การก้าวผ่านความสำเร็จในยุคเฟื่องฟูสลับกับการผจญภาวะซบเซาบนหน้าปัดวิทยุตลอดระยะเวลากว่า 24 ปี น่าจะเป็นเครื่องยืนยันได้เป็นอย่างดีถึงความสำเร็จที่ไม่ได้มาเพราะโชคช่วยหรือเล่นของ
วันนี้ The Shock ต่อยอดจากรายกายวิทยุกลายเป็น ‘ธุรกิจผีครบวงจร’ มีทั้งละครเวที ภาพยนตร์จอเงิน ละครจอแก้ว เรื่องเล่าผีในแผ่น MP3 ร้านอาหาร การประกวดเล่าเรื่องผี และล่าสุดกับ The Shockventure on LINE TV รายการเดินสายท้าความเฮี้ยนกันแบบสดๆ ในไลน์ทีวี อะไรคือเบื้องหลังความสำเร็จที่ทำให้ ป๋อง-กพล ทองพลับ พา ‘ผี’ ของเขายืนระยะได้นานกว่า 2 ทศวรรษ
The Momentum ขอเชิญทุกท่านไปร่วมหาความจริงชวนขนหัวลุกกันได้แล้ว ณ บัดนี้
***บทความนี้จำลองรูปแบบการดำเนินรายการของ The Shock ที่เปิดรับสายเรื่องเล่าจากผู้ฟังทางบ้าน โดยมี The Momentum รับหน้าที่เป็นผู้ดำเนินรายการ
และอย่างที่บอกกันในทุกๆ ครั้ง สิ่งไหนที่ดีฟังแล้วก็เก็บไว้ สิ่งไหนไม่ดีก็ไม่ต้องไปจดไปจำเอามาเป็นตัวอย่าง ถ้าพร้อมแล้วเรามาเริ่มต้นเรื่องแรกกับสายของคุณ ป๋อง-กพล ทองพลับ กันเลย กับเรื่องที่มีชื่อว่า ‘กว่าจะเป็น The Shock’
จุดเริ่มต้นตำนานหลอน
ย้อนไป 20 กว่าปีที่แล้ว การจัดรายการวิทยุในยุคนั้นดีเจแต่ละคนจะมีรูปแบบการจัดรายการของตัวเอง เช่น เปิดเพลง คุยเรื่องอาหาร การออกกำลังกาย หรือพูดเรื่องหนัง ไม่รู้ว่าโชคดีหรือโชคร้ายที่ป๋องในช่วงนั้นเป็นดีเจสถานีวิทยุ Smile Radio ได้ช่วงเวลาจัดรายการตั้งแต่เที่ยงคืนถึงตีสาม ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่น่าจะมีแต่ยามและผีฟังเท่านั้น
“ผมได้เวลาในการจัดรายการช่วงเที่ยงคืนถึงตีสาม ก็ต้องหารูปแบบรายการไปเสนอเจ้านาย ก็มานั่งคิดว่าช่วงดึกๆ มันควรจะเป็นรายการอะไร ส่วนใหญ่ถ้ารายการวิทยุไม่เน้นเปิดเพลง ก็จะเป็นการรับสายเล่นเกม ผมเลยอยากทำอะไรให้แตกต่างจากคนอื่น เรื่องที่ผุดขึ้นมาในหัวตอนนั้นมี 2 เรื่อง คือเรื่องผี และเรื่องทะลึ่งตึงตัง ซึ่งเป็น 2 เรื่องที่คิดว่าคุยตอนกลางคืนแล้วน่าจะสนุก บวกกับเป็นความชื่นชอบส่วนตัว แต่ในยุคนั้นเรื่องทะลึ่งค่อนข้างออกอากาศลำบาก แล้วผมก็กลัวว่าจะมีปัญหาเลยเลือกทำเรื่องผีดีกว่า
“พื้นฐานผมเป็นคนชอบเรื่องผีมาตั้งแต่เด็กอยู่แล้ว ชอบดูหนังผี โตมากับละครผีคลาสสิกอย่างกระสือ ปอบ สางเขียว ห้องหุ่น ต้องบอกก่อนนะว่า The Shock ไม่ใช่รายการวิทยุผีรายการแรก แต่รายการผีอื่นๆ ก่อนหน้านี้เขาอาจจะไม่ได้ทำกันจริงจัง บ้างก็ห่างหายไปบ้าง พอมาถึงยุคผม ผมก็เสียดายที่เรื่องผีมันจะหายไปจากหน้าปัดวิทยุ ก็เลยตัดสินใจเดินหน้าจัดรายการผีอย่างเต็มรูปแบบในชื่อ สไมล์ช็อค”
เกิด แก่ เจ็บ ตาย ยังมี เรื่องผีก็ยังอยู่
ตามที่มีข้อมูลระบุไว้ในอินเทอร์เน็ต ป๋องเริ่มจัดรายการ สไมล์ช็อค ตั้งแต่ พ.ศ. 2535 นี่ก็ล่วงมาเกือบ 24 ปีแล้ว รายการวิทยุเรื่องผีๆ ของป๋องก็ยังหลอนผู้คนได้ไม่รู้จักจบจักสิ้นเสียที
“ผมวิเคราะห์เล่นๆ ว่า ตราบใดที่คนยังต้องเกิด แก่ เจ็บ ตาย เรื่องผีก็จะไม่หายไปจากโลก
“บ่อยครั้งที่เจอคำถามว่าเมื่อไรเรื่องผีถึงจะหมดไป ผมก็ตอบว่าก็เมื่อไรที่ไม่มีคนตายนั่นแหละ ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้ แม้แต่เรื่องผีที่แต่ละคนโทรเข้ามาเล่า ต่อให้เป็นเหตุการณ์เดียวกัน ผีตนเดียวกัน แต่คนเล่าคนละคน น้ำเสียง เทคนิคต่างๆ วิธีการที่เขาถ่ายทอดก็ไม่เหมือนกันแล้ว หรืออย่างสถานที่เกิดเหตุส่วนใหญ่ก็มีแค่ไม่กี่ที่เอง โรงพยาบาล บ้าน คอนโด โรงแรม วัด ข้างทาง นับไปนับมาผมว่ามีไม่เกิน 10 ที่ด้วยซ้ำ แต่กลับอะเมซิ่งตรงที่มันมีเรื่องเล่าไม่เคยขาดสาย
“คำตอบของทั้งหมดก็ย้อนกลับไปประโยคที่ว่า ถ้าคนยังต้องเผชิญการเกิด แก่ เจ็บ ตาย เรื่องผีก็จะไม่มีวันหมดไป”
ดักจับความสำเร็จด้วยวิญญาณ
อย่างที่ทราบกันว่าทุกวันนี้ The Shock เป็นมากกว่ารายการวิทยุ แต่มีทั้งละครเวที รายการโทรทัศน์ ภาพยนตร์ การประกวดกิจกรรมต่างๆ ร้านอาหาร ร้านกาแฟ กระทั่งมีช่องรายการเป็นของตัวทางไลน์ทีวี แม้ป๋องจะไม่ใช่หมอผี แต่น่าจะเป็นคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทยที่ประสบความสำเร็จในการใช้ผีช่วยทำมาหากิน
“คำๆ นี้ผมคงไม่กล้าพูดด้วยตัวเอง มันต้องมาจากคนอื่นมากกว่า ผมแค่รู้สึกว่า The Shock เป็นสิ่งที่ผมรัก ซึ่งก็ต้องขอบคุณแฟนรายการ และผู้ใหญ่ที่ให้โอกาสพวกเรา ผมเป็นแค่คนทำงาน คนที่จะตัดสินว่าพวกเราประสบความสำเร็จได้ก็คือผู้ฟังทุกคน
“แต่ถ้าถามว่าพวกเรามาไกลไหม ต้องบอกเลยว่าโคตรๆ ผมแทบจะไม่อยากเชื่อด้วยซ้ำว่าเด็กที่จบมัธยมด้วยเกรดเฉลี่ย 1.21 ไม่มีใบปริญญาบัตร เวลากรอกใบสมัครก็ไม่มีความสามารถพิเศษอะไรทั้งนั้น ว่ายน้ำก็ไม่เป็น ขี่มอเตอร์ไซค์ก็ไม่ได้ ภาษาอังกฤษยิ่งไม่แตกฉานใหญ่เลย จะพาตัวเองและ The Shock มาได้ไกลถึงเพียงนี้”
ฟ้าลิขิตให้เป็นดีเจผี
มียุคหนึ่งความนิยมของวิทยุเริ่มถดถอย คลื่นวิทยุหลายแห่งพากันทยอยปิดตัว หรือไม่ก็ดิ้นรนย้ายมาจัดทางออนไลน์ เพราะไม่ต้องเสียค่าเช่ารายการให้กับเจ้าของสถานี เจอแบบนี้ ป๋องก็เกือบเอาตัวไม่รอด แต่ก็รอดทุกครั้ง เหมือนมีพระดี ผีให้ หรือชะตาลิขิตนั้นยากจะรู้
“พอเราไม่ได้เป็นเจ้าของสัมปทานคลื่นวิทยุ เหมือนเราต้องไปเช่าอพาร์ตเมนต์เขาอยู่ ช่วงแรกๆ ที่สถานีมีการปรับเลขคลื่นหรือค่าเช่า ก็เป็นช่วงที่เหนื่อยมากๆ ยิ่งรายการวิทยุช่วงดึกที่ต้องหาค่าเช่าคลื่นเป็นแสนๆ ไม่รวมค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ด พอเจอช่วงวิกฤตหนักๆ บางทีถึงขนาดต้องเรี่ยไรเงินจากผู้ฟังมาสนับสนุนรายการเลยก็มี
“ผมคิดว่าอันดับแรก เราต้องไม่ยอมแพ้ก่อน แต่ก็มีช่วงที่อยากเลิกไปเลยเพราะไม่มีสปอนเซอร์ ถึงขนาดที่มีเออีเดินเข้ามาบอกผมว่า ‘พี่ป๋อง รายการดังจะตาย ทำไมโฆษณาขายไม่ได้เลย’ เชื่อไหมว่าทุกๆ ครั้งที่คิดจะเลิกทำรายการ มันเหมือนจะมีอะไรใหม่ๆ มายื่นโอกาสให้เราทำเสมอ ออกตัวก่อนว่าผมไม่ได้เป็นคนที่ซ้ายจัดหรือขวาจัดนะ ผมจะเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง ไม่ยึดติดกับเรื่องอะไรทั้งนั้น แต่ลึกๆ ก็แอบเชื่อเรื่องโชคชะตานะ
“บางทีผมอาจจะถูกกำหนดให้มาเป็นดีเจเรื่องผีตั้งแต่แรกอยู่แล้วก็ได้”
เพราะเป็นผี จึงไม่มีวันตาย
ดีเจหน้าใหม่หมุนเวียนสับเปลี่ยนมาจัดรายการ The Shock ไม่เว้นแต่ละวัน ช่วงแรกๆ ผู้ฟังอาจจะไม่คุ้นเคยที่เสียงนั้นไม่ใช่เสียงของป๋อง แต่ใดๆ ในโลกล้วนอนิจจัง สังขารไม่เที่ยง ก็ต้องมีการเปลี่ยนเสียงและผลัดใบบ้างเป็นธรรมดา
“ต้องยอมรับว่าตัวผมเองไม่ได้หนุ่มแน่นเหมือนเมื่อก่อนแล้ว จะให้มานั่งจัดรายการวิทยุติดต่อกัน 7 วัน เหมือนเมื่อก่อนก็คงไม่ไหว มันก็เหมือนฟุตบอลแหละ เราควรจะมีอะคาเดมีเป็นของตัวเอง มีเยาวชนที่พร้อมจะเติบโตขึ้นมาทดแทนเรา ตัวผมเองจะจัดรายการต่อไปได้อีกนานแค่ไหนก็ไม่รู้ ผมแค่รู้สึกว่าถ้าวันหนึ่งประธานสโมสรอย่างผมอาจจะไม่อยู่แล้วก็ไม่เป็นไร แต่สโมสร The Shock จะต้องดำเนินต่อไป ผมมีความปรารถนาจะเห็น The Shock อยู่ไปอีกนานเท่านาน เลยต้องสร้างบุคลากรใหม่ๆ ขึ้นมาคอยทดแทน”
อนาคตของ The Shock และกพล ทองพลับ
หลังผ่านสมรภูมิหน้าปัดวิทยุมานานกว่า 24 ปี เผชิญกับปัญหาและการเปลี่ยนแปลงทั้งชื่อรายการ รูปแบบการจัดรายการ ฯลฯ มาอย่างโชกโชน แต่ป๋อง ดีเจผีหน้ามนคนกันเอง คิดว่าในอนาคตก่อนจะถึงหลุมศพ ก็คงจะจัดรายการและทำ The Shock ไปจนตายกลายเป็นผีนี่แหละ
“ผมคงตอบไม่ได้ว่ามีแพลนจะทำอะไรอีกในอนาคต เพราะทำมาหมดแล้วจริงๆ อย่างละครเวทีที่ไม่เคยคิดว่าจะได้ทำ ก็ทำไปแล้ว หรือปีหน้าก็จะมีภาพยนตร์ที่ The Shock ทำร่วมกับ แดน-วรเวช อีก แต่ยังไงก็จะพยายามคิดหาอะไรที่แตกต่าง เพื่อทำให้ผู้ฟังตื่นเต้นไปกับเรา
“ส่วนตัวผม ผมว่าการจัดรายการมันคงฝังรากลึกลงจิตวิญญาณไปแล้วล่ะ และถ้าจะให้ผมเลิกจัดรายการ ในโลกนี้คงต้องไม่มีสิ่งที่เรียกว่าวิทยุ หรือต่อให้ไม่มีวิทยุ ผมก็จะตามไปจัดในวิทยุออนไลน์อยู่ดี
“ยังไงๆ ผมก็จะจัดรายการ The Shock ของผมต่อไป จนกว่าผมหรือวิทยุจะตายไปข้างหนึ่งนั่นแหละ!”
ต้องขอขอบคุณ คุณป๋อง-กพล ทองพลับ เป็นอย่างมาก กับประสบการณ์ที่นำมาถ่ายทอดให้พวกเราได้ฟังกันในวันนี้ ก่อนที่จะลากันไป อย่าลืมดูแลตัวเอง ดูแลคนใกล้ชิด ดูแลคนรอบข้าง และก็ดูแลโลกใบนี้ สำหรับวันนี้พวกเรา The Momentum ขอขอบพระคุณมากในการติดตามกัน
สำหรับวันนี้ขอลาไปก่อน พร้อมกับกล่าวคำว่า
“สวัสดีครับ”
DID YOU KNOW?
- ปัจจุบันรายการมีอายุ 24 ปีบริบูรณ์ โดยก่อตั้งครั้งแรกในปี พ.ศ. 2535 เป็นรายการวิทยุในเครือ Smile Radio จึงใช้ชื่อเรียกของรายการว่า Smile Shock
- ก่อนจะมาเป็น The Shock เคยใช้ชื่อเรียกรายการมาแล้วหลายชื่อทั้ง Smile Shock, Ninety Shock และ Shock FM
- The Shock เกือบเป็นรายการทะลึ่งตึงตังมาก่อน แต่ด้วยความยากลำบากในการออกอากาศ ท้ายที่สุดจึงกลายเป็นเรื่องผี
- ทีมงาน The Shock เกือบทุกคนจะมีชื่อเรียกและฉายาในแบบผีๆ เช่น ขวัญ น้ำมันพราย, เก่ง ประตูผี, โก้ พริ้ว ณ ราชบุรี มีเพียงกพล ทองพลับ ที่ใช้ชื่อว่า ‘ป๋อง’ สั้นๆ ง่ายๆ
- กพล ทองพลับ มีชื่อเล่นว่า ‘อั๋น’
- ขวัญ และเก่ง เคยเป็นเด็กเสิร์ฟร้าน The Shock และลูกค้าประจำร้าน ก่อนจะผันตัวมาเป็นทีมงาน The Shock อย่างที่เราเห็นในปัจจุบัน
- ก่อนหน้านี้ The Shock ออกอากาศเฉพาะวันเสาร์และวันอาทิตย์เท่านั้น ก่อนจะมีการขยายวันออกอากาศ 7 วัน เต็มเหมือนปัจจุบัน
- มีคำขวัญประจำรายการที่ป๋องมักจะเน้นย้ำไว้ว่า
o ฟังแล้ว สิ่งไหนดีก็เก็บไว้ สิ่งไหนไม่ดี ฟังแล้วก็ไม่ต้องไปจดไปจำ ปล่อยให้มันผ่านเลยไป
o ดูแลตัวเอง ดูแลคนใกล้ชิด ดูแลคนรอบข้าง และก็ดูแลโลกใบนี้
o ความกตัญญูกตเวทีสำคัญที่สุด ขอให้มีความสุขทุกลมหายใจ