วันอังคารที่ 8 พฤศจิกายน 2016 โลกต้องตื่นตะลึง เมื่อโดนัลด์ ทรัมป์ ตัวแทนพรรครีพับลิกัน พลิกชนะฮิลลารี คลินตัน แห่งพรรคเดโมแครต อย่างเหนือความคาดหมาย เตรียมก้าวขึ้นเป็นประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา คนที่ 45 อย่างเป็นทางการในวันศุกร์ที่ 20 มกราคม 2017
เหตุใดโดนัลด์ ทรัมป์ อภิมหาเศรษฐีระดับห้าพันล้านเหรียญสหรัฐ ผู้ไร้ประสบการณ์ทางการเมืองและกิจการสาธารณะโดยสิ้นเชิง จึงข้ามผ่านคู่แข่งอีก 16 คน ก้าวขึ้นเป็นตัวแทนพรรครีพับลิกัน และยึดทำเนียบขาวได้สำเร็จในที่สุด ทั้งที่ตลอดการหาเสียงเลือกตั้ง ทรัมป์ฉีกทุกกฎแห่ง ‘ความถูกต้องทางการเมือง’ ด้วยข่าวฉาวโฉ่ บุคลิกขำขื่น วาจาข่มขู่ นโยบายเหนือจริง และโกหกคำโต
สหรัฐอเมริกาเดินมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร และโลกใหม่ในยุคประธานาธิบดีทรัมป์จะมีหน้าตาเช่นไร
ปกป้อง จันวิทย์ ผู้เขียนหนังสือ CHANGE ถนนสู่ทำเนียบขาว เมื่อปี 2008 หนึ่งในคณะบรรณาธิการ the101.world สื่อใหม่ของทีมงาน ‘วันโอวัน’ (the101percent.com) ที่เตรียมเปิดตัวในปี 2017 ชวน ศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ธรรมศาสตราภิชาน วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตรองอธิการบดีและคณบดีคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาสำรวจเบื้องลึกเบื้องหลังของ ‘ปรากฏการณ์ทรัมป์’ แบบตัวต่อตัว ผ่านแว่นตาของนักประวัติศาสตร์การเมืองสหรัฐอเมริกา
ยังมีอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งถือว่าเป็นตัวแสบ และเป็นอีกฐานเสียงหลักที่ทำให้ทรัมป์ชนะเลือกตั้ง
นั่นคือ กลุ่มคนที่เคยสนับสนุนพรรคเดโมแครต แต่ครั้งนี้เปลี่ยนมาสนับสนุนทรัมป์
พวกนี้อาศัยอยู่ตามชานเมืองและจำนวนมากอยู่ในรัฐภาคใต้ ซึ่งไม่ชอบความคิดแบบเสรีนิยมของคนภาคเหนือเลย
ไม่ชอบมาตั้งแต่ก่อนเกิดสงครามกลางเมืองแล้วด้วย คนกลุ่มนี้ไม่ใช่คนจน แต่มีฐานะดี และเป็นเจ้าของธุรกิจด้วย
ธุรกิจของคนกลุ่มนี้ไปไม่รอดในยุคเศรษฐกิจโลกาภิวัตน์
อะไรคือปัจจัยชี้ขาดที่ทำให้ โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะศึกเลือกตั้งประธานาธิบดี 2016
ข้อมูลต่างๆ ชี้ว่ากลุ่มผู้สนับสนุนของทรัมป์คือกลุ่มคนผิวขาวสูงอายุ ทั้งชายและหญิง ซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่เรียกว่า rust belt คือเขตเมืองอุตสาหกรรมเก่าในภาคตะวันตกกลาง (มิดเวสต์) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และแถบทะเลสาบใหญ่ (Great Lakes) พื้นที่แถบนั้นมีสภาพเศรษฐกิจย่ำแย่มาหลายสิบปีแล้ว อุตสาหกรรมถดถอย การค้าไม่เติบโต ประชากรย้ายออก ความเป็นเมืองเสื่อมลง และนอกจากคนกลุ่มนี้แล้ว ทรัมป์ยังมีกลุ่มคนจนผิวขาวเป็นผู้สนับสนุนสำคัญอีกด้วย
ปกติคนเหล่านี้ไม่ค่อยออกมาลงคะแนนอย่างเป็นกลุ่มเป็นก้อน แต่คราวนี้กลับออกมาลงคะแนนกันอย่างถล่มทลาย คล้ายกับที่คนผิวดำแห่กันไปลงคะแนนให้บารัค โอบามาในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสองครั้งที่ผ่านมา
คำถามก็คือเหตุใดคนผิวขาวกลุ่มนี้จึงออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งกันมากมายอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
แต่ถ้าเจาะลึกลงไป ยังมีอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งถือว่าเป็นตัวแสบ และเป็นอีกฐานเสียงหลักที่ทำให้ทรัมป์ชนะเลือกตั้ง นั่นคือ กลุ่มคนที่เคยสนับสนุนพรรคเดโมแครต แต่ครั้งนี้เปลี่ยนมาสนับสนุนทรัมป์ พวกนี้อาศัยอยู่ตามชานเมืองและจำนวนมากอยู่ในรัฐภาคใต้ ซึ่งไม่ชอบความคิดแบบเสรีนิยมของคนภาคเหนือเลย ไม่ชอบมาตั้งแต่ก่อนเกิดสงครามกลางเมืองแล้วด้วย คนกลุ่มนี้ไม่ใช่คนจน แต่มีฐานะดี และเป็นเจ้าของธุรกิจด้วย ธุรกิจของคนกลุ่มนี้ไปไม่รอดในยุคเศรษฐกิจโลกาภิวัตน์ เมื่อสหรัฐอเมริกาแข่งกับจีน ญี่ปุ่น อาเซียนไม่ได้
สำหรับหลายคน นี่อาจจะเป็นครั้งแรกที่เลิกโหวตให้พรรคเดโมแครต แล้วเขาไม่ได้คิดว่าโหวตให้พรรครีพับลิกันนะ แต่เขาโหวตให้ทรัมป์
ทำไมคนอย่างทรัมป์ถึงกลายเป็นความหวังได้
คนกลุ่มนี้รอคอยการเปลี่ยนแปลงมาหลายสมัยแล้ว ตั้งแต่ยุค บิล คลินตัน แปดปี ต่อด้วยจอร์จ ดับเบิลยู. บุช แปดปี ตามด้วยโอบามา อีกแปดปี เขารู้สึกว่าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ชีวิตยังไม่ดีขึ้น พอได้ฟังทรัมป์สัญญาว่าจะเอางานกลับมา เอาอุตสาหกรรมกลับมา ก็รู้สึกว่ามีความหวัง
เขาเชื่อกันหรือว่าทำได้จริง
คุณก็รู้ว่ามันกลวง คำสัญญาพวกนี้ทำไม่ได้หรอก อ้าว แล้วไปเลือกทรัมป์ทำไม เขาก็ตอบว่า ถ้าสี่ปีข้างหน้า ทำอะไรไม่ได้ ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เขาก็ไปเลือกคนใหม่ แต่ตอนนี้เขารู้สึกว่ามันถึงทางตันแล้ว ต้องการการเปลี่ยนแปลงจากสภาพปัจจุบันทันที
พรรคเดโมแครตมัวแต่ทำเรื่องใหญ่ เรื่องหลักการ เช่น สิทธิมนุษยชน สนใจนโยบายระดับโลก ผลักดันแนวทางเสรีนิยมต่างๆ แต่คนชั้นกลางลงมาถึงล่างจะตายกันหมด แทบไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ธุรกิจก็เจ๊ง คนตกงาน ธุรกิจของคุณต้องใหญ่จริงแบบ Apple คุณถึงจะสู้ได้ ย้ายฐานการผลิตไปจีนได้ แต่พวกที่อยู่ตรงกลางก็ติดแหงก สู้กับโลกาภิวัตน์ไม่ได้ จึงเรียกร้องให้รัฐบาลต้องเข้ามาช่วยสร้างงาน เอาเงินมาลง ช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมภายในประเทศ
แต่รีพับลิกันยิ่งโปรทุนมากกว่า โปรโลกาภิวัตน์มากกว่า โปรเสรีนิยมใหม่มากกว่าเดโมแครตด้วยซ้ำ เราจะเข้าใจการหันไปเลือกรีพับลิกันได้อย่างไร
คนอเมริกันก็เหมือนกับคนประเทศอื่นๆ ที่มีการเลือกตั้งอย่างสม่ำเสมอและเป็นระบบไปแล้ว ดังนั้นประชาชนพอจะรู้ว่านักการเมืองเมื่อเป็นรัฐบาลแล้วก็ทำได้ระดับหนึ่ง พอจะรู้ว่าทั้งสองพรรคใหญ่ต่างก็มีนายทุนใหญ่ นายธนาคาร พ่อค้าอุตสาหกรรมใหญ่ หนุนหลังอยู่ มันเป็นความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้
ตรงนี้ผมคิดว่าบุคลิกและท่วงทำนองในการแสดงออกของตัวประธานาธิบดีจะเป็นปัจจัยชี้ขาดในการเลือกตั้ง คือหากเขาทำให้ประชาชนผู้เลือกตั้งเชื่อและคิดฝันตามที่เขานำเสนอได้ ก็จะช่วงชิงการนำได้สำเร็จ ตรงนี้ทรัมป์ประสบความสำเร็จอย่างที่ฮิลลารี คลินตันเทียบไม่ได้เลย ถึงแม้ว่าประวัติการทำงานโดยเฉพาะทางการเมืองของคลินตันจะชนะขาดก็ตาม
พรรคเดโมแครตมัวแต่ทำเรื่องใหญ่ เรื่องหลักการ เช่น สิทธิมนุษยชน สนใจนโยบายระดับโลก
ผลักดันแนวทางเสรีนิยมต่างๆ แต่คนชั้นกลางลงมาถึงล่างจะตายกันหมด แทบไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง
ธุรกิจก็เจ๊ง คนตกงาน ธุรกิจของคุณต้องใหญ่จริงแบบ Apple คุณถึงจะสู้ได้ ย้ายฐานการผลิตไปจีนได้
แต่พวกที่อยู่ตรงกลางก็ติดแหงก
ใครคือมันสมองเบื้องหลังความสำเร็จของทรัมป์
คนที่ช่วยทำให้ภาพลักษณ์และการสื่อสารของทรัมป์ไปยังผู้เลือกตั้ง โดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมายที่มุ่งเจาะให้เป็นฐานกำลังในการเลือกตั้ง ประสบความสำเร็จอย่างไม่น่าเชื่อคือ สตีฟ แบนนอน (Steve Bannon) ซึ่งเป็นประธานทีมรณรงค์หาเสียงของทรัมป์
แบนนอนเป็นผู้อำนวยการของสำนักข่าวไบรต์บาร์ต (Breitbart News) ซึ่งเป็นสำนักข่าวออนไลน์ที่เป็นขวาสุดกู่ วิธีการนำเสนอข่าวของพวกนี้คือการเต้าข่าวและใส่สีลงในเนื้อหาข่าว ทำให้อ่านสนุกเร้าใจและจูงใจอย่างเงียบๆ เนียนๆ (ภาษาเก่าคือ “ล้างสมอง”) สำนักข่าวใหญ่อย่างนิวยอร์กไทมส์ รวมถึงกลุ่มประชาสังคมคนผิวดำ ผู้หญิง และยิว มักคัดค้านและประท้วงการเสนอข่าวของไบรต์บาร์ตว่าเป็นการเหยียดผิว (racism) ดูถูกทางเพศ (sexism) และเหยียดศาสนา (anti-semitism)
แบนนอนกล่าวว่าไบรต์บาร์ตเป็นกระบอกเสียงให้กับฝ่าย “เอียงขวาทางเลือก” (Alt-Right) ฟังดูดี แต่จริงๆ แล้ว พวกนี้เป็นขวาใหม่ที่หนักกว่าเก่า อุดมการณ์คือต่อต้านลัทธิอนุรักษนิยมกระแสหลักที่ไม่สนับสนุนความคิด “คนขาวเหนือกว่า” (White supremacy) แบนนอนเป็นคนวางยุทธวิธีในการโจมตีจุดอ่อนและสร้างความรู้สึกให้คนเชื่อว่าคลินตันมีความผิดจริงในเรื่องต่างๆ ซึ่งทำให้คะแนนเสียงของคลินตันตกไปหลายจุด
แบนนอนมีประวัติที่น่าสนใจ เขาเริ่มทำงานกับบริษัทการเงินโกลด์แมนแซกส์หลังจากเรียนจบปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์และโรงเรียนธุรกิจของฮาร์วาร์ด แล้วไปประจำในลอสแอนเจลิส ทำงานฝ่ายธุรการ มีหน้าที่ติดต่อระหว่างนักสร้างหนังกับสถานีโทรทัศน์ พอมีเงินก็ตั้งบริษัทวาณิชธนกิจของตัวเอง เป็นนายหน้าติดต่อให้กับนักสร้างหนัง จนได้เจอกับแอนดรูว์ ไบรต์บาร์ต (Andrew Breitbart) ผู้ก่อตั้งสำนักข่าวไบรต์บาร์ต เขามีความคิดอนุรักษนิยม แต่ทำงานในฮอลลีวูด ซึ่งมีประวัติเป็นฐานกำลังของฝ่ายเสรีนิยมมาตลอด
แบนนอนใช้ยุทธศาสตร์การสื่อสารอย่างไร จนส่งทรัมป์เข้าทำเนียบขาวได้สำเร็จ
สิ่งที่แบนนอนได้เรียนรู้จากไบรต์บาร์ตคือปฏิบัติการทางการเมืองเชิงวัฒนธรรม เรียนรู้กระบวนการทางวัฒนธรรมในการสร้างข่าวการเมือง วิธีการเล่าข่าวให้เดินไปตามแนวทางที่ต้องการ นั่นคือการโฟกัสไปที่ความสนใจของคนในบางเรื่องและบางแนว ที่สำคัญคือแบนนอนเริ่มรับความคิดจากไบรต์บาร์ตว่า ถึงเวลาแล้วที่จะต้องเอาวัฒนธรรมและรัฐบาลคืนมาจากพวกเสรีนิยม แนวความคิดทางการเมืองอันนี้เกิดก่อนการก่อตั้งกลุ่มทีปาร์ตี้ (Tea Party) ของฝ่ายรีพับลิกันเอียงขวาทั้งหลายด้วยซ้ำ และต่อมาก็กลายมาเป็นความคิดการเมืองและจุดหมายของฝ่ายขวาของพรรครีพับลิกันในที่สุด
กล่าวได้ว่า แบนนอนเป็นคนดึงเอาความคิดและสัญชาตญาณของทรัมป์ออกมา แล้วใส่หีบห่อใหม่ ส่งเข้าไปในช่องทางสื่อสารโซเชียลมีเดียทั้งหลาย ทำให้คนฟังรู้สึกว่าเป็นความคิดและข้อเสนอที่เป็นเอกภาพ คำพูดทั้งหลายของทรัมป์วิ่งตรงเข้าไปยังใจกลางของกลุ่มอนุรักษนิยมเอียงขวา ผู้ต่อต้านเสรีนิยมและรัฐบาลกลางได้อย่างไม่น่าเชื่อ
แน่นอนว่าแบนนอนไม่ใช่นักปลุกระดมสายโลกสวย เขาจัดตั้งและนำกลุ่มผู้หญิงออกมาให้สัมภาษณ์โจมตีบิล คลินตันในกรณีชู้สาว และให้องค์การต่อต้านคอร์รัปชั่นชื่อ Government Accountability Institute (GAI) ตีพิมพ์หนังสือเรื่อง Clinton Cash เปิดโปงว่าใครบริจาคเงินให้มูลนิธิคลินตันบ้าง อันเป็นที่มาของการโจมตีถล่มฮิลลารี คลินตันเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน
นักวิเคราะห์การเมืองชี้ว่า การหาเสียงของทรัมป์ในช่วงท้ายนั้น คนส่วนมากเชื่อว่าเสียศูนย์จนตกเป็นฝ่ายรับ รวมถึงคะแนนโพลก็ตกเพราะถูกเปิดโปงเรื่องคำพูดดูถูกและลวนลามผู้หญิงในอดีต แต่ถ้าไปดูจุดยืน ประเด็นหาเสียง และการโจมตีตอบโต้คลินตันของทรัมป์จะพบว่า เขายืนหยัดเดินตามแนวทางและประเด็นคอร์รัปชั่นของฮิลลารีและบิล คลินตัน ตามเนื้อหาของหนังสือ Clinton Cash นั่นคือทรัมป์อาศัยสตีฟ แบนนอนเป็นหลังพิงในการยืนตอบโต้กับฝ่ายคลินตันนั่นเอง
ดังนั้นจึงไม่แปลกใจที่ทรัมป์ตอบแทนผลงานการปลุกระดมและปฏิบัติการจิตวิทยาแบบไอโอ (Information Operation – IO) ของแบนนอนด้วยการแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าสำนักยุทธศาสตร์ (Chief Strategist) และที่ปรึกษาอาวุโส (Senior Counselor) ของประธานาธิบดี
ทั้งหมดนี้สะท้อนการเปลี่ยนแปลงอะไรในการเมืองอเมริกัน
การแต่งตั้งแบนนอนถูกวิจารณ์ คัดค้าน กระทั่งประณามจากสื่อมวลชนสายเสรีนิยม รวมถึงกลุ่มประชาสังคมต่างๆ ทั้งผู้หญิง คนผิวดำ และคนส่วนน้อยต่างศาสนา พวกเขารู้สึกว่าเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนบรรดากลุ่มฝ่ายขวาและเอียงขวาสุดขั้วที่กำลังชูคำขวัญ “ชาตินิยมผิวขาว” (White Nationalism) นี่เป็นสิ่งที่คนอเมริกันในประวัติศาสตร์อเมริกากว่าสองศตวรรษไม่อาจคาดคิดว่าจะเป็นจริงขึ้นมาได้
แนวคิดดังกล่าวมีมานานนับตั้งแต่ภาคใต้และอดีตนายทาสผิวขาวแพ้สงครามกลางเมือง จนนำมาสู่การเกิดกลุ่มคนผิวขาวเอียงขวาสุดขั้วขึ้นมาเพื่อทำลายและกวาดล้างคนผิวดำและคนผิวขาวเสรีนิยมที่สนับสนุนคนผิวดำ แต่กลุ่มเหล่านั้นก็มีขนาดเล็กมากและไม่มีกระแสรองรับเลย แต่ครั้งนี้ต้องถือว่าเป็นการเปลี่ยนโฉมหน้าการเมืองอเมริกันอย่างสิ้นเชิง
นี่คือคำตอบต่อคำถามที่ผมตั้งไว้ตอนต้นว่าอะไรคือเหตุผลที่ทำให้คนผิวขาวสูงอายุและเชื่อในแนวทางอนุรักษนิยมออกมาลงคะแนนเสียงให้ทรัมป์อย่างถล่มทลาย
ฟังอาจารย์เล่ามาถึงตรงนี้ ดูเหมือนว่า ‘วาทกรรม’ มันทำงานได้ดีทีเดียว
ใช่ วิธีก็คือต้องสร้างประเด็นรูปธรรมเฉพาะหน้าขึ้นมา กรณีของทรัมป์ เป้าหมายฐานเสียงที่ต้องการคือคนชั้นกลางระดับล่างที่ไม่จบมหาวิทยาลัย เป็นคนผิวขาวที่ตกงานมาอย่างยาวนาน ถึงแม้สถิติจะบอกว่าในสมัยโอบามานั้น ตัวเลขคนตกงานลดลง ทรัมป์ก็ต้องขายวาทกรรมว่า คนผิวขาวไม่ได้ดีขึ้น พวกที่ได้งานทำจริงๆ แล้วคือคนอพยพมาจากนอกประเทศ เช่นพวกเม็กซิกันและผู้ลี้ภัยจากตะวันออกกลาง กลายเป็นว่าพวกผู้อพยพมาแย่งงาน โดยรวมสภาพความเป็นอยู่ของคนผิวขาวยากจนในแถบ rust belt และภาคใต้ก็ยังไม่มีอนาคตเหมือนเดิม
นอกจากนั้น ก็ต้องมีการทำลายชื่อเสียงหรือฆ่ากันทางการเมือง ที่เรียกว่า character assassination ประกอบด้วย เช่น กล่าวหาว่าโอบามาไม่ได้เกิดที่อเมริกา เป็นคนมุสลิม หรือเล่นงานฮิลลารี คลินตัน ว่าเป็นคนโกง เชื่อถือไม่ได้ กรณีของโอบามา พวกฝ่ายขวาและกลุ่มทีปาร์ตี้ไม่ประสบผลความสำเร็จเลยก็ว่าได้ เพราะโอบามามีบุคลิก ภูมิปัญญา และความสามารถ ภรรยาก็ฉลาด ที่สำคัญ ไม่มีเรื่องด่างพร้อยในครอบครัวให้มานินทาได้เลย ตรงข้ามกับคลินตันที่เป็นหญิงแกร่งทำงานหนักและต่อสู้ทางการเมืองมาตลอด แต่ก็ถูกรอยฟกช้ำและหม่นหมองของสามีและทีมงานทำให้มัวหมองไปด้วย ด้วยกระแสการปลุกระดมและสร้างภาพใหม่ที่เลวร้ายของฝ่ายทรัมป์
เราต้องเข้าใจด้วยว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา กลุ่มคนชั้นกลางระดับกลางและล่างของอเมริกาต้องทนทุกข์ทรมานมาก ภาพแบบในหนังที่พวกนี้ใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุขเรื่อยๆ มีรายได้พอให้ไปเที่ยวพักผ่อนต่างประเทศ มันหายไปหมดแล้ว นี่ขนาดพี่ชายและพี่สาวของภรรยาผมยังตกงานเลย คนกลุ่มนี้คงมีจำนวนมากประมาณหนึ่ง แต่เดิมเรามองไม่เห็นว่ามากแค่ไหน แต่พอทรัมป์ชนะปุ๊บ มันเห็นชัดเลยว่ามีจำนวนมหาศาล เมื่อก่อนยังไม่มีใครไปปลุกระดม ไปสร้างขบวนการเคลื่อนไหวให้คนกลุ่มนี้เข้าร่วม แต่คราวนี้ทรัมป์เน้นหาเสียงกับคนกลุ่มนี้ หยิบประเด็นเรื่องการต่อต้านโลกาภิวัตน์และการต่อต้านผู้อพยพขึ้นมาชูธง เน้นว่าสหรัฐอเมริกาต้องมาก่อน ต้องกลับมายิ่งใหญ่ แล้วนอกจากการปราศรัยหาเสียง ก็พยายามเจาะเข้าถึงตัว ทั้งเคาะประตูบ้าน ทั้งส่งอีเมล ส่งเอสเอ็มเอส ใช้โซเชียลมีเดีย
เรียกได้ว่าเป็นการรณรงค์หาเสียงทางการเมืองที่ใช้เครื่องมือสื่อสารสมัยใหม่มากที่สุดและใช้เล่ห์เหลี่ยมทุกอย่าง ไม่ได้ด้วยมนต์คาถาก็ใช้กำลังข่มขู่ นักข่าวหญิงของสำนักข่าวตะวันออกกลางคนหนึ่งเล่าว่าเธอไปทำข่าวในเวทีหาเสียงของทรัมป์ มีผู้ชายผิวขาวหน้าตาขึงขังมาถามเลยว่ามาจากไหน เธอต้องยอมโกหกด้วยการตอบว่ามาจากอินเดีย เพราะหน้าตาและสีผิวพอจะใกล้เคียง เธอสารภาพว่ากลัวมากหากบอกความจริงไปว่ามาจากตะวันออกกลาง
ทรัมป์มีภาพลักษณ์ไม่ใช่นักการเมืองแบบเก่า ด่านักการเมืองอาชีพในพรรคและนอกพรรค
ด่าพวกวอลสตรีท เป็น ‘คนนอก’ ของพรรค แต่ลงแข่งในการเลือกตั้งขั้นต้นของรีพับลิกันได้อย่างสูสี
จนสุดท้ายก็เอาชนะเป็นตัวแทนพรรคได้สำเร็จ ชาวบ้านก็มองว่ามันเก่ง ลุยสู้กับแกนนำทั้งพรรคได้
ผ่านการการันตีแล้วว่าทำได้ เก่งจริง ทรัมป์เลยกลายเป็นฮีโร่ขวัญใจมวลชน (popular hero) เป็นคำตอบในความสิ้นหวัง
แปดปีก่อนคนกลุ่มนี้จำนวนมากยังสนับสนุน change แบบโอบามาอยู่เลย แต่รอบนี้หันมาเชียร์ change แบบทรัมป์ ซึ่งเป็นคนละเรื่องกันเลย เราจะเข้าใจการพลิกกลับ 360 องศานี้ได้ด้วยเหตุผลอะไรอีก
นอกจากกลยุทธ์และวิธีการโฆษณาชวนเชื่ออย่างไม่แคร์ต่อหลักการใดๆ แล้ว สำหรับฝ่ายผู้รับสาร เมื่อคนรู้สึกสิ้นหวัง ไร้อนาคต ถ้ามีใครแสดงตัวออกมาเป็นฮีโร่ ก็ส่งผลโน้มน้าวผู้คนได้ ทรัมป์มีภาพลักษณ์ไม่ใช่นักการเมืองแบบเก่า ด่านักการเมืองอาชีพในพรรคและนอกพรรค ด่าพวกวอลสตรีท เป็น ‘คนนอก’ ของพรรค แต่ลงแข่งในการเลือกตั้งขั้นต้นของรีพับลิกันได้อย่างสูสี จนสุดท้ายก็เอาชนะเป็นตัวแทนพรรคได้สำเร็จ ชาวบ้านก็มองว่ามันเก่ง ลุยสู้กับแกนนำทั้งพรรคได้ ผ่านการการันตีแล้วว่าทำได้ เก่งจริง ทรัมป์เลยกลายเป็นฮีโร่ขวัญใจมวลชน (popular hero) เป็นคำตอบในความสิ้นหวัง
ในช่วงทศวรรษ 1980 เคยมีคำว่า ‘เรแกนเดโมแครต’ คือกลุ่มคนเดโมแครตที่หันไปสนับสนุนประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน ของรีพับลิกัน จนเรแกนชนะเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย ‘เรแกนเดโมแครต’ กับ ‘ทรัมป์เดโมแครต’ เหมือนหรือต่างกันอย่างไร
มีทั้งเหมือนและต่าง ผมคิดว่ามิติที่แตกต่างมีมากกว่า ในยุคที่เรแกนได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี สหรัฐอเมริกาประสบปัญหา ทั้งด้านเศรษฐกิจในประเทศที่ซบเซามาตั้งแต่สงครามเวียดนามยุติ และด้านความมั่นคง กล่าวคือ การต่อสู้กับสหภาพโซเวียตยังคงหนักหน่วง สหรัฐอเมริกาหมดบทบาทในด้านความมั่นคงระหว่างประเทศลงไป เช่น การปฏิวัติอิหร่าน สถานทูตสหรัฐอเมริกาถูกยึด และปฏิบัติการของอเมริกาเพื่อไปช่วยเจ้าหน้าที่ในสถานทูตก็ล้มเหลว นิคารากัวก็เกิดการปฏิวัติโดยฝ่ายซ้าย ลาตินอเมริกาที่เคยอยู่ภายใต้การดูแลของสหรัฐอเมริกาก็หลุดมือ ฝ่ายซ้ายขึ้นมามีอำนาจ ประธานาธิบดียุคก่อนหน้าคือ จิมมี คาร์เตอร์ ก็อ่อนแอในการจัดการกับปัญหาต่างๆ เหล่านี้ คนเลยรู้สึกว่าสหรัฐอเมริกาถดถอยลงในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ
เมื่อเรแกนขึ้นเป็นประธานาธิบดีในปี 1981 เขาผลักดันชุดนโยบายเศรษฐกิจแบบเรแกน (Reaganomics) อย่างได้ผล เรแกนต่อสู้กับเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงในยุคหลังสงครามเวียดนาม โดยใช้นโยบายที่เรียกว่า supply-side economics เน้นการลดภาษีแก่ภาคเอกชนเพื่อกระตุ้นให้เศรษฐกิจขยายตัวผ่านการผลิตและการลงทุนของภาคเอกชนที่มากขึ้น รวมถึงการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ และบั่นทอนความเข้มแข็งของสหภาพแรงงาน
เรแกนมีวิสัยทัศน์ในการสร้างระเบียบการเมืองและระเบียบเศรษฐกิจใหม่ อันนี้เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้เลยในคุณสมบัติเฉพาะตัวของประธานาธิบดีแต่ละคน ซึ่งต้องมีวิสัยทัศน์และสามารถแสดงออกถึงจุดหมายที่ตัวเองต้องการไปถึงต่อสาธารณชนได้ เรแกนนำสหรัฐอเมริกาต่อสู้กับสงครามเย็น เขาตีตราพวกประเทศคอมมิวนิสต์ว่าเป็นอาณาจักรชั่วร้าย (evil empire) จากนั้นเรแกนใช้ฐานเศรษฐกิจในประเทศในการสร้างดุลกับรัฐสภา ไปสู่การดำเนินนโยบายต่างประเทศที่สามารถเป็นฝ่ายรุกสหภาพโซเวียตได้ โดยนำงบประมาณทางการทหารไปสร้างอาวุธนิวเคลียร์เพื่อตอบโต้การใช้นิวเคลียร์ของสหภาพโซเวียต (Strategic Defense Initiative – SDI) จากนั้นก็ขยายงานด้านส่งเสริมประชาธิปไตยไปทั่วโลก ตั้งมูลนิธิประชาธิปไตยแบบอนุรักษนิยม และใช้นโยบายสิทธิมนุษยชนของคาร์เตอร์ไปกำกับทิศทางความสัมพันธ์ต่างประเทศ โดยอาศัยเป็นเหตุผลทั้งด้านความมั่นคงและจริยธรรม เรแกนแทรกแซงประเทศในลาตินอเมริกา ต่อต้านและโค่นล้มฝ่ายสังคมนิยมและคอมมิวนิสต์อย่างไม่ไว้หน้าทั้งลับหลังและเปิดเผย
ในระยะยาว เรแกนในฐานะของผู้นำสูงสุดได้ผลักดันให้สหรัฐอเมริกาก้าวขึ้นไปเป็นหนึ่งในมหาอำนาจของโลกในช่วงปี 1989-1992 ขนาดที่เรียกได้ว่าเป็นผู้นำหนึ่งเดียวของโลกหลายขั้วในตอนนั้น (Unipolar Moment) และสามารถนำทิศทางการเคลื่อนไหวของนานาประเทศได้
คำถามคือทรัมป์จะสานต่อนโยบายของโอบามาเพื่อเป็นผู้นำของโลกหลายขั้วในปัจจุบันได้อย่างไร สิ่งที่ได้ยินจากการหาเสียงคือทรัมป์จะนำอเมริกากลับมาบ้าน มาสร้างความยิ่งใหญ่ภายในบ้าน นี่อาจจะเป็นอวสานของสหรัฐอเมริกาในระบบการเมืองโลกเลยทีเดียว
อะไรคือความสำเร็จของเรแกนที่ทรัมป์ควรเรียนรู้
เรแกนเป็นผู้นำ และเป็นนักแสดงด้วย อย่างทรัมป์ก็เหมือนกัน มีความเป็นนักแสดงสูงมาก เวลาตอบคำถามนักข่าว หรือขึ้นเวทีดีเบต เหมือนเขาขึ้นเวทีแสดง มีบทมาให้ และตีบทแตก ตอนหาเสียงนั่นมันต้องแสดงตามบท ต้องเอาใจฐานเสียง บางทีถามแล้วแกไม่ได้ตอบ ก็เพราะแกไม่รู้ แกก็บิดประเด็นเป็นเรื่องอื่น เล่นเรื่องส่วนตัวมากกว่านโยบาย เพราะรู้ว่าเรื่องนโยบายสู้ไม่ได้ เขารู้จุดแข็งของเขาว่าต้องเล่นบทแบบไหน
สมัยเรแกน บางทีผมก็นึกว่าเขาไม่ใช่ผู้นำ แต่เขากำลังเล่นบทผู้นำ แกเล่นเป็น ต้องเล่นบทพระเอก ต้องขึงขัง แต่เมื่อเวลาผ่านไป นักประวัติศาสตร์ประเมินว่าเรแกนก็มีสมรรถภาพและวิสัยทัศน์ของเขาเองเหมือนกัน ไม่ได้เป็นแค่ดาราหนังฮอลลีวูดที่เล่นบทผู้นำเท่านั้น แต่ปกครองประเทศได้ด้วย แม้จะมีอุดมการณ์อนุรักษนิยมก็ตาม นี่คือสิ่งที่ทรัมป์ในฐานะประธานาธิบดีต้องแสดงให้สาธารณชนเห็นเป็นที่ประจักษ์ว่าเขามีวิสัยทัศน์และอุดมการณ์ทางการเมืองชุดหนึ่งที่สามารถขับเคลื่อนสหรัฐอเมริกาได้
ความสำเร็จส่วนหนึ่งของทรัมป์คือความเป็นนักแสดง?
มันเริ่มต้นด้วยความเป็นนักแสดง แต่ก็ต้องมีสติปัญญาด้วย ไม่ใช่โง่ๆ ไม่อย่างนั้นเขาจะจัดการธุรกิจหลายพันล้านเหรียญสหรัฐได้อย่างไร ทำมานานหลายสิบปี
แต่หลังจากชนะเลือกตั้ง ทรัมป์ต้องมาเจอกับโลกแห่งความจริงแล้ว ก็ต้องดูว่าเขาจะจัดการปัญหาอย่างไร เช่น พอเอาลูกเขยเข้าไปอยู่ในทีมเปลี่ยนผ่านอำนาจ คนก็เริ่มวิจารณ์ถึงความเหมาะสม รวมถึงเรื่องที่ไม่ยอมให้ blind trust บริหารธุรกิจ แต่จะยกให้ลูกบริหารแทน ซึ่งคนก็ตั้งคำถามเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน ถ้าคุณเอาความลับของประเทศไปบอกลูกที่เป็นนักธุรกิจละ หรือการพบปะกับนักธุรกิจชาวอินเดียที่ลงทุนก่อสร้างทรัมป์ทาวเวอร์ในอินเดียเมื่อเร็วๆ นี้ก็ด้วย ผู้คนวิจารณ์กันให้แซดว่าเขาจะเป็นนักธุรกิจหรือเป็นประธานาธิบดีกันแน่ แต่จะเป็นทั้งสองอย่างในเวลาเดียวกันนั้นไม่ได้แน่ นี่จะเป็นครั้งแรกที่สหรัฐอเมริกามีมหาเศรษฐีที่กำลังดำเนินธุรกิจอยู่ทั่วโลกมาเป็นประธานาธิบดี
กลับมาที่เรื่องนโยบาย โลกแห่งความจริงจะบอกว่าอะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ อย่างนโยบายที่เคยหาเสียงว่าจะเนรเทศผู้อพยพกลับประเทศ มันทำไม่ได้หรอก ผิดกฎหมายและกติการะหว่างประเทศ ทรัมป์ก็เริ่มเปลี่ยนน้ำเสียงแล้วว่าจะส่งกลับเฉพาะพวกแก๊งสเตอร์ พวกอันธพาลค้ายา ประมาณสองล้านคน ซึ่งคนที่รู้เรื่องก็บอกว่าถ้าแบบนี้ มันส่งกลับประเทศกันทุกวันอยู่แล้ว ทรัมป์ก็เข้ามาทำเหมือนที่หน่วยงานเดิมทำอยู่ก่อนแล้ว อาจจะแค่เร่งกระบวนการให้เร็วขึ้นเท่านั้นเอง ไม่ได้มีอะไรใหม่
การที่ทรัมป์ได้รับเลือกตั้ง ทั้งที่ตอนหาเสียงก็พูดจาดูถูกเรื่องเพศ ผิว เชื้อชาติ หลายครั้ง แปลว่าอุดมการณ์หรือหลักการแบบอเมริกันถดถอยลงไหม
นี่อาจจะเป็นครั้งแรกที่ผู้นำระดับนี้ไม่สนใจเรื่องหลักการ อุดมการณ์ทางการเมือง เสรีภาพ และความเท่าเทียม จะมาคุยกันเรื่องหลักการที่เป็นนามธรรมทำไม ว่ากันเรื่องของจริงเลยดีกว่า อยากได้งานได้เงินใช่ไหม เอาไป ไม่ต้องมาคุยกันเรื่องความยุติธรรม คือเป็นนักการเมืองแบบปฏิบัติประชานิยม ไม่ให้คุณค่าเรื่องทฤษฎีนามธรรมเลย
คนไทยฟังแล้วอาจจะไม่แปลกใจ เพราะนักการเมืองแบบนี้ บ้านเรามีอยู่ตลอดเวลา หาไม่ยาก คนที่หายากคือผู้นำทางการเมืองที่ศรัทธาในหลักการและทฤษฎีทางการเมือง ซึ่งแบบหลังนี้ อเมริกามีอยู่ตลอดเวลา จนครั้งนี้นี่แหละ ถึงได้นักการเมืองแบบไทยที่ให้น้ำหนักเรื่องปฏิบัติมากกว่าหลักการ
มีหนังสืออยู่เล่มหนึ่งน่าสนใจ ชื่อ The End of American World Order ของ Amitav Acharya เขาบอกว่าประเทศสหรัฐอเมริกาไม่ได้สูญหายไปไหน แต่สิ่งที่จะหายไปคือระบบโลกแบบที่สหรัฐอเมริกาเป็นผู้สร้าง นั่นคือแนวทางแบบเสรีนิยมที่ครอบงำโลก (liberal tradition) ซึ่งยึดอุดมการณ์เสรีนิยมประชาธิปไตยและหลักสิทธิมนุษยชน ระเบียบโลกยี่ห้อสหรัฐอเมริกาไม่ขลังดังแต่ก่อนอีกแล้ว
แล้วอะไรมาแทน
มันก็ไม่ถึงกับถูกแทนที่ เพียงแต่ว่าลดระดับลง หนังสือเล่มนี้บอกว่าแนวทางแบบเสรีนิยมไม่ได้มีความเป็นสากลอย่างแต่ก่อนแล้ว มันมีกลุ่มประเทศอื่น เช่น อาเซียน ที่แสดงให้เห็นว่ามีโมเดลอื่น ซึ่งอาจเสรีนิยมในบางเรื่อง ไม่เสรีนิยมในบางเรื่อง ถ้าทำตามแนวทางเสรีนิยมแบบที่สหรัฐอเมริกาต้องการ มันจะปะทะกันตลอดเวลา ทำไม่ได้
การที่ทรัมป์ขึ้นมามีอำนาจ ยิ่งยืนยันทฤษฎีของ Amitav ว่าขนาดผู้นำของสหรัฐอเมริกาเองยังไม่แคร์หลักการเสรีนิยมประชาธิปไตยตามแนวทางดั้งเดิมของตัวเอง เอาแค่คนมีงานทำ คนมีกิน ไม่ถูกจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้เอาเปรียบ ก็พอแล้ว
ในประวัติศาสตร์การเมืองอเมริกัน เคยมีประธานาธิบดีแบบทรัมป์ไหม อาจารย์นึกถึงใครที่ใกล้เคียง
แอนดรูว์ แจ็กสัน (Andrew Jackson)
นี่จะเป็นครั้งแรกที่สหรัฐอเมริกามีมหาเศรษฐีที่กำลังดำเนินธุรกิจอยู่ทั่วโลกมาเป็นประธานาธิบดี
ในแง่ไหน
แจ็กสันเป็นประธานาธิบดีคนแรกที่มาด้วยพลังจากฐานมวลชนทั่วประเทศ เป็น populist president ดำรงตำแหน่งช่วงปี 1829-1837 เมื่อปี 1824 แจ็กสันลงเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งแรก แล้วชนะคะแนนเสียงทั้ง popular vote (คะแนนเสียงของประชาชนทั้งประเทศ) และ electoral vote (คะแนนเสียงของคณะผู้เลือกตั้ง) แต่เขายังไม่ได้รับเสียงข้างมากในกลุ่มผู้สมัครทั้งสี่คน ทำให้สภาผู้แทนราษฎรต้องเป็นผู้ลงคะแนนเลือกประธานาธิบดี แต่สภาผู้แทนราษฎรกลับเลือกจอห์น ควินซี อดัมส์ แทนที่จะเป็นแจ็กสัน
อดัมส์เป็นตระกูลเก่าแก่ เป็นกลุ่มชนชั้นนำในพรรค มีสายสัมพันธ์ในพรรคและรัฐสภาอย่างดี ส่วนแจ็กสันเป็นฮีโร่ของมวลชนก็จริง แต่ว่าเป็น ‘คนนอก’ เหมือนทรัมป์ ภูมิหลังก็มีความคล้ายกัน เป็นนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ หลังจากกลับมาจากรบชนะอังกฤษที่นิวออร์ลีนส์ก็มาค้าที่ดินซึ่งเป็นของคนอินเดียน ต่อมาได้รับเลือกตั้งเป็นวุฒิสมาชิกรัฐเทนเนสซี จากนั้นก็ลงเลือกตั้งประธานาธิบดี แต่ไม่ได้รับเลือกในครั้งแรกตามที่เล่าไป
พอครั้งที่สอง แจ็กสันก็ปลุกระดมมวลชนทั้งประเทศ จนชนะเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย โดยมีพรรคเดโมเครต ซึ่งจัดตั้งขึ้นใหม่เพื่อระดมมวลชนในแต่ละรัฐมาสนับสนุนแจ็กสันเป็นพลังเบื้องหลัง ในยุคที่แจ็กสันเป็นประธานาธิบดี เขาพยายามขยายประชาธิปไตยในสหรัฐอเมริกาจากยุค Founding Fathers ที่อำนาจอยู่ในมือชนชั้นนำทางการเมืองให้ลงไปสู่ประชาชนรากหญ้า โดยมีพรรคการเมืองเป็นฐาน นั่นคือพยายามสร้างประชาธิปไตยแบบมวลชน หรือ popular democracy นั่นเอง
เดิมทีการเลือกตั้งประธานาธิบดีอยู่ในมือของแกนนำพรรค เป็นกระบวนการที่ชนชั้นนำเจรจาต่อรองกันและกำหนดเส้นทางไว้แล้ว ประชาชนมีความหมายน้อย แต่แจ็กสันเป็นคนที่เปิดมิติเรื่องพลังสนับสนุนของมวลชน ทำให้การเมืองเรื่องการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาเริ่มลงมาแตะฐานล่างคือประชาชนเป็นครั้งแรก
ผมเทียบตรงนี้ให้เห็นว่า กรณีของทรัมป์ก็เป็นครั้งแรกในรอบหลายสิบปีที่คนผิวขาว โดยเฉพาะคนชั้นกลางระดับกลางและล่างออกมาแสดงบทบาทมากที่สุดในการเลือกตั้ง เป็นเหมือนการแสดงประชามติของคนกลุ่มนี้
ประชามติที่ว่านั้น ญัตติของคนผิวขาวคืออะไร
นอกจากเรื่องเศรษฐกิจตกต่ำ ปัญหาปากท้อง ผู้อพยพแบบถูกกฎหมายและผิดกฎหมายเข้ามาแย่งงานทำ ปัญหาที่แข่งขันทางเศรษฐกิจกับจีนไม่ได้ อุดมการณ์ที่คนผิวขาวเอียงขวาเหล่านี้ต้องการคือลัทธิชาตินิยมผิวขาว เป็นแนวคิดทางการเมืองที่คับแคบและมองเห็นแต่พวกของตนเพียงฝ่ายเดียว คนกลุ่มนี้ไม่ได้ให้คุณค่าในเรื่องความเท่าเทียมกันของคนอีกต่อไป ถือเป็นอวสานของอุดมการณ์การปฏิวัติอเมริกาที่ยิ่งใหญ่ในอดีต
ในบางพื้นที่ โดยเฉพาะรัฐทางใต้ ยิ่งหนักข้อ มีเรื่องเหยียดผิว มีกระแสเชิดชูความเหนือกว่าของคนผิวขาว เช่น ที่ยูท่าห์มีการยกธง Confederation เหมือนสมัยที่ต้องการแยกตัวออกจากสหรัฐอเมริกาในยุคสงครามกลางเมือง เหล่านี้คืออุดมการณ์ในยุคทาสที่เต็มไปด้วยการดูถูกกีดกันคนผิวดำ จริงๆ แล้ว กระแสเชิดชูคนผิวขาวเกิดขึ้นในช่วงหลังสงครามกลางเมืองแล้ว มีกลุ่ม Ku Klux Klan ออกมาถล่มทำลายคนผิวดำ โดยอ้างความชอบธรรมว่าคนขาวมีความเหนือกว่า
คนกลุ่มนี้มองทรัมป์ว่าเป็นตัวแทนของโลกเก่าของเขาที่มันหายไปแล้ว (the world that we have lost) ซึ่งน่าสนใจเพราะทรัมป์มันนายทุนนิวยอร์กนะ มันเป็นแยงกี้ ไม่ใช่คนของเขา อุดมการณ์ไม่ได้เป็นแบบนายทาสผู้ดีรุ่นเก่าสมัยโน้นเลย แต่เขาไม่ได้สนใจประวัติศาสตร์ สนแค่ว่า มึงไม่เป็นพวกเสรีนิยม ไม่เป็นเดโมแครตก็พอ มีอารมณ์เหยียดพวกผู้อพยพหน่อย เหยียดพวกผู้หญิงนิด มันก็พอเข้ากันได้ ถือเป็นพวกเดียวกันแล้ว
คนกลุ่มนี้เป็นฐานเสียงของทรัมป์ แต่ก็จะสร้างปัญหาให้เขาในอนาคตด้วย ทรัมป์จะจัดการอย่างไร
ตอนนี้ทรัมป์ก็ต้องรีบออกมาบอกแล้วว่าให้หยุด เขาคงไม่ปล่อยให้พวกนี้เล่นงานตัวเองจนเสียหายมาก ทรัมป์เป็นนักธุรกิจ ซึ่งก็คือนักรบแบบหนึ่ง ถ้าทหารของเขาจะย้อนกลับมาสร้างอันตรายให้ตัวเขาเองและทำลายผลประโยชน์ของเขาและพวก ก็ต้องเก็บเสียก่อน คงไม่เมตตาปรานีกับผู้สนับสนุนเท่าไหร่ ต้องหาวิธีการจัดการออกไป
ผมเดาว่าคนอย่างสตีฟ แบนนอน จะเป็นชนวนให้มีการต่อต้านและประณามทรัมป์ต่อไป ลองดูว่าเขาจะเก็บแบนนอนไว้ได้นานเท่าไร หรือแบนนอนจะวางแผนกลยุทธ์อะไรให้ทรัมป์อีก คราวนี้ยากกว่าเดิม เพราะคู่ต่อสู้ไม่ใช่แค่ฮิลลารี คลินตันคนเดียว หากแต่เป็นคนอเมริกันทั้งประเทศ รวมถึงประชาชนและผู้นำรัฐอีกหลายร้อยประเทศทั่วโลก
ความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ คือ ชัยชนะของ โดนัลด์ ทรัมป์ ส่วนหนึ่งเกิดจากกระแสขาวขวาที่เกิดขึ้นในอเมริกัน คำถามคือ กระแสขาวขวาในสังคมการเมืองอเมริกันแรงขึ้นมาได้อย่างไร? อ่านต่อได้ที่ ทรัมป์ 101: ที่มาและที่ไปของสหรัฐอเมริกายุคประธานาธิบดีทรัมป์ (2)
*หมายเหตุ: สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2559 และเรียบเรียงและแก้ไขเพิ่มเติมข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2559
ที่มา: ทรัมป์ 101: ที่มาและที่ไปของสหรัฐอเมริกายุคประธานาธิบดีทรัมป์