หลังจากที่ได้ทราบเรื่องราวที่มาที่ไปก่อนจะพัฒนามาเป็นภาพยนตร์ พรจากฟ้า ใน “ก่อนจะเป็น พรจากฟ้าของขวัญทางดนตรีจาก GDH” กันไปแล้ว
ก่อนที่คุณจะเข้าไปรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้อย่างเป็นทางการในวันที่ 1 ธันวาคมนี้ เราขออาสาพาทุกคนไปพบกับ 5 เรื่องราวที่คุณอาจจะไม่รู้มาก่อนในกล่องของขวัญวันปีใหม่จาก GDH กล่องนี้
1. จุดเริ่มต้นความสนใจทางดนตรีของ จิระ มะลิกุล
หลายคนคงจะสงสัยกันว่าทำไมจู่ๆ ผู้กำกับอย่าง เก้ง-จิระ มะลิกุล ถึงมีความคิดริเริ่มที่อยากจะทำโปรเจกต์ภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับดนตรี จิระเล่าให้เราฟังว่าเหตุการณ์ที่ทำให้เจ้าตัวหันมาเล่นดนตรีคือ ความตั้งใจที่อยากจะมอบเป็นของขวัญวันแต่งงานให้เพื่อนร่วมงานอย่าง ‘เดียว-วิชชพัชร์ โกจิ๋ว’ หนึ่งในทีมคณะกรรมการบริหารของค่าย GDH ซึ่งถ้าซื้อเป็นของทั่วๆ ไปแล้วนำมาห่อเป็นกล่องของขวัญก็คงจะดูไม่เท่ ไม่เหมาะสมกับผู้รับ จิระจึงนึกอยากจะเล่นเพลง พรหมลิขิต ในงานแต่งงานของวิชชพัชร์ ทั้งๆ ที่ในช่วงเวลาดังกล่าว เจ้าตัวยังเล่นดนตรีไม่เป็นเลยด้วยซ้ำ
จิระบอกว่า “ผมไปเรียนดนตรีที่ Music Campus for General Public (MCGP) โครงการศึกษาดนตรีสำหรับบุคคลทั่วไปของดุริยางคศิลป์ ผมพยายามไปเรียนให้ได้วันละ 2 ชั่วโมงโดยไม่ขาด ทั้งๆ ที่ไปเรียนก็เหมือนไปให้ครูด่า เพราะเราไปเรียนดนตรีเมื่อสูงวัย พื้นฐานก็ไม่ค่อยดี ซ้อมก็ไม่ค่อยได้ซ้อม แต่เราจะรู้สึกว่าช่วงเวลา 2 ชั่วโมงที่ไปเป่าดนตรีให้ครูฟังมันดีมากเลยนะ เหมือนได้ย้อนกลับไปในวัยเด็ก อยู่กับตัวเองและมีสมาธิ เป่าไม่ได้เรื่องเลยนะ แต่ทุกครั้งที่เดินออกมาจากโรงเรียนก็จะรู้สึกว่าชีวิตเหมือนได้ชาร์จแบตฯ เดี๋ยวกลับไปทำงานต่อ”
เมื่อความตั้งใจที่อยากจะสร้างภาพยนตร์เกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และความหลงใหลในดนตรีเดินทางมาบรรจบกัน โปรเจกต์ภาพยนตร์ พรจากฟ้า จึงค่อยก่อตัวขึ้นอย่างช้าๆ ในเวลาดังกล่าว
2. นักแสดงในเรื่องเล่นดนตรีได้จริง!
เนื่องจาก พรจากฟ้า ถือเป็นภาพยนตร์ที่มีดนตรีเป็นหัวใจหลัก นักแสดงในเรื่องส่วนใหญ่จึงได้รับข้อเสนอที่เหมือนๆ กันจาก GDH นั่นคือ ทุกๆ คนจะต้องไปหัดเรียนดนตรี เนื่องจาก จิระ มะลิกุล และ วรรณ-วรรณฤดี พงษ์สิทธิศักดิ์ หนึ่งในผู้กำกับของเรื่องและโปรดิวเซอร์คนเก่งเชื่อว่า การเรียนดนตรีจะมีผลดีต่ออารมณ์ในการแสดงและการถ่ายทำ บรรดานักแสดงอย่าง มิว-นิษฐา จิรยั่งยืน, เต๋อ-ฉันทวิชช์ ธนะเสวี และหนูนา-หนึ่งธิดา โสภณจึงเข้าคอร์สฝึกดนตรีเตรียมความพร้อมก่อนแสดงในภาพยนตร์เรื่องนี้ ขณะที่นาย-ณภัทร เสียงสมบุญ และวี-วิโอเลต วอเทียร์ คือนักแสดง 2 คนที่ต้องไปฝึกซ้อม ‘บอดี้เพอร์คัชชัน’
มีเพียง ซันนี่ สุวรรณเมธานนท์ เพียงคนเดียวที่ดูจะแตกต่างจากเพื่อนๆ เพราะวรรณฤดี เล่าว่า “ในเรื่องซันนี่จะต้องเล่นเป็นคนจูนเปียโน แต่เขาก็มาบอกเราว่า “อ้าว จริงๆ ผมก็อยากเล่นเปียโน ทำไมผมไม่ได้เรียน ทำไมพี่ไม่ส่งผมไปเรียน” ทุกคนก็บอกว่าไม่ ซันนี่ต้องไปเรียนจูนเปียโน จริงๆ เขาก็มีซีนที่ต้องเล่นเปียโนนิดหน่อย เราก็ส่งเขาไปเรียน เขาก็พยายามส่งคลิปมาอวดว่าเขาเล่นได้ เราก็บอกว่าไม่ได้ให้หัดเล่นเพลงนี้ เหมือนอวดสิ่งที่ไม่ต้องทำ (หัวเราะ)”
3. ใช้วงดนตรีขนาดใหญ่บรรเลงสกอร์ประกอบภาพยนตร์
จากคำบอกเล่าของ จิระ มะลิกุล และ วรรณฤดี พงษ์สิทธิศักดิ์ พรจากฟ้า ถือเป็นภาพยนตร์ลำดับที่สอง ที่พวกเขามีโอกาสได้ร่วมงานกับวงออร์เคสตราระดับใหญ่ กับการบรรเลงสกอร์ประกอบภาพยนตร์ ต่อจากภาพยนตร์เรื่อง มหา’ลัย เหมืองแร่ ที่ออกฉายเมื่อ 11 ปีที่แล้ว เพราะโดยปกติแล้วนั้น พวกเขาจะใช้การสังเคราะห์เสียงจากคอมพิวเตอร์เป็นส่วนใหญ่ และอาจจะมีบ้างที่ใช้วงดนตรีในการบรรเลงสกอร์ แต่แน่นอนว่าเมื่อวัดระดับสเกลของวงแล้ว พรจากฟ้า ทิ้งห่างแน่นอน
อาจเรียกว่าเหตุบังเอิญ หรืออาจจะเหมารวมว่าเป็น พรจากฟ้า ก็ว่าได้ ที่ทำให้ GDH ได้มีโอกาสหวนกลับมาร่วมงานกับวงดนตรีออร์เคสตราอีกครั้ง เพราะเดิมที จิระ มะลิกุล ตั้งใจเข้าไปพบ อาจารย์สุกรี เจริญสุข ผู้ก่อตั้ง ผู้อำนวยการ และคณบดีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อขอความช่วยเหลือในการขอแคสต์ครูดนตรีมาแสดงหนังในพาร์ตที่ตนกำกับ แต่สิ่งที่ได้กลับมาคือ วงดนตรีออร์เคสตราแบบฟูลแบนด์ที่พร้อมจะช่วยบรรเลงสกอร์ประกอบบิวด์อารมณ์ให้ภาพยนตร์เรื่องนี้เต็มอิ่มทางอารมณ์และเสียงเพลงมากขึ้น
จิระเล่าว่า “ตอนที่เขาเล่นสกอร์ประกอบหนังพาร์ตของผม ผมก็ไปนั่งฟังกับคุณวรรณและคุณตี้คนตัดต่อ เป็นคิวซึ้งๆ ตอนท้ายเรื่อง พอเล่นเสร็จ ตี้หันมาบอกว่าเขาจะร้องไห้ เล่นออกมาแล้วความเศร้าของตัวภาพมันสู้เพลงไม่ได้เลย เหมือนตอนแรกผมจะรู้สึกว่าหนังมันเศร้ามากๆ แล้วนะ แต่พอมาเล่นประกอบกับเครื่องดนตรีจริงๆ ผมพบว่ามันเพราะมากเลย เพราะด้วยตัวของมันเอง พวกเราได้แต่พูดว่าฟังเพลงแล้วอยากจะกลับไปถ่ายหนังใหม่ มันเหมือนกับว่าถ้าจะให้เลเวลของงานด้านภาพ ด้านการแสดง หรือด้านอื่นๆ ทัดเทียมกับสกอร์ในหนัง มันยังไปได้อีกเยอะมาก มันบินได้สูงกว่านั้นอีกเยอะมาก”
4. นักแสดงประกอบในหนังพาร์ต ‘พรปีใหม่’ คือคุณครูและนักเรียนดนตรี
‘พรปีใหม่’ พาร์ตสุดท้ายของภาพยนตร์เรื่อง พรจากฟ้า ผลงานการกำกับของ จิระ มะลิกุล ที่บอกเรื่องราวของเสียงดนตรีและพนักงานออฟฟิศในช่วงวัยที่หลากหลาย จิระได้รับแรงบันดาลใจด้านเนื้อหาในตอนนี้จากที่เจ้าตัวไปเรียนเป่าทรอมโบนที่โรงเรียนสอนดนตรี ในคลาสหนึ่ง จิระก็ต้องไปเรียนร่วมกับนักเรียนคนอื่นๆ ที่มีความหลากหลายทางช่วงวัย ไล่ตั้งแต่เด็กป.5 ไปจนถึงคนสูงอายุ เมื่อเป็นเช่นนั้นเขาจึงอยากจะเชิญบรรดาคุณครูสอนดนตรีและผู้ใหญ่ที่มาเรียนดนตรีร่วมแคสต์ในการรับบทนักแสดงประกอบในหนังตอนที่เขากำกับ
“นักแสดงประกอบในพาร์ท ‘พรปีใหม่’ ส่วนใหญ่จะเป็นตัวแสดงที่มีอายุ 30-40 ปีขึ้นไปเล่นดนตรีได้ และยังให้ความรู้สึกว่าตัวเองเป็นพนักงานสำนักวิเคราะห์การเงินในเวลาเดียวกัน เขาจะต้องมีลุคที่ไม่ใช่นักดนตรี (กลางคืน) ไว้หนวดยาวๆ มีทรงผมเก๋ๆ ซึ่งผมรู้สึกว่าพวกคุณครู เพื่อนครูดนตรีจากสถาบันอื่น หรือแม้แต่ผู้ใหญ่ที่มาเรียนดนตรีมีลุคตรงตามที่ผมต้องการ”
5. พรปีใหม่ ของขวัญถึงประชาชนจากในหลวงรัชกาลที่ 9
“ข้าวิงวอนขอพรจากฟ้า ให้บรรดาปวงท่านสุขศรี โปรดประทานพรโดยปรานี ให้ชาวไทยล้วนมีโชคชัย” ตอนหนึ่งจากบทเพลงพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พรปีใหม่ เราเชื่อว่าหลายๆ คนน่าจะทราบกันเป็นอย่างดีว่า พรปีใหม่ คือเพลงพระราชนิพนธ์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 และเช่นเดียวกัน หลายๆ คนก็อาจจะยังเข้าใจผิดว่าบทเพลงประจำเทศกาลวันขึ้นปีใหม่เพลงนี้เป็นผลงานของวงสุนทราภรณ์
ช่วงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2495 เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้เสด็จนิวัตพระนครและประทับ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต พระองค์มีพระราชประสงค์ที่จะพระราชทานพรปีใหม่แก่บรรดาพสกนิกรไทยด้วยเพลง จึงทรงพระราชนิพนธ์เพลงในลำดับที่ 13 อย่าง พรปีใหม่ ขึ้นมา และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิรินิพนธ์คำร้องเป็นคำอำนวยพรปีใหม่ แล้วพระราชทานแก่วงดนตรี 2 วง ได้แก่ วงดนตรีนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำออกบรรเลง ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และวงดนตรีสุนทราภรณ์ นำออกบรรเลง ณ ศาลาเฉลิมไทย ในวันปีใหม่ วันอังคารที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2495 (อ้างอิง: http://web.ku.ac.th/king72/2530/newyear.html)
เมื่อ จิระ มะลิกุล ได้พบกับข้อมูลดังกล่าว เขาจึงเกิดแรงบันดาลใจที่อยากจะส่งต่อเสียงเพลงแทนของขวัญให้กับคนดู ตามแบบอย่างของพระองค์ท่าน
แม้วันนี้พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชจะเสด็จสู่สวรรคาลัยแล้ว แต่บทเพลงและของขวัญวันขึ้นปีใหม่ที่พระองค์ได้พระราชทานแก่พวกเราปวงชนชาวไทยเมื่อ พ.ศ. 2495 จะคงบรรเลงต่อไปตราบนานเท่านาน…
ขอขอบคุณภาพเบื้องหลังในการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง พรจากฟ้า จาก GDH