Photo: Tim Wimborne, Reuters/profile

‘อะไรที่ได้มายาก สิ่งนั้นย่อมล้ำค่า’

ชัยชนะเหนือ โนวัค ยอโควิช คู่ปรับตลอดกาลในศึกเทนนิสรายการใหญ่ส่งท้ายปี เอทีพี เวิลด์ ทัวร์ ไฟนอลส์ ส่งผลให้ แอนดี้ เมอร์เรย์ รักษาตำแหน่งมือหนึ่งของโลกที่เพิ่งได้มาครองเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อนเอาไว้ได้สำเร็จอย่างเป็นทางการ

ก่อนหน้านี้ เมอร์เรย์ได้แซงหน้าคว้าตำแหน่งมือหนึ่งของโลกในรายการ ปารีส มาสเตอร์ส ยุติการครองมือหนึ่ง 123 สัปดาห์ของยอโควิชได้แล้วก็จริง และเป็นนักเทนนิสจากสหราชอาณาจักรคนแรกที่ทำได้นับตั้งแต่มีการคิดระบบคะแนนในปี 1973 แต่มันยังมีความคลางแคลงใจอยู่บ้างในตัวของนักเทนนิสหนุ่มวัย 29 ปีคนนี้

กับคำถามว่าเขานั้นเหนือกว่า ‘โนเล่’ เพื่อนที่เล่นเทนนิสร่วมกันมาตั้งแต่เด็กแล้วจริงหรือ? เขาได้เป็นมือหนึ่งเพียงเพราะคู่แข่งอย่าง ยอโควิช, เฟเดอเรอร์, นาดาล กำลังอยู่ในช่วงฟอร์มตก และมีปัญหาอาการบาดเจ็บพร้อมๆ กัน?

แม้กระทั่งเจ้าตัวเองยังออกตัวว่าตำแหน่งมือหนึ่งอาจจะอยู่กับเขาเพียงแค่สัปดาห์เดียวก็ได้

มีการทำนายทายทักว่าเมื่อศึก เอทีพี เวิลด์ ทัวร์ ไฟนอลส์ จบลง ยอโควิชที่กลับมาอยู่ในฟอร์มที่ดีอีกครั้งน่าจะทวงทุกอย่างกลับคืนมา และทุกสิ่งในโลกเทนนิสชายจะกลับไปเป็นเหมือนเดิม ราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น เรื่องราวของเมอร์เรย์อาจจะเป็นเพียงแค่สายลมผ่านไปวูบเดียว

แต่เมอร์เรย์ตอบทุกคำถามด้วยชัยชนะที่เด็ดขาดเหนืออดีตมือหนึ่ง เพื่อนที่เขารู้จักมาตั้งแต่อายุ 11 ขวบ

ชัยชนะที่สมบูรณ์แบบที่สุดสำหรับการประกาศว่าเขาคือมือหนึ่งคนใหม่

และเขาไม่ใช่ไอ้ขี้แพ้อีกต่อไป

ความรู้สึกที่มั่นคง และด้วยความซื่อตรงต่อความรักในการเล่นเทนนิส

ได้นำพาเขามาถึงจุดนี้

ไต่ระดับฝีมือด้วยการทำทุกอย่างให้ดีที่สุด

จะว่าไปเรื่องความเชื่อและคำถามที่สงสัยในตัวเมอร์เรย์ไม่ใช่เรื่องแปลกครับ เพราะตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา เขาไม่ใช่คนที่มีภาพลักษณ์หรือความรู้สึกของ ‘แชมเปี้ยน’​ ติดตัว

เพราะนับตั้งแต่แจ้งเกิดในฐานะสตาร์คนใหม่จากเกาะอังกฤษ จนวัยล่วงเลยมาเกือบแตะหลักสาม เมอร์เรย์ไม่ได้ประสบความสำเร็จอะไรมากมายนัก แชมป์ระดับแกรนด์สแลมก็ได้เพียง 2 รายการ กับอีกหนึ่งเหรียญโอลิมปิก

เขาไม่มีความพิเศษเหมือน โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ ตำนานผู้ไร้เทียมทาน, ราฟาเอล นาดาล “เอล มาทาดอร์” ซ้ายฟ้าสั่ง หรือแม้กระทั่งยอโควิช นักเทนนิสอัจฉริยะที่ดูเหมือนจะแกร่งจนไร้ผู้ต้านในยุคหลัง

ในบางห้วงของความรู้สึก เมอร์เรย์คล้ายถูกกำหนดมาเพื่อให้เป็น ‘พระรอง’​ เท่านั้น

เจ็บแต่จริง

แต่ในความไม่พิเศษของเขา ก็มีความพิเศษบางอย่างซุกซ่อนอยู่ครับ

ความพิเศษที่เรียกว่าความพยายามที่ไร้ขีดจำกัด

Photo: Stefan Wermuth, Reuters/profile

ในหนังสือ Murrayball ที่เขียนโดย ฮิวจ์ แมคโดนัลด์ (Hugh MacDonald) นักข่าวชาวสกอตแลนด์ เปิดเผยที่มาของนักเทนนิสมือหนึ่งของโลกคนปัจจุบันว่า จุดเริ่มต้นในการเล่นเทนนิสของเมอร์เรย์นั้นไม่ได้เกิดขึ้นในคอร์ตเทนนิสที่ดีพร้อมหรือมียอดโค้ชฝีมือดีมาปลุกปั้นตั้งแต่เด็ก

เขาเริ่มต้นทุกอย่างจากการเล่นเทนนิสในหมู่บ้านเล็กๆ แห่งหนึ่งในสกอตแลนด์ที่ไม่มีอะไรเลย แต่ก็ค่อยๆ เติบโตอย่างช้าๆ ทีละก้าว ทำทุกอย่างให้ดีขึ้นทีละเล็กทีละน้อย จนพัฒนาไปสู่อีกระดับ

ด้วยความรู้สึกที่มั่นคง และด้วยความซื่อตรงต่อความรักในการเล่นเทนนิส ได้นำพาเขามาถึงจุดนี้ได้

ทิม เฮนแมน อดีตนักเทนนิสขวัญใจชาวอังกฤษ ซึ่งเป็นหนึ่งในคนแรกๆ ที่ส่งข้อความแสดงความยินดีต่อการครองมือหนึ่งของเมอร์เรย์ ยังจดจำภาพของเจ้าหนูแอนดี้ ได้ว่า “เด็กคนนี้มีความรู้สึกที่แรงกล้าต่อการเล่นอย่าไม่น่าเชื่อ ดูเหมือนเขาจะตีได้ถูกต้องในจังหวะเวลาที่เหมาะสมไปทุกครั้ง แต่เขายังดูมีความแปรปรวนเวลาอยู่ในสนาม”

ความแปรปรวนนั้นลดลงผกผันไปตามวันและเวลาที่ล่วงผ่าน

เมอร์เรย์เป็นนักเทนนิสที่ทำงานหนัก
ทุ่มเทในการฝึกซ้อมอย่างมากและเอาจริงเอาจังเสมอ
ใส่ใจในทุกรายละเอียด

แต่สิ่งหนึ่งที่ยังเหมือนเดิมและเป็นสิ่งที่ทุกคนในวงการรู้กันดีคือ เมอร์เรย์เป็นนักเทนนิสที่ทำงานหนัก ทุ่มเทในการฝึกซ้อมอย่างมากและเอาจริงเอาจังเสมอ ใส่ใจในทุกรายละเอียด

มีข้อมูลว่าผลงานของเขาดีขึ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาในเรื่องของการเล่นลูก second-serve ที่ตีได้หนักหน่วงขึ้นจากเดิม 85 ไมล์/ชั่วโมง เป็น 93 ไมล์/ชั่วโมง ซึ่งสามารถเก็บแต้มเพิ่มเป็น 54% เมื่อเทียบกับตัวเลข 52% ในปี 2015 และ 51% ในปี 2014

ข้อมูลและตัวเลขมันอาจดูธรรมดา แต่มันสะท้อนให้เห็นถึงภาพของความเป็นนักเทนนิสแบบ all-round ที่เล่นได้ทุกรูปแบบ และเล่นด้วยความสม่ำเสมอ

เมอร์เรย์แค่ทำทุกอย่างที่ดูธรรมดาๆ ให้ดีที่สุด

เมื่อถึงวันหนึ่ง ทุกอย่างก็ออกมาดีที่สุดเองตามสิ่งที่ได้ทำมา

ไม่มีอะไรมากหรือน้อยไปกว่านั้น

    รางวัลของความสำเร็จมีเพื่อคนที่ได้พยายามมากพอเท่านั้น

ชัยชนะที่อยากรักษาไว้

ในวัย 29 ปี อาจจะดูยากสักนิดสำหรับเมอร์เรย์ หากมองเป้าหมายไปที่การคว้าแชมป์ระดับเมเจอร์ 17 รายการของ FedEx หรือ 14 รายการของนาดาล เพื่อเทียบชั้นสถานะ ‘ตำนานอมตะ’

ในวงการยังเชื่อว่าคนที่มีโอกาสจะก้าวไปถึงระดับนั้นน่าจะยังเป็นยอโควิช ที่ดูมีอะไรมากกว่า และยังมีโอกาสจะทวงคืนสิ่งที่เขาเสียไปในปีหน้า

แต่ไม่ได้หมายความว่าเมอร์เรย์จะพอใจแค่นี้เช่นกัน ถึงแม้ปี 2016 จะเป็นปีดีที่สุดในชีวิตของเขากับการคว้าแชมป์ 5 รายการ (1 แกรนด์สแลม ‘วิมเบิลดัน’, 1 โอลิมปิก และ 3 รายการระดับมาสเตอร์ส) กับสถิติชนะมากถึง 78 ครั้ง และชนะต่อเนื่องมากที่สุด 24 แมตช์

เขาอยากทำให้ดีกว่านี้ อยากจะไปได้ไกลกว่านี้ อยากจะรักษามันไว้ให้นานเท่านาน

Photo: Stefan Wermuth, Reuters/profile

หลังชัยชนะเหนือยอโควิชในรอบชิงชนะเลิศ เอทีพี เวิลด์ ทัวร์ ไฟนอลส์​ เมอร์เรย์ กล่าวถึงความรู้สึกของตัวเองว่า

“ในวันที่ผมยังเป็นแค่ที่ 4 เสมอนั้น ผมเองก็ไม่เคยชอบความพ่ายแพ้เลย แค่มันอาจจะไม่ได้ส่งผลกระทบอะไรมากนัก และผมก็ไม่ได้มีอะไรต้องยึดถือไว้ การเป็นอันดับ 4 ของโลกก็นับว่ายอดเยี่ยมแล้ว เพียงแต่มันก็ไม่ใช่อันดับ 1 อยู่ดี”

เมอร์เรย์หยุดก่อนจะกล่าวต่อว่า “แต่บางทีตอนนี้ โดยเฉพาะในช่วงไม่กี่เดือนหลังที่ผมเริ่มมองเห็นเป้าหมายและพยายามเพื่อจะมาให้ถึงจุดนี้ ผมอยากจะอยู่ในจุดนี้ต่อไป ความรู้สึกของผมตอนนี้ไม่ใช่ว่าผมหลงระเริง แต่ผมก็รู้สึกดี ผมรู้สึกว่ามันคือแรงกระตุ้นที่จะทำให้ผมก้าวเดินต่อไป”

ผมเองก็ไม่รู้ครับว่าเขาจะไปได้ไกลแค่ไหน แต่ฟังแล้วรู้สึกหัวใจเต้นแรงขึ้นมานิดหนึ่ง

อย่างที่บอกครับว่า ถึงเขาจะเป็นคนเก่งและจัดว่าเป็นดาวเด่นคนหนึ่ง แต่ก็เป็นดาวเด่นที่ถูกมองว่าไม่มีวัน ‘ทำได้’

บนโลกใบนี้มีคนประเภทนี้อยู่ไม่น้อยครับ บางทีคนเหล่านั้นอาจจะอยู่รอบกายเรา หรือบางทีเราก็อาจจะเป็นคนนั้นเอง

บางครั้งเราอาจจะพยายามทำสิ่งใดแล้วแต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ ความรู้สึกท้อแท้เกิดขึ้นได้ไม่ใช่เรื่องแปลกครับ ใครก็เป็นได้

แต่สิ่งที่เมอร์เรย์ได้บอกกับคนทั้งโลกโดยไม่ได้ตั้งใจคือ ถ้าเรามีความ ‘มานะ’ อะไรก็ทำได้ และอย่าท้อ

รางวัลของความสำเร็จมีเพื่อคนที่ได้พยายามมากพอเท่านั้น

ไม่ว่ามันจะใช้ระยะเวลานานสักเท่าไร ตราบที่หัวใจยังเต้นอยู่ เรามีโอกาสนั้นเสมอครับ

FACT BOX:

ปีทองของ ‘เมอร์เรย์’

ปี 2016 เป็นปีที่ดีที่สุดในชีวิตของเขา เริ่มตั้งแต่ต้นปีเขาได้เป็น​ ‘พ่อ’ ของลูกสาวคนแรก โซเฟีย โอลิเวีย ก่อนที่จะคว้าแชมป์วิมเบิลดันสมัยที่ 2 ได้สำเร็จในเดือน ก.ค. และต่อด้วยการป้องกันแชมป์โอลิมปิก คว้าเหรียญทองสมัยที่ 2 ของตัวเอง

หลังจากนั้น “โมเมนตัม” (อิวาน เลนเดิล ยอดโค้ชคู่บุญที่กลับมาช่วย) ก็เหวี่ยงให้เขาค่อยๆ คว้าแชมป์ทีละรายการสองรายการ อาศัยจังหวะที่ โนวัค ยอโควิช ประสบปัญหาอาการบาดเจ็บและมีปัญหาเรื่องสภาพจิตใจเก็บแต้มไล่ขึ้นมา จากที่เคยตามหลังถึง 8,000 กว่าแต้ม จนแซงหน้าได้สำเร็จในรายการปารีส มาสเตอร์ส และเป็นมือหนึ่งโดยชอบธรรมในรายการล่าสุด เอทีพี เวิลด์ ทัวร์ ไฟนอลส์ นี่เอง

นอกจากนี้ยังมีข่าวว่าจะมีการเสนอชื่อเขาให้ได้ยศอัศวินเป็น “เซอร์แอนดี้” จากความดีความชอบในการสร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศจากผลงานตลอดปีที่ผ่านมา ซึ่งเจ้าตัวคิดว่าเร็วเกินไปที่เขาจะได้รับเกียรติยศสูงสุดนั้น

ระบบ ‘เอทีพีแรงกิ้งส์’
ระบบการคิดคะแนน ‘เอทีพีแรงกิ้งส์’ มีขึ้นครั้งแรกในปี 1973 เพื่อให้การแข่งขันเทนนิสแต่ละรายการมีความเข้มข้นขึ้น โดยนักเทนนิสคนแรกที่ได้ครองมือหนึ่งคือ อิลลี นาสตาเซ สุดยอดนักเทนนิสระดับตำนานชาวโรมาเนีย
สำหรับการคิดคะแนน ระบบปัจจุบันจะคิดคะแนนจาก 18 รายการของ เอทีพี ทัวร์ ประกอบไปด้วย แกรนด์สแลม 4 รายการ,​ เอทีพี เวิลด์ ทัวร์ มาสเตอร์ส (1,000) 8 รายการ และคิดผลงานที่ดีที่สุด 6 รายการจาก เอทีพี เวิลด์ ทัวร์ (500), เอทีพี เวิลด์ ทัวร์ (250), เอทีพี ชาเลนจ์ ทัวร์, ฟิวเจอร์ซีรีส์ และ เดวิส คัพ ส่วน 8 อันดับแรกของโลกยังเก็บคะแนนเพิ่มได้จากรายการสุดท้ายของปี ‘เอทีพี เวิลด์ ทัวร์ ไฟนอลส์’ ได้ด้วย
การยึดมือหนึ่งของเมอร์เรย์ นอกจากจะเป็นนักเทนนิสจากสหราชอาณาจักรคนแรกที่ทำได้แล้ว ยังเป็นนักเทนนิสคนแรกในรอบ 12 ปี นอกเหนือจากขาประจำ โรเจอร์ เฟเดอเรอร์, ราฟาเอล นาดาล และ โนวัค ยอโควิช ที่ครองมือหนึ่งของโลกได้ด้วย