การศึกษาล่าสุดของ Ipsos Global Advisor ที่ออกมาเมื่อ 6 ก.พ. 2560 ซึ่งสำรวจทัศนคติและความต้องการของชาวยุโรปเกี่ยวกับเรื่องการเมือง รัฐบาล และผู้นำ ในประเทศยุโรปหลัก 5 ประเทศ ได้แก่ ฝรั่งเศส สเปน อิตาลี เยอรมนี และอังกฤษ บ่งชี้ว่าปัจจุบันเกิดกระแสความไม่เชื่อมั่นในรัฐบาลและองค์กรระหว่างประเทศอย่างกว้างขวาง
นอกจากนี้ยังบอกว่า ชาวยุโรปส่วนใหญ่ต้องการ ‘ผู้นำที่เข้มแข็ง’ ที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ได้ หรือแบบ ‘prepared to change the rules of the game’
อาทิ ชาวฝรั่งเศสส่วนมาก (61%) เชื่อว่า ยุคของตนนั้นมีคุณภาพชีวิตที่ตกต่ำกว่าสมัยพ่อแม่ของพวกเขา และ 80% บอกว่าในการเลือกตั้งครั้งต่อไป เขาจะเลือกผู้นำที่พร้อมจะสร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่
ในอิตาลี ประชาชน 73% เห็นว่าประเทศกำลังอยู่ในยุคถดถอย และชาวสเปน (69%) ชาวฝรั่งเศส (67%) และชาวอังกฤษ (57%) ก็เห็นแบบนั้นเช่นกัน แต่มีเพียงเยอรมนีที่มีเพียง 47% ของประชาชนที่เห็นว่าประเทศกำลังถดถอยและย่ำแย่
ที่ชาวยุโรปมองว่าประเทศของตนกำลังถดถอยย่ำแย่นั้นจริงหรือ และเป็นเพราะอะไร?
ประเด็นหนึ่งคงเป็นเพราะสภาพเศรษฐกิจยุโรปที่เพิ่งผ่านวิกฤติทางการเงินมา และยังฟื้นตัวได้แค่แบบค่อยเป็นค่อยไป อัตราการว่างงานยังสูง และประชาชนทั่วๆ ไปโดยเฉพาะชนชั้นแรงงานรู้สึกเหมือนเป็น ‘ผู้แพ้และสูญเสียผลประโยชน์’ จากกระแสโลกาภิวัตน์ ในขณะที่บริษัทและธุรกิจใหญ่ได้ประโยชน์ จะว่าไปก็เหมือนว่า เศรษฐกิจยุโรปไม่ได้เฟื่องฟูเหมือนแต่ก่อน
ที่สำคัญ ประเด็นอ่อนไหวเรื่องการหลั่งไหลเข้ามาของผู้อพยพและย้ายถิ่นชาวต่างชาติ โดยเฉพาะชาวมุสลิม ที่เข้ามาตั้งหลักแหล่งและออกลูกออกหลานในยุโรปกันมาหลายรุ่น จนทำให้ชาวยุโรปอาจรู้สึกว่ายุโรปไม่ได้เป็นยุโรปเหมือนเดิม กลายเป็นสังคมที่หลากหลายเผ่าพันธุ์และผสมกลมกลืนมากขึ้น (ซึ่งจริงๆ ก็เป็นกระแสที่เป็นกันทั้งโลก ไม่ได้แปลกอะไร) แต่ปัญหาที่กำลังประสบกลับกลายเป็นปัญหาสังคม ทั้งอาชญากรรมที่เพิ่มสูงขึ้น และข้อจำกัดในการบูรณาการตนเองของชาวต่างชาติเหล่านั้นในสังคมยุโรป ฯลฯ อาจเป็นประเด็นด้านสังคมที่ทำให้คนยุโรปอึดอัดว่าสังคมยุโรปจะเป็นอย่างไร
มากไปกว่านั้น ในช่วงไม่กี่ปีนี้ยุโรปได้รับผู้อพยพชาวมุสลิมที่หนีสงครามเข้ามาอีกหลายล้านคน ความกดดันเรื่องการรับผู้อพยพจึงมากขึ้น
มาดูสถิติชาวมุสลิมที่อยู่ในยุโรปกัน
มีชาวมุสลิมอาศัยอยู่ในยุโรปจำนวนประมาณ 44 ล้านคน หรือคิดเป็น 6% ของจำนวนประชากรทั้งหมด ปารีสมีจำนวนชาวมุสลิมมากที่สุดถึง 1.7 ล้านคน ตามมาด้วยลอนดอนจำนวนกว่า 1 ล้านคน นอกจากนั้น อัมสเตอร์ดัม แอนต์เวิร์ป แฟรงก์เฟิร์ต บรัสเซลส์ ก็มีอยู่มาก
คาดว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า ยุโรปอาจมีจำนวนประชากรมุสลิมถึง 8% โดยเฉพาะในฝรั่งเศสถึง 10%!
สโลแกน ‘Made in France’ ของนางมารีน เลอ แปน
เมื่อเกิดกระแสความไม่มั่นใจในเมืองต่างๆ ของยุโรป จึงไม่แปลกที่จะเห็นผู้ลงสมัครประธานาธิบดีฝรั่งเศสจากพรรคขวาจัด นางมารีน เลอ แปน รีบนำเสนอสโลแกน ‘Made in France’ ในการหาเสียงอยู่ตอนนี้ (แหม..ตาม ‘America First’ มาติดๆ)
เธอเน้นนโยบายการต่อต้านผู้อพยพชาวมุสลิม และปัญหาด้านความปลอดภัยและมั่นคงในประเทศ ที่สำคัญเธอไม่เห็นด้วยกับการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป อาจเรียกได้ว่าเริ่มสร้างกระแส Frexit ขึ้นมา ทำเอากลุ่ม Pro-EU ยิ่งกังวลกับอนาคตของอียูว่าจะยิ่งถูกบั่นทอนลง
ในขณะเดียวกัน กระแสความอยากออกจากอียูก็เริ่มหนาหูขึ้นในหลายประเทศ นายกรัฐมนตรีเทเรซา เมย์ ของสหราชอาณาจักรก็ได้ออกมาประกาศยืนยันว่า อังกฤษจะออกจากอียูแน่ๆ คือ Brexit จะเกิดขึ้นจริง มีแผนการชัดเจนว่าจะเริ่มกระบวนการ Brexit ในอีกไม่กี่เดือนนี้ และรัฐสภาอังกฤษก็ได้เห็นชอบแล้ว ยิ่งสร้างความกดดันให้อียูเพิ่มขึ้นในการเจรจา Brexit กับสหราชอาณาจักร
อียูคงไม่อยากให้ Brexit กลาย ‘ตัวอย่างที่ไม่ดี’ ทำให้ประเทศอื่นๆ ในยุโรปหันมาทอดทิ้งอียูไปตามๆ กัน แถมทรัมป์ยังมาจุดฉนวนความแบ่งแยกเรื่องปัญหาผู้อพยพชาวมุสลิมก็ยิ่งแย่
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ประธานาธิบดีทรัมป์ได้ประกาศห้าม 7 ประเทศมุสลิมไม่ให้เข้าสหรัฐฯ และมีผลบังคับใช้ทันที (แม้ตอนนี้การแบนต้องหยุดไว้ก่อน) นอกจากจะสร้างความตื่นตระหนกและวุ่นวายให้แก่คนที่ถือพาสปอร์ตจากประเทศเหล่านี้นับหมื่นๆ คนถูกปฏิเสธการเดินทางเข้าสหรัฐฯ ยังเป็นการจุดฉนวนกระแสความแบ่งแยกระหว่างกลุ่มที่ต่อต้านผู้อพยพชาวมุสลิม และกลุ่มที่สนับสนุนและเห็นอกเห็นใจ จนเกิดการตั้งคำถามที่น่าคิดว่า จริงๆ ยุโรปก็อยากเห็นการแบนผู้อพยพชาวมุสลิมแบบนี้เหมือนกันไหม? และยังไปจี้จุดการแบ่งแยกทางความคิดและการเมืองของชาวยุโรปเกี่ยวกับประเด็นผู้อพยพดังกล่าว นักการเมืองที่หาเสียงอยู่เลยรีบฉวยโอกาสงามๆ แบบนี้เอาประเด็นปัญหาผู้อพยพมาเป็นไพ่ในการเรียกคะแนนเสียง
คำถามที่คาใจคือ นโยบาย populism ในลักษณะนี้ที่นักการเมืองสมัยนี้นำมาใช้กันอย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะเป็น ประธานาธิบดีทรัมป์ นายไนเจล ฟาราจ ของอังกฤษ นายเรเซป เทย์ยิป เออร์โดกัน ของตุรกี หรือนางมารีน เลอ แปน ผู้สมัครประธานาธิบดีฝรั่งเศสคนใหม่ แม้อาจจะเรียกคะแนนเสียงและตอบโจทย์ด้านความรู้สึกของประชาชนยุโรปได้ดีในรูปแบบหนึ่ง แต่หากผู้นำ populist ขึ้นมามีอำนาจจริงจะนำความกินดีอยู่ดีของประเทศ ความสงบสุขปลอดภัย ความยั่งยืน และมีผลดีต่อประเทศได้แค่ไหนในระยะยาว ยังไม่มีใครตอบได้ คงต้องรอดู
และดูเหมือนว่าประเทศไทยเองจะมีประสบการณ์ด้านการเมืองแบบนี้ และพบเจอนักการเมือง populist มาพอสมควร อาจนำประสบการณ์ไปสอนยุโรปได้เลยทีเดียวว่า…
ผลพวงของนโยบาย populism นั้นเป็นอย่างไร
สร้างเสถียรภาพและความมั่งคงทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมได้ไหม
แล้วประเทศไทยล่ะ ผู้นำที่เราอยากได้เป็นอย่างไร
อันนี้ ทิ้งท้ายไว้ให้คิดต่อกัน
Photo: Karin Foxx
Tags: Frexit, DonaldTrump, EU, Brexit, MarineLePen