่าวในหลายมิติ ตั้งแต่เริ่มจากเป็นการแต่งงานของคนเพศเดียวกันซึ่งศาสนาไม่ยอมรับ ไปจนถึงการขาดแรงหนุนทางสังคม ศาสนา และรัฐ ในอันที่จะทำให้ ‘ความรัก’ ของคนเหล่านี้ยืนยง มันจึงสร้างความปั่นป่วนกวนใจ (axiety) ให้กับคนที่เป็นอนุรักษ์นิยมในหลายระดับ แต่ระดับที่คนเหล่านี้ต้องเข้ามา ‘ข้องเกี่ยว’ มากที่สุด ก็คือการใช้พื้นที่สาธารณะร่วมกัน
โดยเฉพาะพื้นที่สาธารณะที่เกี่ยวกันตรงๆ กับเรื่องเพศ-อย่างเรื่องส้วม!
ห้องน้ำคือ ‘สิ่งสร้าง’ ที่ถูกสร้างขึ้นจาก
‘อัตลักษณ์ทางเพศ’ (gender-based identity) ของคนมาโดยตลอด
ต่อให้ไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่คนที่รักเพศเดียวกัน ‘เป็น’ มากเท่าไหร่ แต่คนรักเพศเดียวกันจะไปมีเซ็กซ์กับใคร จูบกับใคร หาคู่ที่ไหน คนที่เป็นอนุรักษ์นิยมไม่จำเป็นต้องไปข้องเกี่ยวด้วยเพราะอยู่กันคนละพื้นที่ แต่การเข้าห้องน้ำสาธารณะไม่ใช่แบบนั้น เพราะแม้จะเป็น ‘พื้นที่สาธารณะ’ ห้องน้ำก็มีไว้เพื่อทำกิจ ‘ส่วนตัว’ ด้วย ดังนั้นความเป็นสาธารณะ (ที่ต้องใช้หลักการ ‘อดทนอดกลั้น’ ต่อความหลากหลายของคนอื่น) จึงซ้อนทับกับความเป็นส่วนตัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะไม่ว่าจะมองในมุมของฝั่งไหน ห้องน้ำคือ ‘สิ่งสร้าง’ ที่ถูกสร้างขึ้นจาก ‘อัตลักษณ์ทางเพศ’ (gender-based identity) ของคนมาโดยตลอด
ประเด็นถกเถียงทางการเมืองอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการขึ้นหรือลดภาษี งบประมาณทางทหาร การปฏิรูปนั่นโน่นนี่ แม้จะเป็นเรื่องสำคัญต่ออัตลักษณ์ทางการเมืองของผู้คนเหมือนกัน แต่ส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่ ‘ไกล’ ไปจากเนื้อตัวของคน มันเป็นอุดมการณ์ที่ไม่ได้ล้วงลึกเข้ามาถึงจู๋หรือจิ๋ม แต่ ‘การเมืองเรื่องเพศ’ ไม่ได้ตรงไปตรงมาอย่างนั้น มันเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับเนื้อตัวร่างกายของเราและของคนอื่น เนื้อตัวร่างกายของเราไม่ใช่แค่เซลล์กล้ามเนื้อหรือไขมัน แต่มัน ‘แบก’ เอาการให้คุณค่าในทางศีลธรรมหลากมิติเอาไว้ด้วย
เพศคือใจกลางสำคัญอันหนึ่งของอัตลักษณ์
มันคือศูนย์กลางหนึ่งของการสร้างความรู้ ความคิด
และความเข้าใจในชีวิตของผู้คน
ในขณะที่ฝั่งหนึ่งเห็นว่า ห้องน้ำแบบแบ่งเพศ (sex-segregated bathroom) เป็นเรื่องสำคัญ และต้องบังคับใช้การ ‘แบ่งเพศ’ ตามเพศกำเนิด อีกฝั่งหนึ่งก็มองว่าการคิดแบบนี้แสดงให้เห็นสภาวะ transphobic คือความกลัวและรังเกียจคนข้ามเพศ โดยต่างฝ่ายต่างก็ได้รับแรงสนับสนุนจาก ‘อำนาจ’ คนละข้าง ข้างหนึ่งจากศาสนา อีกข้างหนึ่งจากรัฐ (ที่เป็นรัฐบาลกลาง)
ในรัฐวอชิงตัน (ที่หลายคนมองว่าเป็น ‘รัฐก้าวหน้า’ พอสมควร) เคยมีการเสนอของกลุ่มพันธมิตรที่เรียกตัวเองว่า ‘Just Want Privacy’ (คือกลุ่มที่บอกว่าตัวเอง ‘แค่อยากได้ความเป็นส่วนตัว’) เสนอให้สั่งห้ามคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนจากการบังคับใช้กฎเกณฑ์เรื่องอัตลักษณ์ทางเพศที่อาจมาขัดขวางการแบ่งเพศของห้องน้ำ โดยข้อเสนอของกลุ่มนี้ก็คือให้บังคับใช้นโยบาย segregation หรือการแยกเพศอย่างเข้มงวด (เหมือนที่เคยมีการแยกระหว่างคนขาวกับคนดำ) โดยสร้าง ‘ห้องน้ำที่สาม’ ขึ้นมา ถ้าใครเป็น transgender ต้องไปเข้าห้องน้ำที่สามเท่านั้น
นี่จึงไม่ใช่เรื่องเล็ก เพราะเอาเข้าจริง นี่คือการปะทะกันของอุดมการณ์ใหญ่ๆ หลายอุดมการณ์ เช่น สิทธิมนุษยชน ความเป็นส่วนตัว ศีลธรรม ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ฯลฯ
ดังนั้น เรื่องของ ‘ส้วม’ ที่หลายคนอาจรู้สึกว่าเป็น ‘เรื่องขำๆ’ แท้จริงจึงอาจ ‘ลึก’ และตกลงกันได้ยากกว่าที่คิดมาก แม้ในหลายรัฐ กฎหมาย Bathroom Bill จะตกไปด้วยวิธีการต่างๆ แต่การต่อสู้เรื่องนี้จะไม่หายไปง่ายๆ เพราะเพศคือใจกลางสำคัญอันหนึ่งของอัตลักษณ์ มันคือศูนย์กลางหนึ่งของการสร้างความรู้ ความคิด และความเข้าใจในชีวิตของผู้คน
และส้วม-สถานที่ที่เกี่ยวพันกับเรื่องเพศอย่างแนบชิด จะเป็นสนามรบใหญ่ของศึกนี้
ศึกที่ไม่น่าจะจบลงได้ง่ายๆ
ภาพประกอบ: NOLA NOLEE