แม้วันนี้ (20 ต.ค. 2559) รัสเซียจะเตรียมหยุดโจมตีกลุ่มไอเอสในซีเรียเป็นเวลา 8 ชั่วโมง เพื่อเปิดโอกาสให้ชาวซีเรียได้อพยพออกจากพื้นที่แล้ว แต่ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและสหรัฐอเมริกาก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะเบาลง
ความตึงเครียดนี้เริ่มเกิดขึ้นเมื่อสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรอาหรับ 5 ประเทศ อย่างจอร์แดน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซาอุดีอาระเบีย กาตาร์ และบาห์เรน เปิดฉากโจมตีกลุ่มไอเอสอยู่ก่อนแล้วเมื่อปี 2014 แต่รัสเซียกลับเข้ามาเอี่ยวด้วยการเดินหน้าโจมตีทางอากาศต่อกลุ่มไอเอสในซีเรียปี 2015 จากการขอความช่วยเหลือของรัฐบาลซีเรีย
สหรัฐฯ จึงสงสัยในเป้าประสงค์การโจมตีกลุ่มไอเอสครั้งนี้ของรัสเซีย โดยกล่าวหาว่า แท้จริงแล้วรัสเซียต้องการโจมตีกลุ่มกบฏที่ต่อต้านรัฐบาลซีเรีย เพื่อสนับสนุนรัฐบาลของนายบาซาร์ อัล-อัสซาด ที่เป็นพันธมิตรยาวนานของรัสเซีย มากกว่าจะปราบกลุ่มไอเอสอย่างที่รัสเซียกล่าวอ้าง
ความตึงเครียดระหว่างสองประเทศครั้งนี้ลุกลามบานปลายไปถึงชาติตะวันตก หลังจากเกิดเหตุการณ์ก่อการร้ายหลายครั้งในยุโรป ไม่ว่าจะเป็น เหตุกราดยิงที่กรุงปารีสเมื่อปลายปีที่แล้ว หรือเหตุระเบิดสนามบินและสถานีรถไฟในกรุงบรัสเซลส์เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เหตุการณ์อุกอาจนี้สะเทือนใจคนทั้งโลก และทำให้ชาวยุโรปที่ใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางความหวาดระแวงต่อเหตุการณ์ก่อการร้ายที่ไม่เลือกทั้งเวลาเกิด และสถานที่ ชาติยุโรปอย่างอังกฤษจึงไม่อยู่นิ่งเฉย ตัดสินใจร่วมกับสหรัฐฯ โจมตีกลุ่มไอเอสเมื่อปีที่แล้ว
‘ปฏิบัติการปราบกลุ่มก่อการร้าย’ กลายเป็นสิ่งที่รัสเซียและสหรัฐฯ นำมางัดข้อกันซึ่งมีชีวิตของชาวซีเรียเป็นเดิมพัน ต่างฝ่ายต่างกล่าวหากันไปมาว่าเป็นต้นเหตุของการเสียชีวิตของชาวซีเรีย ถึงอย่างนั้นที่ผ่านมา การปฏิบัติการหยุดยิงพร้อมกันของทั้งสองประเทศก็ล้มเหลวมาโดยตลอดและยังไม่สามารถมาเจรจากันบนโต๊ะได้
The Momentum มีโอกาสได้สัมภาษณ์ โจนาธาน บีลอฟฟ์ (Jonathan R. Beloff) นักวิชาการด้านความมั่นคงจากโซแอส แห่งมหาวิทยาลัยลอนดอน ที่คลุกคลีกับการทำวิจัยด้านความขัดแย้งและการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ถึงความสัมพันธ์ที่ร้อนระอุระหว่างรัสเซียกับสหรัฐฯ ว่าจะลุกลามไปทั่วโลก จนนำไปสู่สงครามอีกครั้งหรือไม่ ซึ่งกำลังเป็นประเด็นร้อนสำหรับคนไทยเช่นกัน
บรรยากาศตึงเครียดระหว่างสองมหาอำนาจที่ถูกเปรียบเทียบกับสมัยสงครามเย็น
สถานการณ์ที่รัสเซียและสหรัฐฯ ไปทะเลาะกันในซีเรียครั้งนี้ ทำให้แวดวงวิชาการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศพยายามตั้งคำถามว่า ความขัดแย้งระหว่างสองประเทศครั้งนี้จะเปรียบเทียบกับสมัยสงครามเย็นได้หรือไม่
แม้กระทั่งสื่อต่างชาติอย่างอัลจาซีราและบีบีซี ก็ได้หยิบยกประเด็น ‘Are we entering the new Cold War?’ (เรากำลังเดินหน้าเข้าสู่สงครามเย็นครั้งใหม่หรือไม่) เพื่อให้สังคมลองตั้งคำถามและเปรียบเทียบความขัดแย้งระหว่างสองประเทศครั้งนี้กับสมัยที่รัสเซียและสหรัฐฯ เคยต่อสู้กันในเวียดนามหรือคิวบาหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งบีลอฟฟ์เห็นว่า การเปรียบเทียบความขัดแย้งครั้งนี้กับอดีตเป็นข้อถกเถียงในเชิงรัฐศาสตร์ที่ยังไม่มีข้อสรุป แต่ส่วนตัวเขาเห็นว่าความขัดแย้งครั้งนี้ต่างจากสมัยสงครามเย็น
“ผมไม่แน่ใจนักว่าเรากำลังเดินหน้าเข้าสู่สงครามเย็นครั้งใหม่ เพราะในสมัยสงครามเย็นนั้นสหรัฐฯ และรัสเซียต่อสู้กันทางอุดมการณ์กันอย่างชัดเจน สหรัฐฯ ต้องการให้โลกถูกปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ขณะที่รัสเซียต้องการให้ลัทธิคอมมิวนิสต์เจริญรุ่งเรือง แต่ความขัดแย้งครั้งนี้ต่างออกไปเพราะทั้งสองประเทศไม่ได้ต่อสู้กันด้วยอุดมการณ์ แต่มีจุดมุ่งหมายที่ต่างกันในการแทรกแซงซีเรีย ซึ่งผมมองว่ายังเป็นสิ่งที่ทั้งสองประเทศหันหน้ามาเจรจากันได้ ต่างจากในอดีตที่อุดมการณ์ของทั้งสองประเทศยืนอยู่กันคนละฝั่ง ซึ่งพอเป็นเรื่องของอุดมการณ์มันยากที่จะมาเจอกันตรงกลาง”
กระแสความกังวลต่อการใช้อาวุธนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ
ข้อถกเถียงว่าความตึงเครียดครั้งนี้เหมือนสมัยยุคสงครามเย็นหรือไม่ ไม่สำคัญเท่ากับความกังวลต่อกระแสว่าจะมีการใช้อาวุธนิวเคลียร์ของทั้งสองประเทศนี้ หลังจากบรรดาสื่อแท็บลอยด์ต่างลงข่าวว่าสหรัฐฯ ได้เพิ่มความพร้อมอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งบีลอฟฟ์กล่าวถึงประเด็นนี้กับ The Momentum ว่า
“ผมเห็นข่าวเรื่องการเตรียมความพร้อมอาวุธนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ เหมือนกัน แต่ผมยังคงเชื่อและหวังว่าความขัดแย้งครั้งนี้ยังไม่รุนแรงถึงขั้นที่ทั้งสองประเทศจะเลือกใช้วิธีนี้”
ความขัดแย้งครั้งนี้จะทำให้โลกต้องเลือกข้างแล้วเดินหน้าสู่สงคราม?
ความขัดแย้งของทั้งสองประเทศในซีเรียที่มีหลายประเทศเข้ามาพัวพันทำให้เกิดคำถามว่า ปมขัดแย้งนี้จะทำให้ประเทศอื่นๆ ต้องเลือกข้างระหว่างสหรัฐฯ และรัสเซีย จนพัฒนากลายเป็นสงครามครั้งใหม่หรือเปล่า ซึ่งบีลอฟฟ์มองว่า แม้ความขัดแย้งของสองประเทศจะตึงเครียดกว่าในอดีต แต่ก็เป็นไปได้ยากที่ประเทศอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องจะตัดสินใจเข้าร่วมความขัดแย้งนี้จนโลกเดินหน้าสู่สงคราม
“ความขัดแย้งในซีเรียไม่ได้อยู่ในความสนใจของประเทศทั่วโลกขนาดนั้น จนดึงประเทศอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องเข้ามาพัวพัน จริงอยู่ว่าความขัดแย้งในซีเรียเป็นประเด็นที่ประเทศทั่วโลกแสดงความเป็นห่วง และถกเถียงกันในเวทีโลกถึงการแทรกแซงของสหรัฐฯ และรัสเซีย แต่ผมว่าประเด็นความขัดแย้งในซีเรียไม่ได้เป็นประเด็นกว้างพอที่ทั่วโลกจะร่วมตัดสินใจเลือกข้าง จนเกิดสงครามในประเทศอื่นอย่างที่เราเห็นกันในสงครามโลก”
อ้างอิง
– Carswell, J.A. 2013. “Unblocking the UN Security Council: The Uniting for Peace Resolution”, Journal of Conflict and Security Law.
– Leverett, F. 2010. “The United States, Iran, and the Middle East’s New Cold War”, The International Spectator.
– Marcus, J. 2016. “Russia and the West: Where did it all go wrong?”. http://bbc.com/news/world-middle-east-37658286
– Strokan S., Volker K., Sutyagin I. “Are Russia and the U.S. Entering the New Cold War?”. http://www.aljazeera.com/programmes/insidestory/2016/10/russia-entering-cold-war-161010171212029.html.
FACT BOX:
Jonathan R. Beloff นักวิชาการด้านความมั่นคงชาวสหรัฐอเมริกา จากโซแอส มหาวิทยาลัยลอนดอน ที่ผ่านมาทำงานวิจัยด้านความขัดแย้งและสงครามในยุคปัจจุบัน และสงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในแอฟริกา