หลังแง้มโปรเจกต์นี้ตั้งแต่กลางปี 59 ในที่สุดเมื่อกลางเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา GDH ก็ได้ฤกษ์เปิดตัว พรจากฟ้า ภาพยนตร์แนวรอมคอม 3 พาร์ตจากผู้กำกับ 4 คน เก้ง-จิระ มะลิกุล, ต้น-นิธิวัฒน์ ธราธร, หมู-ชยนพ บุญประกอบ และปิง-เกรียงไกร วชิรธรรมพร อย่างเป็นทางการ มีการปล่อยเรื่องย่อและทีเซอร์ตัวอย่าง พร้อมความตั้งใจที่จะมอบ ‘ภาพยนตร์รักที่มีเพลงพระราชนิพนธ์’ เรื่องนี้ให้เป็นของขวัญปีใหม่สำหรับคนไทย
The Momentum ได้รับโอกาสพิเศษร่วมพูดคุยกับหัวเรือใหญ่ของค่ายและหนึ่งในผู้กำกับของเรื่องอย่าง จิระ มะลิกุล และโปรดิวเซอร์คนสำคัญอย่าง วรรณฤดี พงษ์สิทธิศักดิ์ ถึงที่มาที่ไป แรงบันดาลใจ และเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยต่างๆ ในการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้
‘เพลงของในหลวงคือของขวัญสำหรับประชาชน’ แรงบันดาลใจในการสร้าง พรจากฟ้า
หนึ่งในคำถามที่หลายคนน่าจะสงสัยกันที่สุด คงหนีไม่พ้นชุดคำถามที่ว่า GDH ใช้ระยะเวลาในการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องนี้นานเท่าไหร่ ทำไมถึงถ่ายเร็วจัง หรือหลังจากเกิดเหตุการณ์ความเศร้าในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา พวกเขามีการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาของภาพยนตร์บ้างไหม
จิระ มะลิกุล เล่าให้เราฟังว่าเจ้าตัวเริ่มต้นโปรเจกต์ พรจากฟ้า มาตั้งแต่ปลายปี 2558 แล้ว และมีความตั้งใจจะทำภาพยนตร์เกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมานานกว่า 3 ปี แต่ไม่มีโอกาสได้ทำเสียที
“ตอนแรกผมคิดจะนำผลงานราชนิพนธ์แปลเรื่อง ติโต มาประยุกต์เป็นหนังแอนิเมชัน เรารู้ว่าติโตเป็นชื่อของนายพลยูโกสลาเวีย เลยมีเซนส์ว่าเรื่องจะต้องดุเด็ดเผ็ดมันแน่ๆ แต่ที่สุดแล้วก็ไม่สำเร็จ เพราะความลึกซึ้งทางการอ่านและการตีความของผมยังไม่ถึงระดับที่พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์แปล เลยพักโปรเจกต์นี้ไว้ กระทั่งปลายปีที่แล้วผมไปเจอบทความที่ว่าในหลวงพระราชทานเพลงพรปีใหม่ให้เป็นของขวัญแด่ประชาชนในวันที่ 1 มกราคม 2495 ผมรู้สึกว่าเป็นไอเดียของพระมหากษัตริย์ที่สร้างสรรค์มากสำหรับประเทศหนึ่ง
“ก่อนหน้านี้ผมเคยสงสัยว่าเพลงเป็นของขวัญได้ด้วยเหรอ? คิดไปคิดมาก็พบว่ามันเป็นไปได้ อย่างเนื้อร้องเพลง พรปีใหม่ ท่อนที่ 2 จะมีคำที่ร้องว่า ‘ข้าวิงวอนขอพรจากฟ้า ให้บรรดาปวงท่านสุขศรี โปรดประทานพรโดยปราณี ให้ชาวไทยล้วนมีโชคชัย’ คือ ข้า ในที่นี้ก็คือในหลวงรัชกาลที่ 9 เหมือนพระองค์กำลังตรัสกับชาวไทยว่า ‘ปีหน้าก็โชคดีแล้ว’ ผมย้อนคิดไปถึงสภาพบ้านเมืองประเทศไทยเมื่อปี 2495 ที่ไม่น่าจะเป็นประเทศที่เจริญมากมาย ทั้งด้านการเมือง สาธารณูปโภค หรือสังคม แต่การที่พระองค์ทรงมอบเพลงพระราชนิพนธ์เป็นของขวัญให้ประชาชนโดยบอกว่าปีหน้าเราจะโชคดีกันทุกคน ผมว่าเป็นไอเดียที่สร้างสรรค์มากๆ
เราอยากทำให้คนรู้สึกว่าเพลงพระราชนิพนธ์ไม่ได้เป็นเพลงที่อยู่บนหิ้ง
แต่เป็นเพลงที่อยู่กับคนทุกวัย
“ความคิดนี้ก็มากระทบใจของผมที่ว่าเพลงพระราชนิพนธ์ไม่ได้อยู่บนหิ้ง แต่เป็นเพลงฮิตของประชาชน อย่างช่วงปีใหม่เราจะได้ยินทุกสถานที่เปิดเพลง พรปีใหม่ หลายคนอาจจะยังไม่ทราบด้วยซ้ำว่าเป็นเพลงพระราชนิพนธ์ คิดว่าเป็นเพลงของวงสุนทราภรณ์ ตอนผมทำหนังผมยังบอกพี่วรรณอยู่เลยว่าเรามาทำหนังเพลงฮิตของประชาชนที่พระราชนิพนธ์โดยในหลวงรัชกาลที่ 9 ดีกว่า เราอยากทำให้คนรู้สึกว่าเพลงพระราชนิพนธ์ไม่ได้เป็นเพลงที่อยู่บนหิ้ง แต่เป็นเพลงที่อยู่กับคนทุกวัย เลยสรุปกันว่าเราจะมาทำหนัง 3 ตอนที่เกี่ยวกับการให้ของขวัญ โดยที่ทั้ง 3 เพลงพระราชนิพนธ์ใน 3 ตอน จะเป็นของขวัญที่ให้ในโอกาสที่ต่างกัน ทั้งให้เพื่อเป็นที่ระลึก เป็นความสุข และเป็นกำลังใจ”
ด้านโปรดิวเซอร์อย่างวรรณฤดีบอกว่า “เราตั้งใจจะทำโปรเจกต์นี้ในเดือนธันวาคม 2558 และอยากจะทำให้เสร็จทันฉายวันที่ 5 ธันวาคม 2559 ซึ่งถือเป็นช่วงเวลาที่สั้นมาก เพราะปกติเราจะใช้ระยะเวลาในการทำสคริปต์กัน 2 ปี แต่เราตั้งใจจะทำให้ได้ เพราะเราผลัดวันประกันพรุ่งมาตลอด ไม่รู้จะผลัดไปจนถึงเมื่อไหร่ พอคุยกันลงตัว เราคิดว่าหนังที่แบ่งเป็น 3 พาร์ต 3 เพลง ก็น่าจะมีความพอดี ซึ่งผู้กำกับที่เราเลือกมาแต่ละคนก็จะต้องเป็นคนที่รักดนตรีจริงๆ และเมื่อมาอยู่ด้วยกันก็จะต้องมีความหลากหลาย”
หนังรักที่มีเพลงพระราชนิพนธ์เป็นหัวใจของเนื้อเรื่อง
GDH (เดิม GTH) เคยฝากผลงานภาพยนตร์สั้นที่ได้รับแรงบันดาลใจจากพระอัจฉริยภาพทางด้านดนตรีของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชไว้ใน คีตราชนิพนธ์ บทเพลงในดวงใจราษฎร์ ภาพยนตร์สั้น 4 ตอน ในการร่วมมือสร้างของ GDH ที่เผยแพร่ไปเมื่อปี 2558 ซึ่งสำหรับภาพยนตร์เรื่อง พรจากฟ้า จิระและวรรณฤดีได้บอกกับเราว่าหนังเรื่องนี้มีความแตกต่างออกไป
วรรณฤดีกล่าวว่า “คีตราชนิพนธ์ เป็นลักษณะของหนังที่เราฟังเพลงแล้วบันดาลใจไปคิดเรื่อง โดยที่หนังอาจจะไม่ได้พูดถึงเรื่องดนตรีโดยตรง แต่สำหรับพรจากฟ้า เราอยากพูดถึงเพลงพระราชนิพนธ์โดยตรงที่เป็นใจความสำคัญของแต่ละตอน ที่ไม่ได้เป็นแค่แรงบันดาลใจ แต่เราอยากจะเล่าจริงๆ ว่าเพลงพระราชนิพนธ์อยู่ในชีวิตประจำวันของเรา เราคุ้นเคยกับเพลงพระราชนิพนธ์มากกว่าที่คิด แต่อาจจะไม่รู้ตัว ส่วนหนึ่งเพราะอาจจะไม่กล้านำมาเล่นตามสถานที่ต่างๆ เราอาจจะไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเราสามารถเอามาเล่นได้ ร้องได้ เพลงพระราชนิพนธ์จึงเป็นเหมือนเพลงไกลตัวที่ทุกคนคุ้นเคย เลยกลายเป็นไอเดียที่เราอยากทำให้หนังมีเพลงพระราชนิพนธ์เป็นหัวใจของเนื้อเรื่อง แต่ไม่ใช่หนังเพลง
“พอมาทำหนังเรื่องนี้เลยรู้สึกว่าน่าจะต้องตั้งใจพูดถึงเพลงจริงๆ เพราะสำหรับพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ผู้พระราชนิพนธ์ดนตรีด้วยพระองค์เองก็แสดงให้เห็นว่าพระองค์ทรงโปรดดนตรีแบบฮาร์ดคอร์เลยนะ เรารู้สึกว่าในหลวง รัชกาลที่ 9 ให้ความสำคัญกับดนตรีในชีวิตคน หนังเรื่องนี้จึงพยายามพูดทั้งในฐานะคนไทยและคนทั่วโลกว่า เพลงทำงานกับชีวิตของเราอย่างไร เราเคยไปอ่านเรื่องในหลวงมีพระราชดำรัสเกี่ยวกับดนตรี ใจความประมาณว่า ‘ดนตรีอยู่ในชีวิตข้าพเจ้าและชีวิตทุกคน ดนตรีเป็นสิ่งยิ่งใหญ่’ เราเลยรู้สึกว่าหนังเรื่องนี้ต้องพูดเรื่องการให้ของขวัญคนด้วยดนตรีเลยแหละ ฉะนั้นเพลงจึงไม่ใช่ส่วนประกอบ แต่เพลงคือหัวใจของเรื่อง”
เราชอบความคิดที่ว่า
‘การตกหลุมรักก็เป็นเหมือนช่วงเวลาเมจิกโมเมนต์’
พาร์ตนี้เลยน่าจะเป็นหนังรักที่ว่าด้วยเรื่องการตกหลุมรักในช่วงเวลาสั้นๆ
ภายในวันเดียว
ที่มาของเนื้อเรื่องในแต่ละตอน และเพลงพระราชนิพนธ์ที่นำมาใช้
ภาพยนตร์เรื่อง พรจากฟ้า จะแบ่งเนื้อเรื่องที่ร้อยเรียงกันออกเป็น 3 พาร์ต โดยแต่ละพาร์ตจะใช้ชื่อตอนจากชื่อเพลงพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้แก่ ยามเย็น ผลงานการกำกับของ หมู-ชยนพ บุญประกอบ และปิง-เกรียงไกร วชิรธรรมพร, Still on My Mind จากต้น-นิธิวัฒน์ ธราธร และ พรปีใหม่ ผลงานกำกับชิ้นล่าสุดของเก้ง-จิระ มะลิกุล
วรรณฤดีบอกกับ The Momentum ว่าไอเดียด้านเนื้อเรื่องและเพลงพระราชนิพนธ์ที่ถูกนำมาใช้นั้นเกิดขึ้นพร้อมๆ กัน “อย่างเพลง พรปีใหม่ พี่เก้งได้บันดาลใจจากการที่รู้ว่าในหลวงพระราชทานให้ประชาชน ฉะนั้นก็ล็อกไว้อยู่แล้วว่าจะต้องเป็นเพลงนี้ ประกอบกับพี่เก้งก็ไปเรียนดนตรีมา เขาก็จะมาเล่าให้เราฟังว่าจะต้องไปเรียนเป็นวงร่วมกับนักเรียนที่มีความหลากหลายทางช่วงวัย เลยเกิดเป็นความประทับใจที่พี่เก้งอยากพูดถึงวงดนตรีที่เต็มไปด้วยความหลากหลายมาร่วมกันเล่นเพลง พรปีใหม่
“เราคุยกันละเอียดมาก เพื่อต้องการให้เกิดความหลากหลาย เพราะเมื่อพาร์ตของพี่เก้งเป็นแบนด์ดนตรีไปแล้ว พาร์ตของคนอื่นๆ ก็ควรจะต่างออกไป อย่างของ พี่ต้น-นิธิวัฒน์ ธราธร เราถามเขาว่าพาร์ตของเขาจะเป็นเปียโน หรือดนตรีคลาสสิกดีไหม? บังเอิญว่าตัวพี่ต้นเองก็ชอบเพลง Still on My Mind เป็นทุนเดิม เรารู้สึกว่าเนื้อเรื่องมันเหมาะกับเปียโนดีแฮะ หลังจากนั้นเขาก็ไปเจอเรื่องดนตรีบำบัดผู้ป่วย แล้วเนื้อหาเพลงก็พูดถึงความทรงจำพอดี เรื่องและเพลงจึงดูคล้ายว่าจะพ้องกันไปหมด
“ส่วน ยามเย็น หมูและปิงเลือกเพลงนี้ เพราะเขาชอบ ‘เมจิกโมเมนต์’ ฟังเพลงนี้แล้วเขานึกถึงเวลาที่พระอาทิตย์ตก ซึ่งสำหรับคนถ่ายหนัง ช่วงเวลาดังกล่าวแสงพระอาทิตย์จะสวยมากๆ แต่จะเป็นช่วงเวลาที่สั้นมากเช่นกัน ถ้าถ่ายไม่ทันก็จะมืดทันที เราชอบความคิดที่ว่า ‘การตกหลุมรักก็เป็นเหมือนช่วงเวลาเมจิกโมเมนต์’ พาร์ตนี้เลยน่าจะเป็นหนังรักที่ว่าด้วยเรื่องการตกหลุมรักในช่วงเวลาสั้นๆ ภายในวันเดียว ตัวเราเองก็บังเอิญมีไอเดียเกี่ยวกับการพบรักของสแตนด์อินอยู่แล้ว เราเคยเห็นพิธีการของต่างประเทศที่เป็นทางการมากๆ จะต้องเอาตัวแสดงแทนมาซ้อมเตรียมขั้นตอนพิธีการต่างๆ แล้วก็รู้สึกตลกดีกับที่สแตนด์อินที่ไม่รู้จักกันมาก่อนต้องมาเล่นเป็นสามีภรรยากัน พอหมูและปิงพูดถึงเมจิกโมเมนต์ขึ้นมา ไอเดียนี้ก็เด้งขึ้นมาทันที ฉะนั้นมันคงตอบยากว่าเราได้เพลงก่อนหรือเนื้อเรื่องก่อน เพราะการทำหนังจริงๆ มันมวลไปด้วยกัน ทุกอย่างมันมาพร้อมๆ กัน เนื้อเรื่องและเพลงที่ผู้กำกับชอบแต่ละคนชอบในช่วงเวลานั้นๆ จึงกลายเป็นหนังในพาร์ตแต่ละตอน”
จิระเสริมว่า “ตอนที่หนังเสร็จแล้ว ผมได้ดูเรื่องนี้ในจอจริงๆ ก็พบว่ามันวิเศษมากๆ เลยนะ พอเป็นหน้าวี-วิโอเลต เรารู้สึกว่า ยามเย็น เป็นเพลงรักที่มีความลึกซึ้งมาก ‘แดดรอนรอน เมื่อทินกรจะลาโลกไปไกล ยามนี้จำต้องพรากจากดวงใจ ไกลแสนไกลสุดห่วงยอดดวงตา’ ซึ่งเรารู้สึกว่าเป็นเพลงที่ดีมากๆ เพราะมาก นี่เป็นเพลงรักที่พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์ได้เก่งมากๆ”
ในเรื่องซันนี่จะต้องเล่นเป็นคนจูนเปียโน แต่เขาก็บอกผมว่า
“อ้าวพี่! จริงๆ ผมอยากเล่นเปียโน ทำไมพี่ไม่ส่งผมไปเรียน”
ทุกคนก็บอกว่าไม่! ซันนี่ไม่ต้องไปเรียนเปียโน
แต่ซันนี่ต้องไปหัดเรียนจูนเปียโน
เลือกนักแสดงในเรื่องจากคนที่ยินดีจะหัดเล่นดนตรี
เชื่อว่าแฟนๆ ของ GDH น่าจะตื่นเต้นกับรายชื่อนักแสดงจากภาพยนตร์เรื่องนี้กันไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็น การหวนกลับมาร่วมงานกันอีกครั้งของ เต๋อ-ฉันทวิชช์ ธนะเสวี และ หนูนา-หนึ่งธิดา โสภณ การประชันบทบาทระหว่างนักแสดงขวัญใจสาวๆ อย่าง ซันนี่ สุวรรณเมธานนท์ และขวัญใจหนุ่มๆ อย่าง มิว-นิษฐา จิรยั่งยืน และการโคจรมาพบกันของนักแสดงเลือดใหม่อย่าง วี-วิโอเลต วอเทียร์ และ นาย-ณภัทร เสียงสมบุญ โดยเฉพาะรายหลังที่ได้รับโอกาสชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรกด้วยผลงานการแสดงลงจอเงิน
วรรณฤดีเล่าถึงแนวทางในการเลือกนักแสดงของหนังเรื่อง พรจากฟ้า ไว้ว่า “พอเราได้เนื้อเรื่องเสร็จ เราก็คุยกันว่าหนัง 3 พาร์ตจะเหมาะสมกับนักแสดงคนใดบ้าง ชอยส์ต่างๆ ก็มีไม่เยอะ เพราะโจทย์ของเราพูดถึงเรื่องหนังที่มีดนตรีเป็นหัวใจ ผู้กำกับก็เลือกจากคนรักดนตรี เพราะฉะนั้นเราก็อยากให้นักแสดงสัมผัสความรู้สึกนั้นได้จริงๆ (ความรู้สึกรักดนตรี) เพราะมันสำคัญกับหนังและความรู้สึกของเรา ณ ขณะที่ทำหนัง หรือจริงๆ มันก็อาจจะไม่ได้สำคัญเท่าไหร่หรอก เราอาจจะคิดไปเอง (หัวเราะ) เราอยากให้เขาได้ลองหัดเล่นดนตรี เพราะมองว่าเขาน่าจะอิน และเข้าใจว่าการเล่นดนตรีมันยาก รู้สึกว่าน่าจะทำให้นักแสดงเล่นหนังเรื่องนี้ได้ดี เลยเป็นข้อเรียกร้องที่เราจะบอกนักแสดงทุกคนที่เราชวนว่าจะต้องไปหัดเล่นดนตรี พอเริ่มต้นโปรเจกต์ก็เลยคิดถึงคนที่เขาน่าจะมีแนวโน้มยอมเล่นดนตรี
“ด้วยความที่หนังเรื่องนี้ถูกแบ่งเป็น 3 พาร์ต ถ้าทุกคนคิดว่าทุ่มเทไปก็เป็นได้แค่ตอนเดียวของหนังเองก็อาจจะรู้สึกไม่อยากทำ เราเลยคิดว่าอย่างนั้นชวนคนที่อยากจะลองเล่นดนตรี อยากทำเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเพลงพระราชนิพนธ์จริงๆ ทำได้ ไม่ได้ ไม่สำคัญเท่ากับอยากจะลองทำ ลองซ้อม ลองเล่น เพราะเราไม่อยากจะใช้สแตนด์อินในการถ่ายทำ เราชวนทุกคนด้วยเงื่อนไขแบบนี้ ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าคนที่เราชวนก็ตอบรับและอยากทำกันหมด อย่างมิว เราได้ร่วมงานกับเขามาก่อนใน แฟนเดย์ และรู้สึกว่าเขาน่ารัก ทุ่มเท น่าจะเล่นบทนี้ได้ดี พอเราชวน เขาก็อยากจะมาเล่นมาก ทั้งๆ ที่ตอนนั้นน้องมีละครถ่ายซ้อนกัน 2 เรื่อง เขาก็ต้องไปเจียดเวลาจากกองถ่ายมา เรียกได้ว่าช่วงนั้นมิวทำงาน 7 วันต่อสัปดาห์
“เราขอมิวให้หัดเรียนเปียโน เพราะตัวละครที่เขารับบทบาทในเรื่องกำลังหัดเล่นเปียโน เราไม่ได้ต้องการความเก่ง ต้องการแค่ความตั้งใจและการทุ่มเท ซึ่งมิวก็ยินดี เขาบอกเราว่า “ดีค่ะ หนูอยากเล่นเปียโนอยู่แล้ว เพราะว่าเล่นแล้วจะดูสวยๆ” เราก็โอเคๆ (หัวเราะ) เขาก็หัดไปซ้อมจนเล่นได้จริงๆ ส่วนซันนี่ ปกติเขาเล่นกีตาร์ได้อยู่แล้ว ในเรื่องเขาจะต้องเล่นเป็นคนจูนเปียโน แต่เขาก็ดันมาบอกผมว่า “อ้าวพี่! จริงๆ ผมอยากเล่นเปียโน ทำไมผมไม่ได้เรียน ทำไมพี่ไม่ส่งผมไปเรียน” ทุกคนก็บอกว่า ไม่! ซันนี่ไม่ต้องไปเรียนเปียโน แต่ซันนี่ต้องไปหัดเรียนจูนเปียโน แล้วเขาจะต้องมีซีนที่เล่นเปียโนนิดหน่อย เราเลยส่งเขาไปเรียน พอไปเรียนเขาก็พยายามส่งคลิปมาอวดว่าเขาเล่นได้ เราก็บอกว่า ไม่ใช่ ไม่ได้ให้หัดเล่นเพลงนี้ เหมือนอวดสิ่งที่ไม่ต้องทำ (หัวเราะ)
“นายกับวีเป็นคนดนตรีทั้งคู่ ดูเหมือนจะสบายสุด แต่เนื่องจากเราต้องการความหลากหลาย ก็เลยเปลี่ยนให้พาร์ตของเขาเป็นการร้องเพลงและบอดี้เพอร์คัชชัน ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาไม่เคยทำแต่ก็ต้องมาทำ เรียกว่ายากไม่ต่างจากคนอื่นๆ ที่เรียนดนตรีเลย อย่างหนูนาเราก็ให้เขาไปหัดเรียนทรัมเป็ต ทั้งๆ ที่ช่วงนั้นเขาติดละครเวที ลมหายใจ เดอะมิวสิคัล ส่วนเต๋อก็ไปลงเรียนแซกโซโฟนที่โรงเรียนเดียวกับพี่เก้ง บางครั้งเราไปเรียนดนตรีกับพี่เก้งแล้วเต๋อซ้อมอยู่ ทีมงานเบื้องหลังไปถ่ายบรรยากาศเจอเราสองคนก็สงสัยว่าเราไปดูเต๋อซ้อมเหรอ? เราบอกเปล่า พวกเราไปเรียน”
จิระบอกว่า “แค่ครั้งที่ 3 ที่เต๋อมาเรียน ครูที่สอนดนตรีก็บอกว่าได้ยินเสียงแซกโซโฟนที่เป่าเป็นเพลงลอยออกมาจากห้อง ครูทุกคนก็มองหน้ากันว่าใครเป็นคนเป่า พอวิ่งไปดูก็ปรากฏว่าเป็นเต๋อ เขาบอกว่าเต๋อเป็นนักเรียนที่เก่งมากๆ มีสมาธิ”
ทุกๆ ครั้งที่มีการเรียบเรียงจังหวะของเพลงใหม่
เพลงของพระองค์ก็จะมีความหมายที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
เพลงเดียวกัน ทำนองช้าก็สามารถเป็นเพลงเศร้า ซึ้ง พูดถึงปรัชญาชีวิต
เมื่อเรียบเรียงให้เร็วขึ้นก็จะรู้สึกสนุก มีความสุข
ความวิเศษของเพลงพระราชนิพนธ์ที่ค้นพบระหว่างการถ่ายทำ
หลายๆ คนมักจะเคยได้ยินเพลงพระราชนิพนธ์ในโอกาสพิเศษต่างๆ มาก่อน แต่ความพิเศษของเพลงพระราชนิพนธ์ในเรื่อง พรจากฟ้า คือการที่ GDH อัญเชิญบทเพลงทั้งสามมาเรียบเรียงในเวอร์ชันที่แตกต่างออกไป และสิ่งที่พวกเขาค้นพบก็คือ แม้จะเป็นเพลงเดียวกัน คำร้องและทำนองเดียวกัน แต่เมื่อจังหวะการเรียบเรียงเพลงไม่เหมือนกัน อารมณ์ของเพลงก็เกิดขึ้นหลากหลายและแตกต่างกันออกไป
วรรณฤดีบอกกับเราว่า “สิ่งหนึ่งที่เราค้นพบจากการทำหนังเรื่องนี้คือเพลงพระราชนิพนธ์ทั้ง 3 เพลงมีเมจิกที่ไม่น่าเชื่ออย่างหนึ่ง จริงๆ แล้ว พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ ทรงเป็นผู้ประพันธ์เนื้อเพลง แต่ส่วนทำนองเป็นผลงานพระราชนิพนธ์ของในหลวง รัชกาลที่ 9 ซึ่งทุกๆ ครั้งที่มีการเรียบเรียงใหม่ (จังหวะ บีตเพลง) เพลงของพระองค์ก็จะมีความหมายที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เพลงเดียวกัน ทำนองช้า ก็สามารถเป็นเพลงเศร้า ซึ้ง พูดถึงปรัชญาชีวิต เมื่อเรียบเรียงให้เร็วขึ้น ก็จะรู้สึกสนุก มีความสุข มู้ดแอนด์โทนในเพลงเพลงเดียวกันแต่คนละจังหวะ การเรียบเรียงก็เปลี่ยนอารมณ์ได้กว้างมาก เราคิดเอาเองนะว่าไม่ใช่ทุกเพลงที่จะเป็นแบบนี้ได้ กับการที่แต่งเมโลดี้มา แล้วมีความยืดหยุ่นด้านการให้อารมณ์ที่แตกต่างกับคนฟัง
ด้านจิระก็แสดงความเห็นไม่ต่างกันว่า “เมื่อเพลงพระราชนิพนธ์ถูกทำเป็นสกอร์บรรเลงในหนัง อย่างเพลง พรปีใหม่ ก็จะให้อารมณ์สนุกๆ แต่ตอนท้ายที่วงออเคสตราเล่นเพลง พรปีใหม่ ในเวอร์ชันช้าๆ มู้ดเพลงก็เปลี่ยนไปอีกอารมณ์เลย”
เราทำหนังเรื่องนี้ เพราะอยากให้คนดูใกล้ชิดกับเพลงพระราชนิพนธ์
อยากให้คนรุ่นใหม่รักเพลงพระราชนิพนธ์
เพราะว่ารักจริงๆ รู้สึกว่าเพลงเพราะจริงๆ
ไม่ใช่คนมาบอกว่าเป็นเพลงพระราชนิพนธ์แล้วต้องรัก
“ขอแค่ให้ความรู้สึกอะไรบางอย่างของคุณเปลี่ยนไปกับดนตรีก็พอแล้ว” ความตั้งใจที่แท้จริงของการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้
จิระและวรรณฤดีบอกกับ The Momentum ว่า จุดประสงค์ที่แท้จริงในการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้นอกจากจะเป็นการมอบของขวัญให้คนดู และทำให้ทุกคนรู้สึกว่าเพลงพระราชนิพนธ์ใกล้ตัวเรามากกว่าที่คิด พวกเขาก็หวังอยู่ลึกๆ ว่าอยากจะให้คนที่ได้รับชมภาพยนตร์เรื่องนี้รู้สึกเปลี่ยนไปกับดนตรี
จิระบอกว่า “เวลาทำหนัง มันก็เหมือนดึงเราเข้าไปอีกโลก อย่างเรื่องนี้ทำธนาคาร เราก็จะหมกหมุ่นกับธนาคารอยู่พักหนึ่ง แต่เรื่อง พรจากฟ้า เรารู้สึกว่าโลกนี้มันใหญ่มาก หนังถีบเราไปไกลมาก ซึ่งก็หวังว่าคนดูจะได้ความรู้สึกเหมือนที่เราได้ ผมดีใจนะที่ตอนผมทำหนังเรื่อง รัก 7 ปีดี 7 หน ตอน 42.195 (วิ่งมาราธอน) แล้วก็มีคนออกมาวิ่งตาม ผมรู้สึกว่า โอ้! เราทำได้เว้ย คนออกมาวิ่งกันเต็มเลย ซึ่งมันก็ไม่ได้วัดผล 100% ว่าเขาออกมาวิ่งกันจากตัวหนัง แต่ในฐานะคนทำหนัง เราก็อยากคิดให้เป็นอย่างนั้น (หัวเราะ) สำหรับ พรจากฟ้า ผมก็อยากให้คนได้ซาบซึ้งกับดนตรี ออกมาเล่นดนตรี มีเครื่องดนตรีเป็นของตัวเอง แล้วส่งเสียงออกมาจากบ้าน”
ด้านวรรณฤดีบอกว่า “เดิมทีเราทำหนังเรื่องนี้ เพราะอยากให้คนดูใกล้ชิดกับเพลงพระราชนิพนธ์ อยากให้คนรุ่นใหม่รักเพลงพระราชนิพนธ์ เพราะว่ารักจริงๆ รู้สึกว่าเพลงเพราะจริงๆ ไม่ใช่คนมาบอกว่าเป็นเพลงพระราชนิพนธ์แล้วต้องรัก แต่พอเกิดเหตุการณ์วันที่ 13 ตุลาคมที่ผ่านมา ความรู้สึกของเราที่มีต่อหนังก็เปลี่ยนไป พรจากฟ้า ทำให้เราคิดถึงคนที่แต่งเพลงที่อยู่ในหนังเรื่องนี้ ความรู้สึกมันหลากหลายเปลี่ยนไปเรื่อยๆ กลายเป็นว่าหนังเริ่มนำพาตัวเราไป โดยที่เราควบคุมไม่ได้ ซึ่งเป็นความรู้สึกที่แปลกใหม่มากๆ สำหรับคนทำหนัง
“ถ้าพูดถึงรายละเอียดนอกตัวหนัง เราทำหนังเรื่องนี้ขึ้นมาก็เพราะว่าเราอยากจะให้กำลังใจคนดู แต่ถ้าความรู้สึกของตัวหนังเอง จริงๆ เราขอแค่ให้คนดูรู้สึกอะไรบางอย่างกับดนตรีเปลี่ยนไปก็พอแล้ว จะรักมากขึ้น อินมากขึ้น อยากจะลองเล่น ฟัง เชียร์ ให้คนรอบตัวไปเล่น อะไรก็ได้ หรือไม่ต้องเรียนก็ได้ แค่ลองเล่นดู อะไรก็ได้จริงๆ ที่ทำให้เขารู้สึกกับดนตรีเปลี่ยนไปก็พอแล้ว
“สิ่งเหล่านี้ถือเป็นความสุขของคนทำหนังนอกจากเงินทอง เป็นสิ่งที่ตอบเราว่า เรามาทำหนังทำไม ทำหนังเราก็ได้ค่าจ้าง แม้ว่าจะไม่ได้ร่ำรวย ถ้าหนังทำเงิน เราก็อาจจะได้ค่าตอบแทนที่มากขึ้น ก็อาจจะร่ำรวยมากขึ้นนิดหนึ่ง แต่มันไม่ใช่สิ่งแรกที่เรานึกถึง มันเทียบไม่ได้กับการที่หนังและความคิดของเรา หรือสิ่งที่เราตั้งใจทำกันมาไปเปลี่ยนชีวิตผู้คน หรือความรู้สึกนึกคิดของเขา เรามองว่าสิ่งนี้มีค่ากว่าเงินทองเสียอีก เพราะฉะนั้นทีมงานก็หวังลึกๆ ว่าหนังทุกเรื่องที่ทำจะสามารถสร้างความคิดหรือความรู้สึกที่เปลี่ยนไปของคนดู ซึ่งก็ไม่ใช่ว่าเราจะทำกันได้ทุกครั้ง แม้ว่าจะตั้งใจทำงานทุกครั้งก็ตาม มันเป็นแค่เมจิกที่เกิดขึ้นกับเรื่องบางเรื่องเท่านั้น แล้วเราก็หวังว่าหนังเรื่องนี้จะมีเมจิกแบบนั้น”
สิ่งเหล่านี้ถือเป็นความสุขของคนทำหนังนอกจากเงินทอง
เป็นสิ่งที่ตอบเราว่าเรามาทำหนังทำไม?
‘พรจากฟ้า’ ภาพยนตร์รักแห่งปีจาก GDH ที่บอกเล่าเรื่องราวความรักของคู่รัก 3 คู่ ที่มอบของขวัญให้กันและกันด้วย 3 บทเพลงพระราชนิพนธ์ อันได้แก่ เพลงยามเย็น, เพลง Still on My Mind และ เพลงพรปีใหม่
GDH ตั้งใจมอบภาพยนตร์เรื่องนี้ให้เป็นของขวัญปีใหม่แด่คนไทยทุกคน ด้วยบัตรราคาพิเศษเพียง 99 บาท ทุกโรงภาพยนตร์ทุกเครือทั่วประเทศ และรายได้ส่วนหนึ่งยังนำไปสมทบ “มูลนิธิชัยพัฒนา” เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล