กลายเป็นข่าวฮือฮาอย่างมากในวงการวิทยาศาสตร์ เมื่อมีการค้นพบฟอสซิลส่วนของสมองไดโนเสาร์ครั้งแรกของโลก!
ทีมนักวิจัยจากประเทศอังกฤษประกาศการค้นพบฟอสซิลชิ้นส่วนเนื้อเยื่อสมองที่ถูกเก็บไว้อย่างดีภายในกะโหลกของไดโนเสาร์
ฟอสซิลดังกล่าวถูกค้นพบที่ชายหาดในเมืองซัสเซกซ์ (Sussex)ประเทศอังกฤษ ขนาดใหญ่ประมาณกำปั้น (ภาพ 1) หลักๆ แล้วประกอบด้วยชิ้นส่วนด้านในของกะโหลก แต่หลังจากวิเคราะห์ด้วยกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบส่องพื้นผิว (SEM) และซีทีสแกนพบว่า มีเนื้อเยื่อสมองที่มีเส้นเลือดขนาดเล็กๆ ติดมาด้วย (ภาพ 2)
ข่าวการค้นพบฟอสซิลนี้ถูกประกาศเมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา แต่จริงๆ แล้วมันถูกค้นพบตั้งแต่ปี 2004 นักวิจัยคาดว่าเป็นเนื้อเยื่อสมองของไดโนเสาร์กินพืชสายพันธุ์ อิกัวโนดอน (Iguanodon) ที่มีชีวิตอยู่ในช่วงต้นยุคครีเทเชียส เมื่อ 133 ล้านปีก่อน (ภาพ 3) ลักษณะเด่นของมันคือ นิ้วโป้งที่เป็นแท่งแหลมยาวเหมือนหนามขนาดใหญ่
การศึกษาลักษณะของช่องกะโหลกนั้นช่วยให้นักวิจัยพอจะบอกรูปร่างและขนาดของสมองได้คร่าวๆ แต่ลักษณะเนื้อเยื่อสมองอาจช่วยบ่งบอกถึงลักษณะของเปลือกสมองหรือสมองส่วนนอกของไดโนเสาร์ได้
นอกจากนี้การที่มีเนื้อเยื่อนี้ติดมา ทำให้นักวิทยาศาสตร์ตั้งสมมติฐานว่าสมองของไดโนเสาร์ชนิดนี้อาจใหญ่กว่าที่คาด
พูดง่ายๆ ว่ามีสมองอยู่เต็มกะโหลกจนเนื้อเยื่อบางส่วนติดมากับฟอสซิลได้
อย่างไรก็ตาม นักวิจัยบางส่วนยังสงสัยอยู่ว่า ฟอสซิลดังกล่าวใช่เนื้อเยื่อส่วนสมองจริงหรือไม่ ส่วนหนึ่งเพราะเนื้อเยื่ออ่อนๆ อย่างเนื้อเยื่อผิวหนัง เซลล์เม็ดเลือดและสมอง ที่กลายเป็นฟอสซิลนั้นเป็นอะไรที่หายากสุดๆ เนื่องจากมันเป็นส่วนที่ย่อยสลายตามกาลเวลาได้ง่าย การถูกเก็บรักษาข้ามเวลามานานนับล้านปี จึงต้องอยู่ในเงื่อนไขเหมาะสมลงตัวมากๆ
ในตอนนี้ทีมนักวิจัยพยายามศึกษาหาความเชื่อมโยงระหว่างเนื้อเยื่อสมองของสัตว์โบราณนี้กับสัตว์อื่นๆ อย่างนกหรือจระเข้ในปัจจุบันว่าเหมือนหรือแตกต่างอย่างไร
นอกจากนี้การค้นพบที่ไม่มีใครคาดคิดนี้ ยังจุดประกายให้นักวิจัยบางส่วนมีความหวังในการหาฟอสซิลชิ้นส่วนสมองที่สมบูรณ์กว่านี้ และทำให้นักวิจัยหลายคนย้อนกลับไปตรวจสอบซากฟอสซิลที่เคยมี เผื่อจะค้นพบเนื้อเยื่อลักษณะดังกล่าวเพิ่มเติม
และอาจนำไปสู่การประเมินระดับของสติปัญญาไดโนเสาร์ได้อย่างแม่นยำขึ้นในอนาคต
อ้างอิง:
– http://phys.org/news/2016-10-million-year-old-dinosaur-brain-fossil-england.html