ระบบการเลือกตั้งในสหรัฐฯ เป็นการเลือกตั้งทางอ้อม ซึ่งค่อนข้างซับซ้อน โดยประชาชนจะไปเลือกผู้แทน หรือคณะผู้เลือกตั้ง (Electoral College) และคณะผู้เลือกตั้งจะไปเลือกประธานาธิบดีอีกทีหนึ่ง

ระบบนี้ผู้เลือกตั้งจึงไม่ได้ลงคะแนนเสียงเลือกประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีโดยตรง ในแง่นี้ ผู้ชนะที่ได้เป็นประธานาธิบดี จึงอาจไม่ใช่ผู้ที่ได้คะแนนเสียงจากประชาชน (ชนะคะแนน Popular Vote เสมอไป) แต่จะต้องเป็นผู้ที่ได้รับคะแนนเสียงข้างมากจากคณะผู้เลือกตั้ง

ที่ผ่านมา ในการเลือกตั้งสหรัฐอเมริกา มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีกว่า 17 ครั้ง ที่ผู้ชนะไม่ได้รับคะแนนเสียงส่วนใหญ่จากประชาชน

ครั้งแรกคือการเลือกตั้งปี 1824 ที่ จอห์น ควินซี แอดัมส์ ชนะได้เป็นประธานาธิบดี และครั้งล่าสุดคือการเลือกตั้งปี 2000 ที่ จอร์จ ดับเบิลยู. บุช ชนะ อัล กอร์ ได้เป็นประธานาธิบดี

ในแต่ละรัฐจะมีจำนวนคณะผู้เลือกตั้งไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับจำนวนตามขนาดประชากรเป็นหลัก ซึ่งจะมาจากการสำรวจประชากรครั้งล่าสุด และคณะผู้เลือกตั้งของแต่ละรัฐจะรวมกับจำนวนวุฒิสภาอีก 2 คน เป็นคณะผู้เลือกตั้งของแต่ละรัฐ ยกตัวอย่างเช่น รัฐ California มี 55 เสียง ในขณะที่ รัฐ New Mexico มีเพียง 5 เสียง

การเลือกตั้งในครั้งนี้ ถ้าทรัมป์หรือฮิลลารีได้คะแนนเสียงสูงสุดในรัฐใด ก็จะกวาดคณะผู้เลือกตั้งทั้งหมดของรัฐนั้นได้เลย

หรืออีกนัยหนึ่ง วิธีการดูว่าใครจะเป็นประธานาธิบดีก็คือดูว่า ใครจะมียอดรวมคณะผู้เลือกตั้งถึงจำนวน 270 จาก 538 เสียงก่อนกัน!!

Photo: www.cnn.com

268 เสียงของฮิลลารี ภารกิจที่ใกล้จะถึงดวงดาว

ในการเลือกตั้งแต่ละครั้ง จะมีสนามเลือกตั้งรวมแล้ว 51 สนาม คือมีการเลือกตั้งใน 50 รัฐ และวอชิงตัน ดี.ซี. สำนักข่าว CNN ประเมินยอดรวมคณะผู้เลือกตั้งล่าสุด โดยชี้ว่า ฮิลลารีมียอดรวมคณะผู้เลือกตั้งอยู่ที่ 268 เสียง ในรัฐที่เป็นฐานเสียงสำคัญ หรือ Solid Democrat ซึ่งเธอคงจะได้รับชัยชนะในรัฐต่อไปนี้อย่างแน่นอนแล้ว ได้แก่ California (55), Connecticut (7), Delaware (3), DC (3), Hawaii (4), Illinois (20), Maine (3), Maryland (10), Massachusetts (11), New Jersey (14), New York (29), Oregon (7), Rhode Island (4), Vermont (3), Washington (12), Minnesota (10), New Mexico (5) รวมแล้ว 200 เสียง

และยังมีรัฐที่ฮิลลารีมีโอกาสอย่างสูงที่จะได้รับชัยชนะอีก (leans democrat) ได้แก่ Colorado (9), Michigan (16), Pennsylvania (20), Virginia (13), Wisconsin (10) รวมแล้ว 68 เสียง

ทำให้เบ็ดเสร็จแล้ว ฮิลลารีมียอดรวมคณะผู้เลือกตั้งในมือแล้วตอนนี้อย่างต่ำ 268 เสียง หรือนัยหนึ่ง ขาดอีกเพียง 2 เสียงเท่านั้น เธอก็จะได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ

204 เสียงของทรัมป์ หนทางเดียวที่จะชนะ คือต้องกวาดทุกเสียงในรัฐสนามรบ

ในฝั่งของทรัมป์ แม้ว่าขณะนี้ทรัมป์จะมีโอกาสน้อยกว่าฮิลลารี แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่เกิดขึ้น ทรัมป์มีรัฐที่เป็นฐานเสียงสำคัญ ซึ่งเขาคงจะได้รับชัยชนะในรัฐต่อไปนี้แน่นอนแล้ว หรือเป็น Solid Republican ได้แก่ Alabama (9), Alaska (3), Arkansas (6), Idaho (4), Indiana (11), Kansas (6), Kentucky (8), Louisiana (8), Mississippi (6), Missouri (10), Montana (3), Nebraska (4), North Dakota (3), Oklahoma (7), South Carolina (9), South Dakota (3), Tennessee (11), Texas (38), West Virginia (5), Wyoming (3) รวมแล้ว 157 เสียง

นอกจากนั้นยังมีรัฐที่เขามีโอกาสอย่างสูงที่จะได้รับชัยชนะอีก (leans replubican) ได้แก่ Georgia (16), Iowa (6), Maine’s 2nd Congressional District (1), Ohio (18), Utah (6) รวมแล้ว 47 ที่นั่ง

เฉพาะการประเมินของ CNN ทำให้เห็นแล้วว่า ขณะนี้ทรัมป์มียอดรวมคณะผู้เลือกตั้งอยู่ในมือแล้วราว 204 เสียง

ในแง่นี้หนทางเดียวที่ทรัมป์จะชนะได้ก็คือ จะต้องได้รับชัยชนะในรัฐสนามรบ (Battleground States หรือ Swing States) ทั้งหมดให้ได้ เพื่อคว้าคณะผู้เลือกตั้งอีก 66 ที่นั่งที่เหลือ จึงจะพิชิตตัวเลขมหัศจรรย์ 270 เสียง

ซึ่งก็ยากเต็มที เพราะฮิลลารีมีแนวโน้มชนะในรัฐสนามรบหลายรัฐ

Photo: www.huffingtonpost.com

Huffington Post ชี้ ทรัมป์จะเป็นประธานาธิบดีได้ ถ้าปาฏิหาริย์มีจริง

นอกเหนือจากการประเมินของ CNN แล้ว สำนักข่าวฮัฟฟิงตันโพสต์ ได้ประเมินว่า ฮิลลารีมีโอกาสชนะถึงร้อยละ 98.2 ต่อร้อยละ 1.5 โดยขณะนี้ ฮิลลารีมียอดรวมคณะผู้เลือกตั้งมากกว่าทรัมป์ถึง 273 เสียง ต่อ 164 เสียง (หรือนัยหนึ่งสามารถพิชิตตัวเลขมหัศจรรย์ได้เป็นประธานาธิบดีแน่นอนแล้ว) และเหลือรัฐสนามรบที่ต้องสู้กันอยู่ 7 รัฐ ซึ่งมีคณะผู้เลือกตั้งให้ช่วงชิงอีกราว 101 เสียง

ฮัฟฟิงตันโพสต์ระบุว่า ฮิลลารีมีโอกาสชนะใน 3 รัฐสนามรบ คือ Nevada (6 เสียง) Florida (29 เสียง) North Carolina (15 เสียง) รวมแล้ว 50 เสียง ซึ่งเมื่อรวมกับคณะผู้เลือกตั้งที่มีอยู่ในมือแล้ว ก็จะทำให้มียอดรวมอยู่ที่ 323 เสียง!

ขณะที่ด้านทรัมป์มีโอกาสชนะใน 4 รัฐต่อไปนี้คือ Ohio (18 เสียง) Arizona (11 เสียง) Georgia (16 เสียง) Iowa (6 เสียง) รวมแล้ว 51 เสียง ซึ่งเมื่อรวมกับคณะผู้เลือกตั้งที่มีอยู่ในมือแล้ว ก็จะทำให้มียอดรวมอยู่ที่ 215 เสียง

จากผลสำรวจของฮัฟฟิงตันโพสต์จะเห็นได้ว่า โอกาสที่ทรัมป์จะได้เป็นประธานาธิบดีนั้นริบหรี่เต็มที และหนทางเดียวที่ทรัมป์จะคว้าชัยได้ คือต้องแย่งชิงคณะผู้เลือกตั้งในรัฐสนามรบที่ฮิลลารีถือครองอยู่กลับมาให้ได้ ได้แก่ Nevada (6 เสียง) Florida (29 เสียง) North Carolina (15 เสียง) ซึ่งจะทำให้ทรัมป์มีคะแนนรวมอยู่ที่ 265 เสียง

แค่นั้นยังไม่พอ ทรัมป์ยังต้องช่วงชิงคณะผู้เลือกตั้งจากรัฐที่ฮิลลารีมีโอกาสได้รับชัยชนะมาให้ได้อีกอย่างน้อย 5 เสียงด้วย

แล้วตัวเลขมหัศจรรย์ 270 เสียง ก็จะเป็นของทรัมป์อย่างแน่นอน

ถ้าโชคดีและปาฏิหาริย์มีอยู่จริง

ภาพประกอบ: Karin Foxx

 

FACT BOX:

Solid States คือรัฐที่เป็นฐานเสียงของแต่ละพรรค (พรรคเดโมแครตและพรรครีพับลิกัน)
Leans Democrat คือรัฐที่มีโอกาสสูงว่าพรรคเดโมแครตจะคว้าชัยชนะ
Leans Republican คือรัฐที่มีโอกาสสูงว่าพรรครีพับลิกันจะคว้าชัยชนะ
Battleground States/Swing States คือรัฐที่มีคะแนนเสียงแกว่งไปแกว่งมา หรือที่เรียกกันว่า ‘รัฐสนามรบ’ ซึ่งผลคะแนนจากรัฐสนามรบจะชี้ว่า สุดท้ายแล้วใครจะคว้าชัยชนะไป
CNN ได้ประเมิน 6 รัฐ ที่เรียกว่า Battleground States ซึ่งมีจำนวน 66 เสียง
– Arizona (11)
– Florida (29)
– Nevada (6)
– Nebraska’s 2nd Congressional District (1)
– New Hampshire (4)
– North Carolina (15)