หลังมีประกาศราชกิจจานุเบกษา โดยคณะกรรมการคุ้มครองการรับงานไปทำที่บ้าน เรื่อง ‘อัตราค่าตอบแทนในงานที่รับไปทําที่บ้าน’ ฟรีแลนซ์ที่เคยถูกเบี้ยวค่าจ้างหลายคนอาจคิดว่าแสงทองของวันใหม่ได้เกิดขึ้นแล้ว แต่ความจริงแล้วเป็นอย่างนั้นหรือ?
The Momentum ต่อสายหา เป๋า-ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ นักกฎหมายจาก iLaw และ นักกฎหมาย บริษัท Legal Advisory Council จำกัด เพื่อสอบถามข้อสงสัยดังกล่าว ว่าราชกิจจานุเบกษาฉบับนี้มีผลกับฟรีแลนซ์หรือไม่?
“โดยประเด็น ประกาศฉบับนี้ไม่ได้แก้ปัญหาฟรีแลนซ์ระดับชนชั้นกลางที่ทำกราฟิกดีไซน์ ฯลฯ แต่เน้นคนที่รับงานไปทำที่บ้าน เพราะที่ผ่านมามีบางบริษัทได้ออกแบบรูปแบบหรือสัญญาการจ้างงานแบบหนึ่งขึ้นมา เพื่อให้ตัวเองไม่ต้องรับผิดชอบอะไร และลดต้นทุนในการผลิต” เป๋า ยิ่งชีพ จาก iLaw อธิบาย
“สมมติโรงงานเย็บผ้าอาจจ้างแรงงาน (ไม่ประจำ) โดยให้มารับผ้าไปเย็บที่บ้าน แล้วคิดค่าแรงต่อชิ้น ตัวละ 3-4 บาท ต่อให้ทำแทบตายทั้งวันอาจจะได้ค่าแรง 200 บาท ซึ่งต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำ และในความเป็นจริงคนกลุ่มนี้ก็ทำงานเต็มเวลาไม่ต่างจากพนักงานประจำในโรงงาน
“นอกจากจะไม่ได้เงินเดือนประจำ แรงงานกลุ่มนี้ยังไม่ได้สวัสดิการ เช่น ประกันสังคม พอป่วยขึ้นมา เขาจะไม่ได้สิทธิตรงนี้ หรือแม้แต่วันหยุดที่จะต้องมีเท่ากับราชการ วันลาพักร้อน 6 วันต่อปี สิทธิลาคลอด รวมถึงการได้รับค่าจ้างระหว่างลาคลอด”
ด้านนักกฎหมายบริษัท Legal Advisory Council จำกัด ชี้แจงว่า นิยามของ ‘งานที่รับไปทำที่บ้าน’ ที่ระบุในกฎหมาย กับลักษณะงานของ ‘ฟรีแลนซ์’ นั้นต่างกัน
“การจ้างแรงงานตามกฎหมายแบ่งได้ 2 ลักษณะคือ การจ้างงานประจำ และการจ้างเป็นชิ้นงาน เช่น ฟรีแลนซ์ สถาปนิก กราฟิกดีไซน์ ช่างตัดผม ช่างตัดเสื้อ ที่มีลักษณะรับงานเป็นชิ้นงาน ซึ่งเรียกว่า ‘รับทำของ’
“ขณะที่ ‘งานที่รับไปทําที่บ้าน’ ในราชกิจจานุเบกษาฉบับนี้ แม้จะรับทำงานเป็นชิ้นเหมือนกัน แต่จะเป็นงานที่เกี่ยวกับในเชิงอุตสาหกรรม เช่น รับผ้าโหลจากโรงงานไปเย็บ
“ซึ่งราชกิจจานุเบกษาฉบับนี้ออกมาเพื่อให้ความคุ้มครองกลุ่มแรงงานที่ถูกเอาเปรียบจากนายจ้าง โดยระบุว่า ไม่ว่าลูกจ้างจะนั่งทำงานที่โรงงาน หรือรับงานกลับไปทำที่บ้าน จะต้องได้เงินเท่ากัน และต้องไม่ต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำ”
อ่านมาถึงตรงนี้ คนที่เป็นฟรีแลนซ์อาจสงสัยว่า มีกฎหมายที่คุ้มครองการทำงานของฟรีแลนซ์หรือไม่
“ถ้าเป็นกรณีงานรับทำของ หรือฟรีแลนซ์ จะมีกฎหมายคุ้มครองระบุอยู่ในประมวลกฎหมายแพ่งฯ อยู่แล้วครับ” นักกฎหมายบริษัท Legal Advisory Council จำกัด ระบุ
FACT BOX:
ราชกิจจานุเบกษา ประกาศคณะกรรมการคุ้มครองการรับงานไปทำที่บ้าน เรื่อง ‘อัตราค่าตอบแทนในงานที่รับไปทำท่ีบ้าน’ มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
1. ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
2. อัตราค่าตอบแทนของงานที่รับไปทําที่บ้านในงานที่มีการจ้างงานกันในสถานประกอบกิจการ ต้องไม่น้อยกว่าอัตราค่าจ้างที่จ่ายให้แก่ลูกจ้างในสถานประกอบกิจการ เมื่อคํานวณต่อหน่วยตามลักษณะงานคุณภาพอย่างเดียวกันและปริมาณเท่ากัน
3. อัตราค่าตอบแทนของงานที่รับไปทําที่บ้านในงานที่ไม่มีการจ้างงานกันในสถาน ประกอบกิจการ ให้เป็นไปตามที่ผู้จ้างงานและผู้รับงานไปทําที่บ้านตกลงกัน
4. อัตราค่าตอบแทนของงานที่รับไปทําที่บ้านตามข้อ 2 และข้อ 3 ต้องไม่น้อยกว่า อัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานกําหนด
5. ให้พนักงานตรวจแรงงานมีอํานาจวินิจฉัย กรณีมีข้อสงสัยว่าอัตราค่าตอบแทนของงาน ที่รับไปทําที่บ้านตามข้อ 2 หรือข้อ 3 น้อยกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ําตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน
อ่านเพิ่มเติม: http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2559/E/248/27.PDF