รูปภาพของ Saida Ahmad Baghili วัย 18 ปี ในร่างซูบผอมสร้างความตกใจให้คนทั้งโลก และสะท้อนถึงวิกฤตด้านมนุษยธรรมที่เกิดขึ้นในพื้นที่สงครามของเยเมน
เธอเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลในกรุงซานา (Sanaa) เมื่อ 2-3 ปีก่อน
มาวันนี้น้ำหนักของเธอเพิ่มขึ้น 5 กิโลกรัม เป็น 16 กิโลกรัม
อย่างไรก็ตาม ตอนนี้เธอก็ยังพูดได้แค่เพียงเล็กน้อย และรับประทานอาหารด้วยความยากลำบาก
สิ่งที่เธอพอจะทำได้ตอนนี้คือยิ้ม
เยเมนกลายเป็นสนามรบระหว่างกองกำลังพันธมิตรนำโดยซาอุดีอาระเบีย ที่ต้องการต่อสู้กับกบฏฮูตีในเยเมน กับอิหร่านที่สนับสนุนกลุ่มกบฏฮูตี ซึ่งดำเนินมากว่า 2 ปี ทำให้คนในครอบครัวของ Saida Ahmad Baghili และคนเยเมนอื่นๆ อยู่ในสภาพความเป็นอยู่ที่เลวร้าย ซึ่งแพทย์เปิดเผยว่า ครั้งแรกที่ครอบครัวของเธอพาเธอมาโรงพยาบาลเมื่อหลายปีก่อน เธอแทบจะลืมตาหรือยืนไม่ได้
“เราให้เธอเข้ารับการรักษา เพราะต้องการหาสาเหตุว่าทำไมเธอถึงกินอะไรไม่ได้ ซึ่งตอนนี้ชัดเจนว่าตอนนี้เธอเผชิญกับโรคขาดสารอาหารอย่างรุนแรง” Wasfi al-Zakari แพทย์ที่ดูแลเธอเปิดเผยกับสำนักข่าว Reuters “สุขภาพของเธอไม่ดีขึ้น และอาการเริ่มเรื้อรัง กระดูกเปราะบาง เพราะการหยุดการเจริญเติบโตของร่างกาย ซึ่งร่างกายเธอก็จะไม่กลับมาเหมือนเดิมด้วย”
แม้ว่าน้ำหนักของเธอจะเพิ่มขึ้นมา แต่เธอกลับกินอะไรได้น้อยลง “เธอกินได้แต่เพียงอาหารเหลว ก่อนหน้านี้เธอยังกินนม น้ำผลไม้ และกล้วยได้ แต่ตอนนี้เธอกินไม่ได้แล้ว เราไม่รู้เลยว่าอาการของเธอจะดีขึ้นเมื่อไหร่” พ่อของเธอให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว Reuters
ภัยความมั่นคงทางอาหารในเยเมน
ก่อนความขัดแย้งที่จะปะทุขึ้นในเยเมนเมื่อปี 2015 เยเมนก็เจอกับวิกฤตด้านมนุษยธรรมอยู่แล้ว ความยากจนทำให้ประชาชนเผชิญกับความหิวโหยมานานหลายสิบปี
องค์การสหประชาชาติเปิดเผยว่า ประชากรกว่าครึ่งของเยเมน หรือประมาณ 14 ล้านคนกำลังเผชิญกับภัยความมั่นคงด้านอาหาร และกว่า 7,000,000 คนไม่รู้ว่าจะกินอาหารมื้อต่อไปได้ที่ไหน ตั้งแต่ปี 2015 อาหารกว่า 90% ถูกนำเข้าทั้งหมด
องค์การอาหารโลกเปิดเผยว่า ช่วงอายุของชีวิตของชาวเยเมนอยู่ที่ 64 ปี และ Global Hunger Index (GHI) ได้จัดอันดับให้เยเมนเป็นประเทศที่เผชิญกับความหิวโหยเป็นอันดับที่ 6 ของโลก
สงครามและความขัดแย้งที่ดำเนินต่อเนื่องในเยเมน
หลังจากเยเมนเหนือและเยเมนใต้รวมเป็นประเทศเยเมนเมื่อปี 1990 ความขัดแย้งในเยเมนก็เริ่มขึ้นอีกครั้งในปี 2009 ระหว่างรัฐบาลกับกลุ่มกบฏฮูตี ที่มีประชาชนหลายร้อยเสียชีวิต และทำให้ประชาชนมากกว่า 200,000 คนไร้ที่อยู่อาศัย
หลังจากนั้นการประท้วงในเยเมนเริ่มขึ้นในปี 2011 ซึ่งเป็นผลมาจากกระแสของอาหรับสปริงในปีนั้น ทำให้ อะลี อับดุลเลาะฮ์ ซาเลฮ์ (Ali Abdallah Saleh) ประธานาธิบดีของเยเมนต้องลาออก
เยเมนเป็นประเทศที่เผชิญกับสงครามกลางเมืองมาตั้งแต่ช่วงปี 1990 แต่สงครามปัจจุบันนั้นเริ่มขึ้นเมื่อปี 2015 ที่กลุ่มกบฎฮูตีเข้ายึดกรุงซานา เมืองหลวงของเยเมน และทำให้ อาเบดรับโบ มานซูร์ ฮาดี(Abd-Rabbu Mansour Hadi) ประธานาธิบดีเยเมนต้องลาออกและหลบหนีออกนอกประเทศ แต่เขายังได้รับการสนับสนุนจากซาอุดีอาระเบีย ที่ต้องการต่อสู้กับกลุ่มกบฏฮูตี หลังจากนั้นเขาจึงตั้งเมืองหลวงชั่วคราวขึ้นมาใหม่นั่นคือ เมืองเอเดน (Aden)
สถานการณ์ในเยเมนยิ่งยุ่งยาก เมื่อกลุ่มกบฏฮูตีอ้างว่ารัฐสภาได้ถูกยุบ และแทนที่ด้วย Transtional Revolutionary Council ของกลุ่มกบฏฮูตี แต่องค์การสหประชาชาติ สหรัฐอเมริกา ปฏิเสธที่จะยอมรับคำกล่าวอ้างของกลุ่มกบฏฮูตี
ปัจจุบันชีวิตของชาวเยเมนจึงอยู่ในสนามรบที่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่า
มื้อต่อไปพวกเขาจะมีอะไรกินหรือไม่?
อ้างอิง:
– https://www.wfp.org/countries/yemen
– http://ghi.ifpri.org/
– http://www.bbc.co.uk/news/world-middle-east-14704852
– https://widerimage.reuters.com/story/saida-now-smiles-but-recovery-patchy