1.

นอกจากจะเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมใหม่ของคนไทย ระยะหลังเราได้เห็นความสดใหม่อีกหลายอย่างจากไต้หวัน

ไม่เพียงมีประธานาธิบดีหญิงคนแรก ไต้หวันกำลังจะเป็นประเทศแรกในเอเชียที่อนุญาตการสมรสเพศเดียวกัน

เมื่อร่างกฎหมายซึ่งอยู่ระหว่างการตรวจสอบความถูกต้อง มีกำหนดนำเข้าสภาเพื่อผ่านความเห็นชอบในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ภายใต้การสนับสนุนของนางไช่ อิงเหวิน ประธานาธิบดี

เมื่อก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 ประเทศที่มีภาพลักษณ์หัวก้าวหน้าที่สุดอย่างเนเธอร์แลนด์ก็ออกกฎหมายที่ให้สิทธิอย่างแท้จริงแก่ความหลากหลายทางเพศก่อนใครในโลก ด้วยกฎหมายอนุญาตการสมรสเพศเดียวกัน กลายเป็นต้นแบบให้หลายประเทศก้าวตาม แต่ก็ยังไม่มีประเทศในทวีปเอเชียทำสำเร็จ

หากไต้หวันทำสำเร็จ ก็น่าจะเป็นการนับหนึ่งให้ประเทศเพื่อนบ้านได้นับสองนับสามตามกันไม่ยาก

แต่สิทธิที่จะ ‘อยู่’ อย่างไรนั้นยังไม่ใช่ทั้งหมดที่คนหนึ่งคนควรจะได้รับ สิทธิที่จะ ‘ตาย’ ก็ด้วยเช่นกัน

ในปี 2002 รัฐบาลเนเธอร์แลนด์จึงผ่านกฎหมาย ‘การุณยฆาต’ (Euthanasia) ซึ่งอนุญาตให้แพทย์จบชีวิตของผู้ป่วยที่ทนทุกข์ทรมานได้ตามคำร้องขอ

ในความเป็นจริงสิทธิที่จะตายนี้มีการถกเถียงกันมาเป็นเวลาไม่น้อยในหลายประเทศ สวิตเซอร์แลนด์ก็มีกฎหมายที่อนุญาตการฆ่าตัวตายโดยได้รับความช่วยเหลือ (Assisted Suicide) มาตั้งแต่ปี 1942 แต่ก็ไม่อนุญาตให้ทำการุณยฆาต และอันที่จริงการฆ่าตัวตายโดยได้รับความช่วยเหลือนี้ก็เพิ่งมาได้รับความนิยมสูงขึ้นในศตวรรษใหม่ หลังการเกิดขึ้นขององค์กรไม่หวังผลกำไร Dignitas ในปี 1998

แน่นอนว่าองค์กรที่ตั้งชื่อตามภาษาละตินที่แปลว่า ‘เกียรติ’ ก็คือสิ่งที่สะท้อนความคิดว่าคนทุกคนควรอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และคือแรงบันดาลใจของหนังสือที่นำมาสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง Me Before You ที่มีพล็อตหลักอยู่บนการตัดสินใจของพระเอกที่จะเดินทางไปจบชีวิตของตนในสวิตเซอร์แลนด์นั่นเอง

แม้จะมีอีกหลายประเทศที่ผ่านกฎหมายการุณยฆาตตามหลังเนเธอร์แลนด์ แต่ ‘การทำให้ตาย’ ก็ยังคงถือเป็นเรื่องใหญ่ที่มีแง่มุมให้ถกเถียงอยู่มาก ไม่ว่าจะเป็น การทำการุณยฆาตในเด็ก หรือแง่มุมการให้ความหมายของการุณยฆาตในแต่ละประเทศ บางประเทศที่เคยผ่านกฎหมายนี้แล้วยกเลิกภายหลังก็มี

ถึงกระนั้น การที่ทุกอย่างเริ่มเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างเป็นรูปธรรม ก็น่าจะเป็นของขวัญที่ศตวรรษที่ 21 มอบให้กับเรา ไม่ว่าจะเป็น การเลือกว่าจะมีชีวิตอยู่อย่างไร หรือการหยุดความทุกข์อันไม่สิ้นสุดตามการตัดสินใจของเราเอง

2.

การพูดถึงสิทธิที่จะตาย ทำให้อดไม่ได้ที่จะนึกถึงภาพยนตร์เรื่อง สิ้นแสงฉาน

แม้จะไม่ใช่ไคลแมกซ์หลักของเรื่อง แต่ฉากการขออนุญาตตายของ ‘เมย’ หญิงรับใช้ของเจ้านางสุจันทรี เมื่อรู้ว่าตนเองคงสู้กับโรคที่เผชิญอยู่ไม่ไหวอีกต่อไป อาจเป็นฉากที่ติดอยู่ในใจใครหลายคน

แน่นอนว่าสิ่งที่ภาพยนตร์ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวช่วงก่อนรัฐประหารในพม่าสะท้อนให้เราเห็นก็คือ ‘ความคิดใหม่’ จากเจ้านางสุจันทรี หญิงชาวออสเตรียซึ่งมาแต่งงานกับเจ้าจาแสงแห่งสีป่อ ในการปฏิเสธคำขอที่จะตาย อันเป็นธรรมเนียมที่จะต้องได้รับอนุญาตจากผู้เป็นนายในวาระสุดท้ายของชีวิต

เจ้านางสุจันทรีไม่เพียงปฏิเสธคำขอดังกล่าว แต่ยังดิ้นรนพาเมยไปจนถึงมือหมอ ท่ามกลางอันตรายจากความขัดแย้งทางการเมืองที่ดำรงอยู่ ณ ขณะนั้น

เมยรอดชีวิตมาได้ การหักล้างธรรมเนียมดั้งเดิมกลายเป็นการเปิดโลกทัศน์ใหม่ให้กับเธอและสามีอย่างใหญ่หลวง

แต่นั่นก็คงไม่เพียงพอให้เราสรุปเอาง่ายๆ ว่าธรรมเนียมการขออนุญาตที่จะตายคือความคร่ำครึไร้เหตุผล

ในทางหนึ่ง นี่อาจเป็นความคิดเก่าในการมองว่าชีวิตไม่ใช่ของเราเองตามแนวคิดปราศจากอัตตา ในอีกทางหนึ่ง นี่อาจเป็นวิธีคิดที่เชื่อมโยงต่อการจากไปอย่างสงบ (ทั้งของผู้ตายและผู้คนรอบข้าง) โดยเฉพาะในยุคก่อนการแพทย์สมัยใหม่ ไม่แน่ว่าในนาทีนั้น การอนุญาตให้ตายก็อาจทำให้ภาพยนตร์งดงามในอีกแบบ เมื่อผู้มาใหม่สามารถทำความเข้าใจกับวิถีอันแตกต่าง

ไม่ว่าอย่างไร ของเก่าที่ไม่มีประโยชน์ก็จะถูกทิ้ง ประเด็นอยู่ตรงที่การเปลี่ยนแปลงควรจะเริ่มจากตรงไหน และการตัดสินสิ่งต่างๆ บนพื้นฐานวัฒนธรรมของเราจะใช้ได้และไม่ได้กับสิ่งใดบ้าง

3.

ในบางวัฒนธรรม การตายอาจเป็นเรื่องรับได้อย่างประหลาด แต่ก็อาจไม่ใช่กับศตวรรษที่ 21

แน่นอนว่าหากไม่ตายได้ก็คงจะดี ประวัติศาสตร์ของการปฏิเสธความตายนั้นมีมาหลายพันปี ไม่ว่าจะในซีกโลกตะวันตกหรือตะวันออก

แต่เราก็ยังจะตาย

หรือว่าจะไม่ตายแล้ว? ถึงตอนนี้หลายคนเชื่อแล้วว่า คนรุ่นหลังอีกเพียงหนึ่งหรือสองรุ่นจะมีอายุยืนถึง 120 หรือ 150 ปีกันเป็นปกติ ซึ่งเมื่อวันนั้นมาถึง การจะอยู่ถึง 200 ปี ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกเช่นกัน เมื่อขยายตัวเลขไปเรื่อยๆ เราก็อาจไม่ตายอีกต่อไป

ในช่วงปลายปี 2015 ช่องเนชันแนล จีโอกราฟิก เปิดตัวสารคดีชุดใหญ่ 6 ตอนในชื่อ Breakthrough โดยในแต่ละตอนก็มีทีมงานรับเชิญเป็นผู้กำกับชั้นนำของโลก

หนึ่งในนั้นก็คือตอนที่มีชื่อว่า The Age of Aging ซึ่งได้ รอน ฮาวเวิร์ด ผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดังชาวอเมริกัน เจ้าของผลงานกำกับอย่างเช่น A Beautiful Mind,  Apollo 13, The Da Vinci Code มาทำให้

แม้จะไม่ใช่สารคดีภาพสวย หรือดูแล้วพิเศษกว่าสารคดีทางโทรทัศน์ทั่วไป แต่สิ่งที่หลายคนอาจสัมผัสได้ และน่าจะเป็นความจงใจของผู้กำกับ ก็คือ ‘แววตา’ ของทีมนักวิจัยที่อยากผลักความคิดของตนเองไปจนสุดทาง

ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่า นอกจากประเด็นการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ สิ่งที่เป็นพื้นฐานของการทำความเข้าใจเรื่องความเสื่อมถอย หรือ ‘ความแก่’ ในศตวรรษใหม่ก็คือ เราจะตีความว่ามันจัดเป็น ‘โรค’ หรือไม่

หากนับเป็นโรค หมอก็ต้องมีหน้าที่รักษา บริษัทยาก็มีหน้าที่คิดค้นเทคโนโลยีใหม่มารองรับ อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องซึ่งทำเงินมหาศาลอยู่แล้วในปัจจุบันจะกลายเป็นจิ๊บจ๊อยไปเลย

เพราะมันจะไม่ใช่แค่นวัตกรรมชะลอวัย หรือการกินอาหารเสริมเพื่อป้องกันความเสื่อม ไปจนถึงการซ่อมแซมอย่างการปลูกถ่ายอวัยวะ การปลูกถ่ายเซลล์ หรือแม้แต่การพิมพ์อวัยวะใหม่จากเครื่องพิมพ์สามมิติที่เราเห็นมันเกิดขึ้นแล้วเท่านั้น

แต่สิ่งที่รออยู่ตรงหน้าคือ การปรับแต่งจีโนมมนุษย์ (Genome Editing) ซึ่งแท้จริงแล้วมีการศึกษามาเป็นเวลาไม่น้อย แต่ติดตรงที่กฎหมายไม่เคยอนุญาตให้ทำ

มันคือการตัดยีนอ่อนแอที่ทำให้เราเสื่อมถอยออก แล้วเพิ่มยีนนักสู้ที่ทำให้เราแข็งแกร่งต้านทานโรคเข้าไป ไม่ต่างจากการดัดแปลงพันธุกรรมพืช และแม้ว่าโรคที่มักนำมาอ้างอิงก็คือโรคที่มากับวัยอย่าง เบาหวาน อัลไซเมอร์ และพาร์กินสัน แต่ไม่ต้องบอกก็รู้กันว่ามันไปได้ไกลกว่าจินตนาการด้วยซ้ำ (สำหรับคนที่ติดตามเรื่องนี้คงคุ้นเคยกันว่า CRISPR – คริสเปอร์ เทคโนโลยีในการปรับแต่งจีโนมที่ทำให้ทั้งโลกตื่นเต้น)

ประเด็นอยู่ตรงที่ว่า แววตาที่บอกถึงความกังวลถึงผลกระทบที่ยังไม่รู้ของฝ่าย ‘ไม่เห็นด้วย’ กับสิ่งที่เรียกว่าการปรับแต่งจีโนม ซึ่งเราเห็นจากสารคดี Breakthrough ตอนนี้ คงไม่ถือเป็นหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่จะนำมาหยุดยั้งนวัตกรรมเปลี่ยนโลกนี้ได้ ในขณะที่ฝ่ายเดินหน้านั้นสู้ไม่ถอย

สำหรับเมย มันคือแววตาแห่งความหวังที่จะได้รับการปลดปล่อย สำหรับทีมพัฒนาเรื่องการปรับแต่งจีโนมมนุษย์ มันคือแววตาแห่งความหวังที่จะพิสูจน์สิ่งที่ตนเองลงเรี่ยวแรงมานาน กับโอกาสมหาศาลที่รออยู่ตรงหน้า

4.

แม้ปัญหาว่าด้วยความเป็นเจ้าของสิทธิบัตรซึ่งแย่งชิงกันอยู่ระหว่างผู้พัฒนา CRISPR จะทำให้เรื่องนี้ยืดเยื้อออกไปในอเมริกา แต่ในปี 2015 นักวิทยาศาสตร์ชาวจีนก็เริ่มการทดลองปรับแต่งจีโนมในตัวอ่อนของมนุษย์แล้ว และแม้จะนำมาซึ่งการถกเถียงอย่างหนักในแวดวงวิชาการ แต่เมื่อเข้าสู่ปี 2016 รัฐบาลอังกฤษก็ตัดสินใจอนุมัติการปรับแต่งจีโนมในตัวอ่อนของมนุษย์ เพื่อการศึกษาวิจัย โดยยังไม่อนุญาตให้ใช้กับการตั้งครรภ์

แต่หากวันนั้นมาถึง มันก็คงไม่ต่างจากการดึงงานออกจาก ‘ผู้สร้าง’ ในโลกเก่าอย่างสมบูรณ์ เมื่อมนุษย์จะเป็นผู้ออกแบบทุกอย่างขึ้นใหม่ ไม่เว้นแม้แต่การออกแบบมนุษย์ด้วยกัน

แม้ รอน ฮาวเวิร์ด จะทำสารคดีชิ้นนี้ด้วยความเชื่อมั่นในวิทยาศาสตร์และความปรารถนาที่จะนำเสนอเรื่องราวของเหล่าคนเบื้องหลังที่พาโลกก้าวไปข้างหน้า แต่เขาก็ยอมรับว่าเรื่องนี้มีเรื่องให้ต้องถกเถียงอยู่มาก

เช่นเดียวกับเราเองก็คงตั้งคำถามไม่ได้เช่นกัน นอกเหนือจากประเด็นเรื่องความเป็นธรรม ทั้งของเด็กที่จะต้องลืมตาดูโลกด้วยต้นทุนการออกแบบที่ต่างกัน และระหว่างคนที่ไม่ยอมตายกับคนที่ต้องมาเกิด ในวันที่สมดุลทางทรัพยากรและโครงสร้างประชากรกลายเป็นเรื่องเลือนลางลงทุกวัน คำถามที่เบสิกกว่านั้นก็คือ เราพอใจที่จะเกิดโดยการออกแบบของมนุษย์ด้วยกันหรือไม่

และหากเราไม่ตาย แล้วชีวิตจะเปลี่ยนความหมายไปอย่างไร

ภาพประกอบ: Thomthonc

Tags: , , ,