1)

จงบอกชื่อผู้นำแคนาดาที่คุณนึกออก

ถ้าบอกได้มากกว่า 1 ชื่อ คุณต้องสอบวิชาโลกของเราได้ที่ 1 มาก่อนแน่ๆ

แคนาดาที่อยู่ติดกับอเมริกาและมีขนาดใหญ่พอๆ กัน ทั้งยังเป็นสมาชิกกลุ่ม G8 เหมือนกัน แต่ไม่มีใครสนใจการเมืองของพวกเขามาก่อนนั่นแหละ

ไม่ว่าคะแนนความนิยมในบ้านจะขึ้นลงตามวัฏจักรการเมืองอย่างไร จัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีหนุ่มฟ้อหล่อเฟี้ยวของแคนาดาก็ยังคงเก็บคะแนนบน ‘โลกใหม่’ อย่างโซเชียลเน็ตเวิร์กได้แบบไม่มีการ์ดตก

ไม่ว่าจะเป็นรูปร่างหน้าตา บั้นท้าย รอยสัก ไปจนถึงน้ำตา ที่เชื่อมโยงกับผู้ชมว่าผู้นำก็มีความเป็นมนุษย์

…และเข้าถึงได้

แต่นอกเหนือจากการพาแคนาดาขึ้นมาบนพื้นที่สื่อโลกรายวัน สิ่งที่เราซึมซับได้จากผู้นำแคนาดา ก็น่าจะเป็นการเปลี่ยนภูมิทัศน์ทางการเมือง โดยเฉพาะการมีผู้นำที่เป็นคนรุ่นใหม่

ยิ่งพอเอาไปเทียบกับการเลือกตั้งที่ผ่านมาของอเมริกา มันก็สะท้อนให้เห็นความจริงที่ว่า ที่อเมริกาต้องเดินมาถึงจุดที่ไม่รู้จะออกหัวหรือก้อยนี้ หนึ่งในเหตุผลสำคัญก็คือทั้งผู้ที่ออกและไม่ออกไปโหวตนั้นไม่มีทางเลือกมากพอ

นั่นคือ ไม่มีคนรุ่นใหม่ หรือคนอายุน้อยกว่าคุณปู่และคุณย่าให้เลือก เมื่อถึงรอบสุดท้าย

ถ้าโลกนี้มันนิ่งอยู่กับที่ การอาบน้ำร้อนมาก่อนคงดีกว่าอย่างไม่ต้องสงสัย
แต่ในโลกที่เคลื่อนไปข้างหน้าด้วยอัตราเร่ง และทุกอย่างเปลี่ยนแปลงแบบทวีคูณ
‘ความยืดหยุ่น เปิดกว้าง เท่าทันการเปลี่ยนแปลง และเคารพในศักดิ์ศรีมนุษย์’ จึงสำคัญไม่น้อยไปกว่า ‘ประสบการณ์’

2)

ไม่ว่าใครจะบ่นเด็กรุ่นใหม่ว่าอย่างไร แต่สิ่งที่ไม่อาจปฏิเสธได้ก็คือ พวกเขาเปิดกว้างมากกว่า ร่วมมือกับผู้อื่นได้ดีกว่า และที่สำคัญคือการโตมาในโลกที่หลากมิติกว่า น่าจะหมายถึงความสามารถในการจัดการกับความซับซ้อนได้เก่งกว่าด้วย

และเอาเข้าจริง อายุ 43 ปี ของทรูโดในตอนรับตำแหน่งนั้นยังอาจถือว่ามากไปด้วยซ้ำ เมื่อเทียบรุ่นว่าจัดอยู่ในเจเนอเรชัน X ซึ่งย่างเท้าเข้าสู่โลกดิจิทัลเมื่อตอนโตแล้ว

อายุอาจเป็นเพียงตัวเลขก็จริง อีกทั้งผู้สูงอายุจำนวนไม่น้อยก็ Young at Heart เป็นที่น่าคบหาสมาคมสำหรับคนรุ่นหลัง แต่ไม่ใช่บนพื้นที่การเมือง โดยเฉพาะในระดับผู้นำ

ตรงกันข้าม อายุคือตัวเลขที่มีนัยสำคัญต่างหาก

ก็ถ้าโลกนี้มันนิ่งอยู่กับที่ การอาบน้ำร้อนมาก่อนคงดีกว่าอย่างไม่ต้องสงสัย แต่ในโลกที่เคลื่อนไปข้างหน้าด้วยอัตราเร่ง และทุกอย่างเปลี่ยนแปลงแบบทวีคูณ ‘ความยืดหยุ่น เปิดกว้าง เท่าทันการเปลี่ยนแปลง และเคารพในศักดิ์ศรีมนุษย์’ จึงสำคัญไม่น้อยไปกว่า ‘ประสบการณ์’ ซึ่งถือเป็นคำที่ควรหยิบมาตีความกันใหม่ด้วยซ้ำในโลกที่การเรียนรู้เปลี่ยนหน้าตาไปแล้ว

ไม่นับการโตมากับเกมเจ๋งๆ ที่เปิดโอกาสให้พวกเขารู้จักการจำลองสถานการณ์ ประเมินทางเลือก และฝึกการตัดสินใจบนเงื่อนไขแบบต่างๆ

หรือแม้แต่การคลี่คลาย ‘อัลกอริทึม’ การเมือง ที่ไม่ควรจะซับซ้อน แต่ควรเอาทุกอย่างมาวางไว้บนโต๊ะและว่ากันด้วยนโยบาย ก็ดูเหมือนว่าคนรุ่นใหม่น่าจะทำได้ดีกว่า

ยังไม่รวมถึงสิ่งที่พูดกันจนช้ำ แต่ใครจะบอกล่ะว่าไม่ใช่ อนาคตใครก็ควรให้คนนั้นกำหนด

Silver Democracy หรือประชาธิปไตยที่เป็นไปในทิศทางที่ผู้สูงอายุต้องการ
ซึ่งส่งผลลัพธ์หลักๆ สองอย่างที่สัมพันธ์กันในแบบไก่กับไข่
นั่นคือ งบประมาณมหาศาลที่ยังคงต้องทุ่มเทกับสวัสดิการผู้สูงอายุต่อไป
กับความยากลำบากในการเปลี่ยนแปลง

Photo: Kevin Lamarqur, Reuters/Profile

3)

โลกไม่ได้ต้องการแค่ ‘ผู้นำ’ ที่มีอายุน้อยกว่า แต่จะเปลี่ยนภูมิทัศน์การเมืองได้ต้องมี ‘ผู้เลือก’ ที่มีอายุน้อยกว่าด้วย

บทเรียนจากญี่ปุ่นบอกกับเราไว้อย่างชัดเจน

บนพันธสัญญาที่ไม่ต้องกล่าวออกมาเป็นคำพูด ทุกคนต่างรู้ดีว่าผู้สูงอายุชาวญี่ปุ่นควรได้รับการดูแลจากรัฐอย่างดี เพื่อตอบแทนความยากลำบากเมื่อครั้งสร้างชาติขึ้นใหม่

แต่นั่นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เมื่อการดูแลผู้สูงอายุจำนวนมหาศาลภายใต้เงื่อนไขหลายอย่างเปลี่ยนไป กลับกลายเป็นภาระหนักอึ้งที่วางไว้บนบ่าของคนรุ่นใหม่…อย่างไร้หวัง

ในวันที่ระบบการจ้างงานตลอดชีวิตที่เอื้อให้คนรุ่นก่อนทำงานถวายหัวให้กับองค์กรพังครืน และการทำงานแบบสัญญาจ้างหรือแบบพาร์ตไทม์เพื่อจ่ายภาษีเลี้ยงดูผู้สูงอายุ ไม่ทำให้พวกเขาเห็นอนาคตอะไร นอกจากภาระจำยอมที่ไม่มีใครส่งข่าวไปบอกก่อนจะมาเกิด

ส่วนกองทุนบำนาญขนาดใหญ่ที่สุดในโลกก็มีผลประกอบการแบบผีเข้าผีออก และระดับหนี้สาธารณะยังคงทะลุเพดาน

ประเด็นอยู่ตรงที่ทุกคนรู้ดีแก่ใจว่าญี่ปุ่นจะแบกภาระในการดูแลผู้สูงอายุขนาดนี้ต่อไปไม่ได้ และโลกได้เห็นความพยายามในการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจจากรัฐบาล แต่นักการเมืองก็ยังต้องหาเสียงด้วยนโยบายที่เอาใจผู้สูงอายุ ในฐานะประชากรที่กุมเสียงโหวตทางการเมือง ทั้งด้วยจำนวนเสียงที่มากกว่า และนิสัยที่ออกมาใช้สิทธิ์ในอัตราส่วนที่มากกว่า

ไม่เรียกว่ากับดัก แล้วจะเรียกอะไร

หากญี่ปุ่นมีคำว่า Silver San ที่พวกเขาใช้เรียกผู้สูงอายุ เพื่อบอกว่าเมื่อวันเวลาเปลี่ยนสีผมให้กลายเป็นสีดอกเลา นั่นอาจหมายถึงคุณค่าของการผ่านหลักไมล์ต่างๆ ของชีวิตมาจนถึงเส้นขอบฟ้า

คำที่ใหม่กว่านั้นก็เห็นจะเป็น Silver Democracy หรือประชาธิปไตยที่เป็นไปในทิศทางที่ผู้สูงอายุต้องการ ซึ่งส่งผลลัพธ์หลักๆ สองอย่างที่สัมพันธ์กันในแบบไก่กับไข่ นั่นคือ งบประมาณมหาศาลที่ยังคงต้องทุ่มเทกับสวัสดิการผู้สูงอายุต่อไป กับความยากลำบากในการเปลี่ยนแปลง

เมื่อพร้อมใจกันโยนภาระใส่คนเกิดทีหลัง ก็ควรเหลือความหวังไว้ให้พวกเขาด้วย

Photo: Mark Blinch, Reuters/Profile

4)

ประเด็นของเรื่องนี้อยู่ตรงที่ว่า การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ไม่ได้หมายถึงการรับผิดชอบผู้สูงอายุให้ได้เท่านั้น แต่หมายถึงการอยู่ร่วมกันให้ได้อย่างดีสำหรับประชากรทุกกลุ่มอายุ

และที่สำคัญ เศรษฐกิจและสังคมจะต้องไปต่อได้ด้วย

ไม่ใช่ว่าไม่อยากดูแลผู้สูงอายุให้ดี แต่การทุ่มเทงบประมาณกับผู้สูงอายุนั้นไม่เหมือนงบประมาณการศึกษา ซึ่งหมายถึงการสร้างประชากรเพื่อออกดอกผลในอนาคต

ในขณะที่การจัดสรรงบประมาณการดูแลผู้สูงอายุที่ฉลาด ส่วนหนึ่งควรจะเป็นงบประมาณที่ทำให้พวกเขาดูแลตัวเองได้ หรือเป็นงบประมาณที่เมื่อนำไปใช้แล้วจะลดรายจ่ายในการดูแลผู้สูงอายุในระยะยาว

มันซับซ้อนมากกว่า และต้องการการออกแบบที่ดีกว่า

และการออกแบบที่ดีนั้น อาจไม่ได้มาจากบรรดาผู้สูงอายุเอง

ในปี 2015 ญี่ปุ่นจึงผ่านกฎหมายแก้ไขอายุของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งจาก 20 ปี ลดลงเหลือ 18 ปี ประมาณการว่าจะเพิ่มจำนวนหนุ่มสาวที่มีสิทธิ์เลือกตั้งได้อีกกว่า 2 ล้านเสียง

กฎหมายนี้ได้นำมาใช้บังคับครั้งแรกกับการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีเมืองอุกิฮะ จังหวัดฟุกุโอะกะ เมื่อปี 2016

แม้จะยังมีเรื่องให้ต้องทำอีกมาก เพื่อออกจากกับดักประชาธิปไตยตามแต่ใจปู่ย่า แต่อย่างน้อยการลดอายุ-เพิ่มเสียงโหวตให้กับคนรุ่นใหม่ก็น่าจะเป็นการนับหนึ่งที่ดูตรงไหนก็ไม่มีอะไรเสียหาย

เมื่อพร้อมใจกันโยนภาระใส่คนเกิดทีหลัง ก็ควรเหลือความหวังไว้ให้พวกเขาด้วย

Tags: ,