“คนกำลังพูดถึงปาฏิหาริย์ แต่ผมกลับมองเห็นถึงฝันร้าย คืนนี้พวกเราทำตัวเป็นพ่อแม่ที่ดีได้ยากจริงๆ คุณบอกลูกๆ ว่าอย่าทำตัวเป็นไอ้กร่างจอมอันธพาล คุณบอกลูกๆ ว่าอย่าทำตัวเป็นคนหัวดื้อรั้น… หลังจากนั้นพอคุณรู้ผลคะแนนดังกล่าว มื้อเช้ากลับกลายเป็นสิ่งที่น่ากลัวที่สุดสำหรับวันรุ่งขึ้น คุณกลัวว่าจะอธิบายเรื่องนี้อย่างไรกับลูกของเรา”

นี่คือคำกล่าวของ แวน โจนส์ (Van Jones) นักวิเคราะห์การเมืองของพรรคเดโมแครต และอดีตทีมงานของ บารัก โอบามา ที่เปิดเผยความรู้สึกของตัวเองซึ่งเต็มไปด้วยความหวาดกลัวหลังจากรู้ผลการเลือกตั้งที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ได้ขึ้นเป็นประธานาธิบดีคนที่ 45 ของสหรัฐอเมริกา และคงจะตรงใจกับชาวอเมริกันเป็นจำนวนมากในขณะนี้

ไม่ใช่เฉพาะชาวอเมริกันเท่านั้นที่รู้สึกหวาดกลัว แต่คนทั่วโลกเองก็คงรู้สึกไม่ต่างกัน เพราะหลายคนรู้ดีว่าการขึ้นเป็นผู้นำโลกของทรัมป์ น่าจะนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงมหาศาล และเป็นความท้าทายใหม่ที่โลกต้องเผชิญ

The Momentum ขออาสาพาไปคุยกับผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ทั้งระบอบการเมืองสหรัฐฯ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ นักวิชาการด้านสันติวิธี รวมถึงนักวิเคราะห์เศรษฐกิจ เพื่อค้นหาคำตอบว่าแท้จริงแล้วทรัมป์น่ากลัวจริงหรือไม่ หรือเรากังวลจนเกินไป และอะไรคือภาพความเป็นจริงที่กำลังจะเกิดขึ้น

นอกจากการคานอำนาจของทรัมป์กับภาคส่วนต่างๆ ทางการเมืองแล้ว
ยังมีสิ่งที่เรียกว่า Public Opinion หรือความคิดเห็นสาธารณะ
ซึ่งคนอเมริกันเชื่อในโพล และนักการเมืองก็เชื่อในโพล
ทุกครั้งที่ผลโพลออกมาว่าประชาชนชอบอันนี้ ไม่ชอบอันนี้
ทุกคนต้องให้ความสำคัญมาก

ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ไม่ได้มีอำนาจมากอย่างที่คิด

แม้ระหว่างการหาเสียง ทรัมป์จะพูดถึงนโยบายมากมายที่เขาจะทำหากได้เป็นประธานาธิบดี ซึ่งแต่ละนโยบายล้วนสร้างความหวาดกลัวให้เกิดขึ้นจากทั้งแนวคิดที่สุดโต่ง และวิธีการพูดที่ก้าวร้าวรุนแรง แต่ถึงอย่างนั้นเมื่อทรัมป์ก้าวเท้าเข้าสู่ทำเนียบขาวอย่างเป็นทางการในวันสาบานตนรับตำแหน่ง สิ่งที่จะเกิดขึ้นจริงๆ อาจไม่น่ากลัวขนาดนั้น เพราะอเมริกามีโครงสร้างทางการเมืองที่เข้มแข็ง

ผศ. ดร. อรรถสิทธิ์ พานแก้ว อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบสถาบันการเมือง ให้ความเห็นกับ The Momentum ว่าในทางทฤษฎีแล้ว สหรัฐอเมริกาใช้ระบบการปกครองแบบ ‘One president but it has two presidencies’ หมายความว่าในการทำงานของประธานาธิบดี จะต้องถูกแบ่งภาคการทำงานเป็นการบริหารงานในประเทศ และภาคการบริหารงานต่างประเทศและการป้องกันประเทศ

ซึ่งในด้านการเมืองภายในประเทศ แต่ละฝ่ายทางการเมืองต่างต้องทำหน้าที่ของตัวเองอย่างแข็งขัน อย่างสภาคองเกรส หรือ ส.ส. ที่มีหน้าที่ผ่านร่างงบประมาณของประเทศ วุฒิสภาที่สามารถออกกฎหมายเพื่อคัดคานอำนาจของประธานาธิบดีได้ และหน้าที่สำคัญอีกอย่างคือการรับรองบุคคลต่างๆ ที่ประธานาธิบดีแต่งตั้งให้เข้ามาทำงานในหน่วยงานภาครัฐส่วนกลางนับพันตำแหน่ง รวมถึง Supreme Court ที่จะทำหน้าที่เหมือนศาลรัฐธรรมนูญในการตีความกฎหมายต่างๆ ด้วย

“ส่วนใหญ่พวก ส.ส. และ ส.ว. มักจะยอมให้เรื่องการต่างประเทศเป็นไปตามการตัดสินใจของประธานาธิบดี แต่จะไม่ยอมเรื่องในประเทศ แม้จะเป็น ส.ส. หรือ ส.ว. ที่มาจากพรรคเดียวกันก็ตาม เพราะตัว ส.ส. หรือ ส.ว. ก็มองว่าเขาเองก็เป็นผู้แทนประชาชนเหมือนกัน

“ที่สำคัญคืออีก 2 ปี จะมีการเลือกตั้ง ส.ส. และ ส.ว. ครั้งใหญ่ที่เรียกว่า Midterm Election ที่แม้จะไม่ได้เลือกกันหมดทั้งสภา แต่ก็เป็นจำนวนที่มากพอที่จะเปลี่ยนแปลงส่วนผสมของที่นั่งในสภาให้พลิกจากพรรคหนึ่งมาเป็นอีกพรรคหนึ่งได้ ดังนั้นหากประธานาธิบดีทำหน้าที่ไม่ดีเลยใน 2 ปีแรก ตัวพรรคเองรวมถึง ส.ส. และ ส.ว. จะต้องกังวล เพราะมันอาจส่งผลต่อฐานเสียงของเขา แล้วคนอเมริกันก็ชอบสิ่งที่เรียกว่า Divided Government คือฝ่ายบริหารควรจะเป็นพรรคหนึ่ง และนิติบัญญัติควรจะเป็นอีกพรรค ดังนั้นถึงตอนนี้รีพับลิกันจะครองเสียงส่วนใหญ่ใน 3 ส่วน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะต้องดำเนินนโยบายไปในแนวทางเดียวกันทั้งหมด

“นอกจากการคานอำนาจของทรัมป์กับภาคส่วนต่างๆ ทางการเมืองแล้ว ยังมีสิ่งที่เรียกว่า Public Opinion หรือความคิดเห็นสาธารณะ ซึ่งคนอเมริกันเชื่อในโพล และนักการเมืองก็เชื่อในโพล ทุกครั้งที่ผลโพลออกมาว่าประชาชนชอบอันนี้ ไม่ชอบอันนี้ ทุกคนต้องให้ความสำคัญมาก เพราะไม่อย่างนั้นคนอเมริกันจะไปลงโทษรัฐบาลด้วยการออกไปเลือกตั้งพรรคอื่น แล้วทรัมป์ยังต้องมองไปถึงการเลือกตั้งในอีก 4 ปีข้างหน้าด้วย ถ้าอยากได้สมัยที่ 2 ก็ต้องทำตัวให้ดี”

โดยสรุปแล้ว ผศ. ดร. อรรถสิทธิ์ทิ้งท้ายว่า “ผมคิดว่าสุดท้ายแล้ว ทรัมป์ต้องประนีประนอมระหว่างสิ่งที่เขาเคยหาเสียงกับความเป็นจริงของระบอบการเมืองที่เขาอยู่ คือเวลาหาเสียงก็หาเสียงไป แต่เมื่อเข้าวอชิงตันแล้ว มันเป็นเรื่องของการเมือง คุณไม่ได้กำลังรับมือกับประชาชนโดยตรงอีกต่อไปแล้ว นอกจากจะทำให้ประชาชนส่งเสียงออกมาให้ ส.ส. กับ ส.ว. ทำตามที่ตัวเองต้องการ ซึ่งก็คงกดดันได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าประชาชนจะเห็นด้วยกับเขาทุกเรื่อง”

เช่นเดียวกับ ผศ. จิตติภัทร พูนขำ อาจารย์ประจำสาขาวิชาการระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า

“สำหรับผู้นำหรือประธานาธิบดีที่ไม่มีประสบการณ์ในด้านการเมือง หรือการกำหนดนโยบายสาธารณะทั้งภายในและต่างประเทศ ผมคิดว่าทีมที่ปรึกษาจะมีบทบาทสำคัญค่อนข้างมากในการกำหนดทิศทางและโน้มน้าวประธานาธิบดี แน่นอนว่าความเชื่อพื้นฐานบางอย่างของทรัมป์จะเป็นตัวกำหนดแนวนโยบายในระดับหนึ่ง แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะนอกจากทีมที่ปรึกษาแล้ว พรรคการเมืองก็ยังต้องเข้ามามีบทบาท

“อีกเรื่องที่สำคัญคือ ระบบราชการของสหรัฐอเมริกา ไม่ว่าจะเป็น กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงกลาโหม กองทัพ คือทุกหน่วยงานจะมีวิธีการทำงาน ระบบวิธีคิด หรือวัฒนธรรมองค์กรของตัวเอง ที่เรียกว่าเป็น SOP หรือ Standard Operating Procedure ของแต่ละหน่วยงาน ซึ่งในหลายครั้งเราก็จะเห็นว่าแต่ละหน่วยงานจะพยายามปกป้องผลประโยชน์ และเครื่องมือของตัวเองในการที่จะผลักดันนโยบายใดนโยบายหนึ่ง”

ที่สุดแล้วทรัมป์คงไม่สามารถทำทุกอย่างได้ตามอำเภอใจ เพราะมีข้อจำกัดมากมายที่เขาต้องเผชิญ และถึงที่สุดแล้วหลายฝ่ายวิเคราะห์ว่าเขาน่าจะออกมายอมรับว่านโยบายบางอย่างไม่สามารถทำได้ในความเป็นจริง

หลายคนพูดกันว่าประธานาธิบดีทรัมป์จะนำอเมริกาไปสู่
The End of American World หรืออเมริกาถอนตัวจากโลกหรือไม่
ส่วนตัวผมยังคิดว่าจะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก
เป้าหมายหลักของสหรัฐฯ
จะยังคงเป็นการธำรงรักษาความเป็นมหาอำนาจนำในโลกอยู่

อเมริกาจะยังไม่ถอนตัวเองออกจากโลก และปุ่มนิวเคลียร์ไม่ได้กดกันง่ายๆ

ผศ. ดร. อรรถสิทธิ์ ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่าความน่ากลัวที่แท้จริงของทรัมป์น่าจะอยู่ที่การดำเนินงานด้านต่างประเทศและการป้องกันประเทศมากกว่า แต่ถึงอย่างนั้นก็เชื่อว่ายังมีประเทศอื่นในโลกที่มีพลังพอๆ กันทำหน้าที่คานอำนาจของสหรัฐอเมริกาอยู่เช่นกัน

ด้าน ผศ. จิตติภัทร ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศระบุว่า แม้ที่ผ่านมาทรัมป์จะสร้างความหวาดกลัวในเชิงวาทศิลป์ระหว่างการหาเสียง แต่ถ้าดูจากคำปราศรัยประกาศชัยชนะ หรือ Victory Speech จะเห็นได้ว่าทรัมป์มีทีท่าอ่อนโยนลงอย่างเห็นได้ชัด โดยประกาศว่าจะให้ความร่วมมือกับประเทศต่างๆ อย่างยุติธรรม

สิ่งที่น่าจับตามองอีกด้านคือความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกากับรัสเซีย ที่มีแนวโน้มจะดีขึ้นหลังจากทรัมป์ได้รับตำแหน่ง ซึ่ง ผศ. จิตติภัทร ให้ความเห็นในประเด็นนี้ว่า

“การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นครั้งที่รัสเซียมีบทบาทหรือถูกกล่าวถึงอย่างมาก ขณะที่การเลือกตั้งครั้งก่อนๆ รัสเซียจะถูกพูดถึงในมิติของการเป็นผู้ร้ายในสายตาของสหรัฐฯ แต่ครั้งนี้ต่างออกไป เพราะฝ่ายฮิลลารีระบุว่ารัสเซียเป็นเผด็จการ ขณะที่ทรัมป์บอกว่าเราควรจะต้องมีความสัมพันธ์ที่ดีกับรัสเซีย

“ผมมองว่าตรรกะของทรัมป์น่าสนใจ เพราะทรัมป์บอกว่าผลประโยชน์แห่งชาติสหรัฐอเมริกาก็ไม่ต่างกันมากนักกับผลประโยชน์แห่งชาติรัสเซีย ต่างฝ่ายต่างต้องช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และการร่วมมือกับรัสเซียอาจจะช่วยส่งเสริมผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ได้ ซึ่งถ้ามองในเชิงความร่วมมือกันระหว่างสหรัฐฯ กับรัสเซีย ก็มีแนวโน้มที่จะลดความตึงเครียดของสถานการณ์ความขัดแย้งลงไปมาก

“ปูตินเองก็แสดงความยินดีเมื่อรู้ผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ รัฐสภาดูมาของรัสเซียถึงกับลุกขึ้นยืนและปรบมือให้กับชัยชนะของทรัมป์ ถึงอย่างนั้นผลประโยชน์ของสหรัฐฯ กับรัสเซียก็อาจจะมีบางประเด็นที่ไม่ได้สอดคล้องต้องกันไปทั้งหมด ซึ่งอาจจะนำไปสู่ความตึงเครียดได้เช่นกัน แต่กระบวนการทางการเจรจาก็เอื้ออำนวยให้เราเห็นว่าอาจจะมีการเจรจากันได้ดีขึ้น”

นอกจากนี้ ผศ. จิตติภัทร ยังให้ความคิดเห็นว่านโยบายต่างประเทศของทรัมป์น่าจะยังคงมีลักษณะของความเป็นโลกานิยมอยู่ นั่นหมายความว่าสหรัฐฯ จะคงสถานะของตัวเองให้เป็นมหาอำนาจบนเวทีระดับโลกเช่นเดียวกับรัฐบาลที่ผ่านๆ มา เพียงแต่อาจจะมีการปรับเปลี่ยนทิศทาง วาทศิลป์ให้มีความหวือหวาและท้าทายความคุ้นชินของผู้นำและสื่อในระดับโลก

“สิ่งที่ต้องจับตามองต่อจากนี้คือต้องดูว่าทีมงาน ทีมที่ปรึกษา และคณะรัฐมนตรีที่ทรัมป์จะเลือกมาจะมีทิศทางนโยบายในลักษณะไหน นอกจากนี้ยังต้องดูแนวนโยบายที่เขาจะแถลงต่อรัฐสภาด้วยว่าเขาจะจัดวางความสำคัญของภูมิภาคต่างๆ ในโลกอย่างไร

“หลายคนพูดกันว่าประธานาธิบดีทรัมป์จะนำอเมริกาไปสู่ The End of American World หรืออเมริกาถอนตัวจากโลกหรือไม่ ส่วนตัวผมยังคิดว่าจะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก เป้าหมายหลักของสหรัฐฯ จะยังคงเป็นการธำรงรักษาความเป็นมหาอำนาจนำในโลกอยู่ นโยบายที่ทรัมป์เรียกว่า America First อาจจะหมายถึงการที่ทรัมป์ต้องคิดใหม่ว่าบริเวณไหนหรือผลประโยชน์ตรงไหนในโลกที่อเมริกามีบทบาทมาก อเมริกาก็จะเข้าไปเกี่ยวพันมากขึ้น ในขณะที่บริเวณไหนที่มีผลประโยชน์น้อย ก็อาจจะไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวเยอะ ที่สุดแล้วน่าจะเป็นนโยบายที่ให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ที่สำคัญจริงๆ ไว้ก่อน ซึ่งหลายเรื่องเอเชียแปซิฟิก และยุโรปก็ยังคงมีบทบาทอยู่บ้าง”

ซึ่งเมื่อเราถามถึงความน่ากลัวเมื่อปุ่มนิวเคลียร์อยู่ในมือทรัมป์ ผศ. จิตติภัทร ตอบกับเราว่า

“ผมคิดว่ามีกลไกในเชิงสถาบันมหาศาลกว่าปุ่มนั้นจะมาถึงประธานาธิบดี ต้องผ่านทั้งทีมที่ปรึกษาของทรัมป์ ที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติ รวมไปถึง NSC คือ National Security Council นอกจากนี้ยังมีกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ คณะเสนาธิการทหารร่วมของสหรัฐฯ รวมไปถึงคณะรัฐมนตรี ซึ่งการประชุมก็คงมีการกำกับพฤติกรรม หรือบทบาทการดำเนินนโยบายของทรัมป์ไม่มากก็น้อย”

ถ้าอย่างนั้นก็อาจจะหมายความว่าปุ่มนิวเคลียร์คงไม่ได้กดกันได้ง่ายๆ เหมือนในภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดที่เราคุ้นชินกัน

นโยบายที่น่ากลัวคือการขับไล่และปิดรับแรงงานต่างถิ่น
เพราะอเมริกาเป็นชาติที่มาถึงทุกวันนี้ได้
เพราะมีมันสมองของคนต่างถิ่น
นอกจากนโยบายนี้จะมีค่าใช้จ่ายแพงลิบลิ่วแล้ว
สหรัฐฯ จะสูญเสียแรงงานไปราว 11 ล้านคน

สงครามการค้าอาจนำมาซึ่งวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่

เมื่อถามถึงความชัดเจนทางด้านเศรษฐกิจในยุคของทรัมป์ ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ นักวิเคราะห์ด้านเศรษฐกิจ เจ้าของเว็บไซต์ settakid.com ให้ความคิดเห็นกับ The Momentum ว่าขณะนี้การคาดคะเนทิศทางเศรษฐกิจโลกทำได้ยากเป็นพิเศษ เนื่องจากทรัมป์เป็นคนไม่แน่นอน สิ่งที่พูดบนเวทีหาเสียงอาจเป็นสัญญาลมๆ แล้งๆ ที่เอาเข้าจริงคงทำได้ยาก แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีความน่ากลัวซุกซ่อนอยู่ในคำปราศรัยของทรัมป์

ความน่ากังวลแรกคือภัยต่อเศรษฐกิจของสหรัฐฯ เองในระยะยาว เนื่องจากทรัมป์เสนอให้ลดภาษี ซึ่งดูเหมือนจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ถ้ามองในระยะยาวแล้วอาจทำให้เศรษฐกิจของสหรัฐฯ ต้องหยุดชะงัก

“คำถามคือเมื่อลดภาษีแล้วจะเอาเงินที่ไหนไปพัฒนา infrastructure หรือโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ รวมไปถึงการศึกษาเพื่อพัฒนาขีดความสามารถของประเทศ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจตัวจริงที่ทรัมป์แทบไม่เคยพูดถึง และหากไม่ยอมลดรายจ่ายเหล่านี้ สหรัฐฯ ก็จะขาดดุลการคลังมากขึ้นไปอีก

“อีกนโยบายที่น่ากลัวคือการขับไล่และปิดรับแรงงานต่างถิ่น เพราะอเมริกาเป็นชาติที่มาถึงทุกวันนี้ได้ เพราะมีมันสมองของคนต่างถิ่น นอกจากนโยบายนี้จะมีค่าใช้จ่ายแพงลิบลิ่วแล้ว สหรัฐฯ จะสูญเสียแรงงานไปราว 11 ล้านคน นี่ยังไม่นับรวมแรงงานต่างชาติหัวกะทิในอนาคตที่จะไม่ได้วีซ่าไปทำงานในอเมริกาไปอีกระยะหนึ่ง

“ขณะนี้ Fed หรือธนาคารกลางสหรัฐฯ เหลือช่องทางพยุงเศรษฐกิจไม่มาก หากเกิดอะไรขึ้นมาเวลานี้ จึงเป็นเวลาที่นโยบายการคลังควรจะเป็นพระเอก แต่ผมไม่มั่นใจว่านโยบายที่ทรัมป์เสนอจะสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้อย่างมั่นคงในระยะยาว”

ความน่ากังวลประการต่อมาคือนโยบายการเปิดสงครามการค้ากับประเทศจีนและเม็กซิโก ที่ณภัทรมองว่าจะเป็นการสร้างความขัดแย้งโดยไม่จำเป็น

“การขึ้นภาษีนำเข้า นอกจากจะเป็นการทำร้ายประเทศคู่ค้าที่จะโจมตีกลับด้วยภาษีแนวเดียวกันแล้ว ยังไม่ได้ช่วยชาวอเมริกันส่วนใหญ่ด้วย เนื่องจากผู้บริโภคในอเมริกาเองก็จะต้องควักเงินมากขึ้นเพื่อซื้อของชิ้นเดิม ส่วนผู้ผลิตที่ต้องนำเข้าวัตถุดิบก็จะมีต้นทุนสูงขึ้น ขณะนี้สหรัฐฯ พึ่งพาจีนในการนำเข้าเกิน 20% ของการนำเข้าทั้งหมด การปะทะกันระหว่างผู้นำเศรษฐกิจอันดับ 1 และอันดับ 2 ของโลกเป็นการสร้างบรรยากาศสงครามการค้าที่สามารถลุกลามสู่เศรษฐกิจโลกโดยไม่จำเป็น เพราะทุกวันนี้ใครๆ ก็ต้องผลิตสินค้าผ่านจีน

“ตั้งแต่ผมอยู่อเมริกามาหลายปี สภาคองเกรสให้อำนาจประธานาธิบดีมากขึ้นเรื่อยๆ ในเรื่องของการค้าระหว่างประเทศ สรุปสั้นๆ คือทรัมป์สามารถเนรมิตนโยบายกีดกันทางการค้าออกมาได้ไม่ยากนัก แม้จะถูกขัดขวางในสภา การเจรจาการค้าใหม่ๆ นั้นทำด้วยตัวเองยาก แต่การยกเลิกหรือถอนตัวในสิ่งที่ทำไปแล้วนั้นทำได้ง่าย เพราะมันอยู่ในอำนาจของประธานาธิบดีค่อนข้างมาก”

ด้าน ผศ. จิตติภัทร ให้ความเห็นเพิ่มเติมในประเด็นการค้าระหว่างประเทศว่า “ความน่ากังวลคือทรัมป์พยายามตั้งคำถามต่อการค้าเสรี หรือ free trade โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นที่เกี่ยวกับ NAFTA หรือข้อตกลงทางการค้าของอเมริกาเหนือ ซึ่งมีทั้งสหรัฐฯ แคนาดา และเม็กซิโก ซึ่งที่สุดแล้วอาจจะมีการเจรจาครั้งใหม่เกิดขึ้น รวมถึง TPP หรือข้อตกลงเขตการค้าเสรี ที่ทรัมป์ระบุว่าจะไม่ทำกับเอเชียแปซิฟิก ซึ่งถือเป็นการปกป้องทางการค้าที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกในอนาคต”

สิ่งที่น่าตกใจคือ อเมริกาช่วงหลังสงครามเย็นเป็นต้นมา
ถือเป็นผู้ส่งออกแนวคิดเรื่องสิทธิมนุษยชน
และเรื่องประชาธิปไตยด้วยซ้ำ
ทีนี้กลายเป็นว่าผู้ที่ส่งออกแนวคิดนี้เองกลับเป็นคนที่ยอมแพ้
หรือจำนนต่อเรื่องนี้เอง

ตัวทรัมป์ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด ความน่ากลัวที่แท้จริงคือแนวคิดของเขาต่างหาก

แม้ในขณะนี้ทรัมป์จะยังไม่ได้รับตำแหน่งประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการ และนโยบายต่างๆ ที่เขาใช้หาเสียงยังไม่มีความชัดเจน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงแล้วในเวลานี้คือความหวาดระแวงซึ่งกันและกันระหว่างคนอเมริกัน ซึ่ง ผศ. ดร. จันจิรา สมบัติพูนศิริ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสันติวิธีอธิบายปรากฏการณ์นี้ว่า

“ถามว่าทรัมป์ในตัวของเขาเองน่ากลัวไหม คงไม่น่ากลัวเท่ากับปรากฏการณ์ที่มาพร้อมกับเขา คือโลกหลังปี 1989 ซึ่งเป็นการสิ้นสุดการล่มสลายของกำแพงเบอร์ลิน หลังจากนั้นมามันเกิดคุณค่าที่เรียกว่าเสรีนิยม ซึ่งคุณค่านี้มันตามมาพร้อมกับเรื่องสิทธิมนุษยชน ความเท่าเทียมกันทางเพศ ทั้งหมดนี้มันอยู่ในวิธีคิดของโลกาภิวัตน์ด้วย

“โลกาภิวัตน์มันมาพร้อมกับแนวคิดทางเศรษฐกิจ คือการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ และแนวคิดทางจริยศาสตร์ที่มุ่งทำให้คนบนโลกนี้ตระหนักถึงคุณค่าสากลบางอย่าง แล้วก็เรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องหนึ่งในนั้น ทีนี้ปัญหาคือคุณค่าแบบนี้ดำเนินมาสักพัก ปรากฏว่าโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจมันก็กีดกันคนจำนวนมาก โดยเฉพาะคนผิวขาวและผู้ชายในสหรัฐฯ ที่เคยเป็นแรงงานในโรงงานต่างๆ ซึ่งโรงงานเหล่านี้ก็ถูกย้ายออกไปในประเทศที่ค่าแรงถูกกว่าอย่างจีน อินเดีย เพราะฉะนั้นคนพวกนี้ก็กลายเป็นคนที่ถูกทอดทิ้งจากโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจ เรียกง่ายๆ คือตกงาน แล้วรัฐที่เป็นเสรีนิยมก็ต้องตัดค่าใช้จ่ายสวัสดิการ กิจการอะไรที่เคยเป็นของรัฐก็ต้องให้เอกชนเข้ามาเป็นผู้ดำเนินการแทน ฉะนั้นของทุกอย่างก็ราคาแพงขึ้น ขณะที่คนตกงานกลายเป็นว่าสถานะทางเศรษฐกิจของชนชั้นกลางเดิมของสหรัฐฯ ถดถอยลงอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จึงเห็นได้ว่าเมืองที่เลือกตั้งทรัมป์ขึ้นมาส่วนใหญ่เป็นเมืองที่เคยเป็นเมืองอุตสาหกรรมทั้งหลายแล้วก็เจ๊ง เพราะฉะนั้นคนเหล่านี้ก็โกรธมาก

“เวลาที่คุณฟังทรัมป์พูด เขาจะพูดอยู่ 2 เรื่องใหญ่ๆ ก็คือเรื่องเศรษฐกิจ เขาก็บอกว่าผลจากโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจเหล่านี้ต้องถูกแก้ไข แต่ขณะเดียวกันมันก็มาพร้อมกับอีกโปรเจกต์หนึ่ง เพราะอย่างที่บอกว่าโลกาภิวัตน์มันมีทั้งทางเศรษฐกิจและทางวัฒนธรรม ในแง่นี้ทรัมป์ก็ผนวกรวมเอาไปด้วยว่าถ้าเราจะปฏิเสธโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจ เราต้องปฏิเสธคุณค่าบางอย่างที่มากับมันไปด้วย เช่น คุณค่าสากลเรื่องสิทธิมนุษยชน เรื่องการให้สิทธิ์ผู้อพยพ เรื่องเพศที่เท่าเทียมกัน”

ถ้ามองปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในมุมมองนี้ ความขัดแย้งภายในประเทศอาจเป็นเรื่องที่น่ากลัวน้อยกว่าสิ่งที่โลกนี้กำลังเผชิญ เพราะการที่คนที่มีแนวคิดอย่างทรัมป์ขึ้นมาเป็นผู้นำโลก อาจส่งผลต่อสมดุลและคุณค่าสากลของโลกที่จะต้องเปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล

“ปรากฏการณ์ที่เราเห็นอย่างทรัมป์ไม่ใช่ปรากฏการณ์แรก เอาเข้าจริงประเทศไทยก็มีอะไรที่คล้ายกัน รวมถึงฟิลิปปินส์ ตุรกี อียิปต์ และเราเริ่มเห็นกระแสเหล่านี้เกิดขึ้นในยุโรป แล้วปีหน้ามีการเลือกตั้งในยุโรป ก็ไม่แน่ว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงเหมือนกัน ซึ่งเรามองว่าปรากฏการณ์นี้น่ากลัว ก็คือมันเป็นการถดถอยของสิ่งที่เราเชื่อว่ามันเป็นเรื่องสากล คนเหล่านี้ตั้งคำถามกับมันมากขึ้นว่ามันอาจไม่ใช่เรื่องสากลอีกต่อไป แล้วก็พยายามจะกลับไปสู่สังคมที่ไม่ให้สิทธิ์ชนกลุ่มน้อย หรือเพศอื่นๆ

“สิ่งที่น่าตกใจคือ อเมริกาช่วงหลังสงครามเย็นเป็นต้นมา ถือเป็นผู้ส่งออกแนวคิดเรื่องสิทธิมนุษยชน และเรื่องประชาธิปไตยด้วยซ้ำ ทีนี้กลายเป็นว่าผู้ที่ส่งออกแนวคิดนี้เองกลับเป็นคนที่ยอมแพ้ หรือจำนนต่อเรื่องนี้เอง จำได้ไหมสมัยหนึ่งที่อเมริกาว่าเอเชียว่าไม่รักษาสิทธิมนุษยชน แล้วผู้นำสิงคโปร์ก็บอกว่านี่เป็น Asian Values แต่ปรากฏว่าตอนนี้อเมริกากลับเป็นคนถอยไปสู่จุดนั้นเอง คนก็ตกใจว่ามันเกิดอะไรขึ้นกับโลก แล้วดิฉันคิดว่าที่น่าสนใจคือมันจะเป็นการขยิบตาให้กับผู้นำที่มีแนวโน้มในการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือเปล่า

“ปัญหาที่โลกนี้เผชิญอยู่ กลายเป็นว่าทุกคนกลับไปสู่วิธีคิดแบบชาติของฉัน ชุมชนของฉัน แต่ก็ยังมีปัญหาที่ใหญ่กว่าระดับชาติอย่างปัญหาผู้อพยพ ปัญหาผู้ลี้ภัย ความรุนแรงในโลก รวมถึงภัยทางธรรมชาติที่มากับสภาพอากาศ ซึ่งต้องอาศัยโลกาภิวัตน์ทางวัฒนธรรมที่มากขึ้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเราก็มีสิทธิ์ตั้งคำถามกับโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจว่าเอาเข้าจริงมันยิ่งทำให้ช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนถ่างขึ้นหรือเปล่า”

ตอนนี้อาจเร็วไปที่จะพยากรณ์ความเป็นไปของโลกในยุคของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เพราะสิ่งที่ต้องจับตามองต่อไปยังมีอีกมากมาย ทั้งการเปิดตัวทีมงานด้านต่างๆ นโยบายที่ทรัมป์จะต้องแถลงต่อรัฐสภา รวมถึงทิศทางความสัมพันธ์ระหว่างทรัมป์กับสภาคองเกรส

ซึ่งเอาเข้าจริงทรัมป์เองอาจไม่มีอะไรที่ชาวโลกต้องกังวลเลยก็ได้ เพราะยังมีระบบตรวจสอบ และถ่วงดุลอำนาจของเขาอีกมากมายที่ทำให้เราแน่ใจได้ว่าเขาจะไม่ทำอะไรตามอำเภอใจได้ง่ายๆ แต่สิ่งที่น่ากลัวกว่าอาจเป็นสิ่งที่มาพร้อมกับตัวเขา โดยเฉพาะแนวความคิดการแบ่งแยกผู้คนออกจากกันที่อาจจะฝังรากลึกลงในสังคมอเมริกันและสังคมโลกในไม่ช้า

 

Photo: The Tonight Show Starring Jimmy Fallon